ธีรยุทธ บุญมี : ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย  ติดกับดัก ก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

15 ต.ค 62 - ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดกิจกรรมรำลึกครบ 46 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  โดย ศ. ธีรยุทธ บุญมี ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย  ติดกับดัก ก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย"  โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

 

สังคมไทยไม่มีเป้าหมาย จนกลับมาติดกับดักตัวเอง นับจากปี 2500 กล่าวได้ว่า เมืองไทยมี 3 ยุคคือ

 

1) ยุคพัฒนา (2505-2535) สมัยจอมพลสฤษดิ์ต่อพลเอกเปรม ประเทศไทยมีเป้าหมายคือการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าของภูมิภาค ซึ่งได้ผลน่าพอใจ พร้อม ๆ กันไปคือการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งผลดีผลเสียสลับกันไป เพราะยังมีการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองสูงจนมีการแทรกแซงโดยรัฐประหารหลายหน

 

2) ยุคปฏิรูป ช่วงปี 2535-2557 สังคมมองเห็นทางออกจากปัญหาคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างไร้สำนึกของนักการเมือง จนเกิดเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศร่วมกัน คือการปฏิรูปการเมือง แต่กลับล้มเหลว เพราะแม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่มากของพันธมิตรและ กปปส มีการรัฐประหาร 2 หน ก็สะท้อนว่าพลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อมและไม่สามารถทำการปฏิรูปใด ๆ ได้ เป้าหมายการปฏิรูปจึงคงจะฝ่อลงไปเรื่อยๆ

 

3) ยุคปัจจุบันคือ (2557-2562) ยุคติดกับดัก เพระไม่สามารถพบเป้าหมายที่เป็นทางออกได้ อันที่จริง มีเป้าหมายหนึ่งคือ


“ประชาธิปไตยที่กินได้” หรือนโยบายประชานิยมที่จับใจชาวบ้าน จนกลายเป็นเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่ประชานิยมที่เกิดมาทั่วโลกเป็นเพียงเครื่องมือของการเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของประเทศได้ และพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ยั่งยืน ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจระบบเก่า 2พรรคนี้ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์แผนงานหลักที่จะนำพาประเทศข้ามความขัดแย้งนี้ไปข้างหน้า เน้นการจุดประเด็นซึ่งเป็นจุดขายของขบวนการประชานิยม และมักกลายเป็นความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐ ส่วนพลังฝ่ายอนุรักษ์หรือทหารเอง แม้จะได้อำนาจมา 5 ปีเศษ แต่ก็ติดกับดักความคิดที่เน้นเฉพะความมั่นคง ไม่มีเป้าหมายที่จะกินใจประชาชนจนเกิดเป็นเป้าหมายร่วมของประเทศได้

 

กระบวนทรรศน์ใหม่ที่เข้ามาครอบงำคนไทย

 

ระบบคิดที่เรียกว่า “ความเมือง” เข้ามาแทนที่ระบบคิดแบบ “การเมือง”

 

ในวงการรัฐศาสตร์มีความคิดหนึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้น คือความคิดว่าสิ่งที่สะท้อนแก่นแท้ของสังคมมนุษย์มากกว่า “การเมือง” (the politic) คือสิ่งที่เรียกว่า “ความเมือง” (the political) คำว่า การเมือง ซึ่งนิยามว่าเป็นพื้นที่การแข่งขันของความคิดที่ต่างกัน เป็นความไม่ชอบไม่พอใจ (innimicus) หรือโกรธชังกัน (exthrós) ระหว่างบุคคลก็ได้ แต่ก็สามารถหาข้อสรุปโดยเสียงส่วนใหญ่ได้        แต่ทัศนะใหม่เรื่องความเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้แบบรวมเบ็ดเสร็จ (totality war) ของกลุ่มคนซึ่งมองอีกลุ่มในแง่เป็นพวกเรากับศัตรู (the enemy) เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม (hostis, polémios) ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในท้ายที่สุดคือองค์อธิปัตย์ (sovereignty) ของกลุ่มซึ่งอาจเป็นผู้นำรัฐหรืออำนาจทางกฎหมายก็ได้

 

หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง ทั้งประชาชนและนักการเมืองไทยจะมองว่าประเทศได้ก้าวเข้าสู่กระบวนการเมืองประชาธิปไตยปกติ คือการแถลงนโยบาย ทัศนะของแต่ละฝ่าย การตรวจสอบ หักล้างด้วยหลักฐานโวหารเหตุผล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขผิดเป็นถูก หรือเพื่อล้มรัฐบาลไปสู่การเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่น่ากังวลว่าปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งกำลังรับกระบวนทัศน์แบบ “ความเมือง” ซึ่งมองพวกอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง มาใช้แม้ในภาวะปกติซึ่งไม่ได้มีวิกฤติใด ๆ ทำให้เราได้พบเห็นนักการเมืองกลายเป็น “นักความเมือง” พรรคการเมืองกลายเป็น “พรรคความเมือง” นักวิชาการกลายเป็น “นักโฆษณาความเมือง” ทหารฝ่ายความมั่นคงเป็น “ทหารฝ่ายความเมือง” เราได้เห็นนักเคลื่อนไหวความเมือง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการมองการกระทำของอีกฝ่ายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ใด ๆ เป็นภยันตรายร้ายแรงต่อบ้านเมือง เป็นศัตรูที่จะต้องถูกทำลายลงไป ด้วยการขยายประเด็นเกินเหตุและผล ไปจนถึงการฟ้องร้องหาเรื่องดำเนินคดีความ รวมทั้งการใช้อิทธิพลกดดันกระบวนยุติธรรม บางครั้งก็ใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้า ปักธงล่วงหน้า (preemptive) ก่อนอีกฝ่ายจะดำเนินการใด ๆ ด้วยซ้ำ ระบบคิดแบบความเมืองทำให้ความขัดแย้งขยายตัวน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากความขัดแย้งเหลือง-แดง ซึ่งเป็นเรื่อง ชนชั้นล่างชั้นกลางในชนบท กับชนชั้นกลาง ชั้นสูงในเมือง ต่อมาเพิ่มประเด็นความเป็น ภาคเหนือ อิสาน ใต้ ความขัดแย้งเผด็จการ-ประชาธิปไตย การเลือกตั้งหลังสุดก็เพิ่มประเด็น คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ความคิดเก่า ความคิดใหม่ ชาติมหาอำนาจเองก็แสดงจุดยืนชัดเจนคือ ชาติตะวันตก หนุนฝ่ายเสื้อแดง จีนหนุนฝ่ายอนุรักษ์กับทหาร การที่ความขัดแย้งขยายตัวมาตลอด บ่งชี้ว่ารัฐบาลกับทหารจัดการกับวิกฤติการผิดพลาด มองปัญหาใจกลางผิด

 

การมองปัญหาใจกลางผิด อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง

 

ทหารเอาค่านิยมของทหารเองในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ยกให้เป็นปัญหาหลักของประเทศ (ปัญหานี้มีความสำคัญยิ่ง แต่ที่จะหยิบยกให้เป็นปัญหาหลักโดยแง่ความเร่งด่วน อาจผิดพลาดทั้งยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ปัญหาที่ควรหยิบยกเพื่อให้ได้ใจประชาชนส่วนใหญ่ ควรเป็นปัญหาปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกระทบประชาชนสูงมาก ปัญหาความมั่นคง ควรแก้ไขในลักษณะที่นิ่มนวล แบบแสดงความเข้าใจกันและกัน)  เพราะประชาชนทั้งประเทศยึดอยู่ในค่านิยมนี้อยู่แล้ว แต่ส่วนที่อาจจะไม่ชื่นชม ติติงสถาบัน เป็นเพียงส่วนน้อยไม่มีพลังที่เป็นนัยยะสำคัญเลย  และที่พวกเขาพูดถึงก็มักจะเป็นการพูดถึงสถาบันกับโลกยุคใหม่เพื่อให้ประเพณีปกครองประเทศส่วนนี้ยั่งยืนสถาพรต่อไป (ส่วนการพูดถึง ซุบซิบนินทาผู้นำประเทศ ดารา เป็นเรื่องสนองความอยากรู้ของมนุษย์ที่มีมาทั่วโลกทุกยุคทุกสมัย จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่สำเร็จ) การที่กองทัพโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับ สงคราม hybrid สะท้อนว่า ทหารเชี่อว่าสังคมไทยซึ่งในยุครัฐประหารของคสช ยังอยู่ใน “ภาวะสงครามกลางเมือง” แต่พอ 5 ปีผ่านไป สังคมก็ได้พัฒนาความขัดแย้งมาเป็นสงคราม hybrid ซึ่งร้ายแรงกว่าเดิมเพราะเป็นสงครามยุคหลังสมัยใหม่ที่ไม่จำกัดรูปแบบการต่อสู้ แต่ที่จริงแล้วคติสงครามที่ไร้รูปแบบมีมาตลอด เช่นเรื่องวัสการพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล ยุคอาณาจักรลานนา เชียงใหม่ก็ส่งไส้ศึกไปบ่อนทำลายลำพูน ทหารลำปางเคยก่อวินาศกรรมในเชียงใหม่ พม่าส่งสายลับมาทำแผนที่กรุงธนบุรี ปัจจุบันทุกชาติพยายามโฆษณาชวนเชื่อแนวทางของตัวเอง เอาข้อมูลความลับทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารของกันและกันอย่างเป็นปกติ การนำเอาภาวะไม่ปกติแบบภาวะสงครามมาขยายภาพเกินจริงในภาวะปกติ (normal) ของประเทศหรือโลก มักจะทำให้ความรุนแรงขยายตัวและเกิดสงครามจริง ๆ ขึ้นในที่สุด

 

ประเทศไทยเคยเกิดความขัดแย้งแบบ “พวกเรา-ศัตรู” เพียงหนเดียว คือการสร้างความคิดฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และถือนักศึกษาเป็นภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องฆ่าทำลายล้างในช่วง 6 ตุลาคม 2519 แต่การเกิด “ระบบความเมือง” ในขณะนี้ มีการเคลื่อนไหวกว้างขวางจากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งฝ่ายมวลชน การใช้สื่อออนไลน์ เฟกนิวส์ สื่อทางการ นักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย หน่วยราชการ กองทัพ กระบวนการศาล ฯ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤติใหม่ที่ควรกังวลและต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายคลี่คลาย ผ่อนความขึงตึงจนเกินไปลง

 

หนทางแก้ไข

 

1. สังคมทั่วไปควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง ตั้งสติอยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคม เสริมความรู้สึกแบบเพื่อนมิตร อย่างรับเหตุผลที่เปิดกว้างหลากหลาย ก็จะไม่ไปช่วยเสริมกระแสพวกเรา-ศัตรูที่เกิดขึ้น

 

2. ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปร่วมการใช้ “ความเมือง” ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะ “ความเมือง” หมายถึงความขัดแย้งแบบทำลายล้างในภาวะสงคราม ถ้าหน่วยรัฐร่วมเป็นฝักฝ่ายด้วยก็จะสร้างความหวาดกลัวว่า รัฐบาลมีความเชื่อว่า “กำลังมีสงครามภายใน” หรือรัฐบาลกำลังประกาศภาวะสงครามหรือความเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งกับบ้านเมือง ศาลและระบบยุติธรรมเอง ก็ต้องตริตรองทุกคดีความหรือทุกปัญหาอย่างมีวิจารณญาณและหลักยุติธรรมอย่างแท้จริง บางทีอาจต้อง devolute คือถอยกระบวนการตุลาการภิวัตน์กลับบ้าง (devolution = วนกลับ กระจายศูนย์ ลดบทบาท) เหมือนกับที่เกิดในสหรัฐและอีกเกือบทุกประเทศ ซึ่งควรจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบวนทรรศน์ “ความเมือง” ที่กำลังแผ่ขยายอยู่ในขณะนี้

 

งานที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ควรทำ

 

รัฐบาลประยุทธ์ในช่วงรัฐประหารมีผลงานจับต้องได้จำนวนหนึ่ง คือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการรักษาความสงบไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง ส่วนการปฏิรูประบบไม่เกิด การสร้างความสมานฉันท์ก็ไม่เกิด รัฐบาลประยุทธ์ซึ่งมาจากเลือกตั้งจะยิ่งทำงานลำบากกว่าเดิมมาก เพราะโดยโครงสร้างรัฐบาลจะอยู่รอดต่อไปได้ ต้องจัดสรรผลประโยชน์มาให้ทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดจะต้องพึ่งพากลุ่มทุนใหญ่ ดังนั้นภารกิจหลักของรัฐบาลในช่วงหน้าก็คือจะกลายเป็นการดำเนินนโยบายโครงการให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เป็นรัฐบาลทหารเพื่อกลุ่มธุรกิจใหญ่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม คาดว่าคนจำนวนมากยังต้องการให้ประเทศได้มีรัฐบาลบริหารงานไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้นพลเอกประยุทธ์ควรปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการควบคุมประสานพรรคร่วมลำบากยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ควรตั้งเป้าหมายระยะยาว แต่ต้องทำให้ได้ผลจริงจังสักสองสามเรื่องก็พอ

 

อย่างแรก คือ โฟกัสการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ที่ผมเคยเรียก “รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน” (กระจ้อน = แคระ แกร็น) อย่างจริงจัง เพราะปัญหาความเลื่อมล้ำมีสูง คนจน คนชั้นกลางก็ลำบากจริง ๆ การแก้ปัญหานี้จริง ๆ ทำได้ยากแต่นายกก็ต้องทุ่มเททำ

 

อย่างที่สอง คือ การเพิ่มคุณภาพของคนในทุกวัยในด้านการศึกษาพัฒนาทักษะใหม่ อาชีพใหม่สำหรับเศรษฐกิจแบบ disruptive ที่เกิดขึ้นรวดเร็วในหลาย ๆ ด้าน ต้องใช้อำนาจบารมีตัวนายก ฯ ประยุทธ์เองลงมือแก้ปัญหาเอง การแก้ปัญหาครบทั้งต้นน้ำปลายน้ำ เช่นต้องมีการประกันรายได้การงานให้ และควรทำแบบเลือกสรรเฉพาะส่วน เพราะการปฏิรูปทั้งระบบใหญ่โตเกินไป ไม่สามารถทำได้จริง ถ้าทำเช่นนี้ ก็จะเป็นการเลือกลำดับความสำคัญได้ถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"