7 ต.ค.2562 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าปตท. โดยสถาบันวิทยสิริเมธี ร่วมกับกระทรวงพลังงานกำลังศึกษาระบบกักเก็บพลังงาน คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต โดยเฉพาะรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจาก เห็นถึงโอกาสในการเป็นผู้นำพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานที่ยังมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตพัฒนามากนัก
ขณะที่มองภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 3-5 ปีจึงจะเห็นทิศทางที่ชัดเจน ว่าภาครัฐจะส่งเสริมอย่างไร เทคโนโลยีกับต้นทุนรถยนต์เป็นอย่างไร สมรรถนะ ความปลอดภัย สะดวกสบาย ประสิทธิภาพแบตเตอรี่เป็นอย่างไร และการชาร์จใช้ได้นานแค่ไหน ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์มีผู้พัฒนาหลายรายมากแล้ว จึงน่าจะเป็นส่วนที่ปตท.ทำเป็นส่วนน้อย
“หากจะมีการนำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ก็ไม่ต่างอะไรกับการนำเข้าน้ำมัน เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน ทั้งการผลิตรถยนต์จะผลิตอย่างไรไม่เหมือนรถยนต์แบบเก่า ต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่ สายพานใหม่ ทั้งยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้ใช้ สภาพการจราจร ปริมาณไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐมีแผนอยู่แล้ว แต่จะเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่และอย่างไรจึงจะเหมาะสม และให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ”นายชาญศิลป์ กล่าว
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เวลาพัฒนาอาจเห็นการขยายตัวในอีก 15-20 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันไม่ได้อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตรวดเร็ว และจากการศึกษารูปแบบอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศพบว่าจะพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าก่อนจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอร์รี่เต็มรูปแบบ ดังนั้นปตท.ก็ยังคงให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) เป็นหลัก ควบคู่กับติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมบางปั๊มในพื้นที่นำร่องเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่จำเป็นต้องมีระบบชาร์จทุกปั๊ม
นอกจากนี้ ปตท.ยังร่วมกับ WM Motors ผู้ผลิตรถไฟฟ้ายี่ห้อ Weltmeister ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของประเทศจีน ศึกษาวิจัยและออกแบบระบบเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้านำร่องใช้ในองค์กรก่อน เป็นการต่อยอดธุรกิจด้านแบตเตอรี่และผลิตภัณฑ์พลาสติกของกลุ่ม ปตท. เป็นต้นแบบทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานในอนาคต
สำหรับความคืบหน้าที่รัฐบาลมอบหมายให้ ปตท.ศึกษาแนวทางการผลิตปุ๋ยสั่งตัดเพื่อช่วยเหลือต้นทุนให้กับเกษตรกรนั้น ถือเป็นเรื่องใหม่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา เพราะต้องยอมรับว่าภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นภาคที่กว้างใหญ่มาก มีหลายรูปแบบ หลากหลายพื้นที่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้ง ดิน น้ำ ภูมิอากาศ ชนิดพืชที่ปลูกในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน จะดำเนินการอย่างไรต้องดูรูปแบบให้รอบคอบ ที่สำคัญคือผลิตแล้ววางจำหน่ายที่ปั๊มปตท.แล้วจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไปอย่างไร
“เรื่องขายไม่ยาก กระตุ้นให้ใช้วิธีการใหม่ๆ มาดำเนินการสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่ต้องคิดเยอะคือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรซื้อไปใช้ปลูกจริง ลดต้นทุนจริง ขายได้จริง อยู่รอดได้ และขยายไปทั่วประเทศ การตลาดจะทำอย่างไร ต้องศึกษารอบคอบเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรนำไปดำเนินการได้”นายชาญศิลป์ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |