8 ต.ค.62- มูลนิธิอมตะ จัดงานประกาศผลรางวัล“นักเขียนอมตะ” ครั้งที่ 8 ประจำปี2562 โดยมีนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการ นางชมัยภร บางคมบาง รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายจรัญ หอมเทียนทอง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ รศ.ดร.สุปาณี พัดทอง ร่วมงาน ณ ที่ทำการมูลนิธิอมตะอาคารกรมดิษฐ์ โดย นางสุกัญญา ชลศึกษ์ คือ ผู้คว้ารางวัลนักเขียนอมตะไปครอง
นายวิกรม กรมดิษฐ์ กล่าวว่า มูลนิธิอมตะส่งเสริมบุคคลที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมผู้สร้างคุณค่าผ่านงานประพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ ประวัตินักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฎและเป็นกำลังใจแก่นักเขียนไทยผู้อุทิศตน ทุ่มเท สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าควรแก่การนำผลงานเผยแพร่สู่สากล ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่เปี่ยมด้วยคุณค่า มาตรฐาน และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ สำหรับรางวัล“นักเขียนอมตะ” ครั้งที่ 8 คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์คัดเลือก นางสุกัญญา ชลศึกษ์ รับรางวัลนักเขียนอมตะ ทั้งนี้ นักเขียนอมตะจะได้รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท และโล่รางวัลเพื่อมอบให้แก่นักเขียนที่ได้รับประกาศให้เป็นนักเขียนอมตะ โดยพิธีมอบโล่รางวัลกำหนดจัดวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ณ ที่ทำการมูลนิธิอมตะ
“ แต่ละปีมีนักเขียนอาวุโสได้รับรางวัลเพราะเป็นบุคคลที่สร้างผลงานที่ดีและมีทำงานต่อเนื่อง สังคมไทยยังขาดความตระหนักถึงคุณค่าของนักเขียนและต้องตอบแทน นอกจากนี้มูลนิธิอมตะมีแผนจะแปลวรรณกรรมไทยของนักเขียนอมตะสู่นักอ่านชาวต่างประเทศด้วย“ นายวิกรม กล่าว
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการ กล่าวว่า นางสุกัญญา ชลศึกษ์ มีคุณสมบัติอันเหมาะสมกับคำว่า“นักเขียนอมตะ” ด้วยทำงานเต็มชีวิตเต็มเวลาเป็นแบบอย่างของนักเขียนมืออาชีพ สร้างสรรค์งานและได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 17 ปี และสร้างสรรค์งานต่อเนื่องมาโดยตลอดไม่มีหยุดหรือเว้นวรรค ปัจจุบันอายุ 88 ปี ทำงานต่อเนื่องมาแล้ว 70 ปี มีผลงานเกือบ160 เล่ม อาจกล่าวได้ว่าใน 1 ปี มีผลงานมากกว่า 2 เล่ม สามารถดำรงตนด้วยอาชีพนักเขียนและพร้อมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่นักเขียนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างเท่าทันเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตให้แก่คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สองผลงานสร้างสรรค์ยืนยงและเท่าทันยุคสมัย ผลงานมีคุณภาพสะท้อนปัญหาชีวิตมนุษย์อย่างลุ่มลึกและปัญหาสังคมที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสถาบันครอบครัวและการเท่าทันสถานการณ์ในสังคม มีทั้งเรื่องวัฒนธรรม ศาสนา การเมืองและประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่หลากหลายและประณีตงดงาม
“ ผลงานของนางสุกัญญาให้ความรู้สึกแก่คนวรรณกรรมประหนึ่งร่มไม้ใหญ่ในทางวรรณศิลป์ เป็นที่นิยมยิ่งของนักอ่าน สามารถสร้างนักอ่านข้ามยุคข้ามสมัย ผลงานจำนวนไม่น้อย มีผู้นำไปสร้างเป็นสื่อแขนงอื่น เช่น ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์และสร้างซ้ำหลายครั้ง ส่งผลสะเทือนแก่สังคมในวงกว้าง” นายเนาวรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ นักเขียนที่เคยได้รับรางวัลนักเขียนอมตะครั้งที่ 1 - 7 มีจำนวนทั้งหมด 8 คน (ครั้งที่ 6 มีนักเขียนได้รับรางวัล 2 คน)
1.นายศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ นามปากกา"เสนีย์ เสาวพงศ์" (เสียชีวิตแล้ว)
2.นายโรจ งามแม้น นามปากกา "เปลว สีเงิน"
3.นายโกวิท เอนกชัย นามปากกา"เขมานันทะ" (เสียชีวิตแล้ว)
4.นายสมบัติ พลายน้อย นามปากกา"ส.พลายน้อย"
5.พระไพศาล วิสาโล
6.คำสิงห์ สีนอก นามปากกา“ลาว คำหอม”
7.ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นามปากกา“พนมเทียน”
8.นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ นามปากกา“จินตเทพ” (เสียชีวิตแล้ว)
อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ในการคัดสรรนักเขียนอมตะในแต่ละปี มูลนิธิอมตะจะแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อรับรางวัล คือ เป็นนักเขียนสัญชาติไทย มีชีวิตอยู่ในวันที่ทำการเสนอชื่อ มีผลงานตีพิมพ์เป็นภาษาไทยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า20 ปี และผลงานดังกล่าวต้องมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |