เมื่อโลกในอนาคตอันใกล้ปฏิเสธไม่ได้กับนวัตกรรม เทคโนโลยีอันทันสมัยในรูปแบบที่เรียกว่า Open Banking นั่นคือแบงก์จะอยู่ทุกที่ ยกเว้นที่แบงก์ ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดมากไปกว่าการเป็นแค่ E-banking ในการฝาก ถอน กู้เงิน ชำระเงินหรือทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ในรูปแบบเดิมนั้น ...จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่วันนี้เราจะได้เห็นธุรกิจด้านการเงินการธนาคารในบ้านเราพากันขยับตัวที่จะหาพื้นที่ยืนบนถนนแห่งธุรกิจแบงกิ้ง ท่ามกลางการ Disrupt ที่เกิดขึ้นทุกวัน
การได้เห็นธนาคารกสิกรไทย (KBank) มี JOURNEY ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มี PLANET SCB ธนาคารทหารไทย (TMB) มี TMB All Free และธนาคารกรุงไทย (KTB) มี Krungthai Travel Card ทั้งหมดคือการปฏิรูปตัวเองของแต่ละธนาคารเพื่อจะเอาตัวรอดในยุค Disruption
คำพูดที่บอกว่า “แบงก์จะอยู่ทุกที่ ยกเว้นที่แบงก์” ในยุค Disruption ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วอนาคตของธนาคารคืออะไรกันแน่?!?
ประเด็นดังกล่าวนี้ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้อธิบายให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า ทุกธุรกิจไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ธนาคารล้วนต้องปรับตัวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค สำหรับธุรกิจธนาคารนั้นต้องบอกว่าไม่ใช่ว่าเราเปลี่ยนเพื่อผู้บริโภครองรับ แต่เพราะผู้บริโภคไปแล้ว และเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้บริโภคเองก็อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าก้าวสู่จุดที่เรียกว่า Open Banking นั้นแล้ว สิ่งที่ท้าทายคือนิวเจเนอเรชั่นที่โตขึ้นมากับเครื่องไม้เครื่องมือ คอมพิวเตอร์ มือถือที่มีประสิทธิภาพ ก็ยิ่งมีอิทธิพลกับการดำเนินชีวิต และลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก
สำหรับหลักการ Open Banking ง่ายๆ เลยคือ การให้บริการของธนาคารที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธนาคารนั้นๆ เท่านั้น ยกตัวอย่างว่าเราใช้แบงก์กรุงไทย แต่เราไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้บริการของแบงก์กรุงไทย แต่เราใช้แพลตฟอร์มของธนาคารกรุงไทยในการทำธุรกรรมอื่นๆ ได้ และถ้ากรุงไทยมีพันธมิตรหรือพาร์ตเนอร์กับบริการอื่นๆ เราก็สามารถใช้บริการนั้นๆ ได้ด้วย โดยไม่ต้องเดินไปหา ทำไมถึงเรียกว่า Open ก็เพราะมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่แบงก์ที่เรามีบัญชีผูกพันหรือลูกค้าเท่านั้น
“เรื่องโอเพ่นแบงกิ้งอาจจะเป็นเรื่องใหม่ในความรู้สึกของประชาชน แต่หลายคนได้ใช้ความสามารถของโอเพ่นแบงกิ้งไปแล้วโดยไม่รู้ตัว และมีความคาดหวังจากการใช้ประโยชน์จากโอเพ่นแบงกิ้งด้วย ยกตัวอย่าง เราไม่ได้มีบัญชีธนาคารแค่ที่เดียว สิ่งที่โอเพ่นแบงกิ้งทำให้เกิดขึ้นได้คือ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในมือจากทุกแบงก์ให้มารวมอยู่ในที่เดียวกันได้ สามารถที่จะเอาไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ ได้ ซึ่งความสามารถนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่แค่เรื่องของธนาคารเท่านั้น แต่มันพูดถึงการบริการอื่นๆ ที่จะใช้ร่วมกันในระบบที่เรียกว่าอีโคซิสเต็มได้ สามารถให้บริการบนแพลตฟอร์มเดียวกันได้”
สรุปให้สั้นๆ ง่ายๆ คือ มันคือโอเพ่น ดาต้า มันคือคลังข้อมูลที่อยู่ตรงกลาง บังเอิญธนาคารเป็นศูนย์รวมดาต้ามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบปิด ซึ่งหลักๆ เลย การขับเคลื่อนโอเพ่นแบงกิ้งจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูล ซึ่งบังคับให้ผู้มีข้อมูลต้องเปิด และหลักการที่สองคือทุกข้อมูลที่มีอยู่กับผู้ให้บริการนั้นจริงๆ ทุกข้อมูลเป็นของผู้บริโภค หลักการนี้เป็นรากฐานสำคัญของโอเพ่นแบงกิ้ง เพราะเมื่อข้อมูลเป็นของผู้บริโภค เขาก็สามารถ อยากได้ข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์ได้
“ทุกคนไม่มีใครอยากเปิดเผยข้อมูล หากถามว่าอยากจะเปิดไหม แต่ถ้าถามว่าอยากจะได้ผลผลิตจากการเปิดเผยข้อมูลไหม เชื่อว่าทุกคนอยาก ฉะนั้นที่สุดแล้ว คือ ในโลกของโอเพ่นแบงกิ้งนั้น จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสบายใจกับการให้ข้อมูล” เอ็มดีแห่งแบงก์กรุงไทยกล่าวพร้อมกับกล่าวถึงยุทธศาสตร์ของ KTB ในยุคที่ข้อมูลหรือดาต้ากลายเป็นเรื่องที่จะต้องถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ตอบสนองกับความต้องการของยุคดิจิตอลเพื่อผู้บริโภคหรือลูกค้ามากที่สุดว่า การปรับตัวเป็น invisible banking ของกรุงไทยก็เป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป หรือเปลี่ยนไปแล้ว
เมื่อข้อมูลหรือดาต้าคือหัวใจของการขับเคลื่อนธุรกิจการเงินการธนาคารในอนาคตอันใกล้ ที่ข้อมูลชุดเดียวกันจะสามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ มากมาย และต่อยอดไปยังการทำธุรกรรมอื่นๆ โดยผู้บริโภคคือผู้ตัดสินใจว่าจะให้ความไว้วางใจให้แบงก์ใดบริหารจัดการดาต้าหรือข้อมูลส่วนตัวของตนเองนั้น สิ่งที่ท้าทายของผู้บริหารแบงก์คงไม่พ้นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่า พวกเขาจะไม่ถูกละเมิดสิทธิ หรือไม่ถูกละลาบละล้วงสิทธิส่วนบุคคล
ผู้บริหารแบงก์กรุงไทยซึ่งวางแผนยุทธศาสตร์ 4.0 ที่เรียกว่า invisible banking กล่าวว่า ความไว้วางใจของผู้บริโภคนั้น ถือเป็นเรื่องความกังวลโดยธรรมชาติ ซึ่งแบงก์เองก็ต้องสร้างระบบที่แข็งแรง และในขณะเดียวกันการพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องเน้นความปลอดภัยเพื่อที่จะให้พื้นฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นหลักการสำคัญได้รับการดูแลอย่างเข้มงวดและเป็นมาตรฐาน
ซึ่งระบบบล็อกเชน มันเป็นตัวเทคโนโลยีที่จะมาบริหารจัดการกับข้อมูลเพื่อให้ 1.มีความปลอดภัย 2.เพื่อไม่ให้ก้าวล่วงในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ใครที่ควรจะรู้หรือพึงรู้ข้อมูลแค่ไหน มันจะกำหนดสิทธิ์และสัดส่วนได้ชัดเจน และเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูลก็ต้องใช้ระบบที่มีมาตรฐานระดับโลก มีคนเข้ามาตรวจสอบ ตรวจเช็กทุกๆ มาตรฐานที่มี อันนี้เราก็ทำอยู่ ใครที่ไม่สามารถปฏิบัติ หรือทำสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคไว้วางใจไม่ได้ สุดท้ายก็จะไม่มีที่ยืน
กรณีของโครงการชิมช้อปใช้ถูกมองในมุมลบมากมาย โดยเฉพาะการขโมยข้อมูลส่วนตัวของประชาชน แล้วระบบ invisible banking จะก้าวข้ามความรู้สึกกังวลทำนองนี้ได้อย่างไรนั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทยอธิบายว่า ประชาชนไม่ควรกังวลที่จะเลยเถิดเกินไป ขอยกตัวอย่างทุกวันนี้เราต้องทำบัตรประชาชนอยู่แล้ว รัฐบาลก็เก็บรูปหรือสแกนหน้าตาของท่านอยู่แล้ว ทำพาสปอร์ตก็มีการเก็บรูปของท่าน อันนี้คือรัฐบาล ไม่ใช่เอกชนที่จะเอาไปถ่ายเพื่อทำอะไรในกิจกรรมที่ปกติ เพราะฉะนั้นท่านก็อยู่ในระบบปกติ ซึ่งท่านก็ทำอยู่แล้ว บังเอิญตอนนี้มันเป็นเทศกาลให้ท่านใช้สิทธิเท่านั้น จากเดิมที่ท่านต้องเดินไปเขตถ่ายรูปเพื่อทำบัตรประชาชน ตอนนี้รัฐบาลก็ใช้ประสิทธิภาพของการโอนข้อมูลส่งรูปโดยที่ท่านไม่ต้องเดินไปที่เขต หน่วยงานรัฐไหน หรือธนาคารสาขาใด โดยที่รัฐก็ได้ใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวก การถ่ายรูปเป็นเรื่องของการส่งข้อมูลจากมือถือไปสู่ตัวหน่วยงานรัฐบาล ระหว่างทางก็คือวิ่งไปในอากาศ รัฐบาลก็จะเก็บข้อมูลให้ท่านเหมือนกับที่ดูแลท่านเรื่องบัตรประชาชน เหมือนการดูแลทำพาสปอร์ต หรือทำใบขับขี่ ตอนนั้นท่านก็ไม่มีความกังวลอะไร เพียงแต่มีคนหยิบยกมาเป็นประเด็น ซึ่งมันไปไกลเกินไป
คำตอบและคำอธิบายของผู้บริหารธนาคารกรุงไทยในยุค Disruption ที่แบงก์จะไม่ใช่แค่แบงก์อีกต่อไปนี้ สามารถสะท้อนได้อย่างดีว่า กรุงไทยไม่ได้ล้าหลังอีกต่อไป แต่เพียงกรุงไทยลงมือทำมากกว่าพูด แม้กระทั่งการไปศึกษาหาข้อมูลและใช้โจทย์ปัญหาของธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Wells Fargo เมื่อเร็วๆ นี้มาเพื่อพิเคราะห์สร้างรูปแบบการบริหารจัดการดาต้าในโลกของโอเพ่นแบงกิ้งให้มีประสิทธิภาพ และที่ลืมไม่ได้คือรักษาข้อมูลส่วนตัวของบรรดาผู้บริโภค ซึ่งเวลส์ ฟาร์โกเองเปิดเผยว่า ทีมงานด้านดาต้านั้นต้องทำงานอย่างหนักและใช้งบประมาณหลายพันล้านบาทในการสร้างระบบป้องกันดูแลข้อมูล หรือดาต้าบนแพลตฟอร์มทางด้านธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร ด้วยเหตุผลว่าโลกโซเชียลหรือโลกยุคดิจิตอลนั้น มาพร้อมกับโจรไซเบอร์มากมาย และตลอดเวลา โดยพัฒนาจากนักแฮกเกอร์ที่ชอบท้าทายด้วยความสนุก มีการสร้างเครือข่ายเป็นนักโจรกรรม จนถึงระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ซึ่งเหมือนโปลิศจับขโมยไม่มีที่สิ้นสุด “สิ่งท้าทายที่สุดของการเปลี่ยนตัวเองเป็น invisible banking อย่างเต็มตัวตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้อย่างชัดเจน คือการที่คนของกรุงไทยเองจะต้องเดินไปให้ถึงเป้าหมาย หรือตามแผนที่วางไว้ให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยน ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยน ให้ทันกับพันธมิตรและระบบนิเวศน์แวดล้อม ระบบสังคมและเศรษฐกิจของเรา เพราะต้องยอมรับว่าทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก และเราใส่ใจอย่างมากกับการสร้างความเชื่อมั่น ยุทธศาสตร์ของกรุงไทยในยุคดิจิตอลจึงขับเคลื่อนไปพร้อมกับกรุงไทยคู่คุณธรรม หมายถึงความซื่อสัตย์กับผู้บริโภคเป็นรายละเอียดสำคัญ” นายผยงค์ตอกย้ำ ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อไป หลังจากที่โครงการชิมช้อปใช้ที่เป็นการขับเคลื่อนคนถึง 10 ล้านคนให้เรียนรู้การใช้ระบบโอเพ่นแบงกิ้งโดยปริยายตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 กำลังไปได้สวยท่ามกลางความตื่นตัวของทุกฝ่าย
ในฐานะประชาชนอย่างเราหากไม่อยากให้ถูกเทเป็นคนหลังเขา หรือปฏิเสธที่จะเรียนรู้สู่ยุคดิจิตอลนั้น คงต้องบอกว่า ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นนับหนึ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |