ราวกับปาฏิหาริย์ พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถทำอะไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กระทบกับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เลย
ไม่ว่าข้อกล่าวหาใด จะหนักหนาสาหัส มีประจักษ์พยานแน่นหนามากแค่ไหน ก็ผ่านพ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้ผู้ทรงคุณ ไม่เป็นกลางทางการเมือง ไม่มีประสบการณ์ด้านต่างๆ
การไม่ประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา เลือกญาติพี่น้องพวกพ้องคนใกล้ชิดมานั่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา หลายคนมีมลทิน มัวหมองทางจริยธรรมและคดีอาญา
ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แถลงนโยบายรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ได้แจ้งแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินนโยบาย ไม่ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยไม่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ
หรือแม้กระทั่งการยืมนาฬิกาหรูจากเพื่อน 20 กว่าเรือน และนำแหวนของแม่มาสวมใส่ก็ไม่ถือว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะต้องมีความผิด ฯลฯ
หลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคมเป็นต้นมา ล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัย หรือการมีคำสั่งขององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ปรากฏการณ์ที่ปะทุขึ้นตามมาเป็นระลอกนับแต่ปิดสมัยประชุมสภาเป็นต้นมา แม้ว่า “เรือเหล็กประยุทธ์” จะมีเสียงปริ่มน้ำก็ไม่โคลงเคลงง่ายๆ
กระนั้นก็ใช่ว่ารัฐนาวาจะแล่นไปได้เป็นปกติ ตราบเท่าที่เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลยังไม่ “นิ่ง”
หรือว่า บางทีทั้งกัปตันและลูกเรืออาจเกิดอาการสำลักน้ำก็ได้
มีประเด็นร้อนอย่างน้อย 3 เรื่องที่รอการคลี่คลายของสถานการณ์ว่าปาฏิหาริย์จะบังเกิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ไปเรื่อยๆ หรือว่าจะเกิดเหตุพลั้งพลาดให้น้ำไหลทะลักเข้าเรือจนเรือจม
ประเด็นแรกคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ทันจะเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ที่สภาผู้แทนฯ
ราษฎรจะพิจารณาญัตติของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การออกไปเดินสายของแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้านเพื่อเคลื่อนไหวให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องก็เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองฝ่ายทหารขึ้นมาจนได้
เหตุเกิดที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายน การจัดเสวนาของพรรคร่วมฝ่าค้านเรื่อง “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” มีการพูดบนเวทีเกี่ยวกับมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญคือ ความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ นำไปสู่การแจ้งความของ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ดำเนินคดีกับแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ ข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ฐานปลุกปั่น ยุยง
ซึ่งแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้านก็ขึ้นกองปราบแจ้งความกลับแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ และ พล.ต.บุรินทร์ เพื่อดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จ
จากนั้นก็ตามมาด้วยการออกข่าวตอบโต้กันไปมาของฝ่ายการเมืองระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ทหาร นักวิชาการ
ใครผิดใครถูกอย่างไรเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่มีพนักงานอัยการเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจะต้องเป็นผู้ทำสำนวนให้สมบูรณ์เพื่อส่งฟ้องต่อศาล จะใช้เวลานานแค่ไหนก็สุดจะคาดเดา
ที่แน่นอนที่สุดคือ ข้อพิพาทระหว่างนักการเมืองฝ่ายค้านกับทหารทำให้บรรยากาศแห่งความเข้าใจกันมีปัญหา ไม่เพียงแต่กระทบไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กองทัพบกที่มีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. และยังเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีกด้วย
ยังสะเทือนไปถึงปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะแก้ไขด้วยนโยบายและยุทธศาสตร์ใด ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างแกนนำพรรคฝ่ายค้าน นักการเมืองในพื้นที่หรือไม่
และต้องไม่ลืมว่า ผลการออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธ์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นั้น ประชาชนทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ “ไม่เห็นชอบ” มากกว่า “เห็นชอบ”
ดังนั้น อารมณ์ความรู้สึกและทัศนคติของชาวบ้านต่อข้อพิพาทระหว่างนักการเมืองฝ่ายค้านกับทหาร หรือรวมไปถึงกองทัพและรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นสิ่งละเอียดอ่อนที่มิอาจมองข้ามไปได้ การกระทบกระทั่ง ปีนเกลียวระหว่างนายทหารระดับนายพล กอ.รมน. และแม่ทัพกองทัพภาค 4 เลยเถิดไปถึง พล.อประยุทธ์ด้วย ได้เพิ่มความร้อนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงมากขึ้น
ประเด็นที่สอง คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท สภาผู้แทนฯ จะประชุมวันที่ 17-19 ตุลาคมนี้
เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณถือเป็นกฎหมายสำคัญ การลงมติในขั้นรับหลักการนั้น รัฐบาลจะต้องพยายามทำให้ ส.ส.โหวตด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน ถ้าเกิดแพ้ขึ้น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณถูกคว่ำ มีทางเลือกสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ คือไม่ลาออกก็ยุบสภา
สิ่งที่จะต้องจับตาในการลงมติของสภาหลังอภิปรายเสร็จสิ้นลงแล้วก็คือ การทำให้คะแนนเสียงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ
นอกจากรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ลงมาร่วมมโหวตเห็นชอบ ส.ส.รัฐบาลต้องไม่ให้กระเด็นหายไปแม้แต่เสียงเดียว และต้องทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านลดลง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดงูเห่าใน ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยให้ลงมติสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ อ้างว่าเป็นกฎหมายจำเป็น ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4-5 เสียงเป็นเป้าหมาย กับอีกวิธีหนึ่ง ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านป่วยบ้าง ไปต่างประเทศบ้าง ส่วน ส.ส.พรรคจิ๋วจะถูกนัดพูดคุยเป็นรายบุคคลในสถานการณ์เช่นนี้ ส.ส.จะราคาค่าตัวขึ้นมาทันที
ประเด็นที่สาม คือ ลูกเรือบางคนเป็นสายล่อฟ้า ขณะที่รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลพยายามสร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงเพื่อหาคะแนนนิยม แต่บางคนก็ตกเป็นเป้าถูกโจมตีและการขุดคุ้ยตรวจสอบ นำไปสู่การขู่และการฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ที่เคยเปรียบตัวเองเป็นเหมือน “เส้นเลือดใหญ่” ของรัฐบาลคือสายล่อฟ้าที่ฝ่ายค้านเพ่งเล็งหมายจะกระทบชิ่งไปถึง พล.อ.ประยุทธ์
แต่จุดอ่อนของฝ่ายค้านก็ใช่ว่าจะไม่มี การโรมรันพันตูทั้งเกมในสภา และหาแนวร่วมภายนอกสภามาร่วมเคลื่อนไหวหมายจะจมเรือเหล็กก็เป็นไปได้โดยยาก เพราะลำหักลำโค่นในเกมสภามีไม่มากพอ ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ประเภท “หัดขับ”
ที่สำคัญ รัฐบาลมี “ตัวช่วย” เป็นพรวน
บทบาทฝ่ายค้านที่แสดงกันอยู่เป็นแค่เพียงวิพากษ์วิจารณ์แบบสะกิดสะเกา ถ้าเป็นมวย หมัดที่ปล่อยออกก็ไม่หนักพอที่จะน็อกคู่ชกได้
เกมตะลุมบอนทางการเมืองและทหาร ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนแม้แต่น้อย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |