ท่ามกลางวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่ถูกคุกคาม ซึ่งส่งผลต่อสภาวะการดำรงชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ทำให้ต้องประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง อุทกภัย โลกร้อน การฟื้นฟูป่า หรือการสร้างโลกสีเขียว จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในความต้องการของผู้คน
หลายคนคงใฝ่ฝันอยากจะร่วมปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ สักต้น
บางคนอาจจะขอแค่ปลูกกะเพรา โหระพา พริกขี้หนู ข้างบ้านด้วยความหวังแค่ว่าจะช่วยประหยัดเงินเล็กๆ น้อยๆ หรือแค่ได้กินพืชผักปลอดสารพิษ แม้ทำไม่ได้ทั้งหมด แต่ถือว่าแค่ได้เริ่มต้นก็ยังดี
ส่วนคนเกษียณอาจอยากใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ ปลูกผัก ปลูกหญ้า ทำไร่เล็กๆ น้อยๆ อันเป็นสิ่งที่เคยอยากทำมาตั้งแต่ต้น
ปัญหาคือ ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนดี???
บางทีพื้นที่ตำบลห้วยลึก จังหวัดเพชรบุรี อาจเป็นคำตอบ เพราะที่นี่คือแหล่งเรียนรู้ ตามโครงการสวนป่าครัวเรือน ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นางณภัค กรรณสูต ผู้จัดการฝ่ายสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่างการลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้าโครงการ “สวนป่าครัวเรือน” ในตำบลห้วยลึก อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ว่าโครงการได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นที่น่าพอใจ โดยมีราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)เป็นแกนนำ ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดความตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่ไปกับการทำนา ทำสวน เกษตรผสมผสาน และการดำเนินชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับการรักษาวัฒนธรรมตาลโตนดอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่
สำหรับตำบลห้วยลึกนั้น เป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกป่า 1 ล้านไร่ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติ 50 ปี เมื่อปี พ.ศ.2537
นอกจากปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติแล้ว ปตท.ยังร่วมกับกองทัพภาค กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช น้อมนำโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดอบรมให้กับราษฎรรอบแปลงปลูกป่า ในส่วนตำบลห้วยลึกมีพื้นที่แปลงปลูกป่า FPT 3/6 จำนวน 1,278 ไร่ ปลูกเมื่อปี 2542 ชาวตำบลห้วยลึก ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การอาสาสมัครพิทักษ์ป่า จำนวน 130 คน โดยมีการจัดอบรมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554
ผลของการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ และเข้าร่วมอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ทำให้ราษฎรในพื้นที่เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาทรัพยากรป่าไม้และร่วมมือร่วมใจกันในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ได้เป็นอย่างดี ทำให้ระบบนิเวศฟื้นคืนกลับสู่ธรรมชาติ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2561 บริษัท ปตท. จำกัด ได้นำสมาชิก รสทป.ไปศึกษาดูงานที่แพนด้าแคมป์ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งดำเนินการโดยอาจารย์ศิริพงษ์ โทหนองตอ ทำให้เกิดแนวทางในการสร้างสวนป่าครัวเรือนขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ผู้จัดการฝ่ายสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. กล่าวต่อว่าลักษณะของสวนป่าครัวเรือนในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไป แต่หัวใจสำคัญคือต้องมีการดูแลเรื่องของป่าเป็นหลัก เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวระดับครัวเรือน มีการเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม โดย ปตท.ให้ความสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ ขณะเดียวกันก็ยังให้การสนับสนุนให้พื้นที่มีระบบนิเวศที่ดี มีการดูแลเรื่องการจัดการขยะ โดยนำถังหมักรักษ์โลก จากศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน สิรินาถราชินี มาติดตั้งให้เพื่อให้สมาชิกสวนป่าครัวเรือนทำตัวอย่างเป็นการนำร่องให้ผู้สนใจต่อไป
“ปัจจุบันตำบลห้วยลึกมีโครงการในลักษณะของสวนป่าครัวเรือนอยู่ประมาณ 80 ครัวเรือน พื้นที่โดยประมาณ 300 ไร่ และมีพื้นที่ตัวอย่างให้เปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ 7 ครัวเรือน พื้นที่โดยรวมประมาณ 127 ไร่ 3 งาน”
นายสายัณห์ สุขสงัด ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ระดับประเทศ กล่าวว่า การจัดทำโครงการสวนป่าครัวเรือน ตำบลห้วยลึกนั้น ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกในชุมชน ที่มีความสนใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มีทั้งผู้ที่ทำนา ทำสวน ทำไร่ โดยแต่ละบ้านยังคงวิถีชีวิตแบบเดิม แต่มุ่งพัฒนาสิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น มีจุดมุ่งหมายในการรักษาป่า การสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย การพัฒนาด้านสุขอนามัย การต่อยอดเมนูอาหารจากวัตถุดิบของชุมชน ใช้เวลาดำเนินการร่วมกันมาตลอด 1 ปี
ปัจจุบัน บ้านห้วยลึกเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ในเรื่องการรักษาป่า ควบคู่กับการปลูกพืชไร่ พืชสวน ผสมผสานไปกับการสืบสานงานวัฒนธรรมการทำน้ำตาลโตนด อันเป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชน เป็นต้นแบบของการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง แต่เลี้ยงตัวเองได้
“ตำบลห้วยลึกอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครในระยะทางด้วยระยะทางแค่ 150 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษๆ ที่นี่เป็นทางผ่านซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรีได้อีกหลายแห่ง เช่น แก่งกระจาน, โครงการชั่งหัวมัน หรือหากชอบทะเล หาดชะอำก็อยู่ใกล้เพียงแค่เอื้อม นักท่องเที่ยวผู้สนใจ สามารถแวะเวียนมาร่วมกิจกรรมสีเขียวของเราได้” ประธานเครือข่าย รสทป.ระดับประเทศ กล่าว
ผู้สนใจแวะไปเยี่ยมเยียนเพื่อการเรียนรู้ ติดต่อได้ที่ นายสายัณห์ สุขสงัด ประธานเครือข่าย รสทป.ระดับประเทศ 08-5266-5544
สรณะ รายงาน
หลากหลายกิจกรรมที่ “สวนป่าครัวเรือน”
สำหรับคนที่สนใจเรื่องของการปลูกต้นไม้นานาชนิด และสนใจการปลูกทั้งสวน ทั้งป่าในครัวเรือนของตนเอง สามารถร่วมเรียนรู้ดูงานในบ้านสมาชิกสวนป่าครัวเรือนได้อย่างหลากหลาย อาทิ
· สวนป่าครัวเรือน ลุงชื้น (นายสุรเชษฐ พิมพ์นาค)
เกษตรผสมผสานกลางป่าเป็นแหล่งรวมสวนป่าในพื้นที่ 25 ไร่ ปลูกพืชหลายชนิดแบบผสมผสาน ทั้งไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล พืชหัว พืชอาหาร สมุนไพร และไม้พื้นบ้าน มีชนิดของพืชที่หลากหลายมากกว่า 30 ชนิด ประกอบด้วย ยางพารา มะนาว ทุเรียน มะละกอ กล้วย ขนุน มะม่วง เงาะ ชมพู่ น้อยหน่า หว้า มังคุด สะตอ มะรุม มะกรูด บุก กระชาย ไผ่ ตะไคร้ มะม่วงหิมพานต์ สมอ สามพันตา มะกล่ำ สะเดา มะขาม มะพลับ ตำลึง มะเขือพวง กะเพรา ฟักทอง บวบ เผือก พริกไทย ยอ และแก้วมังกร ปัจจุบันมีรายได้จากสวนป่าครัวเรือนเพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว และจุนเจือเพื่อนร่วมชุมชนที่มาช่วยงานอยู่ในสวนอีก 3 ครอบครัว
· เรียนรู้วิถีคนทำตาลโตนด (เตาเคี่ยวตาลบ้านแม่มณี)
ชมการขึ้นตาล และกระบวนการทำน้ำตาลโตนด ทดลองเคี่ยวตาล ชิมน้ำตาลสดและผลิตภัณฑ์จากตาลนานาชนิด
· ข้าวป่า..นาโบราณ (นางเสี่ยน เชื้อเกตุ/นายมงคล เชื้อเกตุ)
ชมแปลงปลูกข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ในบรรยากาศป่า อาศัยน้ำฝน และการสีข้าวแบบดั้งเดิมเพื่อรับประทานกันในครอบครัว โดยไม่ใช้สารเคมี เป็นข้าวปลอดสารที่เน้นความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีวิถีแห่งความงดงามและเรียบง่ายและหลากหลายกิจกรรมที่สวนป่าครัวเรือน “ข้าวป่านาโบราณ” อาทิ กิจกรรมอาบป่า ในสวนไผ่ ทำนาน้ำฝน นั่งชิล ชมทุ่งนาและพระอาทิตย์ตก
· สวนป่าครัวเรือน ลุงเจือ ศรีสม
พบกับลุงเจือ ศรีสม ผู้อนุรักษ์ป่าไปพร้อมๆ กับการปลูกผักสวนครัวหลากหลายชนิด สนุกกับกิจกรรมเก็บมะนาวเมืองเพชร การทำขนมหน่อไม้ ของกินหายากโบราณ ด้วยการใช้วัตถุดิบจากป่าข้างครัว และชิมน้ำมะนาวแท้ ทั้งหอม ทั้งอร่อยชื่นใจแบบลงตัว
· สวนป่าครัวเรือน โดยซุ้มคนรักษ์เขาแด่น (นายสัจจะ ทองนิล)
สถานที่รวมพล กลุ่มกิจกรรมคนรักษ์ป่า ในพื้นที่ 11 ไร่ ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ปลูกพืชหายากหลากชนิด มีต้นไม้ชื่อแปลกๆ เช่น มะขามผีหลอก และต้นกาแฟ เป็นจุดทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งคนที่ชอบกีฬาสไตล์แอดเวนเจอร์ ไม่ว่าวิ่งเทรลขึ้นเขาแด่น ปั่นจักรยาน ทำกิจกรรมซีเอสอาร์ สร้างฝาย ปลูกต้นไม้ ฯลฯ
เจ้าของสวนป่าครัวเรือนในตำบลห้วยลึกแห่งนี้ ล้วนเป็นกูรูสีเขียวที่ปลูกป่า ทำนา ปลูกผัก ทำสวนมาตลอดชีวิต พร้อมเป็นกำลังใจ ให้ทุกคำตอบที่สงสัย แก่ผู้มาเรียนรู้ดูงานเพื่อช่วยส่งต่อโลกสีเขียวใบเล็กในครัวเรือนให้กับทุกคนที่สนใจ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |