เซ็นแน!ไฮสปีดเทรน25ตค. ศักดิ์สยามตั้งกก.มอบพื้นที่


เพิ่มเพื่อน    

  เซ็นแน่! 25 ต.ค.นี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ นัด “ซีพี” จรดปากกาลุยโครงการ "ไฮสปีดเทรน" เชื่อม 3 สนามบิน พร้อมสั่งตั้งคณะทำงานส่งมอบพื้นที่หวังช่วยเข็นโครงการเดินหน้าตามแผน “ศักดิ์สยาม” ยันไม่มีทะเลาะเบาะแว้ง ทุกฝ่ายอยากให้โครงการสำเร็จ

     เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ร่วมประชุม ว่าคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคณะทำงาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน และจะมีการเสนอให้คณะกรรมการอีอีซี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบต่อไป
    ทั้งนี้ เพื่อให้การก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินเดินหน้าต่อได้ตามแผน โดยจะมีการเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพี ซึ่งชนะการประมูลในวันที่ 25 ต.ค.นี้
    นายศักดิ์สยามกล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการดังกล่าว ได้ทำหนังสือส่งไปยังกลุ่มบริษัทซีพีเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าให้เตรียมพร้อมเข้ามาทำการเซ็นสัญญากันในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยเลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทำการประสานไปยังกลุ่มซีพีอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ซึ่งทางกลุ่มซีพีได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาเซ็นสัญญาตามกำหนดเวลา
     รมว.คมนาคมกล่าวว่า สำหรับปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนที่คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องมีการรับทราบกระบวนการเซ็นสัญญา แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการ รฟท.ชุดเก่า ได้มีการลาออกยกชุดนั้น ขณะนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการ รฟท.ชุดใหม่ตามกฎหมายแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังได้เห็นชอบ และส่งต่อให้กระทรวงคมนาคมดูแล้ว หลังจากนั้นได้ส่งเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการ รฟท.ได้ทันที โดยไม่ต้องมีการประชุม เพราะมีอำนาจตามตำแหน่ง และในวันที่ 15 ต.ค.นี้ จะเสนอรายชื่อคณะกรรมการ รฟท.ชุดใหม่ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ
     หลังจากนั้นคณะกรรมการ รฟท.จะมีการประชุมทันที เพื่อรับทราบการดำเนินการเซ็นสัญญาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหา เพราะคณะกรรมการ รฟท.มีหน้าที่รับทราบเท่านั้น เนื่องจากตามขั้นตอนแล้ว หากคณะกรรมการ รฟท.ไม่มีมติรับทราบ ก็จะทำให้ผู้ว่าฯ รฟท.ไม่มีอำนาจในการเซ็นสัญญาผูกพันในโครงการดังกล่าวได้ และเมื่อคณะกรรมการ รฟท.รับทราบแล้ว ก็จะเสนอเรื่องการเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพีให้ ครม.เห็นชอบในวันที่ 22 ต.ค.2562 เพื่อให้การเซ็นสัญญาเป็นไปตามกำหนด
    "วันนี้ทุกคนมีเจตนาที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ วันนี้ไม่มีอะไรแล้ว เพียงแต่ทำให้กระบวนการมันถูกต้องครบถ้วนเท่านั้นเอง ด้านเอกชนเองก็อยากลงนาม ยืนยันว่าไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ทุกคนอย่างให้โครงการนี้สำเร็จ แต่เงื่อนไขอยู่ที่ว่าการส่งมอบพื้นที่มีความจำเป็น หากไม่มีการกำหนดเวลาชัดเจน รถไฟฟ้ากับสนามบินจะไม่เชื่อมกัน เอกชนจะมีปัญหา เพราะเป็นโครงการร่วมทุน ไม่ใช่จ้างทำ ตอนนี้คุยกับฝ่ายเอกชนแล้ว ถ้าเป็นไปตามนี้ก็สามารถลงนามได้" นายศักดิ์สยามกล่าว
    นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน สามารถดำเนินการได้แล้ว 72% ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1.ระยะทางระหว่างสถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 2.ระยะทางระหว่างสถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร คณะทำงานส่งมอบพื้นที่จะสามารถดำเนินการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน ทำให้ระยะทางตั้งแต่สถานีพญาไท-สถานีอู่ตะเภา เปิดให้บริการได้ในปี 2566-2567 3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร เป็นส่วนที่ดำเนินการได้ยากที่สุด เพราะต้องมีการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคเกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง 8 หน่วยงาน คาดว่าจะใช้เวลาในการส่งมอบพื้นที่ 2 ปี 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567-2568
    "การส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด ทางผู้ชนะการประมูลได้รับทราบเงื่อนไขดังกล่าวหมดแล้ว ซึ่งไม่มีปัญหาใดๆ ในการเซ็นสัญญา เพราะว่าทุกหน่วยงานอย่างให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะหากสร้างสนามบินเสร็จแล้ว แต่รถไฟไม่เสร็จ จะทำให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อได้" นายคณิศกล่าว
     สำหรับการส่งมอบพื้นที่เดิมมีปัญหา เนื่องจากมีจุดตัดจำนวนมากถึง 230 จุด ใน 3 กระทรวง 8 หน่วยงาน ที่ต้องปรับปรุงหรือโยกย้าย การใช้วิธีเดิมให้เอกชนเจรจาเองโดยรัฐบาลไม่ช่วยจึงไม่เหมาะสมและจะใช้เวลานานมาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"