รับจ๊อบผุดอีเวนต์ คสช.ซัดกลุ่มชงยุบ/ธนาธรฟุ้งไม่ทำหม่าม้าผิดหวัง


เพิ่มเพื่อน    

    คสช.ชี้ข้อเรียกร้องยุบ คสช.ไม่ใช่ความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ แค่สร้างโจทย์เพื่อเคลื่อนไหวในสังคม ยันหนุนรัฐบาลเดินไปสู่โรดแมป "ประสาร" หวั่นไพร่หมื่นล้านตั้งพรรคเสนอยกเลิกม.112 เกิดความขัดแย้งอีก ขณะที่ "ธนาธร" เผยโชคดีครอบครัวไม่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง ปลื้มแม่ไฟเขียวลงการเมือง "ศิริโชค" ศอกกลับ "วัฒนา" ย้ำแผลระบอบทักษิณไม่ใช่แค่วาทกรรม แต่ใช้ ปชต.เป็นเครื่องมือ เกิดทุจริตเชิงนโยบาย โกงกินมโหฬารจนนำไปสู่รัฐประหาร 
    เมื่อวันอาทิตย์ พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (ผบ.มทบ.11) ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเสนอให้ยุบ คสช. เหลือไว้เพียงรัฐบาลรักษาการว่า ปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 60 โดย คสช.ได้ดำเนินการสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมที่สงบสุขและมั่นคงปลอดภัยให้เอื้ออำนวยต่อโรดแมปที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้ชี้แจงแล้วว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น คสช.จะทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่จะมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว 
    "ส่วนการใช้กฎหมายในปัจจุบัน เป็นไปตามความจำเป็น และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงก็คือคสช.ไม่ได้ใช้อำนาจใดๆ นอกกรอบที่กำหนดไปกว่าการฟ้องร้องต่อศาลในเรื่องจำเป็น ซึ่งกลุ่มเรียกร้องก็สามารถต่อสู้ในกระบวนการดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากกลุ่มดังกล่าว รวมถึงทุกภาคส่วนในสังคมควรจะร่วมมือกันสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมป น่าจะเป็นการสร้างสรรค์มากกว่าไปดำเนินการอย่างอื่น" พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าว
    แหล่งข่าวจาก คสช.กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มอยากเลือกตั้งเสนอให้ยุบ คสช. เหลือไว้เพียงรัฐบาลรักษาการว่า กลุ่มคนเหล่านี้ก็มีความพยายามเคลื่อนไหวอยู่ตลอด เพื่อแสดงกิจกรรมความคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งบางเรื่องไม่ใช่ความต้องการหรือความคิดเห็นภาพรวมของประชาชนทั้งประเทศ โดยเขาพยายามสร้างโจทย์เพื่อเคลื่อนไหวในสังคม ทั้งนี้ คสช.ไม่อยากให้ความสำคัญมากหรือให้ความคิดเห็นตอบโต้ไปมา อย่างไรก็ตาม ภารกิจ คสช.ยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ค.57 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลตามกลไก และดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ซึ่งทุกอย่างก็เดินหน้าไปตามโรดแมป
     นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีมีแนวโน้มว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะไม่ยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริง บรรยากาศสำหรับการเลือกตั้งน่าจะราบรื่น ไม่น่ามีปัญหาสำหรับการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้าเกิดอยู่ๆ สนช.ดันไปส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ถึงมีค้านก็เพียงแค่คนเดียว ถ้ามี สนช.การรวบชื่อครบ 25 ชื่อ จนเพียงพอต่อการยื่นเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้จริง จะเป็นเรื่องไม่ปกติทางการเมืองแน่นอน 
    "การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วของกลุ่มต่างๆ ขณะนี้ ถือเป็นสิทธิของประชาชน เพราะนี่เป็นประเทศของเขา เขาอยากนำบ้านเมืองเข้าสู่การเลือกตั้ง ภาษีอากรเขาก็จ่ายให้ เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องดูแล คนที่บอกว่าไม่ควรเลือกตั้งต่างหากที่ต้องตอบคำถามว่าเพราะอะไร ขอย้ำว่าเวลานี้บรรยากาศเอื้อมาก เพราะเหตุตามกฎหมาย ที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปไม่มีแล้ว ส่วนเหตุนอกกฎหมายที่จะยื้อเลือกตั้งนั้น ผมไม่ทราบจริงๆ ว่ามีหรือไม่" นายนิพิฏฐ์กล่าว
    ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า บรรยากาศการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งที่วางไว้ในเดือน ก.พ.62 หรือไม่เกินเดือน มี.ค.62 จึงเชื่อว่าจะไม่เกินกำหนดที่วางไว้ เพราะมีพลังจากหลายฝ่าย และนายกรัฐมนตรียังไปให้สัญญาประชาคมที่รับรู้ทั่วโลกดังนั้นหากมีการทอดเวลาออกไป จะเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายกับเวทีโลก ส่วนกระแสข่าวที่ว่าจะมีการยื่นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ให้ชัด แต่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเร่งพิจารณาให้ทันตามกรอบเวลา จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง หรือต่อให้มี ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะการเลือกตั้งเป็นกระแสแรงมากกว่าเรื่องอื่น และมั่นใจว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เก่งเรื่องทำให้สถานการณ์อยู่ในความสงบ
เตือนไพร่หมื่นล้านจุดไฟ
    "พรรคการเมืองที่เกิดใหม่ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีความชัดเจนเรื่องนโยบายและการปฏิรูปประเทศ เพราะกระแสนี้มาแรงมาก เช่น ปฏิรูปตำรวจ ส่วนที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิทฯ จะตั้งพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่ดี และเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจควรรับเข้ามาให้แวดวงเลือกตั้ง แต่หากเสนอที่แหลมคมเกินไป หรือกระทบสถาบันหลักของชาติตามที่มีข่าวว่าจะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเขาต้องตอบสังคมให้ชัดก่อนอาจกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นในบ้านเมืองอีกเพราะคนไทยผูกพัน เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้สูงสุด อีกทั้งการหาเสียงของนายธนาธรควรเปิดใจให้กว้างมากกว่านี้" นายประสารกล่าว 
     นายประสารกล่าวถึงพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สปช.ว่า เป็นเรื่องที่พูดมานานแล้ว และเป็นความต้องการของนายไพบูลย์ที่จะหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก เพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนา ทำให้การตรวจสอบเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ตนยอมรับว่ามีพรรคการเมืองติดต่อเข้ามาอย่างน้อย 3 พรรค แต่กำลังตัดสินใจ ยังไม่พร้อมตอบว่าพรรคของนายไพบูลย์เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่เข้ามาทาบทามหรือไม่ แต่ยอมรับว่าสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว.ได้พูดคุยถึงอนาคตทางการเมืองไว้แล้ว จะมีโอกาสตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ยังไม่ขอเปิดเผยตอนนี้
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า หากพล.อ.ประยุทธ์จะตอบรับให้พรรคพลังประชารัฐหรือพรรคอื่นใดเสนอชื่อเป็นนายกฯ ก็ถือเป็นสิทธิ์ ไม่มีกฎหมายห้าม เชื่อว่าน่าจะเลี่ยงสถานะนายกฯ คนนอกได้ ถ้ามาสูตรนี้ ก็ถือเป็นนายกฯ คนใน หมายถึงคนในแผนสืบทอดอำนาจ ถ้าเป็นจริงตามที่มีข่าวออกมา ก็แสดงว่าทีมการเมืองของรัฐบาลนั่งประเมินสถานการณ์และทำการบ้านเรื่องนี้มาตลอด สอดรับกับการเร่งลงพื้นที่ ครม.สัญจร และโครงการไทยนิยมก็น่าจะอยู่ภายใต้เป้าหมายนี้ ถ้าฝ่ายผู้มีอำนาจไม่สนใจเรื่องความชอบธรรมเสียอย่าง จะใช้เทคนิคทางการเมืองอย่างไรก็ย่อมได้ 
     เขากล่าวว่า ถ้ามองจากมาตรฐานทางการเมืองที่ผ่านมา เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะการที่รัฐบาลใช้อำนาจร่างรัฐธรรมนูญเอง พอนายกฯ ฟันธงว่าไม่คว่ำกฎหมายลูก มติก็ออกมาเกมศูนย์ ตั้ง ส.ว.ไว้รอยกมือให้อีก 250 คน และถือมาตรา 44 ไว้จนกว่าจะมี ครม.ใหม่มาทำหน้าที่ เท่ากับมีการใช้อำนาจล็อกผลการเลือกตั้งเพื่อเป็นรัฐบาลต่อไป เหตุผลประมาณนี้เป็นทำนองเดียวกับที่ใช้บอยคอตเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่คำนึงถึงมาตรฐาน ก็ไม่ต่างกับที่ผู้มีอำนาจเป็น ยุคนี้ใครจะทำอะไรก็เอาที่สบายใจ เป็นเรื่องที่ประชาชนจะใช้วิจารณญาณ ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าวันนี้คนส่วนใหญ่ขอเพียงแค่ให้วันเลือกตั้งมาถึงตามสัญญา ใครจะมาไม้ไหน ไปวัดใจกันวันลงคะแนน ถ้ามั่นใจว่าการให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นคำตอบสุดท้าย ก็ไม่ควรมีความพยายามใดๆ ที่จะทำให้ช้าออกไปอีก 
    "คิดว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อจริง น่าจะมาแบบคนนอกมากกว่า เพราะการอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคตั้งใหม่แล้วได้รับเลือกตั้งเข้ามาน้อยก็จะมีปัญหาว่าพรรคดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ เป็นนายกฯ จากพรรคเล็กก็คงไม่ใช่ภาพที่น่าพอใจ สู้รอให้ฝ่ายการเมืองตกลงตั้งนายกฯ กันไม่ได้แล้วไปเชิญมาแก้ปัญหาจะดูลงตัวกว่า สุดท้ายหวยน่าจะออกแบบนี้" นายณัฐวุฒิกล่าว
พท.หนุนธนาธรตั้งพรรค
    นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวกลุ่มวาดะห์เผยว่ามีพรรคใหม่ชวนเข้าสังกัด และกระแสข่าวที่อาจย้ายไปซบพรรคพลังพลเมืองไทยของนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ว่าตามกระแสข่าวว่าจะมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปอยู่กับพรรคอื่นนั้น ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ และยังคงเป็นเพียงแค่ข่าวลือโคมลอยที่ไม่สามารถยืนยันใดๆ ได้ ที่สำคัญปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนใดๆ ที่ชี้ไปในทิศทางดังกล่าว แต่หลังจากวันที่ 30 เมษายน เป็นวันที่ครบกำหนดให้สมาชิกยืนยันความเป็นสมาชิกในแต่ละพรรคการเมืองเดิม จึงจะสามารถยืนยันความชัดเจนได้ว่าใคร ผู้ใดจะยังคงยืนยันที่จะร่วมทำงานการเมืองกับพรรคเพื่อไทยต่อไป และก็ถือเป็นสิทธิของแต่ละท่านจะตัดสินใจเลือกทางเดินในอนาคตของตน ทั้งนี้ โดยส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าสมาชิกและนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยยังรักและยึดมั่น มีความศรัทธาในพรรคอยู่อย่างเหนียวแน่น
    นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 
ประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองร่วมกับนายปิยะบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ว่า เป็นการรวมกลุ่มกับนักวิชาการหัวก้าวหน้า แต่คงไม่ใช่การแตกแขนงจากพรรคเพื่อไทย เมื่อมีคนรุ่นใหม่เสนอตัว เราให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพราะแนวทางของเขาสนับสนุนให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งและต่อต้านระบบเผด็จการ จึงถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่เหมือนกับเราที่ไม่เอาเผด็จการ จึงดีใจที่คนรุ่นใหม่ต้องการหว่านเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยให้คนรุ่นใหม่ใหม่เข้ามาทำงาน ก็ต้องช่วยกันประคับประคองกันไป ใครที่เข้ามาในการเมือง บางคนก่อนที่จะเข้ามาเหมือนผ้าขาวบริสุทธิ์ แต่พอเข้ามาแล้วก็มีคนเติมสีให้ ดังนั้นคนที่เข้ามาต้องมีความอดทนในแวดวงนี้
    เมื่อถามว่า กลุ่มดังกล่าวจะสร้างปรากฏการณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นทางเลือกให้ประชาชนเหมือนเมื่อครั้งที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ามาเล่นการเมืองหรือไม่ นายสามารถกล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่ากติกาใหม่มีข้อกำหนดที่ซับซ้อน และเวลาการเตรียมตัวในการตั้งพรรค ทั้งการเตรียมสมาชิก ทำนโยบายที่มีความกระชั้นชิด อาจจะไม่ได้ทำการบ้านเหมือนเมื่อครั้งที่นายทักษิณเคยทำ ที่ได้เตรียมทำการบ้านในเรื่องนโยบายไว้ล่วงหน้า ทั้งโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์มาก่อนที่จะประกาศ ไม่ได้อ่านจากตำราเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งการอ้างอิงจากตำราอย่างเดียวก็อาจจะไม่ใช่
     "รู้สึกเป็นห่วงกลุ่มบุคคลดังกล่าว ที่ยังไม่มีนโยบายที่จะชูให้โดนใจชาวบ้าน นอกจากนโยบายที่ขอโอกาสจากคนรุ่นใหม่ เพราะในอนาคตเป็นโลกของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงาน ซึ่งเหล่านี้ยังเป็นนามธรรมที่จะตอบสนองความต้องการของชาวบ้านรากหญ้าทั้งหลาย อีกทั้งการเตรียมพรรค ทั้งการหาผู้สมัครให้ครบ 350 เขตตามกติกา การตั้งผู้แทนพรรคประจำจังหวัด และต้องหาสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน ที่ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาเซ็นชื่อแล้วเป็นได้ แต่ต้องมีขั้นตอนรายละเอียดยิบย่อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องดูกันต่อไปว่ากลุ่มที่จะตั้งพรรคนี้จะทำตามขั้นตอนธุรการได้ทันตามเวลาที่กำหนดหรือไม่" นายสามารถกล่าว 
     ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการกลุ่มไทยซัมมิท กรุ๊ป หลานชายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.การคลัง ในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thanathorn Juangroongruangkit พร้อมรูปนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ถึงกรณีตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ต่อการสนับสนุนการเล่นการเมืองของเขา โดยระบุว่า...ถึงเวลาก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง, and now i have the strongest backing and the most wonderful blessing in the world; my family   
ครอบครัวไม่อนุรักษนิยม
    นายธนาธรระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำหนักระดับภูเขาถูกยกออกจากอกผม ผมได้ปรึกษาเรื่องอนาคตกับครอบครัว และทุกคนก็ให้การสนับสนุนและกำลังใจอย่างดี ผมโชคดีที่พี่น้องและครอบครัวไม่มีใครมีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมแบบสุดโต่ง ทุกคนรักและเข้าใจในหลักการประชาธิปไตย เมื่อเราถกเถียงเรื่องเรื่องอนาคตของครอบครัว ทุกคนเข้าใจผม ไม่มีใครสาปส่ง มีแต่กำลังใจในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ที่แต่ละคนพึงมีให้
    'แม่' คือปัญหาใหญ่ ก่อนถกเถียงกันผมกลัวว่าจะทำให้แกเสียใจ ผมไม่อยากให้แกเสียใจ ผมไม่อยากให้แกร้องไห้ ผมทำแกร้องไห้มามากเกินไปแล้วในชีวิตนี้ แกเริ่มคำถามแรกว่าสำหรับผม ไทยซัมมิทหรือประเทศไทย อย่างไหนสำคัญกว่ากัน ผมตอบสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า 'ประเทศไทย' แกมีสีหน้าผิดหวัง ถึงแม้ไม่เห็นด้วย ไม่ได้อวยพรอะไรพิเศษ แต่แกไม่ห้ามปราม, ให้กำลังใจ หรือเอ่ยคำสนัสนุนใดๆ สำหรับผมนั่นคือการอนุมัติและเห็นชอบแบบแม่ ไม่มีอะไรที่ผมจะร้องขอได้มากไปกว่านี้อีกจากครอบครัว ผมโชคดีเหลือเกินที่ได้เติบโตและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้
    คำถามสุดท้ายก่อนจะเลิกวง แกถามผมว่า "ถ้าวันใดเธอมีอำนาจ คงจะมีคนมาเสนอทั้งผู้หญิงและเงินทอง เธอจะรับไหม?" ตอบไว้ตรงนี้ "หม่าม้าครับ ผมจะไม่ทำให้หม่าม้าผิดหวัง" อดคิดถึงพ่อไม่ได้ ถ้าแกยังมีชีวิตอยู่ ผมหวังว่าแกคงจะภูมิใจกับการตัดสินใจของผม ก้าวแรกผมสำเร็จแล้ว แม่สอนผมเสมอให้เป็นคนซื่อสัตย์ ผมจะเดินก้าวต่อไปด้วยความซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์และต่อประชาชน
    ส่วนนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อต้านระบอบทักษิณ ว่า ระบบการเมืองในโลก มีเพียงระบบประชาธิปไตย ระบบคอมมิวนิสต์ และระบบเผด็จการ ระบอบทักษิณไม่มีอยู่จริง ตอนที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯบริหารประเทศก็มาด้วยระบบประชาธิปไตย เข้ามาบริหารประเทศสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนและสามารถใช้หนี้ที่รัฐบาลเก่าทำไว้ได้ ต่างกับรัฐบาลในปัจจุบัน แม้ลอกเลียนแบบโครงการสมัยรัฐบาลนายทักษิณมาทำ ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการเอสเอ็มอี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะไม่ได้รับความเชื่อถือจากนานาประเทศ เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเหตุผลที่นายอภิสิทธิ์ต้องออกมาพูดถึงระบอบทักษิณในช่วงนี้ เพราะรู้ตัวว่าไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ จึงต้องปลุกผีทักษิณออกมาอีกครั้ง มาเป็นวาทกรรมทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์
    ขณะที่นายศิริโชค โสภา รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์    ให้สัมภาษณ์กรณีนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่ามีหลายเรื่องที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตนสงสารนายวัฒนา ที่ยังคงย้ำคิด ย้ำทำ วนเวียนอยู่กับการให้ความจริงประชาชนเสี้ยวเดียว โดยไม่เคยคิดทบทวนความผิดพลาดที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบอบเลวร้ายที่เรียกกันว่าระบอบทักษิณ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่วาทกรรมตามที่พยายามกล่าวอ้าง โดยมีบทพิสูจน์ที่ชัดเจนจากพฤติกรรมการบริหารประเทศที่ขาดธรรมาภิบาล ไร้จิตสำนึก ใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจ และผลประโยชน์ โกงกินกันอย่างมโหฬาร จนนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด
ปชป.ย้ำแผลระบอบทักษิณ
     นายศิริโชคระบุว่า ขอยกตัวอย่างความเลวร้ายของระบอบทักษิณที่จับต้องได้ ดังนี้ 1.ใช้กลไกรัฐสภาเป็นเครื่องมือออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน แทรกแซงศาล องค์กรอิสระ สื่อสารมวลชน 2.ทุจริตเชิงนโยบาย จนถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดาฯ และถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ลิ่วล้อก็ถูกตัดสินว่าโกงประเทศในยุคที่ระบอบทักษิณเรืองอำนาจ เช่น นายประชา มาลีนนท์ ที่ถูกพิพากษาจำคุก 12 ปี ในคดีทุจริตรถและเรือดับเพลิง ส่วนคนที่รับใช้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องอย่าง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ก็ถูกตัดสินให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากคดีแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป
    "นี่ยังไม่รวมคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดไปแล้ว รายละเอียดเป็นอย่างไร นายวัฒนาคงทราบดี เพราะเป็นผู้ที่ถูกชี้มูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และ 149 คำว่าระบอบทักษิณ จึงมิได้เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองที่ฝ่ายตรงข้ามตั้งขึ้นเอง นิยามกันเองและเข้าใจกันเอง อย่างที่คุณวัฒนากล่าวอ้าง แต่ในความทรงจำที่ยังกระจ่างชัดของคนไทย คือ นายทักษิณไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่หนีคดี แต่ยังสร้างความวุ่นวายให้กับประเทศ จนนำไปสู่วิกฤติการเมือง หากระบอบทักษิณที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงยุคยิ่งลักษณ์ จะได้ทบทวนตัวเอง เลิกพฤติกรรมเลวร้าย มีสำนึกที่ดีต่อชาติบ้านเมืองแม้เพียงน้อยนิด คงไม่ฉ้อฉลระบอบประชาธิปไตย จนทำให้คนไทยเสื่อมศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้” นายศิริโชคกล่าว
    นายศิริโชคกล่าวต่อว่า เห็นด้วยกับนายวัฒนาว่า ควรเล่นการเมืองเชิงสร้างสรรค์ เอาเวลาไปคิดนโยบายเพื่อสร้างความเจริญให้ประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่หัวหน้าพรรคของตนยึดมั่นแนวทางนี้มาโดยตลอด คือ ติติง พร้อมข้อเสนอแนะ มีจุดยืนที่ชัดเจนบนความถูกต้อง แม้จะสวนทางกับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
    “จุดยืนอีกประการหนึ่งของหัวหน้าและพรรคประชาธิปัตย์คือ การไม่เอาด้วยกับพวกโกงประเทศ ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหนก็ตาม เพราะนักการเมืองบางพวกไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรมน่ารังเกียจ ไม่เคยมีสำนึกผิดชอบชั่วดี ไม่ต่างอะไรกับบัวเต่าถุย ที่จมปลักอยู่กับโคลนตม จนยากที่จะโผล่พ้นน้ำ ขนาดปลา เต่า กินเข้าไป ก็ยังต้องขากถุยออกมา” นายศิริโชคกล่าว
    วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจ  สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,083 คน เรื่องประชาชนหวังอะไรต่อพรรคการเมืองใหม่   ภายหลังที่ กกต.เปิดให้กลุ่มการเมืองเข้ายื่นความจำนงขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มการเมืองตั้งขึ้นใหม่ถึง 42 พรรค สรุปผลได้ ดังนี้ 1) สิ่งที่ประชาชนคาดหวังต่อ “พรรคการเมืองใหม่” คือ อันดับ 1 มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง 48.30%, อันดับ 2 แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำเพื่อส่วนรวม พัฒนาประเทศ     43.98%, อันดับ 3    มีหัวหน้าพรรคและสมาชิกที่เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ 35.34%,    อันดับ 4    เป็นคนรุ่นใหม่ มีนโยบายที่ดี มีแนวคิดใหม่ๆ 31.02%, อันดับ 5 ไม่สร้างความขัดแย้ง สาดโคลนกันไปมา 28.14%
    2) “พรรคการเมืองใหม่” จะเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้มากน้อยเพียงใด? อันดับ 1 เป็นที่พึ่งได้ 51.78% เพราะเป็นผู้แทนของประชาชน เป็นปากเสียง น่าจะมีศักยภาพ มีความสามารถในการทำงาน ขึ้นอยู่กับความตั้งใจและนโยบายในการทำงาน ฯลฯ, อันดับ 2 เป็นที่พึ่งไม่ได้ 48.22% เพราะเป็นคนหน้าเดิม กลุ่มเดิม เป็นนอมินี ปัญหาการเมืองไทยแก้ไขได้ยาก เน้นแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ฯลฯ 
    3) ทำอย่างไร? “พรรคการเมืองใหม่” จึงจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างดี อันดับ 1 ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอย่างแรก รับฟังความเห็น ความเดือดร้อน 35.22%, อันดับ 2 เข้าใจปัญหา แก้ปัญหาให้ตรงจุด 22.87%, อันดับ 3 มีผลงานให้เห็น ทำงานต่อเนื่องสม่ำเสมอ    21.86%, อันดับ 4    ดูแลเอาใจใส่ ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชน 18.22%, อันดับ 5 ทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ 17.00%.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"