นายกฯ ชี้ยกเลิก 3 สารพิษเกษตรให้เป็นไปตามขั้นตอน "วิษณุ" เชื่อจบได้เร็วๆ นี้ เลขาฯ "เฉลิมชัย" โต้ปัดหนีม็อบ ยันรมว.ป่วยจริงทั้งหวัด-ความดัน "มนัญญา" โชว์ภาพนอน รพ. ลั่นไม่หนีอยู่แล้ว "อนุทิน" เตือนไม่แบนสารเคมี เตรียมงบไว้รักษาคนได้เลย
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงจุดยืนการดำเนินการยกเลิกใช้สารเคมีเกษตร กรณีที่มีเหตุการณ์กลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มคัดค้านเดินทางไปพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ แต่ไม่ได้พบ เนื่องจากทั้งสองคนมีอาการป่วยกะทันหันว่า ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาการต่อต้าน 3 สารพิษในขณะนี้ว่า ส่วนตัวเป็นห่วงอยู่แล้ว แต่เขากำลังทำกันอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจะจบได้ง่ายๆ มิเช่นนั้นไม่ยืดยาวมาหลายปี แต่คงจะจบลงได้เร็วๆ นี้ เพราะความคิดเห็นตรงกันหมดแล้ว ตกลงกันได้แล้ว
เมื่อถามว่า เรื่องนี้ทำให้รัฐมนตรีป่วยถึง 2 คนเลย นายวิษณุ ถามกลับว่า “ป่วยจริงหรือเปล่า แต่เห็นคุณเฉลิมชัยไอมาตั้งนานแล้ว”
ด้านนายสมเกียรติ กอไพศาล เลขานุการส่วนตัวนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงถึงกรณีมีสื่อบางสำนักระบุนายเฉลิมชัยป่วยการเมือง เพื่อหลบเลี่ยงไม่พบตัวแทนเกษตรกรที่สนับสนุนใช้สารพาราควอตว่า ยืนยันนายเฉลิมชัยมีอาการป่วยจริง ซึ่งเหตุเกิดจากการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องกรรมการกองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร ซึ่งใช้เวลานาน 5 ชั่วโมง โดยนายเฉลิมชัยนั่งในจุดที่ลมแอร์ตกเป็นเวลานาน จึงทำให้เป็นหวัด ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา และวันที่ 9 ต.ค. ก็มาทำงานตามปกติ แต่เนื่องจากพักผ่อนน้อย จึงทำให้เป็นความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย ตนจึงขอให้พักผ่อน โดยได้มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรี ไปพบกลุ่มเกษตรกรที่คัดค้าน 3 สารพิษ และให้นายนราพัฒน์ แก้วทอง เลขานุการรัฐมนตรี ไปพบกลุ่มเกษตรกรผู้สนับสนุนใช้สารดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภายหลัง รมว.เกษตรฯ ทานยาแล้วพักผ่อน ตลอดช่วงบ่ายถึงคืนวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา จนเช้านี้ (10 ต.ค.)อาการดีขึ้น จึงได้ออกมาปฏิบัติงานตามปกติ
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีอาการปวดหัวตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขณะรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล พร้อมข้อความว่า "สุภาพสตรีรุ่นนี้ไม่หนีอะไรอยู่แล้วค่ะ พร้อมค่ะ"
ต่อมาผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อทางโทรศัพท์ของ น.ส.มนัญญา ปรากฏบุตรสาว น.ส.มนัญญารับสายแทน โดยระบุว่ามารดากำลังทำกายภาพบำบัด พร้อมยืนยันว่าในวันที่ 11 ต.ค. จะร่วมลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง ในกิจกรรม "ภูมิใจไทยสัญจร" ตามกำหนดเดิม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยข้อมูลหลักฐานตัวเลขเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากสารเคมีทางการเกษตร ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยจะมีการฟ้อง สธ.ต่อศาลปกครอง เพราะมีการขึ้นป้ายแบนสารเคมีเหมือนกล่าวหาเกษตรกรเป็นผู้ร้ายฆ่าคนว่า ไม่ได้เป็นการกล่าวหา แต่เป็นการช่วยเกษตรกรด้วยซ้ำ มั่ว แต่หากจะมีการฟ้องร้องจริงๆ ก็ห้ามไม่ได้ ส่วนกรณีที่บอกว่าไม่มีเวลาให้พบนั้น ใครก็สามารถมาพบตนได้ แต่มาจริงหรือไม่ และต้องมาดี พร้อมพบทุกคนทุกฝ่าย ตนเป็น รมว.สาธารณสุข อะไรก็ตามที่มีผลเสียต่อสุขภาพ ต่อชีวิต ไม่มีสิทธิที่จะบอกว่าสนับสนุน
ทั้งนี้ สารเหล่านี้มีอันตราย มิเช่นนั้นโรงพยาบาลทั่วประเทศคงไม่ขึ้นป้ายแบน ขณะที่รัฐมนตรีอีก 3 คนปฏิเสธสารพิษ เท่ากับว่ามีโทษแน่ๆ ไม่งั้นคงไม่เห็นพ้องต้องกันขนาดนี้ และจากการที่ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุข ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่ามันต้องยุติการใช้ ตนก็ต้องทำตาม เพราะคนที่ไม่เอาคือนายแพทย์ทั้งนั้น มีวิชา มีความรู้
"ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ที่เป็นกรรมการวัตถุอันตราย ก็ยืนยันต่อสื่อมวลชนไปแล้วว่าไม่สนับสนุน และพร้อมเสนอให้ที่ประชุมมีการโหวตอย่างเปิดเผย เราชาวสาธารณสุขมีความชัดเจนที่จะไม่สนับสนุนการใช้สารเคมีอันตราย ผลที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายทั้ง 27 คน ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข และหากไม่แบน เราก็จะเตรียมยา เตรียมการรักษา ซึ่งจะเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศต่อไป” นายอนุทินระบุ
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ความรู้แบ่งปันจากอาจารย์แดง บุญรุ้ง สีดำ (บุญรุ้ง ศรีษะอโศก) มีคนถามมามากเหลือเกินว่า หากรัฐบาลจะยกเลิกพาราควอต, ไกลโฟเซต จะมีสารตัวไหนใช้ฆ่าหญ้าทดแทนได้บ้าง
ผมขอตอบอย่างนี้ครับ 1.โดยสัตย์จริง ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีหรือแม้แต่สารอินทรีย์ เพราะหญ้าก็มีประโยชน์ของมัน อย่างน้อยมันก็คลุมดินไม่ให้ปะทะแดดฝนโดยตรง ลดการชะล้างสูญเสียปุ๋ยหรือแร่ธาตุ แถมที่รากของหญ้ายังมีสารเมือกประเภทคาร์โบไฮเดรตที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่ทำให้พืชแข็งแรงทนทานต่อโรค หากเราหาประโยชน์ของหญ้าเจอ เราจะไม่เห็นมันเป็นศัตรู เราจะไม่ไปฆ่าทำลายเขา แค่ขยันตัดห่มดินให้เป็นปุ๋ย เราจะได้ประโยชน์มากกว่า
ขอซะที กับคำว่ามันจะไปแย่งปุ๋ยพืชที่เราปลูก มันดูดปุ๋ยน่ะใช่ แต่มันก็อยู่ตรงนั้น บังแดดให้ดินให้จุลินทรีย์ตรงนั้น ดินใต้กอหญ้าจะชุ่มชื้นและร่วนซุยอยู่เสมอ ไม่สังเกตบ้างหรือครับ ดินที่ปราศจากหญ้าจะแห้งผากและสูญเสียหน้าดินได้ง่าย สังเกตไหมครับ ทุกครั้งของการอบรม ผมจะไม่พูดถึงการใช้ยาฆ่าหญ้าเลย ไม่ว่าจะเป็นเคมีหรืออินทรีย์
2.แม้หากมีพื้นที่กว้าง ตัดหญ้าไม่ไหว ก็ใช้แค่น้ำหมักเข้มข้นฉีดพ่นก็เหลือเฟือครับ ตัวที่ใช้ทดแทนสารพิษพาราควอต, ไกลโฟเซต ทำเองได้ ไม่ต้องใช้เงินซื้อเลย นอกจากปลอดภัยแล้ว หญ้าที่ตายก็ถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ยด้วย น้ำหมักหลังสัมผัสใบหญ้าแล้ว มันก็ถูกฝน, น้ำค้าง เจือจางลงดินกลายเป็นปุ๋ย มีแต่ได้กับได้ครับ" พิจารณากันนะครับว่ายังมีแนวทางอื่นๆ อีก ทั้งลดต้นทุน ปลอดภัย (ไม่มีใครช่วยท่านได้ ยกเว้นคนที่อยู่ในกระจก ลุงคิมกล่าวไว้) เป็นทางเลือกอีกหนึ่งแนวทาง"
นายแพทย์สุรชัย โชคครรชิตไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัยธานี กล่าวในงานร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด ว่าโรงพยาบาลอุทัยธานีขอสนับสนุนต่อรัฐบาลให้ดำเนินการยกเลิก 3 สารเคมีดังกล่าว และขอเชิญชวนให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอุทัยธานี ผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ยกเลิกการใช้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และลดความรุนแรงผลกระทบของสารเคมีต่อร่างกายมนุษย์ เพื่อไม่ให้มีสารอันตรายต่อสุขภาพ จากการเก็บข้อมูล พบว่าทุกปีมีคนป่วยจากการใช้ยาฆ่าหญ้าจำนวน 14,000 คน และเสียชีวิตมากว่า 600 คน/ปี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |