ฝ่ายค้านล้ำเส้น แตะปมอ่อนไหว เสียแนวร่วม แก้รัฐธรรมนูญ


เพิ่มเพื่อน    

          ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย แบ่งแนวรบออกเป็น 2 ทาง กระบวนการปกติ ช่องทางสภาฯ ผ่านทาง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันใช้เสียงโหวต ขอเลื่อนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยขอเลื่อนให้อยู่ต่อจากญัตติด่วนที่ 6 ในสมัยการประชุมหน้า 

                กระบวนการทางสภาฯ พรรคเพื่อไทย ที่เป็นหัวหอกหลักในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ขับเคลื่อนไป แม้กระบวนการแก้ไข หากว่ากันตามกฎหมายนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ลำพังใช้เสียง ส.ส.ร่วมกันทั้งสภาฯ ยังเสนอแก้ไขไม่ได้ หากสมาชิกวุฒิสภาฯ (ส.ว.) ไม่มาโหวตร่วมด้วย

                250 ส.ว.จากการแต่งตั้งชุดนี้มีจุดยืนชัดเจน เห็นได้จากขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่มีใครแตกแถวแม้แต่เสียงเดียว กระบวนการทางสภาฯ แทบจะปิดช่อง แก้ไขไม่ได้ เพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน ด้วยจำนวนเสียงโหวตแล้วทำอะไรไม่ได้ ทำได้เพียงร้องขอ เสียง ส.ว.ให้สนใจต่อกระแสสังคม กระแสประชาชน ที่ร่วมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่ากระแสใบสั่ง ผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งเข้ามา

                นอกจากกระบวนการทางสภาฯ อันเป็นหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ย้ำหนักแน่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ต่อพรรคการเมือง ต่อนักการเมือง ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องผลักดัน เดินหน้าแก้ไขให้ได้

                หนทางสภาฯ ตามช่องทางกฎหมายที่พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกันผลักดันแล้ว การแสวงหาความชอบธรรมโดยอาศัยพลังประชาชนให้มาเป็นแนวร่วม มีความสำคัญไม่แพ้กัน  เพราะหากกระแสจุดติดเหมือนสมัยธงเขียวรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ก็จะทำให้ กระบวนการต่างๆ ราบรื่นมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็พอจะอธิบายได้ว่า

                ไม่ใช่แค่นักการเมือง พรรคการเมือง กระเหี้ยนกระหือรือตั้งท่าจะรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเองอย่างเดียว แต่ยังมีเสียงสนับสนุนจากนักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทุกกลุ่มสาขาอาชีพเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นอุปสรรคสำหรับพวกเขาเหมือนกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข

                พรรคเพื่อไทยที่ผนึกกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เลยสบช่อง เดินสายไปตามหัวเมืองใหญ่ ทุกภูมิภาค เหนือ อีสาน กลาง ใต้ ฉากหน้าก็บอกว่าจะไปรับฟังเสียงประชาชนที่กำลังประสบปัญหาภาวะปากท้อง แต่เป้าประสงค์หลักที่สำคัญที่ซ่อนอยู่คือ ออกไปหาแนวร่วม หาพรรคพวกให้เป็นพลังเสียง มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอีกช่องทางหนึ่งที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คือ ประชาชน 5 หมื่นราย สามารถเข้าชื่อเสนอแก้ไขได้

                การลงพื้นที่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละครั้ง ขนเอาหัวหน้าพรรค แกนนำพรรค ส.ส.นักปราศรัย รวมไปถึงนักวิชาการ ไปร่วมเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับอีกช่องทางของนักการเมือง ที่จะไปหาแนวร่วม ไปพูดคุยผ่านเวทีสัมนาทางวิชาการ ชี้ให้เห็นถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

                แต่ทว่าการไปเสวนาแต่ละครั้ง เรามักได้ยินวาทกรรมเดิมๆ ความไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมือง นักการเมือง มากกว่าที่จะชี้เห็นเห็นถึงข้อเสีย ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงสิทธิ เสรีภาพ ประชาชนเอาไว้เหมือนเดิม ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่เคยมีมา ไม่เท่านั้น แนวร่วม นักการเมืองที่ไปร่วมเสวนา กลับแสดงออกในท่าทีที่ไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียเอง

                อย่างประเด็นล่าสุดที่เป็นเรื่องเป็นราว พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) มอบหมายให้ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เพื่อให้ดำเนินคดีกับบุคคลรวม 12 คน ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ หลังร่วมกันจัดเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรม หน้าศาลากลาง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 

                นางชลิตา บัณทุวงศ์ อายุ 47 ปี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเสวนาว่า “สถานการณ์ชายแดนใต้ไม่มีทางที่จะดีขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ มันสืบทอดอำนาจของระบอบเหล่านี้ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ปัญหาชายแดนใต้คืออะไร มีผู้อธิบายว่ามีมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักๆ ที่มีน้ำหนักมากก็คือ สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมันเป็นผลพวงของความรู้สึกถึงความไม่ชอบธรรม ความคับข้องหมองใจของผู้คนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง และก็ถูกกีดกันออกจากการพัฒนาต่างๆ แล้วก็ใช้ช่วงเวลา 10-15 ปีมานี้ มันก็เป็นความขัดข้องหมองใจที่เกิดจากการกระทำของรัฐในการกวาดล้าง การใช้กฎหมายพิเศษ รวมถึงเรื่องแนวคิดและอุดมการณ์เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ทั้งหมดเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ

                แต่รัฐมีแนวทางแก้ปัญหาคือ 1.การใช้กำลังทหารและตำรวจในการรักษาความมั่นคง 2.การพัฒนาพื้นที่คุณภาพชีวิต และ 3.การส่งเสริมทางสังคมและวัฒนธรรม พบว่าแนวทางดังกล่าวมีปัญหา เพราะแนวทางเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของกองทัพ ซึ่งที่จริงไม่ควรเป็นงานด้านความมั่นคง แต่ทหารกลับมามีอำนาจและมีบทบาทในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาของประเทศไทยอาจไม่ต้องอยู่กันเป็นรัฐเดียวหรือรวมศูนย์ก็ได้ การแก้รัฐธรรมนูญอาจแก้มาตรา 1 ด้วย ก็ไม่แปลกอะไร”

                และก่อนหน้านี้ ในเวทีเสวนา จ.มหาสารคาม น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ก็เหมารวม ด่ากราด ‘รัฐธรรมนูญเฮงซวยทุกมาตรา’

                ทั้ง 2 กรณี เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมทางลบเป็นจำนวนมาก เรื่องของพรรณิการ์มีผู้ไปยื่นเรื่องเอาผิดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงจะส่งผลไปถึงตัวผู้พูด แต่ยังอาจจะลามไปถึงพรรคอนาคตใหม่ ที่พลอยจะได้รับผลกระทบจากคำพูดดังกล่าวตามไปด้วย

                เรื่องของพรรณิการ์ยังไม่ทันจางหาย ก็มาเกิดประเด็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาจุดพลุ ทำให้เรื่องราวบานปลาย ใหญ่โตไปกว่าเดิม เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่ ฟากฝั่งผู้มีอำนาจไม่พอใจ ยังลามไปถึงความมั่นคงของประเทศชาติ และกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกคนในสังคมอีกด้วย

                แม้หลังเกิดเหตุ พรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค จะดาหน้าออกมาปฏิเสธ ปกป้องชลิตา ไม่ว่าจะเป็น ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย เป็นต้น ที่พร้อมใจกันดาหน้าปฏิเสธว่า

                คำพูดนักวิชาการท่านนี้ไม่เข้าองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ตามที่มีการไปแจ้งความเอาผิด พร้อมกับโยนไปถึงฝ่ายรัฐ โยนให้เป็นประเด็นการเมือง ที่ส่งคนไปแจ้งความดำเนินดคี เป็นการข่มขู่ประชาชนให้เกิดความหวาดกลัว ปิดปากไม่ให้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะนี้อีก

                แม้ตัวแทนแกนนำพรรรคร่วมฝ่ายค้านจะออกมาย้ำอยู่เสมอว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะไม่มีการไปแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 อย่างเด็ดขาด

                แต่ทว่ากระแสสังคม กระแสทางโซเชียลไปไกลกว่านั้น ต่างไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดนี้อย่างสิ้นเชิง ต่างมองไปในทางเดียวกัน เกมนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านล้ำเส้น ลำพังการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ นักการเมืองมายืมมือประชาชน ยุยงเอามาเป็นพวก มัดรวมปัญหาของรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่ดูจะมีแต่วาระ นักการเมือง พรรคการเมือง ก็หนักหนาเอาการแล้ว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ฝ่ายค้าน-แนวร่วม ล้ำเส้นไปไกล ไปแตะ ไปยุ่งในประเด็นอ่อนไหว กระทบกระเทือนความรู้สึกคนในสังคมจนรับไม่ได้

                คำพูดกับการกระทำต่างกันสิ้นเชิง ที่นักการเมือง แนวร่วมบางคน ซ่อนเจตนาเบื้องลึกเอาไว้ไม่มิด ถึงได้แสดงออกมาทางคำพูด สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ในภาวะสังคมบ้านเมืองต้องการความสงบสุข แต่กลับมีบางกลุ่มคนมาจุดพลุขยายความขัดแย้งเสียเอง

                แว่วเสียงพรรคร่วมฝ่ายค้านกำลังจะปรับกลยุทธ์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเดิมออกต่างจังหวัด เปิดเวทีสัมนาทางวิชาการ ยกระดับเป็นเปิดเวทีปราศรัย ขนบรรดาแกนนำพรรค นักปราศรัย ลงไปหาแนวร่วม

                 แต่ผลจากการล้ำเส้น คำพูดที่ไม่สมควร ซ่อนเจตนาเบื้องลึกไม่มิด คงจะตามหลอกหลอนไปทุกเวที แนวร่วมที่คิดว่าจะได้มาเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อน ดีไม่ดีอาจได้แนวต้านกลับมามากกว่า!!.                                                                                                                                            

     ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"