“ต้านสารพิษ”เป็นของขวัญปีใหม่ บทพิสูน์คนจริง-คนลวง


เพิ่มเพื่อน    

     “ถ้าคิดว่าคุณไม่ฟัง คุณก็ไปเอาคนมาถอดฉันออกไป" กลายเป็นประโยคเด็ดที่ถูกเผยแพร่แชร์ต่อในโลกออนไลน์ จากเหตุการณ์ที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บุกไปทวงเอกสารเกี่ยวกับสต๊อกสารเคมีพิษภาคการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศไทย ถึงที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา

                ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ต.ค. “มนัญญา” ไปเป็นประธานการประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่าย ได้แก่ ส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค นายกฯ เป็นคนแต่งตั้งต่อการยกเลิก 3 สารประกอบด้วย คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต โดยที่ประชุมมีมติ 9 ต่อ 0 ให้แบน 3 สารชนิด โดยจะเสนอให้นายกฯ ภายใน 1-2 วัน และจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งคาดว่าจะมีการเลื่อนขึ้นมาไว้กว่ากำหนดการเดิมในวันที่ 27 ต.ค.

                ทั้งนี้ หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นชอบก็จะทำให้สารทั้ง 3 ชนิดอยู่ในบัญชีประเภทที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62 มีผลให้ห้ามครอบครอง ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต  และจะถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทั้งประเทศทันที

                ดังนั้น จึงต้องจับตาว่าสิ่งที่ “รมต.มนัญญา” ประกาศออกมาเช่นนั้น สุดท้ายคณะกรรมการวัตถุอันตราย หรือผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่เล่นบทหลายหน้า ท่ามกลางข้อกล่าวหาถูกชักใยจากนายทุนที่เสียผลประโยชน์จะเอาด้วยหรือไม่ หรือใช้ความ อํามหิตสุดขั้วยื้อการใช้ 3 สารเคมีต่อไป โดยมีสุขภาวะของประชาชนทั้งประเทศเป็นเดิมพัน...

                อย่างไรก็ตาม สำหรับท่าทีขึงขังจริงจังของรัฐมนตรีหญิงหนึ่งเดียวจากพรรคภูมิใจไทย ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 เมื่อเธอเริ่มชูวาระการแบนสารเคมีอันตราย เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จเร็วที่สุดในปีนี้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

                นอกจากนี้ รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" ยังเห็นพ้องว่าการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด เป็นภารกิจเพื่อสุขภาพของคนไทยที่ไม่อาจปล่อยผ่าน หรือจำนนให้อำนาจของกลุ่มทุนอย่างที่ฝ่ายรัฐถูกตั้งคำถามจากสังคมมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาได้อีกแล้ว

                อ้างอิงข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร อาทิ สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช เป็นจำนวน 170,932 ตัน มูลค่า 36,298 ล้านบาท โดยประเทศผู้ผลิตที่ไทยนำเข้ามากที่สุดในปี 2561 คือ จีน อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ   ขณะที่ในปี 2562 จำแนกเป็นนำเข้าพาราควอต 21,709 ตัน ไกลโฟเซต 48,501 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 932 ตัน รวม 3 สารเคมี 71,142 ตัน

                เมื่อมาดูตัวเลขทางสุขภาพ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดเผยข้อมูลการเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2562 คือ 1 ตุลาคม 2561 - 17 กรกฎาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท

                ลองหันไปดูแนวทางของต่างประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าพาราควอตไม่ได้รับอนุญาตให้มีการใช้ใน 47 ประเทศทั่วโลก โดยสมาชิกสหภาพยุโรป 28 ประเทศ ไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนพาราควอต

                แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ที่เป็นผู้จำหน่ายพาราควอตรายใหญ่ในประเทศไทย ยังไม่อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ปี 1990 

                ดังนั้น ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมของเม็ดเงิน สุขภาพ หรือทิศทางของโลก จะพบว่าเหลือเหตุผลน้อยมากที่ประเทศไทยจะยังปล่อยให้เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีคุณค่าสูงยิ่งต่อเศรษฐกิจปากท้องของประเทศ ต้องสัมผัสสูดดมสารเคมีอันตรายต่อไป เพราะแม้จะแลกมาด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำเตี้ยแค่ไหน ก็ไม่มีวันคุ้มค่ากับความแข็งแรงของร่างกายที่ต้องสูญเสียไป

                อย่างไรก็ตาม หากเฉพาะแรงบวกแรงเชียร์ของคนระดับนายกฯ และรองนายกฯ จะเพียงพอทำให้วาระนี้สำเร็จลุล่วงแล้วล่ะก็ เราคงไม่จำเป็นต้องมาพูดกันถึงตรงนี้ นั่นก็ตัวแปรที่แท้จริงของการแบนสารเคมีอันตรายอยู่ที่ "คณะกรรมการวัตถุอันตราย" ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ 29 คน เป็นกรรมการในจำนวนนี้มีสัดส่วนจากกระทรวงเกษตรฯ มากที่สุด

                ทว่าท่าทีของเจ้ากระทรวงอย่าง "นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน" กลับชวนให้กังขา เมื่อเขาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 กันยายน ระบุว่า "การพิจารณายกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากมีมติให้ยกเลิกใช้ ผมพร้อมลงนามให้ยกเลิกใช้ทั่วประเทศอย่างแน่นอน"

                ข้อความนี้ชวนให้ตีความได้ว่า รมว.เกษตรฯ กำลังแขวนชีวิตของชาวนาชาวไร่ไว้กับ "คณะกรรมการวัตถุอันตราย" ชุดที่มีประวัติเคยลงมติ "ไม่แบน" เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ หนำซ้ำในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 18 กันยายน ยังมีมติยื้อเวลาออกไปอีก 60 วัน 

                กระทั่งไม่นานมานี้ "นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เปิดหน้ารณรงค์ให้มีการแบนสารเคมี ได้นำหนังสือราชการที่ลงนามโดยรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ มาเผยแพร่ โดยเอกสารมีใจความสำคัญระบุว่า “รมว.เกษตรฯ ควรดําเนินการตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการให้จํากัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส และได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทําและดําเนินการมาตรการดังกล่าว”

                เช่นนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นปราชญ์ทางภาษาก็เข้าใจได้ทันที ว่าระหว่าง "ยกเลิกการใช้" กับ "จำกัดการใช้" นั้น ให้ผลแตกต่างกันแค่ไหน

                อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนแรงกดดันจากสังคม จะบีบให้นายเฉลิมชัยต้องแสดง “ความชัดเจน" มากขึ้น ล่าสุด 3 ตุลาคม เขาโพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้ง "ยืนยันไม่ได้สนับสนุนให้ใช้สาร 3 ตัวนี้ เพียงแต่กระบวนการยกเลิกมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายและคณะกรรมการวัตถุอันตราย กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งก่อนที่จะมารับตำแหน่ง

                ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ น.ส.มนัญญา รับผิดชอบเรื่องนี้ พร้อมย้ำว่า “ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนไม่เห็นด้วย ถือเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ” โดยในวันนั้นยังเป็นวันเดียวกันกับที่นายอนุทินให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลแบบของขึ้น ภายหลังทราบว่ามีการขู่ฆ่า 2 นักวิชาการใน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมอัดกลับไปถึงคนข่มขู่ว่า  “กระจอก”

                จนเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ สร้างแรงกระเพื่อมให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องออกมาแสดงจุดยืน เช่น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และ ส.ว.บางส่วนที่ประกาศไม่เอาด้วยกับ 3 สารเคมีดังกล่าว

                ขณะที่คนอื่นๆ สังคมยังต้องการรอความชัดเจน โดยเฉพาะความเป็นเอกภาพของฝ่ายการเมือง ยังต้องรอดูว่า อาทิ  2 รมช.เกษตรฯ “นายประภัตร โพธสุธน” และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” จะเอาอย่างไร

                รวมถึง “นายวราวุธ ศิลปอาชา” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากเก็บขยะแล้ว ควรหันมาแสดงจุดยืนป้องกันอากาศ ดิน และน้ำ ที่เกิดจากการใช้สารเคมีดังกล่าว

                ตลอดจนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้า ที่มุ่งวาระทางการเมืองเท่านั้น และยินยอมให้คนรุ่นใหม่มีวิถีชีวิตปนเปื้อนอยู่กับสารพิษต่อไปอย่างนั้นหรือ???

                ดังนั้น ภารกิจครั้งนี้ไม่เพียงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอำนาจรัฐต่อกรกับอำนาจทุนได้เท่านั้น หากจะเป็นครั้งสำคัญในการฟื้นศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย ที่จะทำให้เห็นว่า การผลักดันวาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนนั้นเป็นไปได้ แม้จุดยืนทางการเมืองของแต่ละฝักฝ่ายจะแตกต่างกัน เพราะไม่ว่าเงินทอง หรืออุดมการณ์ใดๆ ก็ไม่อาจยิ่งใหญ่ไปกว่าชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่มีต้นทุนและมูลค่าเหนือกว่าสิ่งอื่นใด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"