ความสามารถการแข่งขัน ไทยยังติดกับดักอุปสรรคเก่าๆ


เพิ่มเพื่อน    

    สัญญาณเตือนภัยสำหรับประเทศไทยมีมาเป็นระยะๆ แต่ดูเหมือนว่าเรายังอยู่ในโหมดของ "ค่อยทำค่อยไป" และไม่เดือดร้อนกับคำเตือนที่ว่า "เพื่อนบ้านกำลังแซงเราไปเยอะแล้ว"
    รายการล่าสุดจาก World Economic Forum เป็นคำเตือนล่าสุดที่เราควรจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรมากกว่าที่เราเคยทำมาตลอดหลายสิบปี
    นั่นคือรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันปี 2019 ของ WEF ที่ระบุว่าประเทศไทยแม้จะได้คะแนนเพิ่มขึ้น 0.6 คะแนน แต่อันดับลงมาอยู่ที่ 40 จากเดิมที่อยู่อันดับ 38 จาก 141 ประเทศ 
    ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ขึ้นแท่นที่ 1 ของโลก แซงหน้าสหรัฐฯ
    และที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ เวียดนามปรับขึ้น 10 อันดับมาอยู่ที่ 67
    รายงานนี้บอกว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือ ขาดทักษะการแข่งขันในประเทศเพราะเอื้อทุนใหญ่ บริษัทระดับกลางและเล็กไร้โอกาสโต อีกทั้งสภาพแวดล้อมของหน่วยงานต้องมีความโปร่งใส และความสามารถทางสร้างนวัตกรรมของตัวเองยังต่ำ
    ถ้าลงรายละเอียดจะเห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยมีคะแนนอยู่ที่ 68.1  คะแนน จากปีก่อนอยู่ที่ 67.5 คะแนน 
    แต่ไฉนอันดับของไทยตกลงมาอยู่ที่ 40 จาก 141 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปี 2561 ไทยอยู่ในอันดับที่  38 
    ตอบได้ง่ายๆ ว่าเพราะเราขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ชาติอื่นวิ่งไปข้างหน้าเร็วกว่า
    รายงานนี้บอกว่าไทยมีจุดเด่นใน 3 ด้าน คือ 
    1.เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค 
    2.ระบบการเงิน 
    3.สาธารณสุข 
    ทั้งสามด้านนี้เราได้ 80 คะแนนขึ้นไป 
    แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ "จุดอ่อน" 4 ด้านของไทยที่เขาวิเคราะห์เอาไว้
    1.ทักษะ (Skills) และคุณภาพของระบบการศึกษา คะแนนด้านนี้ลดลงมาอยู่ที่ 62.3 คะแนน (จากปีก่อนที่ 63 คะแนน) ลดอันดับลงมาอยู่ที่ 73 ของโลก จากปีก่อนอยู่ที่อันดับ 66 คะแนนที่ลดลงมาจากทักษะของผู้จบการศึกษาที่ย่ำแย่ลง และการสอนให้คิดเชิงวิเคราะห์หรือ Critical Thinking ยังห่างไกลจากเป้าหมายพอสมควร
    2.การแข่งขันภายในประเทศ (Product Market) ของไทยได้คะแนนเพียง 53.5 คะแนน ตอกย้ำว่ายังมีปัญหาของนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน ทำให้การแข่งขันในตลาดไม่เป็นธรรมและไม่เกิดแรงจูงใจให้มีการพัฒนาของธุรกิจระดับกลางและเล็ก 
    3.สภาพแวดล้อมหน่วยงาน (Institutions) คะแนนอยู่ที่ 54.8 คะแนน ลดลงจากปีก่อนหน้านั้นที่อยู่  55.1 คะแนน เป็นอุปสรรคในการต่อยอดเศรษฐกิจไทย ความชัดเจนโปร่งใสยังเป็นปัญหา
    4.ความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability) เป็นประเด็นใหญ่
    แม้ว่าจะมีคะแนนสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 43.9 คะแนน จากปีก่อนที่ 42.1 แต่ไทยยังไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมของตัวเองได้ ทำให้มีผลกระทบต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ กลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ  
    ประเด็นสำคัญที่ไทยเราจะต้องตระหนักก็คือว่า เรากำลังอยู่ในเวทีของการแข่งขันระดับโลก มิใช่เพียงแค่เราเอาตัวรอดก็เพียงพอ
    เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความสามารถทางการแข่งขันในเวทีสากลที่หนักหน่วงและรุนแรงขึ้นตลอดนั้นวัดจากความก้าวหน้าของเราเองอย่างเดียวไม่ได้ หากแต่ต้องเปรียบเทียบกับความก้าวหน้าพัฒนาของประเทศอื่นๆ ด้วย
    ถามว่ารัฐบาลและเอกชนไทยเราตระหนักถึงปัญหาทั้ง 4 ข้อที่ว่านี้หรือไม่ คำตอบคือรู้
    และเราอาจจะปลอบใจตัวเองว่าเราก็ได้เริ่มต้นแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้แล้ว เพียงแต่ต้องใช้เวลา และต้องมีงบประมาณและบุคลากรมากกว่านี้
    แต่บ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านั้นคือ "ข้ออ้าง" ที่จะไม่ยกระดับความตื่นตัวและทำให้เป็นเรื่อง "เร่งด่วน" ที่ต้องแก้ไขโดยมีเส้นตาย กรอบเวลา และเป้าหมาย รวมถึง "แผนปฏิบัติการ" ที่เป็นรูปธรรม
    สิงคโปร์กระโจนไปเป็นเบอร์หนึ่งแล้ว
    เวียดนามกำลังหายใจรดต้นคอไทย
    และเราเองก็ยังติดอยู่ใน "กับดักรายได้ปานกลาง"
    ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการ "รู้ว่ามีปัญหา เราทำได้แค่นี้ก็เก่งแล้ว"
    แต่ความจริงของโลกบอกเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า
    เก่งที่สุดของเราก็ยังไม่พอ เพราะคนอื่นเขาเก่งกว่าเราหลายเท่านัก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"