การแสดงอาวุธทันสมัยใหม่ล่าสุดของกองทัพจีน ในงานสวนสนามเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา อันเป็นวันชาติครบรอบการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน 70 ปี กลายเป็นที่จับตาของนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและการเมืองไม่น้อย เพราะเห็นได้ชัดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงต้องการจะแสดงให้โลกได้รู้ว่าวันนี้จีน "ไม่กลัวใคร" อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือศึกสงคราม
อาวุธใหม่ๆ หลายชุดที่นำออกแสดงเป็นการวิจัยและพัฒนาของจีนเอง
ผมสนใจว่าหลังจากที่จีนสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินของตัวเองแล้ว จะเดินหน้าพัฒนาอาวุธทันสมัยเพื่อถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐฯ อย่างไร
รายละเอียดของอาวุธใหม่ๆ ที่ร่วมสวนสนามครั้งนี้มีหลายอย่างที่ผมเห็นจากรายงานของหนังสือพิมพ์ China Daily ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน
และพอดีได้อ่านพบการรวบรวมรายละเอียดโดยพลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุลที่มีภูมิหลังเรื่องทหารและอาวุธที่เขียนเล่าไว้ใน "จีนศึกษา" เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.62
จึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับขีปนาวุธข้ามทวีปและเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับของจีนที่เป็นที่จับตาของผู้สนใจในเรื่อง "ดุลอำนาจทางทหาร" ของมหาอำนาจ
พลตรีไชยสิทธิ์เล่าว่าขีปนาวุธของจีนที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่
1.1 ขีปนาวุธข้ามทวีปชนิดทิ้งตัว รุ่น ตงเฟิง-41 (Dongfeng 41 หรือ DF-41) ซึ่งบรรทุกบนยานยนต์ทหาร โดยบรรทุกได้ทั้งบนยานยนต์และรถไฟ เป็นขีปนาวุธที่มีอานุภาพสูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน ยิงได้ไกล 12,000-15,000 กิโลเมตร นับว่าไกลกว่าขีปนาวุธทุกรุ่น และแต่ละลูกสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ 10 หัวรบ ถ้าหากยิงจากแผ่นดินจีน ตงเฟิง-41 จะสามารถถล่มเป้าหมายบนพื้นทวีปสหรัฐฯ ได้ภายใน 30 นาที
1.2 ขีปนาวุธทิ้งตัวที่ยิงจากเรือดำน้ำ รุ่น JL-2 เป็นขีปนาวุธจำพวกหัวรบเดี่ยว ซึ่งเป็นอาวุธหลักของเรือดำน้ำชั้นจิ๋น ขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์ ในขณะที่จีนมีเรือดำน้ำชั้นจิ๋น (Jin-class submarines) ประจำการ 4 ลำ กำลังสร้างอีก 2 ลำ โดยเรือดำน้ำชั้นนี้แต่ละลำสามารถติดตั้ง JL-2 ได้ 12 ลูก โดยขีปนาวุธรุ่นนี้ยิงได้ไกล 7,200 กิโลเมตร
พลตรีไชยสิทธิ์บอกว่าถ้ายิงจากชายฝั่งของจีนจะครอบคลุมเป้าหมายถึงมลรัฐอะแลสกาเท่านั้น แต่ถ้าต้องการพิชิตเป้าหมายบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ เรือดำน้ำจีนจะต้องฝ่าแนวป้องกันของสหรัฐฯ ในละแวกหมู่เกาะญี่ปุ่นและในมหาสมุทรแปซิฟิกไปให้ได้
2.อากาศยานไร้คนขับของจีนที่โดดเด่น คือ ยานร่อนความเร็วเหนือเสียง DL-17 ซึ่งเวลาปล่อยต้องเกาะติดไปกับจรวด เมื่อขึ้นไปถึงระดับความสูงที่ต้องการ จรวดนำส่งจะถูกสลัดทิ้ง แล้วยานก็นำเอาขีปนาวุธ ทั้งแบบหัวรบปกติหรือหัวรบนิวเคลียร์ มุ่งหน้าไปยังเป้าหมาย โดยยานร่อนชนิดนี้บินต่ำและบินเร็วเหนือเสียงอย่างน้อย 5 เท่า หรือ 6,115 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถบินหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ได้ ซึ่งคาดว่าจีนจะประจำการอากาศยานรุ่นนี้ในปี 2020 (พ.ศ.2563)
ในพิธีสวนสนามครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 80 นาที ใช้กำลังพลราว 15,000 นาย เครื่องบินรบ เครื่องบินทิ้งระเบิด และอากาศยานชนิดอื่นๆ กว่า 160 ลำ พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วม 580 รายการ
พลตรีไชยสิทธิ์บอกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกชิ้นที่จะนำออกแสดงล้วนผลิตในประเทศจีน และผ่านการทดสอบแล้วทั้งสิ้น
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางของจีน ได้มุ่งผลักดันโครงการพัฒนากองทัพให้ทันสมัย โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างกองทัพจีนครั้งใหญ่เมื่อปี 2015 (พ.ศ.2558) พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานเคารพเชื่อฟังอย่างมั่นคงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง
ทั้งนั้นทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าอาวุธร้ายแรงจริงๆ ในยุคนี้ คือการวิจัยและพัฒนาทางด้านไอทีที่จีนยังไม่ยอมเปิดเผยสมรรถภาพให้ชาวโลกได้รู้ได้เห็นจริงๆ
เพราะสงครามใหญ่คราวหน้าอาจจะเป็น Cyber War มากกว่าการศึกแบบดั้งเดิมก็ได้!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |