การเปลี่ยนแปลงวันนัดเซ็นสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) มาเป็นวันที่ 25 ต.ค.นี้ เวลาเที่ยงตรง จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น
เรื่องนี้ร้อนถึง ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ต้องออกมาชี้แจงถึงสาเหตุที่จะต้องเลื่อน เพราะ
คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้ยื่นหนังสือลาออกไปแล้ว หากลงนามกับซีพีจะทำให้สัญญาเป็นโมฆะทันที เนื่องจากสัญญาจะไม่มีผลผูกพันธ์กับรถไฟ ซึ่งจากกรณีดังกล่าว จึงถือเป็นสิทธิที่ผู้ว่าจ้าง คือ รฟท. สามารถที่จะแจ้งเลื่อนวันเซ็นสัญญาได้ สาเหตุมาจากความจำเป็น
พร้อมทั้งออกมาปัดกระแสลาออกขอบอร์ดว่า ไม่ได้ถูกกดดัน และระบุอย่างชัดเจนว่าการลาออกของบอร์ดการรถไฟฯ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึงว่าจะมีการลาออก เพราะคณะกรรมการคัดเลือก เพิ่งจะมีการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา และวันที่ 30 ก.ย.62 ได้ออกหนังสือแจ้งการลงนามให้แก่ผู้ชนะประกวดราคา ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ต.ค.62 เมื่อผู้ชนะการประกวดราคามารับหนังสือ ปรากฏว่าบอร์ด รฟท.กลับลาออกในวันเดียวกัน เราจึงต้องดำเนินการต่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่มีบอร์ด รฟท. เราไม่สามารถนำเรื่องนี้ให้ ครม.รับทราบได้
สำหรับความคืบหน้ารายชื่อคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ชุดใหม่นั้น ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาและให้ความเห็นชอบในวันที่ 15ตุลาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่า จะไม่มีปัญหา จากนั้นคณะกรรมการฯ จะทำงานได้ทันที ขณะเดียวกัน ได้รับการติดต่อจากผู้ชนะการประมูล คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ว่าจะมาเซ็นสัญญาในวันที่ 25ตุลาคมนี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยามยังกล่าวว่า สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนั้น ถือเป็นโครงการลงทุนที่สำคัญในพื้นที่ EEC ซึ่งกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลจะดูแลให้การดำเนินการประเทศต้องได้ประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาโครงการดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะไม่มีเรื่องของค่าโง่อย่างแน่นอน สำหรับประเด็นเรื่องการเวนคืนที่ดินที่จะต้องออกหนังสือเริ่มต้นทำงาน (Notice To Proceed : NTP) ของโครงการให้เอกชนหลังจากการลงนาม 1 ปีนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตามรายละเอียดในเอกสาร RFP ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หากติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณใด สามารถยื่นเสนอขอขยายกรอบระยะเวลาออกไปได้
เป็นที่รู้กันว่าก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ทำให้เกิดการเจรจาล่าช้า ซึ่งตามเอกสาร RFP ข้อ 50.1 ยังระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดที่ตั้งของโครงการฯ สภาพแวดล้อม และรายละเอียดที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการด้วยตนเอง เพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการเตรียมเอกสารข้อเสนอ รวมถึงการเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนนี้เมื่อผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเอกชนคู่สัญญา โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพสถานที่ตั้งของโครงการด้วยตนเองทั้งสิ้น
ขณะที่ศักดิ์สยามได้ออกมาแสดงเจตจำนงว่ายินดีทำงานร่วมกับเอกชน เพราะเป็นโครงการ PPP แต่ทั้งหมดต้องไปดูเงื่อนไข PPP ว่ารัฐทำอะไรได้บ้าง ถ้าทำอะไรใน RFP ได้ เราทำให้หมด ส่วนเรื่องการมอบพื้นที่ ต้องเอาแผนที่มากางเลยว่า 72% ที่จะส่งมอบมีตรงไหนบ้าง ตรงไหนใครรับผิดชอบ มีงบดำเนินการหรือไม่อย่างไร เพราะในกฎหมายทำได้เท่านั้น ต้องดู RFP เป็นหลัก เกินไม่ได้ ขาดไม่ได้ และเป็นไปไม่ได้ที่เอกชนไม่ได้อ่าน กับโครงการที่มีมูลค่าเป็นแสนล้าน
อีกไม่กี่อึดใจก็จะได้รู้ว่า ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ เวลาเที่ยงตรง การเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพี ซึ่งชนะการประมูล จะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นกลุ่มซีพีได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาเซ็นสัญญาตามกำหนดเวลา และเป็นที่ทราบกันว่าหากผู้ชนะการประมูลไม่มาเซ็นสัญญาตามเวลาที่กำหนดนั้นจะถูกริบเงินประกันซอง 2,000 ล้าน และติดขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ให้เป็นผู้ทิ้งงานรัฐบาล ส่งผลให้ถูกตัดสิทธิ์ประมูลโครงการก่อสร้างของภาครัฐ.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |