หลังจากที่โคคา-โคล่า ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “World Without Waste” เพื่อกำจัดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ให้หมดไป กับเป้าหมายเก็บคืนขวดและกระป๋องเครื่องดื่มทุกชิ้นที่จำหน่าย เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลอดให้ได้ 100% ก่อนปี 2573
ล่าสุดกลุ่มธุรกิจ โคคา-โคล่าในประเทศไทย ก็เดินหน้าด้วยการเปิดตัวโครงการ “โค้กขอคืน” ด้วยการร่วมมือกับ GEPP ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการจัดการข้อมูลขยะและวัสดุรีไซเคิล ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้แยกขยะ และผู้รับซื้อขยะให้ซาเล้งไปรับซื้อถึงที่ โดยประเดิมเฟสแรกของโครงการ ด้วยการจับมือกับบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และพันธมิตรภายใต้ชื่อ “โค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero” ในการสนับสนุน และจัดทำระบบส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทางในบริเวณศูนย์การค้าของเซ็นทรัล และนำส่งบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ตลอดจนวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ ที่จัดเก็บได้ ให้กับบริษัทพันธมิตรเพื่อนำวัสดุเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง
นายพรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า ทุกปีเรามีการใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนมาก บรรจุภัณฑ์บางชนิดแม้ว่าจะเลือกวัสดุ ที่สามารถใช้แล้วนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ แต่ยังพบว่าบรรจุภัณฑ์จำนวนมากไม่ได้ถูกนำมารีไซเคิลอีก ซึ่งปัญหาน่าจะมาจากประเทศเรายังไม่มีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางที่ชัดเจน ทำให้ขยะถูกทิ้งปะปนกัน ทำให้บรรจุภัณฑ์บางชิ้นสกปรกยากต่อการนำมารีไซเคิลได้อีก ก็ต้องนำไปเผา ไปฝังกลบ รั่วไหลสู่แม่น้ำลำคลองบ้าง กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
ในประเทศไทย โคคา-โคลา ใช้ขวดแก้วชนิดคืนขวดอยู่แล้วจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด แต่เนื่องจากวิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป การผลิตบรรจุภัณฑ์จึงต้องเปลี่ยนตาม ไปเป็นขวดพลาสติก PET กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้วชนิดไม่คืนขวด และกล่องเครื่องดื่ม ฯลฯ บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้เก็บคืน และไม่มีการนำไปรีไซเคิล ถูกทิ้งตามแหล่งต่างๆ ฉะนั้นจึงมีโครงการ"โค้กขอคืน "ขึ้นมา เพื่อสร้างระบบจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการวางระบบแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด ในปริมาณเทียบเท่ากับที่จำหน่ายออกสู่ตลาด โดยมีการพัฒนาและทดลองระบบการจัดเก็บขึ้นมาใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรในอีโคซิสเต็มมาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง สำหรับเฟสแรก ของโครงการฯ ได้ร่วมมือกับเซ็นทรัล ภายใต้ “โค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero”
นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้ดำเนินการเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมใน โครงการ Central Group Journey to Zero ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการกระตุ้นจิตสำนึกในการลดใช้พลาสติก การบริหารจัดการแยกขยะและลดปริมาณขยะต้นทางตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ และรณรงค์การจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม การจับมือกันเป็นการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ และนำวัสดุที่สามารถรีไซเคิลไปพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งดำเนินการผ่านศูนย์การค้าของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (ซีพีเอ็น) นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัลพลาซา บางนา ด้วยการนำขยะที่เกิดจากร้านอาหารในเครือ CRG เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว กลับมารีไซเคิลกับโครงการที่ร่วมมือกันครั้งนี้ และก็ตั้งเป้าว่าจะมีการขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป
โครงการ ดำเนินการ มาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. โดยโคคาโคล่า ให้การสนับสนุน GEPP มาเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างร้านค้าที่มีวัสดุรีไซเคิลจากการแยกขยะ ผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิล และบริษัทผู้รีไซเคิลวัสดุเหล่านี้ โดย GEPP จะประสานงานให้ผู้รับซื้อเข้าไปซื้อวัสดุรีไซเคิลจากร้านอาหาร และภัตตาคารของกลุ่มเซ็นทรัล หลังจากนั้นวัสดุเหล่านี้จะถูกนำส่งและจำหน่ายแยกประเภทให้กับพันธมิตรผู้รับซื้อ ได้แก่ บริษัทบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับซื้อวัสดุประเภทแก้ว, บริษัทไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด (มหาชน) รับซื้อกระป๋องอลูมิเนียม, บริษัท เวสท์ทีเรียล จำกัด รับซื้อกระดาษ และกล่อง เครื่องดื่ม, บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) รับซื้อพลาสติกชนิด HDPE, LLDPE, LDPE และ PP และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) รับซื้อพลาสติกชนิด PET
นางสาวมยุรี อรุณวรานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัดGEPP ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า GEPP เกิดขึ้นมาได้ 1 ปี ตั้งแต่ปี 2561 จากการที่เราเป็นผู้บริโภคแล้วเกิดความสงสัยว่าไทยมีการเก็บขยะกันอย่างไร เก็บแล้วเอาไปไว้ที่ใดบ้าง ก็เลยหาข้อมูลจนพบว่าเมืองไทย มีการกำจัดขยะอยู่ 2 วิธี คือการฝังกลบ กับการเผา ซึ่งทั้งสองวิธีนี้เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ดีต่อคนที่อยู่บริเวณรอบๆ ทั้งนี้ คิดว่าคนจำนวนมาก ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ แต่โครงสร้าง และระบบของไทยในปัจจุบันยังไม่เอื้อ ซึ่ง GEPP จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ โดยจะร่วมมือกับโครงการที่มีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งทางโค้กและเซ็นทรัลต่างก็มีเป้าหมายเหมือนกัน จึงได้เข้าร่วม โดยโครงการฯ ได้เริ่มจัดการฝึกอบรมให้พนักงานของเซ็นทรัล ช่วยออกแบบพื้นที่ในการแยกขยะในร้านอาหาร การจัดตารางเวลา เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ ประเมินผล ตลอดจนวางแผนในการพัฒนาและขยายโครงการอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ โครงการฯ เริ่มเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา มีร้านค้าที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 16 ร้าน และเก็บบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมส่งไปรีไซเคิลต่อได้แล้ว 2.75 ตัน โดย 53% เป็นกลุ่มพลาสติก 40% กระดาษ อีก 7% เป็นโลหะรวมกับแก้ว เป็นต้น
ขณะที่นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ตอนนี้โครงการเพิ่งเริ่ม ซึ่งก็ยังไกลจากเป้าหมายค่อนข้างมาก ก็เป็นความท้าทาย เพราะเรามีเวลาเพียง 10 ปีเมื่อวางอีโค่ซิสเต็มในการลดขยะและลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือการขยายความร่วมมือต่อไปอีก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายอื่นๆ ผู้จัดเก็บคัดแยกขยะ บริษัทผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิล และเซ็นทรัลอีกทั่วประเทศ ซึ่งหลายคนอาจจะเกิดคำถามว่าร่วมมือกับเซ็นทรัลเพียงแค่สองแห่ง กับการตั้งเป้าไว้ 100% จะทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งต่อไปเชื่อว่าเราสามารถสร้างเครือข่ายการจัดเก็บจากเซ็นทรัลหนึ่งไปอีกเซ็นทรัลหนึ่งได้ และการเริ่มต้นที่เซ็นทรัลค่อนข้างจะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย เพราะมีปริมาณบรรจุภัณฑ์มาก เมื่อเรามีเส้นทางหลัก หรือพื้นที่นำร่อง ก็หวังว่าจะเกิดการเชื่อมโยงต่อไปอีก รวมไปถึงโรงแรม โรงเรียน สำนักงานอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางที่รถวิ่งผ่านก็จะได้ปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่มากขึ้นด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |