"ครม." นัดประชุมวันจันทร์ 7 ต.ค.นี้ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 "วิษณุ" แจงกลัวล่าช้ารีบถกก่อนส่งสภาทันที ยันจัดเตรียมงบก่อน-หลังแถลงนโยบายไร้ปัญหา "เรืองไกร" ไม่จบ จ่อร้องศาลปกครองอีก "พท." เสี้ยมงบกลาโหมสูงเกินหน้ากระทรวงพรรคร่วม รบ.อื่น "ชิมช้อปใช้" เฟส 2 ส่อเลิกแจกเงิน 1 พัน หันเพิ่มแคชแบ็กเป็น 6 พันแทน "โพล" ชี้ ปชช.เซ็งลงทะเบียนยาก
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ต.ค.62 ว่าจะมีการประชุม ครม.ในวันจันทร์นี้ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เพราะหากจะไปประชุมกันวันอังคารที่ 8 ต.ค.62 จะทำให้การส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไปยังสภาผู้แทนราษฎรช้าไปอีก 1 วัน
"เราไม่อยากให้ช้า สภาจะได้มีเวลาศึกษานานขึ้น และวันที่ 7 ต.ค. หลังประชุม ครม.จะสามารถส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้สภาได้" นายวิษณุกล่าว
รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกรไปยื่นหนังสือถึงประธานสภาเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุร่าง พ.ร.บ.งบปี 63 ไม่ชอบ เนื่องจากนายกฯ ลงนามเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า ได้สอบถาม ผอ.สำนักงบประมาณแล้ว ระบุว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหา ทุกรัฐบาลก็ทำกันเช่นนี้
"การจัดเตรียมงบประมาณก่อนหรือหลังการแถลงนโยบายไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลเก่าก็ต้องเตรียมให้กับรัฐบาลใหม่ ถือเป็นขั้นตอนภายในไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย และที่นายเรืองไกรอ้างถึงการลงนามของนายกฯ นั้น จะมีความหมายตอนลงนามเพื่อส่งประธานสภาฯ สิ่งที่นายเรืองไกรยกขึ้นมาเป็นขั้นตอนภายใน มันไม่มีกฎหมายใดบอกว่าต้องทำอะไร" รองนายกฯ กล่าว
ส่วนนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 มาตรา 23 บัญญัติไว้ว่า มาตรา 23 การจัดทำงบประมาณต้องคำนึงถึงประมาณการรายรับ และฐานะทางการคลังของประเทศ ความจำเป็นในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายรัฐบาล และภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ
"ตามความในมาตรา 23 ไม่มีคำว่า ทบทวน ปรับปรุง เพิ่มเติม ไว้แต่อย่างใด ซึ่งควรแปลว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 นั้น ครม.ชุดปัจจุบันจะต้องจัดทำขึ้นใหม่ภายหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2562 แต่ปรากฏว่า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2562 เป็นการลงมติเห็นชอบให้นำคำขอตั้งงบประมาณของรัฐบาลชุดก่อนมาปรับปรุงแทนการจัดทำขึ้นใหม่ ตามหลักฐานในหนังสือกระทรวงอุดมศึกษา ที่ 02222.4/ว296 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2562 ข้อ 1 ที่ระบุว่า 1.ทบทวน ปรับปรุง เพิ่มเติม คำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตามแบบคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563” นายเรืองไกรกล่าว
ยุ'งบกลาโหม'สูงเกินเพื่อน
เขากล่าวว่า หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ครม.อาจไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย อีกทั้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีถือเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และมติคณะรัฐมนตรีถือเป็น “กฎ” ตามความในมาตรา 3 เรื่องนี้จึงเข้าลักษณะเป็นคดีปกครอง ดังนั้น ตนในฐานะเป็นผู้ที่จะได้รับเงินรายเดือนจากงบประมาณ 2563 ด้วย ย่อมได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากมติ ครม.ที่ไม่ชอบ และมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ตามความในมาตรา 42 ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ตนจะไปร้องต่อศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อขอให้เพิกถอนมติ ครม.ที่ไม่ชอบดังกล่าว
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น เรามีคำถามมากมายเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณรายกระทรวง เช่น กระทรวงที่ไม่ได้สร้างรายได้และประโยชน์โดยตรงให้ประชาชน เช่น กระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมาก ตรงกันข้ามกับกระทรวงซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้และให้สวัสดิการประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของพรรคร่วมรัฐบาลกลับไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่สมน้ำสมเนื้อ
"การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้อยู่บนหลักการอะไรกันแน่ อีกทั้งวันนี้สภายังไม่ได้รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณมาศึกษา ทั้งที่ใกล้ถึงวันอภิปรายแล้ว ทำให้เวลาการศึกษารายละเอียดน้อยลง จะทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพลดลงไป ผลเสียจะตกที่ประชาชน หวังว่าเหตุผลที่ช้า เพราะข้อผิดพลาดทางเทคนิคไม่ให้ความตั้งใจให้เราได้ศึกษาช้า หากเป็นความตั้งใจจะถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลละเลยไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน" เลขาฯ พรรค พท.กล่าว
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก "ดร.อุตตม สาวนายน" ถึงโครงการชิมช้อปใช้ ตอนหนึ่งระบุว่า ผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ขาย และพี่น้องประชาชน ชื่นชมกับมาตรการนี้ และขอให้มีการขยายผลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะมีระยะที่ 2 และจะปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้น
มีรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งศึกษาโครงการชิมช้อปใช้ระยะที่ 2 ออกมาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เปิดลงทะเบียนได้ต่อเนื่องทันทีภายในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากลงทะเบียนระยะแรกครบ อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ใหม่ เพื่อต้องการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการนำเงินส่วนตัวออกมาใช้จ่ายเพื่อสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น และจะเร่งเสนอให้ รมว.การคลัง รวมถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาโดยเร็ว
“แนวคิดมาตรการชิมช้อปใช้ระยะ 2 เบื้องต้นจะเริ่มทันทีเดือนต.ค.นี้ โดยเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มอีก 1-2 ล้านคน แต่จะปรับสิทธิประโยชน์ใหม่ ไม่มีการแจกเงินให้ไปใช้จ่ายฟรี 1,000 บาท เหมือนกับระยะแรก แต่จะเพิ่มสิทธิในกระเป๋าที่สองในส่วนของเงินแคชแบ็ก 15% ให้เพิ่มมากขึ้นจาก 4,500 บาท เป็น 5,500- 6,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายแทน ส่วนระยะเวลายังกำหนดให้ใช้ได้ถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้เหมือนเดิม ซึ่งหลังจากนี้จะต้องรอเสนอให้ฝ่ายนโยบายพิจารณารายละเอียด โดยดูผลการดำเนินโครงการระยะแรก รวมถึงงบประมาณที่เหลือควบคู่กัน ก่อนสรุปอย่างชัดเจน”แหล่งข่าวกล่าว
เฟส 2 งดจ่าย 1 พันชิมช้อปใช้
มีรายงานว่า สาเหตุที่โครงการชิมช้อปใช้ระยะที่ 2 จะไม่มีการแจกเงิน 1,000 บาท แบบในระยะแรก เพราะคนที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่หวังแค่รับเงิน 1,000 บาทเพื่อไปใช้อย่างเดียว เห็นได้จากยอดใช้เงิน 1,000 บาทมียอดใช้จ่ายสูงกว่า 1 พันล้านบาท แต่ยอดกระเป๋าสองที่ใช้จ่ายเงินของตัวเองมีแค่หลักกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายของรัฐที่ต้องการให้คนนำเงินส่วนตัวมาใช้เพิ่มขึ้น ดังนั้นชิมช้อปใช้ระยะที่ 2 จะเน้นดึงคนที่มีกำลังซื้อมาลงทะเบียน และนำเงินส่วนตัวมาใช้จ่ายเป็นหลัก
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลจนถึงวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ใช้สิทธิ์โครงการชิมช้อปใช้แล้ว 2.2 ล้านคน เป็นวงเงิน 2,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสัดส่วนซื้อสินค้าจากห้างขนาดใหญ่ยัง 20% เท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้น ที่เหลือเป็นการซื้อสินค้าจากร้านชุมชนส่วนใหญ่ตามระบบที่ออกแบบมา
"คาดว่าเมื่อมีผู้ใช้สิทธิ์ครบ 10 ล้านคน ก็จะมีคนใช้เงินในกระเป๋าเงินที่ 1 วงเงิน 1,000 บาท ครบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้รัฐบาลหวังว่าผู้ได้สิทธิ์จะใช้เติมเงินใช้ในกระเป๋า 2 เพื่อได้เงินคืน 15% ไม่เกิน 4,500 บาท ให้มากที่สุด เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ" ผอ.สศค.กล่าว
วันเดียวกัน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินสัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอยชัดเจนขึ้นว่า มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลขณะนี้ไม่เพียงพอต่อการรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน งบประมาณปี 2563 ก็ยังไม่ผ่านสภา ต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่อการลงทุนและสร้างงาน ปรับโครงสร้างภาคการผลิต ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบโจทย์อนาคตสังคมไทย เสนอทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมจากยอดขาดดุลอีกอย่างน้อย 30-50% หรือปรับลดงบประมาณจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยโยกงบประมาณจัดซื้ออาวุธมาใช้ในการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งสร้างนิติธรรมนิติรัฐเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศและความมั่นใจต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในไทย
นิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ชิมช้อปใช้...ถูกใจหรือไม่” พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.37 ระบุจะไม่ลงทะเบียน เพราะระบบและขั้นตอนการลงทะเบียนที่ยุ่งยากซับซ้อน ลงยังไงก็ไม่สำเร็จ โทรศัพท์ที่ใช้ไม่รองรับแอปพลิเคชันเป๋าตัง ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่มีเวลา ไม่สะดวกที่จะลงทะเบียน รองลงมา ร้อยละ 25.61 ระบุได้ลงทะเบียนแล้ว และร้อยละ 16.02 ระบุกำลังจะลงทะเบียน
ที่น่าสนใจเมื่อถามความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการนี้ของรัฐบาล พบส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.19 ระบุว่าปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น เช่น ปรับปรุงระบบและขั้นตอนการลงทะเบียนให้ง่ายขึ้น ผู้สูงอายุก็สามารถทำเองได้ด้วยตนเอง หรือมีการลงทะเบียน ที่ธนาคารกรุงไทย มีช่วงเวลาในการลงทะเบียนที่ชัดเจน ให้สิทธิกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ใช้สิทธิได้ทุกที่ ทุกจังหวัด และอยากให้เพิ่มวงเงิน เพิ่มร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการควรเป็นร้านวิสาหกิจชุมชน ร้านในกลุ่มสินค้า OTOP ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ รองลงมา ร้อยละ 34.10 ระบุว่ายกเลิกโครงการ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |