14 ต.ค.62 - เมื่อเวลา 8.42 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน แยกคอกวัว มีการจัดงานรำลึกครบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และพรรคการเมือง ร่วมเดินทางมาวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีวีรชนคนเดือนตุลา พร้อมญาติวีรชนผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์กับผู้สนใจเดินทางมาร่วมงาน
อาทิ นายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายก ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร, นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้แทนผู้นำฝ่ายค้าน, นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ในฐานะผู้แทนผู้ว่าฯ กทม., นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และศูนย์พัทยา ในฐานะผู้แทน ม.ธรรมศาสตร์, นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ กล่าวว่า วีรชนในเหตุการณ์ดังกล่าวมีจิตใจที่กล้าหาญ กล้าเสียสละชีวิตของตนเอง หลายคนอาจมีชีวิตที่ยากลำบาก แต่สิ่งที่เหล่าวีรชนได้ทำลงไป ยังอยู่ในความทรงจำของประชาชนตลอดไป ในนามของประธานสภาฯ และประธานรัฐสภา ขอสดุดีวีรกรรมอันกล้าหาญของวีรชน 14 ตุลา ขอให้วีรชน 14 ตุลา อยู่ในความทรงจำ และเป็นแบบอย่างบทเรียนที่ดีงามให้กับผู้ปกครองประเทศ และให้กับประชาชนที่รักหวงแหนในความชอบธรรม และประชาธิปไตย ขอให้ช่วยกันเอาบทเรียน 14 ตุลา มาเป็นแบบอย่างของการรักษาคุณธรรมความดีงามความถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยตลอดไป
นางลดาวัลลิ์ กล่าวว่า ตลอด 46 ปี ที่ทุกฝ่ายร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่เสียสละในการปกป้องประชาธิปไตย และเสรรีภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีงาม สืบทอดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ยั่งยืนและยาวนาน การสร้างความยอมรับในการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีกติกาเป็นสากล จึงจะสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยได้ โดยสิ่งที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน ได้มองเห็นการที่ประเทศจะก้าวไปสู่ความเชื่อมั่นโดยเร็ว จำเป็นจะต้องมีการบริหารที่เป็นสากลและประชาธิปไตย มีความเป็นธรรมไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ต่อคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนไม่สามารถที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต และไม่เป็นที่ยอมรับ
"ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ เราจะเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชน ยึดมั่นในระบบรัฐสภา ทำหน้าที่ให้ประชาชนภาคภูมิใจว่าจะปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ปกป้องงบประมาณแผ่นดินเพื่อประชาชน"
ขณะที่ ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวมา 40 กว่าปี จึงอยากเห็นประชาธิปไตยในประเทศมีความก้าวหน้า โดยฝากทุกฝ่ายในการทำประชาธิปไตยให้เดินไปข้างหน้า ฝากนักการเมือง และ ส.ส.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
ต่อมาเวลา 10.30 น. นายกิตติศักดิ์ ปรกติ ขึ้นกล่าวปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “นิติรัฐและนิติธรรม กับระบอบประชาธิปไตยไทย” โดยสรุปเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญไทยในบททั่วไป ตั้งแต่ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ทำให้ระลึกถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของพลเมือง ไม่ใช่แค่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่รวมถึงบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความยินยอมของประชาชน ตามหลักราชประชาสมาสัย และเมื่อมีเหตุการณ์ที่รัฐธรรมนูญไม่ระบุไว้ ให้ดำเนินการตามประเพณีการปกครอง เห็นได้ชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่พระมหากษัตริย์มีพระมหากรุณาธิคุณให้จัดตั้งรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นายกิตติศักดิ์ ได้กล่าวอธิบายประวัติศาสตร์โดยละเอียด เกี่ยวกับการกำเนิดของหลักนิติรัฐนิติธรรม ที่มาจากนักปรัชญาการเมืองต่างประเทศในอดีต ความขัดแย้งของชนชั้นนำในประเทศอังกฤษ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยสหรัฐอเมริกาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ ตามหลัก The King can do no wrong. พระมหากษัตริย์ทำผิดไม่ได้ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส่วนในประเทศไทย นายกิตติศักดิ์ชี้ให้เห็นถึงพระราชอำนาจที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ใครเดือดร้อนมาสั่นกระดิ่งก็จะช่วยตัดสินให้ เป็นการตัดสินเรื่องทั้งปวงตามหลักอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งมีหลักแฝงอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย ราชธรรม 4 และ ทศพิธราชธรรม พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งได้เพราะทรงไว้ซึ่งธรรมะ ไม่ใช่พระราชอำนาจอย่างเดียว ทรงไว้ด้วยราชธรรมกำกับราชทัณฑ์ ในส่วนกฎหมายมีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ และกฎมณเฑียรบาลระบุไว้
นายกิตติศักดิ์ กล่าวสรุปว่า พระมหากษัตริย์ถือหลักธรรมเป็นใหญ่ ตามหลักกฎหมายเป็นใหญ่ กษัตริย์มีฐานะเป็นผู้แทนปวงชนตามประเพณีการปกครอง สืบสานอเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ต้องใช้อำนาจอธิปไตยตามกฎหมาย หากเกิดการรัฐประหาร ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างไรไม่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การรัฐประหารฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ทำก็อ้างทำด้วยความจำเป็น ซึ่งมีหลักว่าความจำเป็นเป็นมารดาแห่งกฎหมาย หากเผชิญหน้าอันตรายและสมควรแก่เหตุ ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ คณะรัฐประหารทุกชุดยอมรับว่าผิด ถึงมีการนิรโทษกรรม ขอพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
นายกิตติศักดิ์ มองคณะรัฐประหารว่าขอความเห็นชอบกับผู้แทนปวงชนคือพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่ควรศึกษาทำความเข้าใจ การใช้พระราชอำนาจในยามวิกฤติ ยกเว้นกฎหมายทั้งหลายเมื่อมีเหตุจำเป็น เป็นไปตามหลักราชธรรม ป้องกันความชั่วร้ายไม่ให้เกิดในบ้านเมือง หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต้องเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับประชาชน เข้าใจได้อธิบายได้แก่ประชาชน อำนาจที่แท้จริงคือความเห็นร่วมกันที่คนทั้งหลายยอมเคารพและเชื่อฟัง หลัง 14 ตุลา ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจตามอำเภอใจลดน้อยถอยลง แต่อำนาจตามอำเภอใจทางเศรษฐกิจมีมาก ต้องไม่ให้ทุนใหญ่ใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ ให้ประชาชนต่อรองควบคุมการใช้อำนาจผูกขาด ขอให้รำลึกถึงเจตนารมณ์ 14 ตุลา เพื่อให้กฎหมาย เหตุผลเป็นใหญ่ ด้วยความร่วมมือของประชาชนกับพระมหากษัตริย์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |