แผงโซลาร์เซลล์ ศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทนพึ่งตนเองตำบลหนองตาแต้ม
เมื่อช่วง 5-6 ปีก่อน เมื่อถึงวลาค่ำคืนทีไร 400 เรือนในพื้นที่บ้านวังวนชลประทาน หมู่ที่ 8 ต.หนองตาแต้ม อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีบ้านเรือนทั้งหมด 905ครัวเรือน กลับตกอยู่ในความมืด เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจาก ติดขัดข้อข้อกฏหมาย ไม่สามารถสร้างสายส่งเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของราชพัสดุ ที่ดูแลโดยศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ ได้ั จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนมาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี และเกิดการฟ้องร้องมาหลายต่อหลายครั้ง
จนกระทั่งปี 2557 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตาแต้ม ได้ลงพื้นที่ชุมชน และหาทางออกด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าในครัวเรือน ทำให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลงานดังกล่าววนี้ ส่งผลให้ อบต.หนองตาแต้ม ได้รับรางวัลจากองค์การสหประชาชาติ จากการประกวด United Nations Public Service Awards 2019 (UNPSA) โดยได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขา Developing effective and responsible public instructions ซึ่งเป็นรางวัลด้านการเข้าถึงพลังงาน
การส่งเสริมใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในครัวเรือน เป็นการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ครัวเรือนสามารถนำไปใช้ได้ 100 %ของพื้นที่ รวมทั้งสร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับชุมชน เพื่อฝึกอบรมประชาชนในพื้นที่ ให้เป็นช่างเทคนิคที่สามารถดูแลระบบต่อไปได้ อีกทั้งยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการซื้ออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นผลให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จากการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
สำหรับรางวัล UNPSA เป็นรางวัลที่มีทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้นวัตกรรม และการบริการภาครัฐที่ยอดเยี่ยมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เป็นส่วนสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2030 (2030 Agenda) ซึ่งประเทศไทยได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน รวม 14 ผลงานจาก 11 หน่วยงาน
ศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทนพึ่งตนเองตำบลหนองตาแต้ม
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานความสำเร็จของนวัตกรรมชุมชนไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบพึ่งพาตนเอง ในพื้นที่ดังกล่าว โดยนางอารีพันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นผลงานที่ตอบโจทย์ UN ที่อยากให้ประชากรมีพลังงานที่สะอาดใช้ โดยพื้นที่ของ ต.หนองตาแต้ม ในบ้านวังวนชลประทาน อยู่ในพื้นที่เขตไม่มีเอกสารสิทธิ์ทำให้ตลอดระยะเวลา 60 ปี ไม่มีไฟฟ้าใช้ สิ่งที่ อบต.ได้ดำเนินการคิด คือ ทำยังไงให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ จึงมีการใช้โซลาร์เซลล์ ซึ่งไม่ใช่แค่มีเงินซื้อแล้วจะส่งเสริมชาวบ้านได้ แต่ชาวบ้านต้องรักษาได้ ใช้เป็น มีความเข้าใจว่าจะใช้อย่างไรให้ประหยัดและเพียงพอ ดังนั้นเลยจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ขึ้น เพื่อที่จะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ จนครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ครบทุกครัวเรือน และสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สะดวกสบายขึ้น
รองเลขาก.พ.ร.กล่าวอีกว่า ก่อนหน้าที่จะได้รับรางวัลจาก UN อบต.หนองตาแต้มได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศก่อน โดยได้รับอันดับสาม รางวัลของคณะกรรมการกระจายอำนาจของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงได้รับการสนับสนุนส่งเข้าประกวดในเวทีโลก ซึ่งมีผลงานส่งเข้าประกวดมากกว่า 500 ผลงาน แต่มีประเทศที่ได้รับรางวัลเพียงแค่ 19 รางวัลเท่านั้น ก.พ.ร.เอง ก็มีหน้าที่ส่งเสริมหน่วยงานทุกหน่วยงานที่ได้รางวัลระดับประเทศ เพื่อไปสู่ระดับโลกต่อไป เราแบ่งงานกันระหว่างคณะกรรมการกระจายอำนาจ กับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เมื่อส่งเข้าไปแล้ว ยูเอ็นให้ความสนใจเรื่องของความยั่งยืน จึงส่งผลให้ได้รับรางวัลกลับมา นับเป็นความภาคภูมิใจสำหรับคนที่ทำงานในพื้นที่
พลังงานโซลาร์เซลล์ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านดีขึ้น
ด้านนายเชิด ยอดแฉล้ม รองนายก อบต.หนองตาแต้ม กล่าวว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านวังวนชลประทาน หมู่ที่ 8 เดือดร้อน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้เทียนในเวลากลางคืน อยู่อย่างยากลำบากและเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในยามค่ำคืน บางครั้งเด็กๆ ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ ลมพัดมาเทียนก็ดับ บางครัวเรือนเมื่อก่อนบ้านของประชาชนมุงด้วยหญ้าคา เคยเกิดเหตุไฟไหม้ เพราะเทียนไขล้ม บางครัวเรือนมีฐานะก็ใช้เครื่องปั่นไฟแทน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายน้ำมัน อย่างน้อยวันละ 40-60 บาท นับว่าสิ้นเปลืองมาก
"เหตุที่ไฟฟ้าเข้าไม่ได้ ก็เนื่องด้วยพื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางทหาร ปกครองดูแลโดยทหาร จึงเป็นเรื่องของข้อกฏหมายที่เราไม่สามารถจะก้าวล่วงตรงนั้นได้ ชาวบ้านในหมู่บ้านมีการฟ้องร้องทหารว่า ทำไมถึงไม่สามารถที่จะขยายเขตไฟฟ้าเข้าได้ ฟ้องร้องถึงศาลชั้นต้นก็มีการตัดสินให้ทางประชาชนชนะ เรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับ แต่พอถึงศาลอุทธรณ์ประชาชนกลับแพ้ เนื่องด้วยเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับที่ดิน เราจึงอยากให้ประชาชนของเราคลายความกังวลเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในเรื่องของไฟฟ้า ก็ได้รวบรวมความคิด สุดท้ายก็มีทางออกว่า สิ่งที่เราจะต้องทำ และไม่มีทางเลือกอย่างอื่นก็ต้องใช้ระบบโซลาร์เซลล์ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ฉะนั้นในเรื่องเป้าประสงค์ของเราไม่ได้มุ่งหวังเรื่องรางวัลเลย แต่ที่ได้มาคงเป็นเพราะน้ำพักน้ำแรงของเจ้าหน้าที่ "นายเชิดกล่าว
นายเชิด ยอดแฉล้ม รองนายก อบต.หนองตาแต้ม
รองนายก อบต.หนองตาแต้ม กล่าวต่อว่า กว่าจะมีไฟฟ้าครบไม่ใช่เรื่องง่าย โดยช่วงทางเข้าหมู่บ้าน และปลายหมู่บ้านจะมีไฟฟ้าใช้ปกติ แต่กลางหมู่บ้านนั้นจะไม่มี หลังจากลงพื้นที่ชุมชนเมื่อปี 2557 สำรวจข้อมูล พบว่า ประชาชนได้รับการสนับสนุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบโซล่าเซลล์ จากรัฐบาลในขณะนั้นเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน ซึ่งระบบประกอบด้วยแผงโซล่าเซลล์ขนาด 120 วัตต์ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า ที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่าหม้อแปลงไฟ แบตเตอรี่จำนวน 1 ลูก ไว้ก็บไฟ แต่มีเพียงประชาชนบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุน ปัญหาที่พบคือชาวบ้านที่ได้แผงโซลาร์เซลล์ไปใช้ ขาดความรู้เกี่ยว ใช้ไม่เป็น ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ ดูแลรักษาระบบไม่ถูกวิธี ทำให้กลับสู่การขาดแคลนไฟฟ้าเหมือนเดิม
"หรือบางคน ก็ใช้ไม่เป็น เอาไปตากปลาบ้าง ตากผ้าบ้าง หรือกองแผงโซล่าเซลล์ไว้ข้างบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ส่วนคนที่พอมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบ ก็ประสบปัญหาเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าแบตเตอรี่ และแผงโซล่าฯ เกิดความเสียหาย เนื่องจาก ใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปี ก็ไปจ้างช่างภายนอกหมู่บ้านมาซ่อมให้ ก็เสียค่าใช้จ่ายไป 500-1,200 บาท แล้วแต่กรณี ซึ่งพอได้ข้อมูลแล้ว เราก็ไปปรึกษากัน ได้ไปดูงานที่ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ตำบลป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งมีสภาพพื้นที่เหมือนกับบ้านวังวนชลประทาน มีการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ และบ่อแก๊สชีวภาพ จึงพากันศึกษาการต่อระบบโซล่าเซลล์ทั้งระบบแบตเตอรี่และระบบไฟบ้าน เพื่อนำมาใช้"รองนายก อบต.หนองตาแต้มกล่าว
ส่วนนายธีระวัฒน์ วงพล หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน หัวหน้าทีมงาน กล่าวว่า พอหลังจากศึกษาดูงานเสร็จก็เกิดการชวนให้ประชาชนเข้าร่วมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทนในตำบล แต่ตอนแรกประชาชนยังไม่ให้ความเชื่อมั่น จึงดำเนินการไม่สำเร็จ จนปี 2559 จึงดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้ประชาชนอีกครั้ง ตอนแรกชาวบ้านยังไม่เข้าใจ วิทยากรที่มาสอนจะสอนสูตรคำนวณ ทางเราก็พยายามถอดออกมาให้คุยกับชาวบ้านได้ง่ายๆ ก็ให้ความรู้พร้อมๆ กับการติดตั้งใช้โซลาร์เซลล์มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2 ระบบ คือ ระบบ แผงโซล่าเซลล์เชื่อมต่อกับโซล่าคอนโทรลเลอร์ เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่ ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าระบบ กระแสตรงและระบบแผงโซล่าเซลล์เชื่อมต่อกับโซล่า คอนโทรลเลอร์ เชื่อมแบตเตอรี่ เชื่อมอินเวอเตอร์ ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า กระแสสลับ การทำงานของโซลาร์เซลล์ชาวบ้านมี 120 วัตต์ ซึ่งประมาณ 5 ชม.ผลิตจะผลิตพลังงานได้ประมาณ 600 วัตต์ลงมาสู่แบตเตอรี โดยแบตเตอรรีถ้าเรามี 100 แอมป์ จะได้ไฟฟ้าใช้ 1200 วัตต์ ในจำนวนนี้ชาวบ้านต้องใช้สูงสุดไม่เกิน 50% ที่เหลือก็เผื่อวันไหนไม่มีแดด มีแต่ฝน ต้องสำรองเอาไว้ด้วย เพราะฉะนั้นเขาจะได้ใช้จริงๆ ก็ประมาณ 480 วัตต์ คือใช้หลอดไฟหลอดละ 5 วัตต์ 3 หลอด ทีวีประมาณ 40 วัตต์ 1 เครื่อง และอย่างน้อยดูได้ 3 ชม. พัดลมใช้ได้ประมาณ 8 ชม. ที่เหลืออีก 60-70% ต้องเก็บไว้ เพื่อถนอมแบต ไม่ควรใชหมดภายในวันเดียวจะมีกล่องสำหรับเตือนการใช้
"ชาวบ้านต้องต้านความอยากใช้ของ ตนเองด้วย ปัญหาคือใครที่มีกำลังทรัพย์หน่อย มีบ้างที่พอมีไฟฟ้าใช้แล้วอยากจะขยับขยาย ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามาอีก กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ไม่พอ ถ้าต้องซื้ออุปกร์ขยายการจ่ายไฟฟ้า มันก็แพงมาก สมมติโซลาร์เซลล์ 120 วัตต์ที่มีอยู่ปัจจุบัน ก็ประมาณ 1,800 บาท รวมทั้งชุดอุปกรณ์ก็น่าจะหลักพันปลายๆ เกือบหมื่น ก็ต้องสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านผ่านศูนย์เรียนรู้"
ด้านนายชุมพล เหมือนอ่วม ผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทนตำบลหนองตาแต้ม ในฐานะชาวบ้าน กล่าวว่า ตั้งแต่มีการใช้ระบบโซลาร์เซลล์ นอกจากชาวบ้านจะได้ใช้ไฟแล้ว ส่วนหนึ่งก็ได้รู้วิธีการใช้งาน และรู้จักการซ่อมแซมเมื่อแผงอุปกรณ์ชำรุด เรามีการแบ่งช่างสำหรับซ่อมอย่างทั่วถึง มีช่างประมาณ 30 คน คนหนึ่งก็ดูแลได้ประมาณ 10 กว่าครัวเรือนไม่ต้องไปจ้างช่างภายนอก การใช้ไฟฟ้าในบ้านเรา นอกจากใช้ในครัวเรือน บางส่วนก็เอามาใช้ในแง่ของการเลี้ยงสัตว์ การเกษตรในพื้นที่ใหญ่ สะดวกขึ้น.