'ปลดปรปักษ์' สู่ 'ศรีสิทธิสงคราม' ชื่อทางทหารนั้นสำคัญไฉน?


เพิ่มเพื่อน    

 

       ปีกซ้ายของอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติภายในกองบัญชาการกองทัพบก ที่ตั้งของอาคาร “ศรีสิทธิสงคราม” ที่เพิ่งเปิดเป็นอาคารสูง 2 ชั้น ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ถือเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งแนวทางการปรับปรุงตามนโยบายของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ต้องการให้คงรูปลักษณะตามแบบฉบับเดิมไว้ แต่ขณะเดียวกันต้องตกแต่งอย่างสวยงาม พร้อมใช้งานและรับแขกวีไอพีที่มาเยือนกองทัพ มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ด้านการทหาร ตกแต่งด้วยอาวุธโบราณที่ตั้งแสดงอยู่เดิมแล้ว เพราะอาคารดังกล่าวก็เคยเป็นที่ตั้งของกรมสรรพาวุธมาก่อน นอกจากนั้นยังมีลิฟต์แก้วด้านข้างเพื่อรองรับหากผู้มาเยือนเป็นผู้สูงอายุ และไม่สามารถขึ้นบันไดได้

                พล.อ.อภิรัชต์ เคยบอกผู้สื่อข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เคยมีแนวคิดที่จะปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว แต่ก็เกษียณอายุราชการมาก่อน เมื่อตนเองมาดำรงตำแหน่งจึงได้ดำเนินการเพื่อสานต่อความต้องการ และจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นประธานในพิธีเปิดด้วย

                “เราไม่ได้ใช้งบฯ หลวงแม้แต่บาทเดียว มีผู้บริจาคให้มา คนที่รักผม รักท่านนายกฯ มีเยอะแยะ” พล.อ.อภิรัชต์กล่าว

                ความพิถีพิถันของ “บิ๊กแดง” ที่ต้องการให้อาคารหลังนี้สวยงาม ใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างความประทับใจให้กับแขกที่เดินมาเยี่ยมกองทัพบก ทำให้เขาแวะเวียนลงมาเดินตรวจงาน สั่งการ ดูความเรียบร้อยด้วยตนเอง ตลอดระยะเวลาหลายเดือน จนในที่สุดการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารดังกล่าวก็แล้วเสร็จตามที่ต้องการ

                ในตอนแรกมีการกำหนดชื่อว่า เป็นอาคาร “ขุนปลดปรปักษ์” ซึ่งเป็นนักรบในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในพื้นที่เขาชะโงก จ.นครนายก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ทำหน้าที่ดูแลเฝ้าระวังเส้นทางที่พม่าใช้เดินทัพในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังมีชื่อ “ขุนปรปักษ์“ เป็นสมาชิกฝ่ายทหารบก ของคณะราษฎร ซึ่งน่าจะล้อมาจากชื่อบรรพบุรุษทหารในอดีตคนดังกล่าวซึ่งสร้างวีรกรรมในการปกป้องประเทศชาติมาก่อน

                แต่หากย้อนดูบัญชีชื่อค่ายทหาร อาคาร ห้องทำงาน ในหน่วยต่างๆ แล้ว ปรากฏว่าชื่อห้อง “ขุนปลดปรปักษ์” เป็นชื่อห้องทำงานของผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ เป็นคนเลือกชื่อดังกล่าวเอง ระหว่างดำรงตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ.

                อาจเพราะวีรกรรมและสถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของ รร.จปร. สมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเชื่อกันว่า 'ขุนปลด ปรปักษ์' เป็นชื่อที่เป็นมงคลในชีวิตและหน้าที่การงาน ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า อีกนัยหนึ่ง สะกัด ศัตรู หมู่มาร ให้พานพ้น (คมชัดลึก 5 ต.ค.2562)

                แต่ในที่สุดชื่อที่ถูกเคาะออกมาตั้งชื่ออาคารดังกล่าว คือ  “ศรีสิทธิสงคราม” มีการติดภาพวาดของพระยาศรีสิทธิสงคราม หรือ ดิ่น ท่าราบ ไว้ในห้องด้วย ส่วนด้านบนของตัวอาคาร เป็นห้องจัดเลี้ยง ซึ่งตั้งชื่อว่า "บวรเดช" ที่ไม่ใช่ “กบฏบวรเดช” เพื่อให้สอดรับกับเหตุการณ์ในอดีต ที่พระยาศรีสิทธิสงคราม ทหารบกที่จบจากการศึกษาจากเยอรมัน สถาบันเดียวกับทหารเสือ “คณะราษฎร” เลือกอยู่ข้างเจ้า

                ดิ่น ท่าราบ ยังมีศักดิ์เป็นตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็มีบิดาเป็นทหารฝ่ายหัวก้าวหน้าที่ชื่อ “ลุงคำตัน” พ.ท.พโยม จุลานนท์ และยังเป็นผู้บัญชาการกองทัพแดง หรือกองทัพปลดแอกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

                หากย้อนไปดูประวัติของสถานที่ ยังพบว่า ในอดีตยังเคยเป็นที่ตั้งของส่วนโครงการ 309 หน่วยขึ้นตรงของฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ ศปก.ทบ. และเป็นฝ่ายอำนวยการของคณะกรรมการป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์เข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและผู้บังคับบัญชา มีภารกิจในการหาข่าวเพื่อการแจ้งเตือนทางยุทธศาสตร์โดยให้ทราบถึงเจตนารมณ์และแนวความคิด ตลอดจนการปฏิบัติงานข่าวของลาว (ในช่วงก่อนปี 2537) เพื่อให้รัฐบาลและกองทัพไทยสามารถวางแผนการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ในการรักษาความมั่นคงในทิศทางด้านประเทศลาว

                การปรากฏตัวของอาคารศรีสิทธิสงครามอย่างเป็นทางการเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางมาเยือน ประเดิมใช้ห้องด้านล่างประชุมกับ “ขุนทหาร-ตำรวจ” ได้ย้ำให้ทุกคนตระหนักว่าภารกิจการพิทักษ์ ปกป้อง และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันอันสูงสุด ที่เป็นศูนย์รวมของจิตใจปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นภารกิจอันสำคัญยิ่ง

                ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์เริ่มมีการพูดถึงเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้ว ในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 28 ธ.ค.2561 ที่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. มีการย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ตั้งอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมสถานการณ์บริเวณดังกล่าว จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ฯ ดังกล่าวไปอยู่ที่ รวมถึง “หมุดคณะราษฎร” ที่ลานพระราชวังดุสิตที่หายไป

                การตอกย้ำให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของทหาร ในยุค “บิ๊กแดง” จึงน่าสนใจ และเป็นปรากฏการณ์ที่อีกฝ่ายมองอย่างตั้งข้อสังเกต โดยเฉพาะการดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่แสดงออกในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น

                โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความเห็นเหล่านั้น เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ที่คนรุ่นใหม่พร้อมจะแสดงความเห็นอย่างเปิดเผย

                “ขุนปลดปรปักษ์” “ศรีสิทธิสงคราม” หรือ “บวรเดช” จึงไม่ใช่แค่ชื่อวีรบุรุษทางทหาร เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ชื่ออาคารเท่านั้น แต่มีความหมายรวมถึงทัศนคติ จุดยืน ของผู้นำทางทหาร ที่มีส่วนสำคัญต่อสถานการณ์ของประเทศ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางความคิดของคนในสังคม!!. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"