รำลึก 46 ปี 14 ตุลา คึกคัก “ลดาวัลลิ์” สบช่องอ้างต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความเท่าเทียม เสวนาวิกฤติยุติธรรมรุมอัดภาครัฐ-ข้าราชการ “หมวดเจี๊ยบ” ดุชงบิ๊กตู่ดัดนิสัย “ผบ.ทบ.” ตัดบำเหน็จ “เมียธิดา-ผัวเหวง” พร้อมใจอัด “บิ๊กแดง” ชี้แนวคิดจารีตนิยมถอยหลังนับร้อยปี มีอัตวิสัยที่คิดว่าตัวเองถูกต้อง ถือเป็นสิ่งอันตรายต่อชาติและสถาบัน แนะอ่านหนังสือให้มากๆ จะได้รู้จริง
เมื่อเวลา 08.42 น. วันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยบรรยากาศช่วงเช้ามีฝนตกหนักทำให้กำหนดการขยับเลื่อนมาเริ่มต้นในเวลา 08.42 น. มีการจัดพิธีกรรม 3 ศาสนาอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว และมีตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเดินทางมาวางพวงมาลา พร้อมกล่าวสดุดีวีรชนคนเดือนตุลา
โดยผู้แทนวางพวงมาลาและกล่าวสดุดีวีรชน อาทิ นายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนนายกฯ, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร และนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้แทนผู้นำฝ่ายค้าน เป็นต้น
นายณัฏฐชัยกล่าวสดุดีวีรชน 14 ตุลาว่า วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 46 ปี 14 ตุลาคม 2516 เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย เป็นวันสะท้อนเจตนารมณ์และแสดงพลังของนิสิตนักศึกษาและประชาชน ที่เห็นคุณค่าของประชาธิปไตยว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นายองอาจกล่าวว่า วีรชนในเหตุการณ์ดังกล่าวมีจิตใจที่กล้าหาญ กล้าเสียสละชีวิตของตนเอง สิ่งที่เหล่าวีรชนได้ทำลงไปยังอยู่ในความทรงจำของประชาชนตลอดไป ขอสดุดีวีรกรรมอันกล้าหาญของวีรชน 14 ตุลา และเป็นแบบอย่างบทเรียนที่ดีงามให้ผู้ปกครองประเทศ ประชาชนที่รักหวงแหนในความชอบธรรมและประชาธิปไตย ขอให้ช่วยกันเอาบทเรียน 14 ตุลามาเป็นแบบอย่างของการรักษาคุณธรรม ความดีงามความถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยตลอดไป
ส่วนนางลดาวัลลิ์กล่าวว่า ตลอด 46 ปีที่ทุกฝ่ายร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่เสียสละในการปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชน ถือเป็นต้นแบบที่ดีงามสืบทอดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ยั่งยืนและยาวนาน ซึ่งการสร้างความยอมรับในการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีกติกาเป็นสากลจะสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยได้ โดยสิ่งที่ 7 พรรคฝ่ายค้านได้มองเห็นการที่ประเทศจะก้าวไปสู่ความเชื่อมั่นโดยเร็ว จำเป็นต้องมีการบริหารที่เป็นสากลและประชาธิปไตย มีความเป็นธรรมไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงรณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อให้มีความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ต่อมาที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “นิติรัฐและนิติธรรม กับระบอบประชาธิปไตยไทย” โดยระบุว่าตั้งแต่ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ทำให้ระลึกถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของพลเมือง ไม่ใช่แค่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่รวมถึงบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความยินยอมของประชาชน ตามหลักราชประชาสมาสัย และเมื่อมีเหตุการณ์ที่รัฐธรรมนูญไม่ระบุไว้ให้ดำเนินการตามประเพณีการปกครอง เห็นได้ชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่พระมหากษัตริย์มีพระมหากรุณาธิคุณให้จัดตั้งรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นายกิตติศักดิ์กล่าวอีกว่า พระมหากษัตริย์ถือหลักธรรมเป็นใหญ่ ตามหลักกฎหมายเป็นใหญ่ กษัตริย์มีฐานะเป็นผู้แทนปวงชนตามประเพณีการปกครอง สืบสานอเนกชนนิกรสโมสร สมมติต้องใช้อำนาจอธิปไตยตามกฎหมาย หากเกิดการรัฐประหาร ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างไรไม่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การรัฐประหารฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ทำก็อ้างทำด้วยความจำเป็น ซึ่งมีหลักว่าความจำเป็นเป็นมารดาแห่งกฎหมาย หากเผชิญหน้าอันตรายและสมควรแก่เหตุ ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ คณะรัฐประหารทุกชุดยอมรับว่าผิด ถึงมีการนิรโทษกรรม ขอพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
ปชช.ต้องร่วมมือกับกษัตริย์
“คณะรัฐประหารขอความเห็นชอบกับผู้แทนปวงชนคือพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่ควรศึกษาทำความเข้าใจ การใช้พระราชอำนาจในยามวิกฤติ ยกเว้นกฎหมายทั้งหลายเมื่อมีเหตุจำเป็น เป็นไปตามหลักราชธรรม ป้องกันความชั่วร้ายไม่ให้เกิดในบ้านเมือง หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต้องเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับประชาชน เข้าใจได้อธิบายได้แก่ประชาชน อำนาจที่แท้จริงคือความเห็นร่วมกันที่คนทั้งหลายยอมเคารพและเชื่อฟัง หลัง 14 ตุลาประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจตามอำเภอใจลดน้อยถอยลง แต่อำนาจตามอำเภอใจทางเศรษฐกิจมีมาก ต้องไม่ให้ทุนใหญ่ใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ ให้ประชาชนต่อรองควบคุมการใช้อำนาจผูกขาด ขอให้รำลึกถึงเจตนารมณ์ 14 ตุลา เพื่อให้กฎหมายเหตุผลเป็นใหญ่ ด้วยความร่วมมือของประชาชนกับพระมหากษัตริย์”
ต่อมาในช่วงบ่ายยังมีการจัดเสวนาโต๊ะกลมวาระประชาชน หัวข้อ “ยุติธรรมวิกฤติ จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ไม่ให้เลือกปฏิบัติ-สองมาตรฐาน” โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าทำงานใน กมธ.กฎหมายฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนไม่น้อย เช่น เรื่องสัญชาติ เรื่องกระบวนการยุติธรรมในรอบ 5 ปี และเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาก่อนรัฐประหาร 2549 เรื่องการถูกซ้อมถูกทำร้าย ซึ่งเราอยู่ในสถานการณ์วิกฤติข้อยกเว้น ฝั่งหนึ่งถูกเสมอ ฝั่งหนึ่งผิดเสมอ ทำให้ประชาชนมาพึ่งตรงนี้เยอะ เพราะสูญเสียความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่
น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ปัญหาคดีความมั่นคง เกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงทนายและญาติของผู้ถูกคุมตัวหลังการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่อ้างว่ายังไม่ได้เป็นผู้ต้องหาเลยไม่ได้รับสิทธิ์ แค่เอามาสอบถาม ทั้งที่ความจริงต้องได้ความคุ้มครองยิ่งกว่าคนบริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพยานหลักฐานที่อยู่กับเจ้าหน้าที่มากกว่า เช่นถูกจับ พ.ร.บ.คอมพ์ ก็ถูกยึดมือถือ
นายประยงค์ ดอกลำไย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ชี้ว่าปัญหาชาวบ้านถูกฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่มาก่อนกฎหมายประกาศใช้ และคดีป่าไม้กว่า 99% ตัดสินให้ชาวบ้านผิดหมด อ้างเป็นคดีนโยบาย ทุกวันนี้ชาวบ้านกลัวค่ายทหาร ศาล โรงพยาบาล ไม่รู้ไปแล้วจะได้ออกหรือไม่ เป็นวิกฤติที่ไม่ได้แก้เชิงโครงสร้าง
นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ มองว่าคดีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านนักเคลื่อนไหวหรือฝ่ายค้านนั้น แทนที่รัฐจะใช้กฎหมายเป็นกรอบของความยุติธรรม กลับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และแย่กว่านั้นคือข้าราชการกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ
วันเดียวกัน ในเวลา 07.00 น. เพจไทยคู่ฟ้าได้โพสต์เนื้อหาระบุว่า "บอกเราหน่อย อยากเห็น PM (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) Talk พูดคุยแบบไหน?" ขอ 1 ความคิดเห็น ไลฟ์สไตล์คุยกับประชาชน, สัมภาษณ์ หรืออื่นๆ โดยล่าสุดมีผู้แสดงความคิดเห็น 580 ความเห็นและแชร์เรื่องดังกล่าว 105 ครั้ง
ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรค พท.โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องนี้ว่า เมื่อเพจไทยคู่ฟ้าถามความเห็นประชาชนก็ขอเสนอความเห็นให้ พล.อ.ประยุทธ์พูดแต่เรื่องจริง อย่าบิดเบือนให้มากนัก และพูดจาให้ฉลาดๆ ที่สำคัญขอให้นายกฯ ชี้แจงว่าเมื่อไหร่จะพิจารณางดบำเหน็จ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) เพื่อดัดนิสัยที่ชอบแทรกแซงการเมืองและวางตัวไม่เหมาะสมบ่อยๆ ซึ่งผิดทั้งในแง่ระเบียบ ผิดทั้งในแง่การวางตัว และผิดทั้งในแง่เนื้อหา เพราะพูดใส่ร้ายพรรคฝ่ายค้านให้ดูน่ากลัวเกินจริง โดยพูดเหมือนว่าพรรคฝ่ายค้านกำลังจะแก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 ทั้งๆ ที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน แถลงข่าวยืนยันมาตลอดว่าไม่เคยสนับสนุนให้แก้หมวด 1 และหมวด 2
ชงตัดบำเหน็จดัดนิสัย!
“ผบ.ทบ.เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และเป็นตำแหน่งที่นายทหาร จปร.ทุกคนใฝ่ฝัน ในเมื่อท่านได้ครอบครองตำแหน่งนี้ก็ถือเป็นชายเหนือชายแล้ว จึงควรวางตัวให้สมกับเกียรติยศที่ได้รับ จะพูดอะไรก็ควรอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพื่อเป็นการให้เกียรติเครื่องแบบที่ท่านสวมใส่ รวมทั้งให้เกียรติเครื่องหมายจำนวนมากที่ท่านติดเต็มแผงหน้าอกด้วย ที่สำคัญคำพูดของคนเป็น ผบ.ทบ.ไม่ว่าจะพูดอะไร ใครๆ ก็เชื่อถืออยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องใส่สีใส่ไข่หรือสร้างดรามา เพราะท่านไม่ใช่นักแสดง และ ผบ. ทบ.ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูดให้บ้านเมืองเสียหาย ทำให้สังคมเกิดความแตกแยก ก็สมควรโดนงดบำเหน็จเพื่อแสดงความรับผิดชอบ” ร.ท.หญิง สุณิสากล่าวและว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงทั้งในฐานะนายกฯ และ รมว.กห.จะกล้าแสดงภาวะผู้นำหรือไม่ เพื่อดัดนิสัย ผบ.ทบ.ให้เลิกแทรกแซงการเมืองและปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม
เฟซบุ๊กเพจยูดีดีนิวส์-UDD news ได้โพสต์เนื้อหาที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไลฟ์สดในหัวข้อ "นายทหารผู้หลงยุค หลงตัว และท้าทายกระแสโลก" ระบุว่า สิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองในที่สาธารณะ ใช้สถานที่หอประชุมกองทัพบก มี Presentation และมีเพลงประกอบ เป็นสิ่งที่ในโลกไม่มีทหารประเทศไหนเขาทำกัน และสิ่งที่พูดนั้นมีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นว่าวิธีคิดเป็นแบบจารีตนิยม และยังหลงยุคถอยหลังไปนับร้อยปี
“ไม่ว่าจะเป็นพระยาพหลฯ จอมพล ป. มาฟัง พล.อ.อภิรัชต์พูด คงปวดหัวและคงมึนว่ามันเป็นไปได้อย่างไรที่มาในยุค 2562 ผู้บัญชาการทหารบกไทยจะพูดในที่สาธารณะในทัศนะการเมืองการปกครองที่ย้อนประวัติศาสตร์ไปเป็นร้อยปีได้เช่นนี้”
นางธิดายังไลฟ์อีกว่า สิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์กล่าวนั้นเป็นอัตวิสัยที่มาจากความคิดที่คิดว่ามันถูกต้อง มันดี ซึ่งคือการต้านกงล้อประวัติศาสตร์และการท้าทายกระแสโลก เพราะเมื่อพูดคำว่าชาติก็พูดถึงแผ่นดิน แต่ชาติไม่ได้มีเพียงเฉพาะแผ่นดิน มันต้องมีประชาชนจึงเป็นชาติ และท่านต้องรู้จักประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่ว่า จริงๆ แล้วไทยก็เป็นเจ้าอาณานิคม แต่เป็นอาณานิคมย่อยในภูมิภาค
“ท่านเอาประชาชนเป็นศัตรู ถ้าเป็นยุค 100 กว่าปีก่อนแบบที่ท่านคิดคือเป็นไพร่เป็นพลทหาร แต่ประชาชนในโลกปัจจุบันไม่ใช่ไพร่และไม่ใช่พลทหาร เขาเป็นเสรีชน ท่านพูดถึงคอมมิวนิสต์ พูดถึงซ้ายจัดดัดจริต พูดถึงนักวิชาการ พูดถึงนายทุน พูดถึงฮ่องเต้ซินโดรม จริงๆ กระแสเหล่านี้เป็นกระแสของความพยายามของประชาชนในการที่มีสิทธิ มีเสรีภาพ มีความเท่าเทียมกัน นี่คือพัฒนาการของโลก นี่คือกงล้อประวัติศาสตร์ที่ต้องหมุนไป” นางธิดากล่าว
แนะบิ๊กแดงอ่านหนังสือ
นางธิดายังกล่าวถึง Hybrid Warfare ว่า พล.อ.อภิรัชต์ต้องหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งมันอาจเป็นความผิดของระบบการศึกษาทั้งประเทศ ของโรงเรียนนายร้อย จปร.ด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ อาจต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ให้มันอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะ Hybrid Warfare จริงๆ ขณะนี้เป็นฝ่ายรัฐที่ใช้ ไม่ใช่ประชาชน เพราะประชาชนไม่มีกองกำลังอาวุธ มีอย่างเดียวคือเขาต่อสู้ให้เขาได้มีสิทธิเสรีภาพ แต่รัฐต่างหากที่ใช้ทุกอย่าง และที่ไม่ได้เขียนอยู่ในชาร์ตของท่านก็ยังมี ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือใช้ระบบราชการ หรือกระบวนการยุติธรรมที่สามารถที่จะเป็นไปตามอำนาจคณะรัฐประหารได้ เพราะบ้านเราถ้าทำรัฐประหารสำเร็จฝ่ายตุลาการยอมรับอำนาจนี้ ดังนั้นอำนาจสูงสุดก็กลายเป็นอำนาจของคณะรัฐประหารไป
“ดีแล้วที่ท่านออกมาพูดทั้งหมด เราก็จะได้รู้ว่าท่านคิดอย่างไร จะได้รู้ว่าท่านรู้อะไรและไม่รู้อะไรอีกมากมาย แต่พูดตรงๆ ในฐานะ ผบ.ทบ. ถ้าท่านรู้เท่าที่พูดมาทั้งหมดเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เป็นอันตรายต่อกองทัพ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน แม้กระทั่งองค์พระประมุข หากเชื่อว่าสิ่งที่ท่านพูดนั้นถูกต้อง แต่ถ้าหากว่าท่านรับฟังแล้วเกิดแง่คิดใหม่ อ่านหนังสือให้มากขึ้น จึงขอใช้คำพูดของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่บอกว่านายไม่อ่านหนังสือแล้วนายจะรู้อะไร” นางธิดาทิ้งท้าย
ขณะเดียวกัน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.สามีนางธิดาก็โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกันว่า ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยตนเอง แต่ในคุณภาพที่สูงยิ่งขึ้น ระบุว่าจอมพลถนอม, จอมพลประภาส, พ.อ.ณรงค์ ยิ่งใหญ่เกรียงไกรแค่ไหนใครๆ ก็รู้ แต่พวกเขาสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อเนื่องมาจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนประวัติศาสตร์ขานเรียกรวมกันว่าสามทรราช เรื่องนี้ก็ตราตรึงไว้ในประวัติศาสตร์ประชาชนไทยแล้ว แต่ไม่ว่าพวกเขาจะยิ่งใหญ่เกรียงไกรแค่ไหน หากกดขี่ข่มเหงประชาชนไปจนถึงจุดที่ประชาชนไม่อาจจะทานทนอีกต่อไปได้ ในที่สุดก็เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อโค่นล้มสามทรราชในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้น ชะตากรรมของพวกเขาคือไม่มีแผ่นดินอยู่
“ประวัติศาสตร์มีเอาไว้เพื่อศึกษาเรียนรู้ เก็บรับบทเรียนที่เป็นประโยชน์เพื่อเดินรอยตาม และสร้างเสริมให้เกิดคุณูปการมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงความผิดพลาดชั่วร้ายเลวทรามไม่ให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำร้อยตนเอง แต่ในคุณภาพที่สูงยิ่งขึ้น” นพ.เหวงโพสต์ไว้
ด้าน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทวีตในทวิตเตอร์ว่า เพื่อนฝรั่งเศสเล่าให้ฟังว่าในประเทศเขาแทบไม่มีใครนึกชื่อ ผบ.ทบ.ออก เพราะเป็นข้าราชการปกติคนหนึ่ง ไม่ได้มีบทบาทแบบนักการเมือง เหมือนที่คนไทยคงไม่รู้จักว่าใครเป็น ผอ.สพฐ.ในกระทรวงศึกษาฯ ส่วนคนเยอรมันบอกในประเทศที่รัฐบาลเป็นปกติ ถ้า ผบ.ทบ.ออกมาพูดแบบวันนั้น ถูกย้ายเข้ากรุไปแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |