หยุดวงจรอำมหิต กลุ่มผลประโยชน์สารพิษ


เพิ่มเพื่อน    

ผลประโยชน์ วงจรอำมหิต

ขวาง-ยื้อ แบนสารพิษ

 

      การเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อให้มีการห้ามผลิต นำเข้า จัดจำหน่าย และห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย คือ พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องกันมาร่วมสองปี จนถึงขณะนี้ใกล้ได้ข้อยุติมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหลายฝ่ายกำลังรอติดตามผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดปัจจุบัน ว่าสุดท้ายจะมีการแบนสารเคมีพิษทั้งสามชนิดดังกล่าวหรือไม่ หลังคณะกรรมการสี่ฝ่าย ที่มีนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มีมติเอกฉันท์ให้แบนสารเคมีพิษดังกล่าวตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

        ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแพทย์และนักวิชาการชื่อดังที่ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแบนสารพิษดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนมีข่าวถูกข่มขู่และมีคนบางกลุ่มทำเรื่องขอให้จุฬาฯ ตั้งกรรมการสอบสวน จนมีประชาชนจำนวนมากไปร่วมให้กำลังใจเพื่อให้ หมอธีระวัฒน์ยืนหยัดต่อสู้ต่อไป วันนี้มาพูดถึงทิศทางและแนวโน้มการแบนสารพิษดังกล่าว โดยระบุว่าเรื่องของผลประโยชน์คือสาเหตุที่ทำให้การแบนสารพิษดังกล่าวยืดเยื้อมานาน บนข้อสรุปที่ว่า “มันมีขบวนการที่ขัดขวางการแบนสารเคมีดังกล่าว มีมาตั้งแต่ปี 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุขมีมติให้แบนแล้ว”

      ลำดับแรก ศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงโอกาสที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายอาจจะไม่แบนสารเคมีพิษ พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แม้คณะกรรมการสี่ฝ่ายที่มีนางมนัญญา  รมช.เกษตรฯ เป็นประธานจะมีมติให้แบนโดยเด็ดขาดแล้ว โดยระบุว่าถึงขั้นตอนตรงนี้ยังคิดว่ายังน่ากลัว ยังอึมครึมอยู่

      ...เหตุผลเพราะว่าหากพิจารณาจากลักษณะของสายงาน สิ่งที่คุณมนัญญา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ทำมาในเรื่องการแบนสารเคมี ทำตามขั้นตอน โดยเมื่อมีการซักฟอกที่รัฐสภาในเรื่องสารเคมีที่เป็นพิษ ก็ทำให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งมาถึงกรรมการวัตถุอันตราย ให้มีการศึกษาผ่านคณะกรรมการสี่ฝ่าย  (กรมวิชาการเกษตร, ผู้บริโภค, เกษตรกร, ผู้นำเข้าสารเคมี) ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่แปลก เพราะว่ามีมติของกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ปี 2560-2561 อยู่แล้ว ว่าควรต้องแบนสารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าว ภายในสิ้นปี 2562 แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็ปล่อยให้กรรมการวัตถุอันตรายมาหาข้อมูล แล้วไปลงมติว่าสารเคมีดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อันเป็นมติที่ออกมาโดยค้านกับหลักฐานที่ปรากฏอย่างประจักษ์ชัด

      ...อีกทั้งรัฐบาลเวลานั้น (ประยุทธ์ 1) ก็ยังไปตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ชุดของสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าวพบว่ามีกรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเยอะมาก ทำให้กรรมการชุดดังกล่าวที่มีนักวิชาการคือ ผม และ ศ.พรพิมล กองทิพย์ และ รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ลาออก เพราะว่าตอนนั้นมีกรรมการที่ไม่ได้เป็นกลางและมีผลประโยชน์ทับซ้อน

      ...ขณะเดียวกันจากเมื่อปลายปี 2561 จนถึงต้นปีนี้ 2562 คือเมื่อกุมภาพันธ์ 2562 กรรมการวัตถุอันตรายก็ยังลงมติเช่นเดิม ทั้งที่ก็มีหลักฐานปรากฏเป็นที่ชัดเจนทั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หลักฐานเรื่องคนเสียชีวิต คนป่วย คนเจ็บ และข้อสำคัญก็คือ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้มีการไปศึกษาหาข้อมูล จนได้ข้อมูลประจักษ์ชัด จนผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยและมีมติให้แบนสารพิษเหล่านี้ภายในสิ้นปีนี้  และต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีการแจ้งมติดังกล่าวส่งไปให้รัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีเมื่อ 12 กันยายน 2562 ผนวกกับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรก็มีการถกปัญหาเรื่องสารเคมีดังกล่าว จนมาถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีส่งเรื่องไปให้กรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ จนต่อมากรรมการวัตถุอันตรายก็ส่งเรื่องไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย แล้วต่อมาก็มีการส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสารเคมีที่ใช้ในวงการเกษตร ซึ่งต่อมา รมว.เกษตรและสหกรณ์ก็เป็นฝ่ายที่ตั้งกรรมการศึกษาสี่ฝ่าย จนเมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กรรมการชุดดังกล่าวก็มีมติให้แบนสารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าว เมื่อกรรมการสี่ฝ่ายดังกล่าวมาโดยถูกต้องตามหลักที่ควรต้องเป็น

      “แท้ที่จริงแล้วมันมีขบวนการที่ขัดขวางการแบนสารเคมีดังกล่าว มีมาตั้งแต่ปี 2561 หรือตั้งแต่ปี 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุขมีมติให้แบนแล้ว”

        ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า มติของคณะกรรมการสี่ฝ่ายชุดนางมนัญญา รมช.เกษตรฯ ดังกล่าว ในช่วงต่อจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการสรุปของกรรมการสี่ฝ่ายดังกล่าว ก็จะถูกส่งไปให้ รมว.สาธารณสุข กระทวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม แล้วส่งไปให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งตรงนี้น่าจะต้องมีการแบนให้เสร็จสิ้นภายใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 27 ตุลาคมที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะมีกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่เข้ามา โดยที่ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขจะหายไปจากโครงสร้างกรรมการชุดใหม่ โดยจะมีตัวแทนจากฝั่งประชาชนหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง ณ ขณะนี้เหมือนกับว่าตัวแทนที่จะเข้าไปเป็นกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ อาจไม่ใช่ประชาชนจริงๆ หรือไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆ แต่อาจเกิดเหตุประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนสมัยการตั้งกรรมการชุดนายสุวพันธุ์ในรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็คือมีคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ

      เพราะฉะนั้นเมื่อมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการวัตถุอันตรายหลังวันที่ 27 ตุลาคม นอกจากกรรมการตรงนี้จะไม่โปร่งใส และกรรมการที่เข้ามาใหม่ก็อาจจะมีการย้อนแย้งเหมือนกับที่ทำมาตลอด ตั้งแต่ปี 2561 จนถึง 2562 ก็คือไปตั้งอนุกรรมการขึ้นมาใหม่อีก โดยให้ไปศึกษาหาข้อมูลใหม่เพื่อให้กรรมการที่เข้ามาจะมาขอลงมติตัดสินใหม่ ก็จะทำให้ยืดเยื้อนานออกไปอีก

      ...มติของที่ประชุมคณะกรรมการสี่ฝ่ายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็คือต้องการให้มีการแบนให้เสร็จสิ้นหมดทุกอย่างภายในคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดปัจจุบัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในยุคกรรมการวัตถุอันตรายชุดปัจจุบัน

      ดังนั้นหากสามารถมีมติให้แบนสารเคมีทั้งสามชนิดได้ภายในสัปดาห์หน้านี้หรือถัดไปอีกหนึ่งสัปดาห์ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยการแบนดังกล่าวก็จะเป็นการทำให้สารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าวไปอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ที่หมายความว่า นำเข้า ส่งออก ผลิต ใช้ และครอบครองไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่อยู่ในการครอบครองตรงนี้ไม่ว่าจะอยู่ในการครอบครองของบริษัทร้านค้า บริษัทเอกชน หรือใครก็ตามที่ครอบครอง ก็ต้องส่งคืนให้ทางการ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าตกใจเท่าใด เพราะข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ทำไว้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าสารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าวมีเหลืออยู่ในสต็อกประมาณ 30,000 กว่าตัน เมื่อถึงปัจจุบันที่ผ่านมาประมาณสามเดือนคือ กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ก็มีการบอกว่าไม่มีเหลืออยู่ในสต็อกแล้ว หากดูตามนี้ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลในสต็อกที่เหลือ ส่วนคนที่ครอบครองไว้อยู่ก็ต้องนำมาส่งคืนให้ทางการ จึงไม่มีอะไรน่ากังวล

        ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนข้อกังวลว่าจากตัวเลขที่บอกว่ามีสารเคมีเหลืออยู่ไม่มาก เป็นตัวเลขปลอมหรือตัวเลขไม่สุจริต ความที่เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ก็หมายถึงว่า ไม่สามารถครอบครองได้ ก็ต้องส่งกลับอยู่ดี จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ประกอบกับในปัจจุบันที่อยู่ในช่วงเดือนตุลาคม การจะใช้สารเคมีช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นช่วงที่เลยฤดูกาลเพาะปลูกที่ต้องใช้สารเคมี ฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงมาแล้ว การที่เก็บสารเคมีไว้ จึงเป็นการเก็บไว้เพื่อตุนไว้ใช้ในฤดูกาลหน้า คือในปี 2563 ข้ออ้างว่าจะเก็บตุนไว้เพื่อเพาะปลูกตอนนี้จึงอ้างไม่ขึ้น

      ...โอกาสที่จะแบนหรือไม่แบนสารเคมีทั้งสามประเภทดังกล่าว ต้องอยู่ที่กรรมการวัตถุอันตรายเลยว่าจะยังดื้อแพ่งอยู่หรือไม่ และโดยที่รัฐบาลชุดปัจจุบันกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีก็คล้ายๆ เดิม และนายกรัฐมนตรีก็คนเดิม จึงเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่าสิ่งที่ทำมาตลอด ณ ขณะนี้ เมื่อมีหลักฐานประจักษ์ชัดถึงขนาดนี้แล้ว เขาจะมีความรับผิดชอบต่อชีวิตคนไทยมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันตอนนี้ก็เริ่มมีข่าวว่ามี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐถามว่า หากแบนสารเคมีทั้งสามชนิดแล้ว จะมีสารอะไรมาทดแทน ตรงนี้ ตอนที่ประชุมคณะกรรมการสี่ฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นางมนัญญา รมช.เกษตรฯ ก็ได้สอบถามกรมวิชาการเกษตรแล้วว่ามีมาตรการทดแทนหรือไม่มี กรมวิชาการเกษตรก็ยืนยันว่ามี แบบนี้ก็จบ ซึ่งมาตรการทดแทนไม่จำเป็นต้องเป็นสารเคมีเสมอไป แต่อาจใช้มาตรการทดแทนด้วยเครื่องจักรกล หรือผลิตภัณฑ์ชีวพันธุ์ หรือสารสกัดจุลินทรีย์ต่างๆ แต่หากจะเป็นสารเคมีที่นำเข้ามา ก็ต้องมีหลักฐานการพิสูจน์ได้ถึงความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และเคยใช้ในระดับสากลมาเนิ่นนานพอสมควร

        ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ให้ทัศนะต่อไปว่า หากสุดท้ายจะต้องนำสารเคมีใหม่เข้ามา ตรงนี้แม้กระทรวงสาธารณสุขจะไม่มีสิทธิ์ที่จะจำกัดไม่ให้นำเข้า แต่กระทรวงสาธารณสุขมีสิทธิ์ที่จะดูสารนั้นๆ และสามารถที่จะทักท้วงได้ว่าสารเคมีที่นำเข้ามามีความเหมาะสมหรือไม่ แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะไม่มีอำนาจในการแบนสารพวกนี้ แต่มีสิทธิ์พวกนี้

      ...สารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าว พาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เราใช้กันมาเป็นสิบปี  กว่าจะแบนยังแบนกันไม่ได้เลย ดังนั้นหากปล่อยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำอะไรเข้ามา โดยที่อาจจะดูไม่ปลอดภัยหรือไม่มีความปลอดภัยเลย ตรงนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องโต้แย้งและทักท้วง  เพราะหากปล่อยเข้ามาอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โอกาสแบนต่อไปอีกก็คงยาก และในการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม  สภาผู้แทนราษฎร ที่มีการตรวจสอบเรื่องนี้ ก็พบว่าสารเคมีที่ใช้ในปัจจุบัน ที่ใช้กันอยู่มีมากกว่าร้อยชนิด และขณะนี้กำลังมีการทบทวน และพบว่าในสารเคมีหนึ่งร้อยกว่าชนิดดังกล่าวจัดอยู่ในขั้นที่เสี่ยง หรืออยู่ในขั้นที่ต้องแบนด้วย โดยคณะกรรมาธิการฯ ก็จะมีการสรุปข้อมูลต่างๆ ที่ศึกษามาเสนอต่อสภาและรัฐบาลต่อไป อันจะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการตรวจสอบ ไม่ได้มีการสะท้อนสภาพความเป็นจริงโดยเฉพาะอันตรายของสารเคมีที่เกิดขึ้นกับคนไทย เพื่อให้มีการนำบทสรุปรายงานของกรรมาธิการฯ ไปต่อยอด โดยฝ่ายที่คุมเรื่องนโยบาย ผู้ขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ในประเทศไทย

 

ยังไม่วางใจมติ คกก.วัตถุอันตราย

        -ยังมีโอกาสความเป็นไปได้หรือไม่ ที่มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายอาจจะใช้วิธีการบางอย่างเพื่อยื้อออกไป เช่นมีมติให้แบน แต่ให้มีเงื่อนไขบางอย่างไม่แบนเด็ดขาดภายใน 1 ธค.ตามมติของกรรมการสี่ฝ่าย?

      ตรงนี้เราไม่ทราบ แต่ที่เป็นไปได้ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมามันก็เป็นไปได้มาตลอด และประการสำคัญก็คือ ก็จะมีกลุ่มผู้สนับสนุนการใช้สารพิษ ตอนนี้ก็ออกมาเคลื่อนไหวประท้วง เช่นที่มีการเดินทางไปยังกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทำให้เกษตรกรทราบว่า สิ่งที่ทำกันอยู่ตอนนี้ไม่ใช่เพื่อทำร้ายเกษตรกร แต่ที่ทำก็เพื่อชีวิต เพื่อสุขภาพ ความปลอดภัยของตัวเกษตรกร ลูกหลาน และครอบครัวของเกษตรกรเอง เพราะเมื่อจะมีการแบนสารเคมีทั้ง พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส รวมถึงที่อาจจะแบนสารเคมีตัวอื่นๆ อีก รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการทดแทนเพื่อการอยู่ดีกินดีของเกษตรกร และในช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อทำให้ดินในประเทศไทยบริสุทธิ์ขึ้นมาอีก

        ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เชื่อมั่นว่า แนวทางดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างในทวีปยุโรป ประเทศที่มีการแบนไปเกือบเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของสารเคมี พบว่าภายในช่วงไม่ถึงสองปีผลิตผลทางการเกษตรก็กลับมาเท่าเดิม และถัดมาผลิตผลก็กลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งก็ยังมีตัวอย่างของเกษตรกรรมธรรมชาติยั่งยืนที่ไม่ได้ใช้สารเคมีเลย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ก็รับทราบเรื่องเหล่านี้แต่ไม่ได้มีการส่งเสริม ทำให้พื้นที่ซึ่งทำการเกษตรที่ไม่มีสารเคมีจึงแทบไม่มีเลย คนที่ทำเกษตรธรรมชาติจึงถูกรายล้อมด้วยพื้นที่เกษตรสารเคมีทั้งสิ้น ทำให้อย่างเรื่องน้ำที่นำมาใช้ในไร่ที่ปลอดสารเคมี เช่นน้ำบาดาลก็ถูกปนเปื้อนด้วยพวกนี้หมด ทำให้เมื่อเกิดฝนตกก็มีการชะล้างพวกสารเคมีเข้าไปในพื้นที่เกษตรธรรมชาติ ก็ทำให้โอกาสที่จะทำให้เป็นแปลงไร่ปลอดสารเคมีแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย จึงหมายความว่าจะต้องมีการจำกัดหรือกำจัดการใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างเข้มงวดก่อน

        -หากมีบางกลุ่มพยายามขวางการแบนสารเคมี เช่น หากกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้แบนออกมา ก็อาจไปฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้การแบนเกิดได้ทันที?

      ก็จะเป็นวิธีการที่จะทำให้การแบนมีความยืดเยื้อ เพราะเมื่อไม่มีการแบน เพราะก็จะมีกระบวนการต่างๆ เช่นหาข้อมูล ผมคิดว่าหากศาลปกครองรับคำฟ้องร้องตรงนี้จะเป็นเรื่องน่าแปลก เพราะตอนนี้ กระทรวงสาธารณสุขที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบชีวิตคนไทยทุกคนได้ออกมาชี้แจงและมีหลักฐานประจักษ์ชัดว่าสารเคมีอันตรายจริง มีทั้งหลักฐานในประเทศไทยและหลักฐานจากต่างประเทศ ที่เป็นหลักฐานว่าสารเคมีได้ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อ ต่อชีวิต ทำให้เกิดการตายได้อย่างไร มีทุกอย่างหมด หากศาลปกครองรับตรงนี้ก็จะเกิดความผิดปกติในกระบวนการกฎหมาย โดยที่ไม่ได้รับฟังข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยเลย 

      เมื่อถามถึงว่าจากข้อมูลที่ได้รับมา คิดว่าในส่วนของเกษตรกร หากมีการแบนสารทั้งสามชนิดดังกล่าวจะมีมาตรการรองรับผลที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรอย่างไร คำถามดังกล่าว ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ให้ทัศนะว่า มาตรการทดแทนตรงนี้จะให้กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าต้องใช้สารอะไรคงพูดไม่ได้ แต่เมื่อกรมวิชาการเกษตรยืนยันในที่ประชุมคณะกรรมการสี่ฝ่ายว่ามี ดังนั้นเมื่อบอกว่ามีก็คือมี และกรมวิชาการเกษตรก็รับทราบมติและยืนยันมติการแบนจากที่ประชุมคณะกรรมการสี่ฝ่าย กระทรวงสาธารณสุขจึงไม่ได้มีหน้าที่เรื่องมาตรการทดแทน แต่กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่รับผิดชอบว่าหากใช้มาตรการทดแทนด้วยการใช้สารเคมีอย่างอื่น กระทรวงสาธารณสุขในฐานะมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนไทยก็ต้องทักท้วง แม้จะใช้อำนาจของ อย.ในการแบนไม่ได้แต่สามารถทักท้วงได้

      "เช่นหากใช้สารเคมีตัวอื่น มีการให้นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น สารเคมีประเภท ก. โดยกระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลพบว่าไม่ปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขก็สามารถทักท้วงไปได้ว่าสารเคมี ก.ที่จะนำมาทดแทนไม่ถูกต้อง"

      ...และหากจะนำมาซึ่งตรงนั้นไม่ได้อีก คณะทำงานที่อยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรฯ ขณะนี้ก็มีข้อมูลอยู่แล้วว่าสารอะไรที่จะปลอดภัยมากที่สุด แต่คณะทำงานของมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังไม่ต้องการเข้าไปก้าวล่วงสิทธิในการตัดสินใจของกระทรวงเกษตรฯ ที่ทำงานด้านนี้มาตลอดหลายชั่วอายุคน จึงรับทราบปัญหาพิษภัยของสารเคมีมา 40-50 ปีแล้ว ประชาชนคนไทยเชื่อว่าเขาต้องมีหน้าที่ในการหามาตรการทดแทนอยู่แล้ว

      ...ก่อนหน้านี้ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติและคำวินิจฉัยออกมา ให้ต้องแบนสารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าว มติของผู้ตรวจการแผ่นดินระบุไว้ชัดเจนว่า กระทรวง กรมที่รับผิดชอบเรื่องตรงนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการละเลย เพิกเฉย ที่จะรักษาความปลอดภัยให้แก่คนไทย โดยการปล่อยให้มีอันตรายเกิดขึ้น  จนผู้ตรวจการแผ่นดินส่งมติดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีว่าต้องจัดการเรื่องนี้อย่างไร ดังนั้นภายในเดือนนี้หรือเดือนหน้า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ก็คงจะตรงกับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินบอกไว้ว่า  หน่วยราชการที่รับผิดชอบชีวิตคนไทยละเลย เพิกเฉยที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

        -หากหลัง 1 ธันวาคมแบนสารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าวทันที หลังจากนั้นจะใช้สารอื่นใดมาทดแทน ควรเป็นแบบไหน?

        เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถพูดได้ แม้ผมจะได้รับฟังข้อมูลจากนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้มา  แต่หากถามผมก็คงไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่ผมสามารถสื่อสารได้ว่า หน้าที่ความรับผิดชอบเรื่องการหามาตรการทดแทน เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อมีการแบนและต้องมีมาตรการทดแทน กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องรับผิดชอบ หากมีความรับผิดชอบตรงนี้แต่ทำไม่ได้ก็ต้องมีความผิด ในฐานะที่เพิกเฉยละเลยมาตลอดที่ปล่อยให้มีสารเคมีเหล่านี้ และเมื่อถึงเวลาที่ต้องเลิกใช้ โดยที่ได้มีการเตือนไว้แล้วตั้งแต่ปี 2560 ว่าต้องมีการแบนสารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าวภายในสิ้นปี 2562 เพราะฉะนั้นถ้าจะมาบอกว่าไม่มีอะไรมาทดแทน ก็เท่ากับสิ่งที่ส่งสัญญาณมาจากกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2560 และปลายปี 2561 โดยมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุข  ดังนั้นหากจะบอกว่าไม่สามารถมีอะไรทำได้เลย ก็เท่ากับไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ส่งมาจากกระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจการแผ่นดิน

      ...หากจะมาถามผมว่า หมอธีระวัฒน์ หากแบนแล้วจะมีอะไรมาทดแทน ผมก็ต้องตอบว่าถามผมไม่ได้ เพราะตัวเอง (กระทรวงเกษตรฯ) มีหน้าที่รับผิดชอบและรู้อันตรายเรื่องนี้มา 40-50 ปีแล้ว ก็ต้องถามตัวเองว่าในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาทำอะไรกันอยู่ มาถามหมอไม่ได้ ผมเพียงแต่ชี้ว่ามันอันตรายอย่างสูงสุดแล้ว

 

ผลประโยชน์เบื้องหลังยื้อแบนสารพิษ

        -เส้นทางการต่อสู้เพื่อให้มีการแบนพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่เรียกร้องกันมาร่วมสองปีกว่า เพราะเหตุใดการแบนถึงทำไม่ได้เสียที ยืดเยื้อเพราะเหตุใด?

      ที่ยืดเยื้อคงคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทั้งสิ้น ในฐานะที่เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ผมคิดไม่ออกว่ามันเกิดเรื่องอะไรขึ้น ทั้งที่หากถกเถียงกันด้วยหลักฐานทางวิชาการ และทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต เช่น คนถูกตัดขา หรือคนต้องเสียชีวิต มีคนเป็นมะเร็ง มีคนเป็นพาร์กินสัน หากคิดแบบตรงไปตรงมา ในฐานะเป็นแพทย์ เป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผมคิดไม่ออก ผมไม่สามารถอธิบายตรงนี้ได้ เหตุผลอย่างเดียวที่อธิบายได้ก็คือมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ หากไม่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ก็เป็นความไม่สง่างามของผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนโยบาย ที่ก็คือความรับผิดชอบของรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล

        -มีกลุ่มทุนอะไรต่างๆ อยู่เบื้องหลัง?

      อันนั้นผมไม่ทราบ แต่ผมไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ยืดเยื้อในลักษณะนี้ได้ ทั้งที่จากกระบวนการ หลักฐานที่เห็นประจักษ์ชัดที่อยู่ในประเทศไทยขนาดนี้ และเป็นอันตรายขนาดนี้แล้ว ทำไมถึงยืดเยื้อมามากมายขนาดนี้ ซึ่งจริงๆ ตั้งแต่สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ผมก็เห็นคนที่เสียชีวิตด้วยสารเคมีพวกนี้มาตลอด พวกเราที่เป็นแพทย์ก็พยายามพูด แต่การพูดตรงนั้นไม่ได้มีน้ำหนัก เพราะอำนาจการตัดสินเรื่องพวกนี้ไปอยู่กับกระทรวงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์โดยตรง แต่ไปเกี่ยวข้องกับกรรมการวัตถุอันตราย ที่อ้างกฎหมายแต่ไม่ดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

      “กระบวนการตรงนี้ เนื่องจากไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้ มันทำให้จำเป็นต้องคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ ผมไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผลประโยชน์จริงหรือไม่ แต่ ณ ขณะนี้ผมคิดไม่ออกว่าจะเป็นเรื่องอะไร นอกจากเป็นเรื่องผลประโยชน์ใช่หรือไม่ ผมไม่ได้ด่าใคร เพียงแต่ผมคิดไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ระบุ

        -ตัวเลขจำนวนเงินต่อปีในส่วนการนำเข้าสารเคมีทั้งสามชนิด คิดเป็นเม็ดเงินแล้วตกปีละเท่าใด?

      จริงๆ แล้วเป็นหลายหมื่นล้านบาท ถ้าคิดดูเป็นราคาจำหน่ายก็ต้องคูณเข้าไปอีกสามเท่า หรือสิบเท่าเข้าไปอีก อีกทั้งการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวก็ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ไม่ต้องเสียภาษีแวต ซึ่งจริงๆ แล้วประโยชน์ไม่ได้ตกไปถึงเกษตรกร ประโยชน์ตรงนี้ไปตกอยู่ที่บริษัทที่ผูกขาดหรือบริษัทที่นำเข้า และคนที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหรือส่งเสริมการใช้สารพวกนี้ทั้งสิ้น

      อยากบอกย้ำอีกครั้งว่าพวกเราไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะมาบอกว่า หมอธีระวัฒน์มีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะไปสั่งสารเคมีนำมาจำหน่าย หรือจะมาบอกว่ากระทรวงสาธารณสุขมีเอี่ยวกับสารเคมี เพราะทุกวันนี้ ทุกจังหวัด ทุกหน่วยงาน ทุกชมรม ก็ออกมาดาหน้ารณรงค์ให้แบนสารพิษพวกนี้ ถ้าจะมาต่อว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งประเทศไทยว่า การเรียกร้องให้มีการแบนสารเคมีเพราะทุกคนที่เป็นแพทย์ เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นพยาบาล เป็นเภสัชกร ทั่วประเทศไทยมีผลประโยชน์ทับซ้อน แบบนี้ผมว่าคงเสียสติไปแล้ว

      -แปลกใจหรือไม่ที่การแบนสารเคมีพิษ ที่เริ่มมีการเรียกร้องตั้งแต่ปี 2560 ในยุครัฐบาลประยุทธ์ 1 แต่กลับไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ปล่อยให้ยืดเยื้อมาถึงตอนนี้?

      ถึงตอนนี้ผมเริ่มไม่แปลกใจแล้ว เพราะสิ่งที่เห็นในประเทศไทยไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องสารเคมีอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายอย่างเลยที่ผมไม่สามารถอธิบายได้ในฐานะคนไทย ผมเริ่มไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมเราถึงทำอะไรหลายๆ อย่างไม่ได้

      อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ออกตัวที่จะแสดงความเห็นต่อบทบาทของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องการแบนสารเคมีพิษดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา โดยให้ความเห็นสั้นๆ ว่า คงพูดไม่ได้ แต่ว่าจริงๆ แล้ว ท่านก็ต้องพิจารณาบทบาทของตัวเองว่าทำไมปล่อยให้เนิ่นนานถึงขนาดนี้ โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาซ้อนกับกรรมการ อยู่หลายกรรมการ

      “รัฐบาลก็จะไม่มีความสง่างามเหลืออยู่เลย ผู้นำรัฐบาลไม่มีความสง่างาม จะด้วยการอ้างตัวกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าความภาคภูมิใจและความสง่างามของคนที่เป็นผู้กุมนโยบายและทำให้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องไม่มีเลย ผมใช้คำว่าไม่มีความสง่างาม” คือคำตอบของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เมื่อถามถึงหากสุดท้ายการแบนสารพิษดังกล่าวไม่เกิดขึ้น หรือมีการยื้อไม่ให้แบนสารเคมีพิษโดยเด็ดขาดก่อนสิ้นปีนี้.

 

………………………………………

 

สู้เพื่อแบนสารพิษ

จนโดนข่มขู่-จะถูกตั้งกรรมการสอบ

      ในการเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการแบนสารเคมีพิษของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย และองค์กรภาคประชาสังคม ที่เป็นทัพหลักในการเคลื่อนไหวคือ มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ThaiPAN

      หมอธีระวัฒน์ เล่าให้ฟังถึงการร่วมเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแบนสารพิษว่า ที่ต้องออกมาก็เพราะชีวิต เพราะพวกเรา ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่พวกเราต่างเห็นชีวิตมนุษย์ที่เสียไปต่อหน้าต่อตา และเมื่อทำไปมากขึ้นเรื่อยๆ เราค้นพบว่าผลที่เกิดขึ้นจากสารเคมีไม่ได้เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แต่เกิดขึ้นเพราะคนได้รับสารเคมีเหล่านี้เข้ามาในปริมาณน้อยๆ แต่ต่อเนื่อง จนทำให้เกิดโรคเรื้อรัง และเกิดโรคมะเร็ง และตัวผม เป็นแพทย์ด้านสมอง มันก็เกิดโรคสมองเสื่อม เกิดโรคพาร์กินสัน เกิดโรคไขสันหลังฝ่อ ซึ่งรักษาไม่ได้ และขณะเดียวกัน มันก็ไปรบกวนการทำงานของอวัยวะ ตับ ไต ตับอ่อน ทำให้เกี่ยวพันกลายเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ เช่น เบาหวาน และยังเกิดผลกระทบต่อเพศชาย คือทำให้เป็นหมัน และกระทบกับแม่ที่ตั้งครรภ์และเด็กที่อยู่ในท้อง ทำให้เมื่อเด็กคลอดออกมาเกิดพัฒนาการที่ไม่ดี เป็นโรคต่างๆ จึงกระทบหมดทั้งเด็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ คนแก่

      เมื่อมีผลกระทบขนาดนี้แล้ว เรามีความรู้แต่เราไม่พูด ผมคิดว่าเกิดมาเสียชาติเกิด ทั้งหมดเป็นสิ่งที่พวกเราที่เป็นนักวิจัย ลงพื้นที่และทราบความจริง และโดนข่มขู่ทุกตัวคน เราก็มองหน้ากันและถามพวกเรากันเองว่า ตกลงที่พวกเราทำกันตรงนี้เพราะอะไร เราก็เห็นตรงกันว่าหากพวกเราไม่ทำ ก็หมายถึงว่าสิ่งที่พวกเราเรียนกันมาเป็นสิบๆ ปี สิ่งที่พวกเราทำงานกันมาเป็นสิบๆ ปีมันไร้ค่า เพราะมันไม่ได้ให้อะไรเรามากไปกว่าแค่ตำแหน่งโก้เก๋ ซึ่งจริงๆ แล้วมันจะไม่ช่วยอะไรเลยหากว่าเราไม่ทำแบบนี้

        หมอธีระวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ได้เริ่มเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวเมื่อช่วงเดือน พ.ค.ปี 2561 คือก่อนหน้าที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการพิจารณาเรื่องสารเคมีดังกล่าวเมื่อ 23 พ.ค.2561 โดยก่อนหน้านั้นผมเองก็ไม่ได้รู้จักกับองค์กรเหล่านี้มาก่อน แต่ก่อนจะเข้าไปก็ได้ทำการศึกษาอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เคยได้พบปะ ไม่เคยรู้จักนักวิชาการที่ร่วมเคลื่อนไหวตอนนั้นเช่น อาจารย์พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิชาการ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร, อาจารย์พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, อาจารย์จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หรือกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นเอ็นจีโอ แต่ที่ผมไปร่วมเคลื่อนไหวครั้งนั้นเหมือนกับการโคจรมาพบกัน มีการเรียกรวมตัวคนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้

      ...เมื่อผมได้เข้าไปร่วมก็พบว่าแต่ละคนที่มาร่วมมีประสบการณ์ยาวนานในการต่อสู้เรื่องนี้ เป็นการสู้แบบเดี่ยวๆ เป็นกลุ่ม ไม่ได้มีการเชื่อมโยงของข้อมูล อย่างผมก็เน้นเรื่องสุขภาพ การเสียชีวิต การเจ็บป่วย แต่บางคน ก็พูดถึงเรื่องกลไกที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น การปะปนของสารเคมีที่อยู่ในพื้นที่แล้วมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม กระทบกับไร่นา และสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในแม่น้ำลำคลอง มีการปะปนอยู่ในน้ำประปา

      หลังจากนั้น พอพวกเรามาพบปะกันแล้ว เราก็พบว่าสิ่งที่แต่ละคนได้ทำและรับทราบข้อมูลกันมาตลอดนับสิบปีมันตอกย้ำความน่ากลัว และสร้างประจักษ์พยานหลักฐานในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะในขั้นลึก ขั้นระดับโมเลกุล มันทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกันได้หมดเลย

      ผมทำงานด้วยความเต็มใจกับไบโอไทย-ThaiPAN และอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องต้นสังกัดมหาวิทยาลัยของแต่ละคน แต่เราทำกันจริงๆ ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน และผมคิดว่าข้อมูลของ ThaiPAN ที่มีคนตราหน้าว่าเป็นเอ็นจีโอ ซึ่งก่อนจะเข้าไปผมก็สืบข้อมูลของ ThaiPAN และเอ็นจีโอ ก็พบว่าเวลาเขาลงพื้นที่ที่มีการเก็บตัวอย่างก็ทำร่วมกับเจ้าหน้าที่ กลุ่มองค์กรในท้องถิ่นนั้นๆ ที่เป็นหน่วยงานของราชการและมีมหาวิทยาลัยร่วมด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะบอกว่าเป็นพวกเอ็นจีโอที่ต้องการจะทำร้ายเกษตรกร ผมคิดว่าเป็นคำพูดที่มาจากคนที่น่าจะมีผลประโยชน์หนุนหลังมากกว่า

      การที่ผมจะเข้าไปทำตรงนี้ ผมก็ต้องตรวจสอบว่าจริงๆ แล้วมีจุดประสงค์ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ซึ่งจากที่ได้ร่วมทำงานกันมา ได้ล่มหัวจมท้ายกันมาสองปี ก็พิสูจน์ได้ว่าแต่ละคนที่ทำกันตรงนี้ต่างทำกันด้วยหัวใจกันทุกคน

      อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อ 29 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร มีการเดินทางเข้ามอบดอกไม้ให้กำลังใจ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ภายหลังมีข่าวว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีกลุ่มเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ยื่นหนังสือร้องเรียน อ้างว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ได้นำเสนอข้อมูลผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนเข้าโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของหมอธีระวัฒน์ ระบุว่า “ไม่รู้หรือว่าไม่มีเงาหัวแล้ว”

      เมื่อเราถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องนี้ เริ่มจากที่จุฬาฯ จะตั้งกรรมการสอบ ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวตอบว่า ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงจะเป็นเรื่องที่ว่ามหาวิทยาลัยเองปิดกั้นตัวเอง ไม่ได้รับทราบปัญหาของสังคม ไม่ได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน จริงๆ แล้วก็ต้องสะท้อนไปถึงว่า มหาวิทยาลัยที่เป็นสถานที่สร้างบัณฑิต แต่การสร้างบัณฑิตให้สอดคล้องกับหลักที่ว่า บัณฑิตต้องช่วยเหลือประชาชน จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยต้องสอนให้นักศึกษาและบัณฑิตทราบว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไรบ้าง

      ผมคิดว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรรมการบริหารชุดปัจจุบันที่จะมีการสอบสวน ผมคิดว่าคงจะเป็น เรื่องความรู้รอบตัวคงไม่มากพอ และในบทบาทและบริบทของมหาวิทยาลัยยังไม่สมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น เพราะในขณะนี้หากเปิดกระบวนทัศน์เพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือรับทราบเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาเรื่องนี้และลงมติมาแล้ว

      ผมก็ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ไม่กว้างพอ ตอนนั้นก็กลุ่มนี้ไปแกล้งร้องเรียน แต่การแกล้งร้องเรียนตรงนี้ จริงๆ แล้วหากทราบปัญหาของประเทศไทย อย่างน้อยที่สุดต้องเกิดความสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ข้อมูลอะไรที่บอกว่ากระทบกับสุขภาพ และยังมากล่าวหาว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลเท็จเรื่องการเสียชีวิตของคน ผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นความเสียสติของคนที่ร้องเรียนด้วย ส่วนเรื่องข่มขู่ก็เกิดมาตลอดตั้งแต่เข้ามาในวงการ และให้ข้อมูลกับประชาชน แต่ผมก็ไม่อยากรื้อฟื้น เพราะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับประเทศไทย

        -มองท่าทีของฝ่ายการเมือง พรรคการเมืองอย่างไร ที่หลายพรรคการเมือง เช่น ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ออกมาสนับสนุนการแบนสารเคมีพิษ?

      นักการเมืองในปัจจุบัน ถ้าคิดว่าอนาคตการเมืองจะให้ยั่งยืนยืนยาว แต่ละพรรคการเมืองจะต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้ทำเพื่อประเทศชาติ ทำเพื่อปกป้องประชาชนคนไทย กรณีดังกล่าวมีความชัดเจนว่าหากไม่ทำเพื่อปกป้องประชาชนโดยการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ ก็คือไม่ได้รักชีวิตประชาชนเลย เท่ากับที่มีการหาเสียงกันมาทั้งหมดจะไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

      -หากสุดท้ายมีการแบนสารเคมี มันสะท้อนอะไรให้กับสังคมไทย ถือว่าเป็นชัยชนะของภาคประชาสังคม ของประชาชนหรือไม่?

      มันสะท้อนอำนาจของนายทุนในการผูกขาดทุกอย่าง ตั้งแต่ปุ๋ย สารเคมี การเพาะปลูก จนได้ผลิตผลเพื่อไปทำอาหารสัตว์ เลยเข้าไปถึงการลดภาษีนำเข้า การอ้างพื้นที่ในการเพาะปลูกและการทำเกษตร ทั้งหมดเป็นวงจรอำมหิต เพราะทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องสารเคมีสามชนิด หรือสารเคมี 280-300 ตัวที่เพ่นพ่านในประเทศไทย

      “ผลประโยชน์ของสารเคมีเป็นร้อยๆ ตัวตรงนี้ โดยการอ้างว่ามาเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร แต่จริงๆ แล้วเป็นกำไรของบริษัทนายทุน แล้วยังได้รับการยกเว้นภาษี ไม่เสียภาษีนำเข้า ไม่ต้องเสียภาษีแวต แต่ตรงนี้สารเคมีพวกนี้นำพาต่อไปถึงวงจรการผลิตอาหารเต็มรูปแบของประเทศไทย ทั้งเรื่องของสัตว์ พืชผล และพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด และเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้ในการเกษตรทุกอย่าง ทั้งหมดเป็นแค่ชิ้นส่วนเดียวของระบบที่ผูกขาดด้วยบริษัทนายทุน โดยกระบวนการพวกนี้มันซับซ้อนมาก ซับซ้อนจนคนทั่วไปนึกไม่ถึงว่ามันเชื่อมโยงเกี่ยวโยงกันได้อย่างไร แต่เมื่อเราเข้ามาดูและทำ และตั้งคำถามกับตัวเองมันเกิดเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร จนเมื่อมีการโยงใยก็พบว่ามีสายใยเชื่อมโยงกันเป็นระบบที่มีการวางแผนกันอย่างมีประสิทธิภาพ”

      ...ประชาชนเองที่รู้สึกว่าสะดวก ง่ายดาย เอาความสะดวกเข้าว่า ก็เลยยอมให้เกิดการผูกขาดโดยบริษัทนายทุนเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว และมันไม่ได้จบแค่เรื่องสารเคมี แต่เป็นเรื่องของวงจรในเรื่องอาหารทุกชนิด และพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมทั้งหมด คนไทยทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับระบบนี้ที่ควบคุมโดยคณะหรือกลุ่มบุคคล

      “ถ้าเราทำสำเร็จในขั้นต้นตรงนี้ ก็เหมือนกับว่าประชาชนจะเริ่มตื่นตัวขึ้นว่ายังมีสารเคมีอีกเยอะเลยที่เราต้องกำจัด และในที่สุดแล้วก็จะเปิดเผยตัวตนของคนที่ได้รับประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลัง”

      ...ตรงนี้อาจเรียกได้ว่าผมเองก็ไม่ได้มีกำลังขนาดนั้น แต่ผมยังยืนยันว่าบทบาทของผมยังอยู่ที่สุขภาพของประชาชน อยู่ที่การรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน แต่ที่พูดอธิบายเกี่ยวพันไปข้างต้นเพราะผมไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้มาเนิ่นนานเป็นสิบๆ ปี ซึ่งมันอธิบายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยว่ามันน่าจะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย.

 

      มีขบวนการที่ขัดขวางการแบนสารเคมีดังกล่าว มีมาตั้งแต่ปี 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุขมีมติให้แบนแล้ว...ที่ยืดเยื้อคงคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทั้งสิ้น ในฐานะที่เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ผมคิดไม่ออกว่ามันเกิดเรื่องอะไรขึ้น ทั้งที่ด้วยหลักฐานทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต เช่น คนถูกตัดขา หรือคนต้องเสียชีวิต มีคนเป็นมะเร็ง มีคนเป็นพาร์กินสัน...หากคิดแบบตรงไปตรงมา ในฐานะเป็นแพทย์ เป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผมคิดไม่ออก ไม่สามารถอธิบายได้ เหตุผลอย่างเดียวที่อธิบายได้ก็คือมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์

 

 

      มันสะท้อนอำนาจของนายทุนในการผูกขาดทุกอย่าง ตั้งแต่ปุ๋ย สารเคมี การเพาะปลูก จนได้ผลิตผลเพื่อไปทำอาหารสัตว์ เลยเข้าไปถึงการลดภาษีนำเข้า การอ้างพื้นที่ในการเพาะปลูกและการทำเกษตร ทั้งหมดเป็นวงจรอำมหิต...ผลประโยชน์ของสารเคมีเป็นร้อยๆ ตัวตรงนี้ โดยการอ้างว่ามาเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร แต่จริงๆ แล้วเป็นกำไรของบริษัทนายทุน...เรื่องของสัตว์ พืชผล และพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด และเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้ในการเกษตรทุกอย่าง ทั้งหมดเป็นแค่ชิ้นส่วนเดียวของระบบที่ผูกขาดด้วยบริษัทนายทุน โดยกระบวนการพวกนี้มันซับซ้อนมาก ซับซ้อนจนคนทั่วไปนึกไม่ถึง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"