มี 2 ปฏิกิริยาตามมาหลังที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 9 มี.ค. มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปลายปีที่แล้ว ในบทเฉพาะกาลมาตรา 185 ในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ซึ่งมาตราดังกล่าวมีนัยสำคัญคือ การทำให้กรรมการ ป.ป.ช. 2 คน คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. และ วิทยา อาคมพิทักษ์ ได้อยู่ต่อแบบไม่มีปัญหาทางข้อกฎหมาย ซึ่งหลังมีข้อสงสัยกันมานานโดยเฉพาะในกลุ่ม สนช.ว่ามาตราดังกล่าวจะขัด รธน.หรือไม่ สุดท้ายตุลาการศาลรธน.ก็วินิจฉัยออกมาแล้วว่าไม่ขัด รธน.
ปฏิกิริยาแรกมาจาก สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคัดคัดค้านเรื่องการเขียนบทเฉพาะกาลของ สนช.ที่ทำให้ตุลาการศาล รธน.ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติได้อยู่ต่อมาตลอด ระบุว่าผิดหวังไปพร้อมกับความตกใจหลังอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการเขียนกฎหมายลูกแม้จะเป็นหน้าที่ตรงของ สนช. แต่การเขียนรายละเอียดนั้นต้องไม่มีความใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในฐานะกฎหมายแม่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกฎหมายลูกฆ่าแม่ และกลายเป็นกฎหมายลูกทรพีได้
"ไม่ทราบว่าประเด็นที่ตุลาการศาล รธน.วินิจฉัยดังกล่าวจะมีผลประโยชน์หรือความเกี่ยวข้องใดกับการใช้มาตรา 44 เพื่อต่ออายุให้ 5 ตุลาการศาล รธน.ที่พ้นวาระไปหรือไม่ หรือมีความเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของตุลาการศาล รธน.ที่เหลือและมีดีกรีเป็นถึงระดับศาสตราจารย์หรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังคำวินิจฉัยนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมและการเขียนกฎหมายในอนาคตที่ปรากฏความว่าขัดกับหลักนิติธรรม"
ส่วนปฏิกิริยาที่ 2 มาจากกรรมการองค์กรอิสระที่โดน สนช.เซตซีโรให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง คือ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง โดยท่าทีของสมชัยออกมาในแนวตั้งข้อกังขาต่อมติที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ที่มีการเผยแพร่เอกสารข่าวในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา
"คนที่ไม่ติดตามเรื่องคงอ่านผ่านๆ อย่างไม่ได้สนใจ ยิ่งมาแจ้งแบบเงียบเชียบในรูปเอกสารตอนบ่ายของวันศุกร์ที่คนใกล้เลิกงานก็ยิ่งแทบไม่มีคนสนใจ แต่สำหรับผู้ที่ติดตามน่าจะจำได้ว่า ป.ป.ช.ชุดนี้ สนช.ได้ลงมติให้อยู่ต่อไปจนครบวาระ เช่นเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดินและศาล รธน. โดยเฉพาะศาล รธน. สนช.ใจดีมากมีแถมให้คนที่ครบวาระแล้วอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีสภา มีผู้นำฝ่ายค้านในสภา แล้วจึงเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่"
สมชัยย้ำประเด็นข้อกังขาที่แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อตรงๆ แต่ก็ตีความได้ไม่ยากว่าหมายถึง วัชรพล-วิทยา ด้วยการระบุว่า
"ประเด็นการให้ ป.ป.ช.ทั้งชุดอยู่ต่อไปจนครบวาระ มีประเด็นที่แตกต่างจากผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญ คือนอกจากคนที่มีคุณสมบัติไม่ครบจำนวนประมาณ 7-8 คนแล้ว ในจำนวนนี้ยังมี 2 คนที่มีลักษณะต้องห้ามด้วย คือคนหนึ่งเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นมาก่อน และอีกคนคือประธาน ป.ป.ช.เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ ศาล รธน.ที่มีตุลาการศาล 5 คนที่อยู่ครบวาระ 9 ปีแล้ว แต่ สนช.ให้อยู่ต่อ และตุลาการศาล รธน.อีก 3 คนที่ขาดคุณสมบัติแต่ สนช.ให้อยู่ต่อ ได้ลงมติแบบเงียบๆ ไม่มีการแสดงผลการลงมติ ไม่มีระบุชื่อว่าใครลงมติอย่างไร จากนี้ใครจะเชื่อว่าองค์กรอิสระเป็นอิสระจริง”
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยุติไปแล้วเพราะคำวินิจฉัยของศาล รธน.ถือเป็นที่สุด ขั้นตอนต่อไปก็รอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป การแสดงความเห็นอะไรก็ไม่ทำให้คำวินิจฉัยศาล รธน.เปลี่ยนแปลงไปได้ และเชื่อว่าต่อจากนี้ศาล รธน.ก็จะยังคงโดนวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองเดียวกับที่ สุพจน์-สมชัย ออกมาให้ความเห็น โดยเฉพาะกับการพยายามโยงว่าตุลาการศาล รธน.ชุดนี้หลายคนได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับการเขียน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาล รธน. ที่ สนช.ทำร่างออกมาและอยู่ระหว่างการประกาศใช้ โดยทำให้ 9 ตุลาการศาล รธน.ได้อยู่ยาวจนถึงหลังเลือกตั้งหรือช่วงตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียว จากเดิมที่อย่างน้อย 5 ตุลาการศาล รธน.ที่นำโดยนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาล รธน.ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
กระนั้นสิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ก็คือ เมื่อ 9 ป.ป.ช.ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีกหลายปี สิ่งที่ ป.ป.ช.โดยเฉพาะตัว พล.ต.อ.วัชรพล-ประธาน ป.ป.ช. จะต้องทำก็คือ การพิสูจน์ตัวเองว่า
"เป็นของจริง-อิสระชัวร์-ไม่ใช่คนของ คสช."
เพราะการที่ พล.ต.อ.วัชรพล ที่เป็นอดีตรักษาการ ผบ.ตร.ในยุค คสช.-อดีต สนช.ในยุค คสช.และอดีตหน้าห้องพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ บิ๊ก คสช. แล้วมาทำหน้าที่ประธาน ป.ป.ช.องค์กรอิสระ อีกทั้ง พล.ต.อ.วัชรพลยังเอาตัวเองเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ของ สนช. จนมีการเขียนร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ที่ทำให้ตัวเองและกรรมการ ป.ป.ช.คนอื่นได้ประโยชน์ แม้ต่อให้จะเดินออกจากห้องประชุม กมธ.ตอนเขียนมาตราดังกล่าว แต่ของแบบนี้มันก็ปฏิเสธไม่ได้กับเสียงที่คนภายนอกมองคือ ระดับประธาน ป.ป.ช.ลงมาเป็น กมธ.เอง มันก็ต้องมีการเกรงใจกัน จนสุดท้ายร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.เลยวิน-วินกับฝ่ายวัชรพล-ป.ป.ช.ไปเต็มๆ
หากการทำงานของ พล.ต.อ.วัชรพลและ ป.ป.ช.ทั้งหมดต่อจากนี้ไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองให้สังคมเห็นได้ว่าไม่ใช่คนของ คสช. โดยเฉพาะกับการตรวจสอบเรื่อง นาฬิกาหรูของบิ๊กป้อม ที่หาก ป.ป.ช. สรุปผลออกมาแล้วสังคมรับไม่ได้ มองว่าช่วยเหลือกัน
ถ้าออกมารูปนั้น แม้ต่อให้กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่จะทำให้วัชรพลอยู่ต่อได้ แต่ก็เป็นการอยู่ต่อแบบไม่มีใครให้ราคา!!!!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |