ปัญหาขยะพลาสติกที่ผู้คนทิ้งในแต่ละวัน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล การแก้ปัญหาตอนนี้ ถือเป็นเรื่องที่ช้าไปแล้ว แต่สิ่งเดียวที่ทุกคนยังพอทำได้คือการลดใช้พลาสติก ตั้งแต่ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ ที่ต้องปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่มาใช้เพื่อที่จะสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ได้ ตลอดจนผู้บริโภคก็ต้องคัดแยกขยะภายในบ้านของตนเองเพื่อขนส่งสู่การรีไซเคิลได้ง่าย
ล่าสุด ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่ม ได้จับมือกับ วงษ์พาณิชย์ ผู้นำธุรกิจบริหารจัดการขยะรีไซเคิล ร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมการคัดแยกขยะ และการรีไซเคิล PET ที่ใช้แล้วเข้าสู่วงจรการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยที่วงษ์พาณิชย์จะรับซื้อขวดเปล่าพลาสติก PET ใช้แล้วในเครือซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ในราคาสูงกว่าขวด PET ทั่วไปเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 1 บาท โดยราคาตอนนี้ขวด PET ใส ทั่วไป กิโลกรัมละ 9.40 บาท ส่วนขวด PET ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค กิโลกรัมละ 10.40 บาท
จรณชัย ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT กล่าวถึงที่มาการร่วมมือกับวงษ์พาณิชย์ว่า ในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ขวด PET ของบริษัทตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมานั้น เกิดจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มีความแอคทีฟมากขึ้น ไม่ชอบการนั่งดื่มอยู่กับที่ แต่ชอบถือเครื่องดื่มไปบริโภคตามสถานที่ต่างๆ จึงเกิดการใช้ PET เพื่อตอบสนองขึ้น ซึ่งขวดพลาสติกชนิดนี้มาจากสารตั้งต้น ที่เป็นปิโตรเลียม ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากมาย ทำให้มีคุณสมบัติใส สะอาด ปลอดภัย มีน้ำหนักเบา ทนต่อแรงกระแทก ไม่เปราะแตกง่าย ทั้งยังป้องกันการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี และสามารถรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ นำมาขึ้นเป็นรูปร่างใหม่ได้ และสามารถนำมาแปรสภาพเป็นเส้นใยสังเคราะห์ ในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ ทำเป็นผ้าบุตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ พรม แผ่นกรอง สายรัด และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร แต่สำหรับไทย ยังไม่มีกฏหมายอนุญาต เรื่องรีไซเคิลพลาสติก PET เอากลับมาใช้เป็นแพคเกจบรรจุอาหารได้อีก
จรณชัย กล่าวต่อว่า นโยบายของเป๊ปซี่โค ทั่วโลก ได้วางเป้าหมายว่า ปี 2025 ทุกบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มต้องรีไซเคิลได้ 100% เช่นเดียวกับ ซันโทรี่ ที่กำหนดไว้ในปี 2030 โดยมีกลยุทธ์กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการรีไซเคิล สร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภค ผ่านการกำหนดราคารับซื้อขวด PET ที่ใช้แล้ว จึงเกิดการร่วมมือกับวงษ์พาณิชย์ รับซื้อขวดPET และจะทำการรณรงค์ร้านค้า ร้านอาหาร ที่เป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขวดพลาสติกใช้แล้วทุกชนิดทั้ง ของเครื่องดื่มแป๊ปซี่ เป๊ปซี่แมกซ์เทสต์ มินินิด้า เซเว่นอั กู๊ดมู๊ด ชาพร้อมดื่มลิปตัน น้ำดื่มอควาฟิน่า และเครื่องดื่มเกลือแร่ เกเตอเรด เพื่อนำมาขายให้กับ วงษ์พาณิชย์ ซึ่งมีจุดรับซื้อทั่วประเทศ 1,761 จุด สูงกว่าราคาปกติอีกกิโลกรัมละ 1 บาท เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและนำกลับมารีไซเคิลได้มากขึ้น จะตรวจสอบราคาซื้อขายประจำวันของวงษ์พาณิชย์ได้ทางเว็บไซต์ www.wongpanit.com หรือสอบถามจุดรับซื้อของวงษ์พาณิชย์ทั่วประเทศ ที่คอลเซ็นเตอร์ 081-887-6888
ด้าน ดร. สมไทย วงษ์เจริญ ผู้ก่อตั้ง บริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด เผยว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีขยะ 27.93 ล้านตัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกราว 2 ล้านตัน จำแนกเป็นขวดพลาสติก PET จำนวน 330,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น ขวดพลาสติกชนิด ขาว-ใส 280,500 ตันต่อปี ขวดพลาสติกชนิดขาวออกฟ้า 222,500 ตันต่อปี เป็นแผ่นฟิลม์สำหรับทำบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร และบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ 45,900 ตันต่อปี โดยปัจจุบันการรีไซเคิลพลาสติก PET ในประเทศไทยสามารถจัดการได้ประมาณ 80% ของ PET ทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 20% พบว่าถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อม ตามริมทางบ้าง ซอกภูเขาบ้าง ในแม่น้ำบ้าง จนทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมลำดับต้นๆ ของโลก หากผู้ประกอบการ และผู้บริโภคร่วมมือกันคัดแยกขยะอย่างจริงจัง เพื่อนำอีก 20% กลับเข้าสู่วงจรรีไซเคิลได้อย่างเป็นระบบ จะสามารถลดปริมาณขยะที่ได้นำไปฝังกลบ และเล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อมไปได้มาก และเป็นการสร้างสังคมรีไซเคิลให้กับประเทศไทย
“พลาสติกมีข่าวทุกวัน ดูเหมือนมันเป็นผู้ร้าย ผมคิดว่าพลาสติกเป็นผู้ร้ายแค่บางชนิด ที่ผู้ผลิต ผลิตออกมาตามอำเภอใจมากกว่า แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ มีความตั้งใจเพื่ออยากให้พลาสติกมันมาช่วยโลก ช่วยสังคมให้เกิดความสะดวกสบาย ช่วยให้ผู้บริโภคได้เกิดการประหยัดในการจับจ่ายใช้สอย มีเงินไปซื้อของอย่างอื่น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าจะใช้อย่างไร " ดร.สมไทย กล่าว
ดร.สมไทย กล่าวอีกว่า ขยะที่คัดแยกแล้วสามารถเอาไปเปลี่ยนเป็นเงินใกล้บ้านได้ นี่คือเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจผู้คนให้ช่วยกัน และจะทำให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมแยกขยะ เคยมีคนพูดว่า “ขยะคือทอง” เป็นคำพูดในอดีตที่มาจากคนจีนเรียกกัน ตนคิดว่าขยะไม่ใช่แค่ทองแล้ว แต่คือเพชรเม็ดงามที่ถูกเจียระไนมาอย่างดี แวววาว การเติบโตของอุตสาหกรรมรีไซเคิล ที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกพลาสติกในประเทศไทย เติบโตต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่การทำรองเท้าเด็กนักเรียน กระเป๋านักเรียน เสื้อนักเรียน ขวด PET สีขาว ไม่ได้ใช้เฉพาะไทย มันใช้ไปทั่วโลก
"ปัจจุบันเทคโนโลยีการรีไซเคิล รวมถึงเทคโนโลยีในการทำความสะอาด และกำจัดสิ่งสกปรกในกระบวนการรีไซเคิลในปัจจุบันมีความก้าวหน้า ได้มาตรฐานความปลอดภัยสูงจนที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รวมถึงหลายประเทศในสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รีไซเคิลและผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล ทั้งสำหรับอุปโภคและบริโภคเพื่อส่งออกให้กับประเทศต่างๆ" ดร.สมไทย กล่าวทิ้งท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |