ภาพ : ดัชนีคอร์รัปชันของอิรักประจำปี 2018
ที่มา : https://www.transparency.org/cpi2018
นับจากปี 2017 สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้ายไอซิสเริ่มซา คนอิรักส่วนหนึ่งหันกลับมามองปัญหาใกล้ตัวอีกครั้ง การประท้วงรอบนี้เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ในเวลาเพียง 8 วันเสียชีวิตอย่างน้อย 180 ราย บาดเจ็บ 7,000 ราย หน่วยงานรัฐ ศูนย์พรรคการเมืองถูกทำลาย มีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม ในขณะที่เจ้าหน้าที่โต้ว่าในหมู่ผู้ชุมนุมมีผู้ถือปืนแฝงตัวยิงเจ้าหน้าที่
หลังบ่ายเบี่ยงหลายรอบ ในที่สุดกองทัพอิรักยอมรับว่ามีบางกรณีที่ทหารใช้กำลังเกินกว่าเหตุและกำลังตรวจสอบอยู่ เปลี่ยนให้ตำรวจเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ ย้ำว่ามีมือที่ 3 ใช้สไนเปอร์ยิงผู้ชุมนุม
การชุมนุมเกิดขึ้นในกรุงแบกแดดและอีกหลายเมืองทางตอนใต้ ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพวกชีอะห์
เป้าหมายที่ฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการคือล้มรัฐบาล เหตุเพราะการโกงกินมโหฬาร คนตกงาน น้ำไฟไม่พอใช้
มุกตาดา อัล-ซาดาร์ (Moqtada al-Sadr) ผู้นำจิตวิญญาณชีอะห์กลุ่มหนึ่งในอิรัก เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก จัดเลือกตั้งใหม่ Awad Awadi นักการเมืองอาวุโสของฝ่ายอัล-ซาดาร์ กล่าวว่า “พวกเราสนับสนุนการประท้วงทุกวิถีทาง” เป็น “การปฏิวัติของความหิวโหย” (a revolution of hunger) สายของอัล-ซาดาร์เป็นกลุ่มใหญ่สุดของรัฐสภา แต่เป็นฝ่ายค้าน
Douglas Silliman อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอิรักชี้ว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือต้องหางานให้กับคนหนุ่มสาว 1 ล้านคนที่ว่างงานในขณะนี้ (ธนาคารโลกระบุว่า คนหนุ่มสาวว่างงานถึงร้อยละ 25) ด้วยการคลายกฎระเบียบการเป็นผู้ประกอบการ ไม่มีวิธีอื่นที่สามารถหางานแก่คนจำนวนมาก นับแต่เริ่มชุมนุม อเดล อับดุล มาห์ดี (Adel Abdul Mahdi) นายกรัฐมนตรีอิรัก ประกาศขอให้ยุติการชุมนุม รัฐบาลรับทราบความต้องการแล้ว จะแก้ปัญหาทั้งเรื่องการว่างงาน คอร์รัปชัน ให้น้ำไหลไฟสว่าง แต่จำต้องใช้เวลา รัฐบาลเพิ่งมีอายุเพียงปีเดียวเท่านั้น ได้ไล่เจ้าหน้าที่กว่า 1,000 นายออกจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาทำให้รัฐสูญเงินโดยใช่เหตุ พร้อมกับประกาศนโยบายปฏิรูปหลายข้อ เช่น ปฏิรูปที่ดิน การเกณฑ์ทหาร เพิ่มสวัสดิการหลายอย่าง บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย อบรมให้ความรู้แก่ผู้ว่างงาน
แท้จริงแล้วการชุมนุมประท้วงลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง (ในรัฐบาลชุดก่อน) เป็นประเด็นเก่าๆ อิรักเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก แต่ชาวบ้านยากจน เงินหายไปไหนหมด เป็นคำถามที่ดีเมื่อชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องอยู่อย่างยากจนไร้อนาคต
กับดักประชาธิปไตยอิรัก :
นายเนชิวาน บาร์ซานิ ประธานาธิบดีภูมิภาคเคิร์ด (Kurdistan Region-เป็นเขตปกครองหนึ่งของอิรัก) กล่าวว่า ต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงมาจากฝ่ายการเมือง ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย ตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่สงบ (หมายถึงสถานการณ์ภาพใหญ่)
หลักคิดของรัฐบาลสหรัฐในการมอบประชาธิปไตยแก่อิรัก คือ แบ่งสรรอำนาจแก่ตัวแทน (นักการเมือง) ของทั้ง 3 กลุ่มใหญ่ คือ ชีอะห์ ซุนนีและเคิร์ด เพื่อให้ทุกฝ่ายมีสิทธิมีเสียงของตนเองในรัฐสภา ได้รัฐบาลสะท้อนเสียงประชาชนทั้งประเทศ
เหมือนเช่นหลายประเทศ การเลือกตั้งอิรักเป็นเพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ประชาชนขาดหรือไม่ยอมรับวัฒนธรรมประชาธิปไตย คนจำนวนมากยึดมั่นผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มมากกว่า ไปเลือกตั้งตามคำชี้แนะจากผู้นำของตน คนชีอะห์จะเลือกตัวแทนชีอะห์ คนซุนนีจะเลือกตัวแทนซุนนี ชาวเคิร์ดจะเลือกตัวแทนที่เป็นคนเคิร์ด
นอกจากนี้แกนนำกับนักการเมืองของทั้ง 3 กลุ่มใหญ่ ไม่คิดสร้างประเทศที่มีเอกภาพจริง บ้างอาจโทษว่าเพราะนายกฯ ที่มาจากพวกชีอะห์มักยึดกุมอำนาจรัฐไว้กับตัวเอง ไม่กระจายอำนาจ กระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม
แม้ปกครองด้วยประชาธิปไตย ทั้ง 3 กลุ่มต่างมีกองกำลังของตัวเอง พูดให้หนักกว่านั้นคือมีเขตปกครองของตนเอง พวกเคิร์ดนั้นชัดเจน ส่วนพวกซุนนีแม้ไม่ประกาศเขตปกครองตนเอง แต่กุมอำนาจพื้นที่อย่างเหนียวแน่นด้วยกองกำลังของตน อำนาจรัฐส่วนกลางเข้าไม่ถึง แม้กระทั่งชีอะห์ที่แยกเป็นกลุ่มย่อย เป็นที่รับรู้มานานแล้วว่ากลุ่มของมุกตาดา อัล-ซาดาร์ มีพื้นที่และกองกำลังของตนตั้งแต่สมัยต่อต้านซัดดัม ฮุสเซน
ดังนั้น ประชาธิปไตยอิรักจึงไม่ทำงาน รัฐบาลกลางไม่สามารถปราบปรามการทุจริตของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เช่นเดียวกับที่ฝ่ายค้านไม่อาจจัดการทุจริตของฝ่ายรัฐบาลเช่นกัน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ระบุว่า นับจากอิรักได้รัฐบาลประชาธิปไตย การทุจริตรุนแรงเกิดขึ้นในหมู่เจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทุกภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนทั่วไป ดัชนีคอร์รัปชันปี 2018 อยู่ที่ 18 จากคะแนนเต็ม 100 เป็นประเทศมีการทุจริตร้ายแรงที่สุดในลำดับที่ 12 จากทั้งหมด 180 ประเทศ (ประเทศไทยได้ 36 คะแนน)
ปัญหาความเป็นเอกภาพของชาติจึงไม่อาจแก้โดยง่าย แสดงออกเป็นการโกงกิน น้ำไฟไม่พอ คนว่างงาน ฯลฯ
ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดี แต่กับบริบทอิรักกลายเป็นกับดักประชาธิปไตย
เลือกตั้งอีกครั้งเป็นทางออกไหม :
กลุ่มของมุกตาดา อัล-ซาดาร์ เรียกร้องยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ คำถามคือการเลือกตั้งเป็นคำตอบหรือไม่
ถ้ามองในแง่บวก หากอัล-ซาดาร์ชนะเลือกตั้งได้คะแนนจากพวกชีอะห์อย่างถล่มทลาย ร่วมมือกับซุนนีและเคิร์ด (ซึ่งต้องเป็นเช่นนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) จัดตั้งรัฐบาลแล้วลดการทุจริต มีรายได้เข้ารัฐมากขึ้น งบประมาณรัฐไม่รั่วไหล เพิ่มการจ้างงาน เริ่มฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภค เช่นนี้ถือว่าสำเร็จแล้ว (โดยไม่ต้องสำเร็จสมบูรณ์)
น่าจะเป็นฉากทัศน์ที่ดีและอาจเป็นไปได้ แต่ยังติดปมสำคัญคือรัฐบาลสหรัฐจะยอมหรือไม่
หลังโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน รัฐบาลสหรัฐคืนอำนาจบริหารประเทศแก่อิรักตั้งแต่ปี 2004 แต่สิ่งหนึ่งที่คงอยู่คือ Green Zone
แบกแดดเมืองหลวงอิรักมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีประชาชนอาศัยหลายล้านคน นับแต่สหรัฐยึดครองอิรัก ส่วนหนึ่งของกรุงแบกแดดถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่กองทหารสหรัฐกำหนดให้เป็นเขตปลอดภัยสูงสุด หรือที่เรียกว่า Green Zone เพราะเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ ฐานทัพใหญ่ของตน และยังเป็นที่ตั้งศูนย์กลางบริหารประเทศด้วย เมื่ออิรักเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลของตนเอง ปรากฏว่าทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ที่ตั้งกระทรวงต่างๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย กองกำลังสหรัฐมีส่วนควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่นี้
เมื่อ 2 เดือนก่อนกองทัพสหรัฐประกาศว่าจะคงกองกำลังของตนในอิรักต่อไป “นานเท่าที่จำเป็น” เพื่อช่วยดูแลความสงบในเขตที่ไอซิสเคยควบคุม ปัจจุบันมีทหารอเมริกัน 5,200 นายในอิรัก
ถ้ารัฐบาลอิรักมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงคงไม่ปล่อยให้ศูนย์บัญชาการใหญ่ ฐานทัพใหญ่สหรัฐยังคงตั้งอยู่ในเมืองหลวงในพื้นเดียวกับศูนย์กลางบริหารประเทศอิรัก
คงไม่เกินไปถ้าจะกล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐยังคงควบคุมแกนอำนาจอิรักอย่างเหนียวแน่น ในลักษณะที่รัฐบาลอิรักมีอิสระตัดสินใจพอสมควร แต่ประเด็นสำคัญที่สุดยังอยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐ รัฐบาลประชาธิปไตยอิรักทุกชุดล้วนอยู่ภายใต้กฎเหล็กนี้
อิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐต่ออิรักคืออีกปัจจัยที่มีผลต่อเอกภาพของอิรัก
ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดี หลายประเทศประสบความสำเร็จกับการใช้ระบอบนี้ แต่หากสังคมไม่เป็นเอกภาพ ไม่ต้องการอยู่ร่วมเป็นคนชาติเดียวกันจะกลายเป็นกับดักประชาธิปไตย มีปัญหาตามมาไม่สิ้นสุด
งานนี้รัฐบาลต่างชาติอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่หากนักการเมืองตั้งใจทำงานเพื่อชาติจริง ประเทศพัฒนา ประชาชนทุกหมู่เหล่าอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ ยอมรับพหุสังคม การยุยงย่อมไม่เป็นผล.
---------------------------
ภาพ : ดัชนีคอร์รัปชันของอิรักประจำปี 2018
ที่มา : https://www.transparency.org/cpi2018
ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดี แต่หากสังคมไม่เป็นเอกภาพ ไม่ต้องการอยู่ร่วมเป็นคนชาติเดียวกันจะกลายเป็นกับดักประชาธิปไตย มีปัญหาตามมาไม่สิ้นสุด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |