จากเหตุการณ์ “คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา” ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองหลังอ่านคำพิพากษาคดีเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 มีคำสั่งทางลับให้เปลี่ยนคำพิพากษา ซึ่งขณะนี้อาการอยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว ทางโรงพยาบาลศูนย์ยะลาได้ย้ายจากห้องไอซียูมาที่ห้องพิเศษ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากวงการ ตาชั่ง-ตุลาการ ได้ขยายผลกลายเป็นประเด็นการเมืองไปหลายบริบท มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย จนฝ่ายการเมืองนำไปขยายผล เช่น การเตรียมนำเรื่องที่เกิดขึ้นที่อยู่ในแวดวงศาลยุติธรรมเข้าไปตรวจสอบในชั้น กมธ. กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน กมธ.ฯ
ขณะที่ บางฝ่ายก็ตั้งข้อสังเกต ชำแหละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกมิติ เช่น พฤติการณ์ส่วนตัวของ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ว่า ฝักใฝ่ทางการเมือง มีการแชร์ข่าวและข้อมูลของสื่อฝ่ายเสื้อแดงและการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่อยู่ตลอด จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า แม้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางระบอบประชาธิปไตย แต่เรื่องดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อ “ประมวลจริยธรรมตุลาการ” ที่บรรพตุลาการ เขียนขึ้นมา เป็น The Code of Judicial Conduct หรือไม่? เพราะในข้อ 34 ของประมวลจริยธรรมตุลาการดังกล่าว ระบุไว้ว่า
“ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง และจักต้องไม่เข้าเป็นตัวกระทำการ ร่วมกระทำการในการสนับสนุนในการโฆษณาหรือชักชวนใดๆ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือผู้แทนทางการเมืองอื่นใด ทั้งไม่พึงกระทำการใดๆ อันเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดนอกจากการใช้สิทธิเลือกตั้ง”
แม้ ประมวลจริยธรรมตุลาการดังกล่าวจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ก็เป็นเสมือนคัมภีร์กำกับการประพฤติตนของผู้พิพากษาให้อยู่ในรูปในรอย อย่าได้สร้างความเสื่อมเสียให้วงการตุลาการที่เป็น 1 ใน 3 อำนาจหลักของระบอบประชาธิปไตย
จากเหตุการณ์สั่นสะเทือนวงการตุลาการดังกล่าว ทำให้การประชุมคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคมนี้ เวลา 13.30 น. ที่ศาลฎีกา ถูกจับตามองอย่างมากว่า สุดท้ายที่ประชุม ก.ต.ที่เป็น “บอร์ดใหญ่ในการบริหารงานของวงการศาลยุติธรรม” ที่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษกับผู้พิพากษาทุกระดับ จะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะท่าทีของ “ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา” ที่จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในฐานะประธาน ก.ต.โดยตำแหน่งเป็นครั้งแรก หลังจากเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
เรื่องดังกล่าว “สายข่าววงการตุลาการ” ให้ข้อมูลเบื้องต้นมาว่า การนัดประชุม ก.ต.ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ยะลา จึงทำให้เรื่องนี้ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุม แต่ทางผู้ใหญ่ในวงการศาลได้รับข้อมูลมาแล้วว่า การประชุมครั้งนี้ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการ ก.ต.โดยตำแหน่ง จะรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้น โดยเฉพาะหลังลงพื้นที่ยะลาเพื่อไปเยี่ยมนายคณากร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสรุปเหตุการณ์เบื้องต้นให้ ก.ต.ทุกคนทราบ
มีรายงานว่า หลังจากทราบข้อมูลต่างๆ แล้ว ทาง ก.ต.ก็คงต้องมีการมาพิจารณาว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะการที่บางฝ่ายสนใจในเรื่องที่ว่า “มีการแทรกแซงการตัดสินคดี” นั้น เรื่องนี้วงการศาลถือเป็นเรื่องใหญ่ และคงต้องทำให้เกิดความกระจ่างโดยเร็ว ซึ่งก็จะมีการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาพิจารณาว่าจะนำระเบียบต่างๆ ของศาลยุติธรรมมาทำให้ความจริงกระจ่างได้อย่างไร โดยต้องพิจารณาระเบียบ-ประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศ ก.ต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นฯ พ.ศ.2544-ประกาศ ก.ต. จริยธรรมข้าราชการตุลาการ เพื่อ นำไปสู่การตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น
“คาดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่มติที่ประชุม ก.ต.ในวันจันทร์นี้จะมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นทันที เว้นเสียแต่ ทาง ก.ต.เห็นว่าเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน จะขอเวลาก่อน ก็อาจจะรออีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อมาหารืออีกครั้งในการประชุม ก.ต.รอบหน้า โดยคาดว่าจะให้เวลาสอบสวนประมาณไม่เกิน 30 วัน
เรื่องที่เกิดขึ้น คนที่ถูกพาดพิงเป็นอธิบดีศาลภาค 9 ที่เป็นอธิบดีศาลชั้นต้น การจะไปตั้งกรรมการสอบในระดับภาคอาจทำให้เกิดคำถามตามมา ก็ต้องดูว่าที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ของ ก.ต.จะว่าอย่างไร ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ที่ ก.ต.จะเสนอว่าให้ตั้งกรรมการสอบในระดับส่วนกลาง ลงไปสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ไม่ใช่การตั้งกรรมการสอบในระดับภาค โดยที่ตำแหน่งอธิบดีศาลเทียบได้กับผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ดังนั้นประธานกรรมการสอบที่จะตั้งขึ้นก็จะต้องมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ แล้วก็จะมีกรรมการอีกอย่างน้อยไม่เกินสามคน ที่จะลงไปหาข้อเท็จจริงในพื้นที่เพื่อนำมาสรุปเป็นผลการสอบข้อเท็จจริง รายงานต่อที่ประชุม ก.ต.ต่อไป”
สายข่าวจากศาลยุติธรรมให้ข้อมูล...
ขณะที่ “สราวุธ-เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม” และเลขานุการ ก.ต.ย้ำเอาไว้ว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจเรื่องการแทรกแซงคดี เราระมัดระวังไม่ให้เกิดอยู่แล้ว และการทำงานของผู้พิพากษาเขียนไว้ในกฎหมาย นอกจากพระธรรมนูญ วิธีพิจารณาความอาญา ก็มีชัดเจนในมาตรา 183 กรณีถ้าผู้พิพากษามีความเห็นต่างกัน สามารถทำความเห็นแย้งได้
“หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดชัดเจน ประชาชนต้องได้รับความยุติธรรม มั่นใจได้ว่าผู้พิพากษาศาลยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ ปราศจากการแทรกแซง”
ปมร้อนวงการศาลยุติธรรมดังกล่าว ประเมินดูแล้ว ทาง ก.ต. และตุลาการชั้นผู้ใหญ่ คงต้องการให้เรื่องนี้กระจ่างชัดโดยเร็วแน่นอน เพราะหากคลุมเครือคงไม่เป็นผลดีต่อวงการศาลยุติธรรมทั้งองคาพยพ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |