เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 เวลา 10.50 น. ที่โรงพยาบาลยะลา นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม ได้เดินทางมาเยี่ยมอาการ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา แพทย์ได้ย้ายไปพักผ่อนที่ห้องพิเศษ และไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าเยี่ยมแต่อย่างใด
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ได้เดินทางมาเยี่ยมท่านผู้พิพากษาที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้อาการปลอดภัยดีแล้วอยู่ในระหว่างการดูแลของแพทย์ และต้องเรียนให้ทราบว่าการทำหน้าที่ของศาลยุติธรรม ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ฉะนั้นสามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ว่าการปฎิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาไม่เฉพาะที่ยะลา แต่ทุกศาลทั่วประเทศไทยภายใต้การดูแลของท่านประธานศาลฎีกา ที่สามารถให้คำแนะนำท่านผู้พิพากษาได้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญความเป็นกลางของผู้พิพากษา สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางสำนักงานศาลจะตรวจสอบข้อเท็จจริงหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และหาแนวทางแก้ไขต่อไป ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในวันพรุ่งนี้ตนก็จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งภาพปัญหาทั้งหมด
“สำหรับอาการของท่านขณะนี้รับทราบจากท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่าดีขึ้นแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะต้องอยู่พักรักษาตัวอีกนานเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับทางแพทย์ ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ได้พูดคุยกับท่าน เพียงแต่เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจท่านเท่านั้น ไม่ได้ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าท่านคงจะยังไม่พร้อมที่จะพูด ทั้งนี้ตนเองรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอเรียนให้พี่น้องประชาชนให้ทราบว่ากระบวนการทำงานของศาลยุติธรรม จะเคารพต่อการพิจารณาของท่านผู้พิพากษา ฉะนั้นการแทรกแทรงก็จะมีการระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น ในวัฒนธรรมการทำงานของผู้พิพากษาการดำเนินการต่างๆก็มีเขียนไว้ในกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 183 ว่าถ้าผู้พิพากษามีความเห็นที่แตกต่าง สามารถทำความเห็นแย้งได้ และการทำความเห็นแย้งจะต้องทำเป็นหนังสือ นอกจากนี้ในมาตรา 184 ในคดีอาญา ทางผู้พิพากษาสามารถที่จะปรึกษาหารือกัน และถ้ามีความเห็นแตกต่างกันในคดีอาญา คนที่เห็นเป็นผลร้ายกับจำเลยมากกว่าต้องยอมตามความเห็นของผู้พิพากษาที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า หมายความว่า ถ้าคิดต่างกัน คนหนึ่งเห็นว่ายกฟ้อง คนหนึ่งเห็นว่าควรลงโทษ คนที่เห็นว่าควรลงโทษต้องยอมตามคนที่พิพากษายกฟ้อง ที่เป็นหลักปฎิบัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายมาตราที่ 183 184 หลักเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดเอาไว้มีความชัดเจน พี่น้องประชาชนจะได้รับความยุติธรรม ศาลยุติธรรมพิพากษาด้วยความบริสุทธิ์ ปราศจากการแทรกแทรง และนอกจากนี้จะเห็นว่าคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีความ คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องกับลงโทษ กว่าครึ่งที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ตนขอย้ำว่าศาลมีความเป็นกลาง และมีความอิสระอย่างแท้จริง” นายสราวุธ กล่าว
เลขาธิการศาลยุติธรรม ยังกล่าวอีกว่า สำหรับคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีระบบกระบวนการวิเคราะห์และรายงานตลอดเวลา ปัจจุบันศาลยุติธรรมพิจารณาคดีทั้งประเทศประมาณเกือบสองล้านคดี ฉะนั้นคดีในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนาภาคใต้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรม และมีฐานข้อมูลทั้งหมด ในวันนี้นโยบายของท่านประธานศาลฎีกา ที่ให้พิพากษาคดีให้รวดเร็ว แต่จะต้องมีความรอบคอบ มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ส่วนกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ต้องรับฟังทุกฝ่าย รอบด้าน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |