เกาะติดเศรษฐกิจ : 'สังคมแห่งความกังวล'


เพิ่มเพื่อน    

 

เกาะติดเศรษฐกิจ

 

สังคมแห่งความกังวล

“สังคมแห่งความกังวล” หรือ “สังคมแห่งความไม่ไว้วางใจ” หรือ “สังคมแห่งความหวาดระแวง” หรือ “สังคมแห่งการจับผิด” เป็นหัวข้อที่ผมจั่วไว้เพื่อจะชวนท่านผู้อ่านทุกท่านชวนคิดและชวนคุยกันในเรื่องนี้  และผมอยากจะให้เรื่องนี้เป็นหัวข้อที่ดีเพื่อการวิเคราะห์เชิงสร้างสรรค์มากกว่าจะพูดไปในแนววิจารณ์เชิงติเตียน 

                หลายคนคงเริ่มสงสัยกันว่าทำไมผมถึงจั่วคอลัมน์นี้ด้วยวลีที่ว่า “สังคมแห่งความกังวล”  เพราะเนื้อหาสาระของข้อมูลข่าวสารในสังคมไทยในปัจจุบัน หรือจะอ้างย้อนหลังไป 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี หรือแม้กระทั่ง 10-20 ปี นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2540 หรือที่เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” สังคมไทยมีความกังวลและไม่ไว้วางใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ  สังคม และการเมืองของไทย (อาจรวมถึงของโลก) มาโดยตลอด   

                อาจเพราะเรามีความหวังว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นโดยเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองหลังจากเราเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตุ้มยำกุ้ง  เราก็หวังว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวโดยเร็วหลังจากที่ประเทศไทยต้องลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 เพื่อแก้ไขปัญหาการถูกโจมตีค่าเงินบาทและปัญหาเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเหลือน้อยจนต้องเข้าสู่กระบวนการกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่ประเทศไทยกลับต้องเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยโดยเศรษฐกิจไทยขยายตัว -2.8% และ -7.6% ในปี 2540 และ 2541 ตามลำดับ จนทำให้เกิดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงถึง 47% ของสินเชื่อโดยรวม  และธุรกิจเข้าสู่กระบวนการประนอมหนี้และล้มละลายเป็นจำนวนมาก  ทำให้อัตราการว่างงานสูงเกินกว่า  4% ในช่วงปี 2541-2543  จนกระทั่งเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างโดดเด่นในปี 2545 เป็นต้นมา และประเทศไทยสามารถชำระคืนหนี้เงินกู้ให้กับ IMF ได้ครบถ้วนก่อนเวลาที่กำหนดได้ในปี 2547 ซึ่งทุกอย่างน่าจะคลี่คลายลง สังคมไทยเริ่มกลับมาเป็น “สังคมแห่งความหวัง” และคลายกังวลลงไปเห็นลำดับ  แต่ประเทศไทยเริ่มกลับมาเผชิญกับปัญหาใหม่คือ ปัญหาทางการเมือง

                ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551  หลังจากนั้นประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาทางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมืองของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง  จนกระทั่งวันที่  22  พฤษภาคม  2557  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ได้เข้ามาบริหารประเทศจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งตลอดระยะเวลามากกว่า 20 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยได้เข้าสู่ “สังคมแห่งความกังวล” ว่าการเมืองจะกลับมามีเสถียรภาพอย่างแท้จริงอีกเมื่อไร  หรือกีฬาสี (เหลืองแดง) ทางการเมืองจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่ในอนาคต (แม้จะมีการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตาม)

                เมื่อการเมืองไทยไม่นิ่งไม่มีเสถียรภาพตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา  ปัญหาทางการเมืองจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นมาโดยตลอด 20 ปี  ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยความเติบโตได้เฉลี่ยประมาณ 5%  ต่อปีตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เฉกเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซีย  แต่ปัญหาทางการเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง  ความวุ่นวายทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลตลอด 20 ปี ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ  ตลอดจนนักลงทุนและคนไทยทั่วไป ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยไม่คึกคักเท่าที่ควรตลอด 20 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 3.9% และ 3.0% ในช่วงปี 2541-2550 และช่วงปี 2551-2560 ตามลำดับ

                นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2551-2560 ยังได้รับผลกระทบมาจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกคือวิกฤตการณ์แฮมเบอเกอร์ของสหรัฐฯ ในปี 2552  ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกซบเซาและเพิ่งเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญกับการส่งออกต่ำและติดลบโดยเฉพาะในปี 2556-2559  และพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยน้ำตาล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน มีราคาตกต่ำจนเป็นที่มาของกำลังซื้อซบเซาทั่วประเทศไทยในขณะนี้  

                บทสรุปที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาที่ทำให้ประเทศไทยเป็น “สังคมแห่งความกังวล” คือ ปัญหาทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพ นโยบายของรัฐบาลไทยไม่แน่นอนและไม่ต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกซบเซา และเศรษฐกิจไทยซึมตัว (เพราะราคาพืชผลตกต่ำ ส่งออกไม่ได้ ตลอดจนการขาดความเชื่อมั่นของประชาชนและนักธุรกิจ)

                ณ วินาทีนี้ สังคมไทยยังกังวลว่า “ยังไม่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเลย เศรษฐกิจยังโตกระจุกและจนกระจายอยู๋เลย” หรือ “การเลือกตั้งในไทยจะเกิดขึ้นในปีหน้าหรือไม่  หลังการเลือกตั้งความวุ่นวายทางการเมืองจะกลับมาอีกหรือไม่ และกีฬาสีเหลืองแดงยังจะมีอีกหรือไม่”  ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สำรวจล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนเนื่องจากกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองไทย

                แม้กระทั่งการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรงจากนอกประเทศและในประเทศจาก E-commerce  การใช้ Cryptocurrency  หรือการใช้หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีทำงานแทนคนก็สร้างความกังวลให้กับนักธุรกิจและแรงงานไทย  จนล่าสุด เลขาธิการสภาพัฒน์  ออกมาเปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2560 ว่าภาวะการจ้างงานปี 2560 ลดลงจากปี2559  เพราะผลพวงจากธุรกิจหันใช้เทคโนโลยีชั้นสูงแทนคนมากขึ้น พร้อมทั้งเตือนกลลวงซื้อขายสินค้าผ่านคิวอาร์โค้ด และสกุลเงินดิจิตอล

                แน่นอนครับ  การสร้าง “สังคมแห่งความหวัง” หรือ “สังคมแห่งความมั่นใจ” ทดแทน “สังคมแห่งความกังวล” เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างให้ได้ครับ ผลงานของรัฐบาลที่สร้างต้องเกิดขึ้นที่ “ตา” และ “ใจ” ของคนไทยครับ

 

                                                                                                                                                               

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"