ระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปลดล็อกเงื่อนไขเสริมความเชื่อมั่น


เพิ่มเพื่อน    

        ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลจะต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ อันเนื่องมาจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ยังยืดเยื้อและไม่มีท่าทีว่าจะยุติ กดดันรัฐบาลเร่งหลายมาตรการกระตุ้นความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน หวังทุกฝ่ายเล่นในเกม นำพาประเทศฝ่ามรสุมเศรษฐกิจในปีนี้ 

        อีกทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ส่งสัญญาณว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2562 ที่ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะไม่เติบโตอย่างที่คาด เพราะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังมีความกังวลว่า กำลังซื้อในประเทศจะหดตัวทั่วทั้งประเทศ เห็นได้จากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และยอดการผลิตที่ปรับลดลงไปในทิศทางเดียวกัน

        อย่างไรก็ตาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรียังเชื่อว่าแม้เศรษฐกิจในปีนี้ของไทยจะมีปัญหา แต่ก็จะเติบโตได้ในระดับ 3.5% โดยในเดือนกันยายน กระทรวงต่างๆ มีการระดมหลายมาตรการออกมาทั้งในระดับที่เป็นการสร้างบรรยากาศให้นักลงทุน ทั้งกลุ่มที่ลงทุนในประเทศอยู่แล้ว และนักลงทุนที่กำลังจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาใหม่ให้มีความมั่นใจ และมาตรการที่เป็นการกระตุ้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศ

        จะเห็นได้จาก ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เร่งรัดผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล วงเงินลงทุนรวม 1,947 ล้านล้านบาท ให้มีความคืบหน้าและเกิดการลงทุนให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยฉวยโอกาสช่วงที่เงินบาทแข็งค่า นำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักรเข้ามาลงทุนในประเทศ

        ในขณะที่การกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ กระทรวงการคลังก็ออกมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนในระบบเพื่อรับเงิน 1,000 บาท ออกไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดนอกพื้นที่ที่ระบุตามบัตรประชาชน ตั้งเป้าผู้ร่วมโครงการ 10 ล้านราย หวังให้เกิดการกระจายเงินทุนหมุนเวียนในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งนับตั้งแต่วันที่เริ่มให้มีการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ก.ย. จนถึงขณะนี้ก็พบว่าได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก และยังเปิดให้มีการลงทะเบียนต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 พ.ย.2562

        ด้านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็มีการสั่งการให้สำนักบีโอไอจัดทำโปรแกรมดึงดูดให้ภาคเอกชนนำเงินกองทุนวงเงิน 10,000 ล้านบาทออกไปใช้ประโยชน์ ตามเป้าหมายของ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

        และในส่วนของกระทรวงพลังงาน ก็มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยส่งเสริมให้มีการใช้ศักยภาพเชื้อเพลิงในพื้นที่ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้และขายให้กับรัฐ ที่ประเมินกันเบื้องต้นว่าจะมีเม็ดเงินลงไปลงทุนในชุมชนกว่าแสนล้านบาท

        รวมไปถึงโจทย์ใหญ่ที่คนในวงการให้ความสนใจ และเกี่ยวข้องกับการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ คือ  เรื่องของการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าผู้รับสัมปทานจะยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ ก็ถูกปลดล็อก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งตั้งคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเจรจาเพื่อหาข้อยุติ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี รวมทั้งการเดินหน้าเจรจายุติปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่ประเมินว่าจะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมจำนวนมากใช้ต่อไปได้อีกหลายสิบปี ที่หากสำเร็จจะช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว

 

ระงับยื่นอนุญาโตตุลาการ

        นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางผู้รับสัมปทานต่างชาติได้ระงับกระบวนการยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการแล้ว และเมื่อปลายเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา และได้จัดทำแผนงานการรื้อถอนประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนมาให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาใหม่ เท่ากับว่าเป็นการยกเลิกการวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเต็มจำนวน

        ทั้งนี้ กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.2559 ข้อ 11 ได้เปิดช่องให้ผู้รับสัมปทานเสนอการประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนที่คลาดเคลื่อน หรืออธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีอำนาจสั่งให้ผู้รับสัมปทานแก้ไข เปลี่ยน แปลง หรือส่งให้อธิบดี พิจารณาการแก้ไขให้แล้วเสร็จ และแจ้งผู้รับสัมปทานทราบภายใน 180 วัน

        ส่วนการพิจารณาหรือเจรจาจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น  ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะต้องหารือกับผู้รับสัมปทานทั้ง 3 ราย ให้ได้ข้อยุติภายในเดือนมีนาคม 2563 และหลังจากนั้นจะแจ้งผลการพิจารณา รวมทั้งมูลค่าหลักประกันที่ต้องวางให้ผู้รับสัมปทานทราบภายใน 120 วัน

นัดสรุป มี.ค.2563

        นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม กล่าวว่า ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำลังเร่งเจรจาด้านกฎหมายและแผนดำเนินการรื้อถอน กับบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท โททาล อีแอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด (โมเอโกะ) ซึ่งร่วมถือหุ้นในแหล่งเอราวัณ โดยทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่า การดำเนินการจะไม่กระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ซึ่งรายใหม่จะเข้ามาดำเนินกิจการหลังหมดอายุสัมปทานของกลุ่มเชฟรอนในปี 2565-2566

        สำหรับข้อพิพาทเรื่องค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยที่ให้เชฟรอนรับผิดชอบนั้น ก่อนหน้านี้เชฟรอนระงับการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการชั่วคราวแล้ว คาดว่าการเจรจาจะใช้เวลาไม่เกิน 180 วัน หรือไม่เกินกลางเดือนมีนาคม 2563 นับจากเชฟรอนส่งหนังสือไม่เห็นด้วยกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรณีส่งหนังสือถึงผู้ถือหุ้น แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช วางหลักประกันการรื้อถอน ซึ่งประมาณการใช้จ่ายรื้อถอน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมูลค่าหลักแสนล้านบาท โดยเชฟรอนส่งหนังสือมาช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา จึงเริ่มเวลาเจรจาดังกล่าว

        "ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีเวลาหารือรายละเอียดที่เหมาะสม ยอมรับทั้งสองฝ่าย แนวทางพิจารณามีหลายทางเลือก อาทิ จ่ายทั้งหมด จ่ายบางส่วน โดยจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงการใช้ประโยชน์แท่น และตามกฎหมาย และหลังครบกำหนดกรมฯ จะส่งหนังสือถึงเชฟรอน โททาล และโมเอโกะ ให้มาวางหลักประกันการรื้อถอนภายใน 120 วัน หรือภายในกรกฎาคม 2563 สุดท้ายหากตกลงกันไม่ได้จนมีการฟ้องร้องอาจจะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ แต่เชื่อมั่นว่าในการพิจารณาข้อมูลรอบใหม่จะตกลงเป็นที่ยอมรับกันได้ โดยภาครัฐพร้อมรับฟังข้อมูล บนพื้นฐานหลักการของกฎหมาย”นายกุลิศกล่าว

        อย่างไรก็ตาม คงต้องมาลุ้นกันว่า ผลการเจรจาจะออกมาทางไหน ก็ได้แต่หวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะยอมปลดล็อกเงื่อนไขของตัวเอง ถอนกันคนละก้าว เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมเดินหน้าอย่างราบรื่น ไม่หยุดชะงัก  เพราะปิโตรเลียมก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ถ้าโครงสร้างพื้นฐานพร้อม เชื่อว่าการลงทุนจากต่างชาติก็คงต้องหลั่งไหลเข้ามาแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"