“หมออุดม” คาด ร่างพ.ร.บ.อุดมฯ เข้า ครม. ภายในเดือนมี.ค.นี้ เผยทำโครงสร้างองค์กรภายในให้เล็กมี5-6หน่วยงาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ในการส่งเสริมการทำงานของมหา’ลัย รวมทั้งไม่รวมกระทรวงวิทย์ฯแน่นอน
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอุดมศึกษา พ.ศ.... ว่า ขณะนี้นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้นำร่างพ.ร.บ.ดังกล่ส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว ทั้งนี้คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้ร่างดังกล่าวจะเข้ารับการพิจารณาในที่ประชุม ครม.แน่นอน ซึ่งจากที่ตนได้ดูในสาระสำคัญไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อีกทั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษายังได้ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฉบับนี้แล้วด้วย และการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาก็เป็นนโยบายรัฐบาล ซึ่งเท่าที่ดูในภาพรวมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เช่น จะต้องมีการแยกมาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอุดมศึกษา
นอกจากเรื่องแยกกระทรวงแล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องปฏิรูปอุดมศึกษา ซึ่งทางคณะกรรมการอิสระฯ จะต้องไปดูและส่งมาให้กระทรวงดำเนินการต่อไป ส่วนเรื่องโครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ในหลักการจะมีหน่วยงานที่เทียบเท่ากรมแค่ 2 กรม คือสำนักงานรัฐมนตรี และสำนักงานปลัด มีหน่วยงานย่อยที่จำเป็นจริงๆอีก 5-6 หน่วยงาน เพราะต้องการให้กระทรวงใหม่เล็ก คล่องตัวในการทำงานและส่งเสริมการทำงานของมหาวิทยาลัยได้จริง และได้ข้อสรุปแน่นอนว่าจะไม่มีการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาในกระทรวงการอุดมศึกษา แต่จะรับผิดชอบเฉพาะงานวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 70 และต้องเป็นงานวิจัยที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ
“ หากครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว จะส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดูในเชิงกฏหมาย ว่ามีผลหรือข้อความส่วนใดไปขัดแย้งกับกฏหมายอื่นหรือไม่ ซึ่งคงใช้เวลาพอสมควร และเมื่อส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็น่าจะมีการขอปรับบ้าง เพราะใน สนช.จะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยหน้าที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา คือ สนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ ค่อยชี้แนะมหาวิทยาลัยเรื่องการผลิตกำลังคนที่ตอบสนองกับยุทธศาสตร์ชาติ และการเปลี่ยนแปลงของโลก”รมช.ศธ.กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้กระทรวงการอุดมศึกษาช่วยดูแล เรื่องงบประมาณที่จะนำมาสนับสนุนหลักสูตรต่างๆ ที่ตอบยุทธศาสตร์ชาติ เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มากขึ้น แต่ตนขอย้ำว่าในส่วนของหลักสูตรที่จำเป็นกับพื้นฐานโครงสร้างสังคมก็ยังต้องสนับสนุนอยู่ เช่น หลักสูตรทางด้านกฏหมาย ประวัติศาสตร์ ปรัชญา บรรณรักษ์ เป็นต้น