ชิมช้อปใช้แคชแบ็ก


เพิ่มเพื่อน    

 

        ผิดความคาดหมายสำหรับโครงการ 'ชิม ช้อป ใช้' ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างอุ่นหนาฝาคลั่ง เป้าหมาย 10 ล้านคนที่วางไว้ ถูกแย่งกันลงทะเบียนกันจนเต็มกันอย่างรวดเร็ว เดิมที่เคยประเมินว่าด้วยการลงทะเบียนรับสิทธิที่ยากและการใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องใหม่ รวมถึงไม่มีร้านค้าจะใช้บริการ ทำให้โครงการนี้จะไม่ได้รับความสนใจ 

                แต่ผลที่ออกมา 'คนไทย' แสดงให้เห็นว่า พร้อมปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอด ถ้ามีไม่เหนือบ่ากว่าแรง และมีแรงจูงใจเพียงพอ การแจกเงิน 1,000 บาท ถือเป็นแรงกระตุ้นที่ดีทีเดียว ที่จะให้ประชาชนได้ลองใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งภาครัฐพยายามส่งเสริมอยู่แล้ว

                เรื่องของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามที่จะเชิญชวนให้คนไทยหันมาปรับพฤติกรรมมาใช้เงินรูปแบบใหม่มากขึ้น 1.เพิ่มความสะดวกสบาย ไม่ต้องพกเงินสด 2.กระแสเงินหมุนเวียนง่ายขึ้น ทำให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 3.ทำให้รัฐบาลมีข้อมูลในการจัดเก็บภาษี และขยายฐานภาษีได้ดีและง่ายที่สุด เพราะทุกการใช้จ่ายทำให้รัฐมีข้อมูลในการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และสุดท้ายลดต้นทุนการพิมพ์และการรักษาธนบัตรและเหรียญกษาปณ์  

                จะเห็นได้ว่าการแจกเงิน 10,000 ล้านบาทในครั้งนี้ อาจจะไม่ตรงเป้าหมายที่วางไว้มากนัก เพราะไม่ได้กระจายรายได้ไปอย่างทั่วถึง คนยังนำเงินไปใช้เกี่ยวกับซื้อของใช้เป็นหลัก ซึ่งเงินก็จะกระจุกไปตามห้างและร้านค้าปลีกใหญ่ๆ เป็นหลัก เม็ดเงินที่หวังว่าจะนำไปใช้ท่องเที่ยว หรือกระจายไปตามชุมชน อาจจะไม่เป็นไปตามเป้า แต่มองในแง่การส่งเสริมให้ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์นับว่ามีความก้าวหน้า เพราะมันจะช่วยให้เงินนอกระบบลดลง และรัฐสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย นำเงินมาช่วยพัฒนาประเทศมากขึ้น  

                ล่าสุด หลังจากโครงการชิมช้อปใช้เฟสแรกประสบความสำเร็จ รัฐบาลและกระทรวงการคลังก็เตรียมแผนการออกโครงการ 'ชิม ช้อป ใช้' เฟส 2 ซึ่งทางกระทรวงการคลังหวังจะเปิดลงทะเบียนได้ต่อเนื่องทันทีภายในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากลงทะเบียนระยะแรกครบ อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ใหม่ เพื่อต้องการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการนำเงินส่วนตัวออกมาใช้จ่ายเพื่อสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น และจะเร่งเสนอให้ รมว.การคลัง  รวมถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาโดยเร็ว

                ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการชิมช้อปใช้ระยะ 2 เบื้องต้นจะเริ่มทันทีเดือน ต.ค.นี้ โดยเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มอีก 1-2 ล้านคน แต่จะปรับสิทธิประโยชน์ใหม่ ไม่มีการแจกเงินให้ไปใช้จ่ายฟรี 1,000 บาท เหมือนกับระยะแรก แต่จะเพิ่มสิทธิในกระเป๋าที่สองในส่วนของเงินแคชแบ็ก 15% ให้เพิ่มมากขึ้นจาก 4,500 บาท เป็น 5,500-6,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายแทน ส่วนระยะเวลายังกำหนดให้ใช้ได้ถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้เหมือนเดิม

                มองว่ามาตรการนี้จะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากโครงการชิมช้อปใช้เฟสแรก เพราะเฟส 2 จะเน้นในการให้คนมีเงินในกระเป๋าจับจ่าย โดยจูงใจด้วยการคืนเงินเข้ากระเป๋า ซึ่งมองว่าการคืนเงินในระดับ 5,500-6,000 บาทนั้น เปรียบเสมือนเพิ่มส่วนลดให้ประชาชนใช้จ่าย ซึ่งก็หมายความว่า มาตรการนี้เหมาะกับคนที่มีแผนจะซื้อของชิ้นใหญ่ หรือพักผ่อนในระดับที่หรูหรา เพราะการที่จะได้เงินคืนระดับ 4-6 พันบาท อย่างน้อยก็ต้องใช้เงินราวๆ 30,000 บาทขึ้นไป

                ซึ่งกลุ่มคนที่จะใช้เงินในระดับนี้ ก็ต้องเป็นกลุ่มระดับกลางถึงระดับบน ชาวบ้านและประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ การใช้เงินซื้อสินค้า และบริการในระดับ 30,000 บาทนั้น น่าจะเป็นเรื่องยากมาก เพราะถือเป็นวงเงินที่สูง ส่วนการใช้ 1,000 บาท เพื่อเอาเงินคืน 150 บาท ก็น่าจะไม่คุ้ม

                ดังนั้น มองว่าเฟส 2 จะไม่คึกคักเท่าเฟสแรก แต่น่าจะมีการใช้จ่ายที่จำนวนมากขึ้น หากมีคนมาลงสิทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ คนชั้นกลางที่มีแผนซื้อของเข้าบ้านก็น่าจะใช้โอกาสนี้ในการซื้อของและรับส่วนลดไปเต็มๆ  หวังว่าคราวนี้จะเป็นคิวของการใช้เงินจริงๆ แล้ว และแคชแบ็กน่าจะกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายจริงๆ มากขึ้น.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"