ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บอกเล่าการจัดสร้างจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงวัดพระราม 9
วันที่ 13 ตุลาคมเป็นวันที่มีความหมายที่ทุกคนจดจำ เป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้น และสะท้อนปรัชญาการทำงานของพระองค์ท่านเรื่องความพอเพียงอย่างชัดเจน
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ร่วมสืบทอดพระราชปณิธานและปรัชญาการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยภายในพระระเบียงวัด เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ จำนวน 65 ตอน ความยาว 50.23 เมตร สูง 2.2 เมตร โดยทางวัดพระราม 9 จัดงานแถลงข่าว ณ ศาลา 100 ปี ญสส. ที่วัดพระราม 9 เมื่อวันก่อน โดยมีพระธรรมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและประธานกรรมการอำนวยการวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และนายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรผู้ได้รับมอบหมายให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ร่วมบอกเล่าการจัดสร้างภาพเขียนทรงคุณค่าของคนไทย
การจัดสร้างจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงวัดพระราม 9 สานพระราชปณิธานในหลวง ร.9
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวว่า วันที่ 13 ตุลาคมนี้ คงเป็นวันที่เตือนความจำของเราอีกครั้ง เมื่อ 3 ปีที่แล้วพ่อของแผ่นดินได้จากเราไป โดยระหว่างที่ทรงครองราชย์มา 70 ปีนั้น พวกเรารับรู้รับทราบว่าได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนคนไทยทั้งหมด เสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งละ 8 เดือนทั่วประเทศไทย 2 เดือนทางเหนือ 2 เดือนทางอีสาน 2 เดือนทางใต้ และ 2 เดือนภาคกลาง แต่ละครั้งไม่ได้เสด็จฯ ไปตากอากาศ แต่ทรงตรากตรำพระวรกายไปรักษาดิน น้ำ ป่า ที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยแห่งชีวิตของพวกเราทั้งนั้น ซึ่งเรียกรวมๆ ว่าแผ่นดิน นอกจากนี้ยังมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับเรื่องศาสนา การศึกษา การประกอบอาชีพต่างๆ
“ วันนี้แม้พระองค์ไม่ทรงอยู่กับเราแล้ว แต่คิดว่า คำสอนต่างๆ สิ่งที่พระองค์ทรงทำทั้งหลายทั้งปวง คงเป็นแนวที่จะนำมาใช้ในชีวิตของเราได้ ” ดร.สุเมธ กล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า สำหรับวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ตนคิดว่าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวัดก่อตั้งขึ้นด้วยพระราชดำริพระองค์ท่าน สืบเนื่องจากผู้มีจิตศรัทธาได้ถวายที่ดินและระบุวัตถุประสงค์ว่าขอให้ทำ 2 กิจกรรม ส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียน อีกส่วนหนึ่งให้เป็นวัด พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งให้ตนเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมทั้งสอง สำหรับโรงเรียนได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครดำเนินการ ส่วนวัดนั้นมีการออกแบบโดยพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อสร้างพระอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระ หอระฆัง โรงครัว อาคารที่วัดต้องมี
“ ตอนนั้นตั้งงบประมาณไว้ 130 ล้านบาท จำได้ว่าเมื่อครั้งไปเข้าเฝ้าฯ ที่สวนจิตรลดาเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรายงานแผนการดำเนินงานให้พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัย พระองค์รับสั่งว่า การเสนองบประมาณมีการตัดใช่ไหม ตนกราบบังคมทูลว่า ใช่พระพุทธเจ้าค่ะ พระองค์รับสั่งต่อว่า ก็แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาจะเห็นเหมาะ อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงนำดินสอมาและรับสั่งว่า ฉันตัดตัวเดียว ตัดเลขศูนย์ออกไป จาก 130 ล้าน เหลือ 13 ล้านบาท ฉันไม่ต้องการวัดใหญ่ ศูนย์รวมจิตใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาด พระพุทธเจ้าสอนคนตามต้นไม้ ดังนั้นขนาดไม่ได้มีความหมายอะไร วัดนี้ฉันต้องการวัดเล็กๆ เรียบง่ายที่สุดเท่าที่ทำได้ จะได้ไม่เป็นภาระของสงฆ์ และสถานที่ตรงนี้เหมาะสมกับคนกรุงเข้าวัด ทำบุญตักบาตร มีชุมชนตั้งอยู่ ไม่ต้องมีพระสงฆ์มาก และให้โรงเรียนและวัดดำเนินการร่วมกัน ไม่เน้นปริมาณ เน้นคุณภาพ สื่อนัยบ้าน วัด โรงเรียน โดยให้วัดเป็นศูนย์กลางประสานระหว่างราชการกับประชาชน พระองค์ท่านคิดรอบคอบมาก” ดร.สุเมธ กล่าว
พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก สะท้อนความเรียบง่ายและพอเพียง
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า เมื่อได้รับงบประมาณ 13 ล้านบาท ก็เริ่มดำเนินการ โดยโบสถ์ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 3 ล้านเศษ หลังจากสร้างขึ้นมาแล้วมีความสวยงามกะทัดรัด โดยโบสถ์มีชื่อเรียกขานว่า “โบสถ์พอเพียง” เพราะพอเพียงกับการใช้งานดั่งที่พระองค์รับสั่ง วัดมีกิจกรรมประจำวัน สวดเช้า-เย็น ทำบุญบ้าง แค่นี้ก็พอแล้ว มีเทศกาลใหญ่ก็ให้กางเต็นท์ ปีหนึ่งมี 3-4 ครั้ง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระสงฆ์สอนพุทธศาสนาอย่างเดียว โดยไม่ต้องกังวลกับสรรพสิ่ง อย่างไรก็ตามภายหลังจากเสด็จสวรรคตได้ 3 ปีแล้ว แต่ภารกิจหนึ่งที่ยังไม่สำเร็จสำหรับวัดนี้ คือ การสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ระเบียง ซึ่งสร้างขนานกับโบสถ์
“ เรื่องนี้เป็นเรื่องคิดมานานตั้งแต่ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ กระทั่งสวรรคตก็ยังไม่แล้วเสร็จ แต่วันนี้เป็นฤกษ์งามยามดี ด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์นายกกิตติมศักดิ์มูลนิธิชัยพัฒนาแทนรัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสให้แนวความคิดในการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังควรเล่าเรื่องรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่พระราชประวัติไปจนถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อเด็กรุ่นหลังที่สนใจ แต่เทคโนโลยีความไฮเทคจนลืมรากตัวเองได้รับทราบ เป็นเรื่องน่าห่วงกังวล อย่างน้อยมาที่วัดจะได้รู้ในหลวงทำอะไร ได้รับทราบพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติเพื่อชาวไทยเราได้ นายมณเฑียร ชูเสือหึง ลูกศิษย์อาจารย์อาวุธ มาสานต่อ “ ดร.สุเมธ กล่าว
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เยี่ยมชมลำดับโครงเรื่องจิตรกรรมฝาผนังพระราชกรณียกิจ
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวต่อว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนัง แบ่งเป็น 65 ตอน สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงงานตลอด 70 ปี ทรงยิ่งใหญ่ด้วยงานพระมหากษัตริย์ ประเทศอื่นๆ อาจจะยิ่งใหญ่ด้วยการรบ แต่พระองค์ยิ่งใหญ่ด้วยการปฏิบัติต่อประชาชน อันนี้เป็นสิ่งที่หาใครเปรียบยากในโลกนี้
ในโอกาสนี้ ดร.สุเมธได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาที่มีความประสงค์อยากร่วมทำบุญในครั้งนี้ โดยประชาชน องค์กร บริษัทห้างร้านต่างๆ สามารถร่วมบริจาคสร้างภาพเขียนได้ แม้กระทั่งบาทเดียวก็นับเป็นกุศล
“ งานครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่พวกเราร่วมกันถ่ายทอดความทรงจำที่อยู่คู่กับประเทศไทยไปชั่วกาลนาน ผ่านจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก” ดร.สุเมธ กล่าว
การจัดสร้างจิตรกรรมฝาผนังจะใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท สำหรับช่องทางการร่วมทำบุญมี 3 ช่องทาง ประกอบด้วย 1.ตู้รับบริจาคโครงการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังฯ ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก 2.โอนเงินบริจาคทางบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชี วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เลขที่บัญชี 059-8-14733-7 และ 3.บริจาคผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด
ภาพโครงการฝนหลวงดับไฟป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส 1 ใน 65 ตอน
จิตรกรมือหนึ่งผู้ออกแบบภาพร่างต้นแบบ ขยายแบบ วาด และลงสีทั้ง 65 ตอน เป็นการรังสรรค์ของนายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรผู้เชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ก่อนหน้านี้สร้างผลงานจิตรกรรมฝาผนังพระราชกรณียกิจภายในพระที่นั่งทรงธรรม ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.9 สุดยิ่งใหญ่ตระการตา
นายมณเฑียร กล่าวว่า โครงการภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังมีการดำเนินการวางแผนมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน มีพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น เป็นประธานคณะดำเนินงาน ต่อมาปี 2553 เริ่มรวบรวมข้อมูลรูปแบบและงบประมาณ จากนั้น ปี 2554 ได้ดำเนินการหาข้อมูลเบื้องต้น 2 หมวด ได้แก่ หมวดพระราชประวัติพระราชพิธี และเหตุการณ์สำคัญในยุคสมัยนั้น และหมวดโครงการพระราชดำริ แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการเขียน ประธานคณะกรรมการฯ ล้มป่วย จนกระทั่งปี 2556 ตนได้รับมอบหมายต่อให้ดำเนินการจัดสร้างภาพเขียนดังกล่าวโดยใช้รูปแบบและเนื้อหาเดิม เพื่อจัดวางองค์ประกอบและลำดับโครงเรื่องทั้งสองหมวดให้ใกล้เคียงกัน แต่เน้นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นหลักใหญ่ รวบรวมมาได้ทั้งหมด 154 ตอน จากนั้นตนคัดเหลือ 80 ตอน ก่อนส่งให้ประธานคณะกรรมการฯ พิจารณาและคัดเหลือ 70 ตอน ต่อมาตนได้ลำดับจัดวางและสเกตช์ภาพลายเส้นได้ 64 ตอน จากนั้นปี 2557 ได้ลำดับเนื้อหาเรื่องราวและภาพร่างต้นแบบเสนอ ดร.สุเมธ ประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ พิจารณาในเบื้องต้น ซึ่งมีการเปลี่ยนเนื้อหาเล็กน้อย ลำดับเนื้อหาใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่พระประสูติกาล พระราชประวัติพระราชพิธี และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ยึดดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นตัวตั้ง เน้นโครงการพระราชดำริรวม 65 ตอน แบ่งเป็นหมวดพระราชประวัติพระราชพิธี 7 ตอน และหมวดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 58 ตอน เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วภูมิภาค กรุงเทพฯ และปริมณฑล ครอบคลุมด้านเกษตร แหล่งน้ำ ป่าไม้ คมนาคม สิ่งแวดล้อม และอาชีพ รวมถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่งทั่วประเทศ
มณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรผู้เชี่ยวชาญจิตรกรรมฝาผนัง
“ ส่วนการเขียนภาพเป็นรูปแบบจิตรกรรมร่วมสมัยเสมือนจริง เป็นธรรมชาติ โดยใช้รูปแบบการเขียนจิตรกรรมไทยโบราณผสมผสานการเขียนเป็นสมัยใหม่ที่เน้นความถูกต้องของกายวิภาค โครงสร้างกล้ามเนื้อ เสมือนจริงทุกอย่างแม้กระทั่งภาพบุคคล การแต่งกาย เพียงแต่มาใส่การตัดเส้นรอบนอกแบบโบราณตามรูปแบบที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานคำแนะนำแนวการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว เราจะเขียนเหมือนจริงทุกอย่าง เหตุการณ์นั้นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ร่วมเสด็จพื้นที่ในโครงการ ผู้ติดตาม พสกนิกรในเหตุการณ์เป็นอย่างไรก็เขียนเหมือนจริงทั้งหมด และใช้ธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ โขดหิน ท้องฟ้า แม่น้ำ แบ่งแต่ละตอน เพื่อให้ภาพเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ทางด้านรูปทรง” นายมณเฑียร กล่าว
ภาพโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา
นายมณเฑียร กล่าวว่า เมื่อภาพร่างจิตรกรรมต้นแบบผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว จะมีการสเกตช์สีภาพจิตรกรรมต้นแบบก่อนจะขยายอัตราส่วนภาพต้นแบบในอัตรา 1:5 จากนั้นเข้าสู่การจัดเตรียมพื้นผิวเพื่อวาดภาพ ติดตั้งผนึกผ้าใบ หลังจากนั้นจะคัดลอกเนื้อหาทั้ง 65 ตอนเป็นลายเส้นลงบนผ้าใบพร้อมลงสีโดยรวม ขั้นตอนต่อไปคือปิดทองคำเปลวและปิดเส้นสีทองในส่วนที่เป็นฉลองพระองค์ สถาปัตยกรรมวัดวาอาราม เรือพระราชพิธี เครื่องสูงประกอบพระราชพิธี เพื่อบ่งบอกถึงความสำคัญของตอนนั้นๆ ทั้งยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับภาพจิตรกรรม ก่อนจะเก็บรายละเอียดให้สวยงามสมบูรณ์และประณีต โดยจิตรกรรมฝาผนังนี้กำหนดแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564
“ ในฐานะที่ตนเป็นช่างเขียนและข้าราชการสังกัดกรมศิลปากร เคยได้รับมอบหมายให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังถวายสถาบันพระมหากษัตริย์หลายครั้ง ตลอดจนภาพเขียนวัดพระราม 9 ครั้งนี้ รู้สึกปลื้มปีติและดีใจสูงสุดที่ได้โอกาสและได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้มาดำเนินการเขียนภาพในครั้งนี้ เพื่อเป็นการถ่ายทอดพระราชปณิธานและปรัชญาการทรงงานของพระองค์ท่านให้คนรุ่นหลังศึกษาเรียนรู้ และนำไปใช้ในการดำรงชีพต่อไป “ นายมณเฑียรกล่าวด้วยความปีติ
ภาพพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี เสด็จออกมหาสมาคม
หากจิตรกรรมฝาผนังที่วัดนี้สร้างเสร็จ ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของคนไทย นอกจากนี้วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ยังเป็นต้นแบบเรียบง่าย พอเพียง บอกให้คนในยุค 4.0 ได้รู้ว่าวัดขนาดเล็กแต่มีประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน ไม่ต้องสร้างใหญ่โตก็สามารถเป็นศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนได้เช่นกัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |