เส้นทางการเมือง พิพัฒน์-รมว.ท่องเที่ยวฯ


เพิ่มเพื่อน    

 จากอาณาจักรธุรกิจพีทีจีฯ สู่คนสนิทเนวิน- ทุนใหญ่ ภท. โกเกี๊ยะ พิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ”

       การเมืองและการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทำให้ถนนการเมืองไทยมีนักการเมือง พรรคการเมืองหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยบางชื่อก็เพิ่งเข้าสู่การเมืองครั้งแรก บางคนก็เป็นพวกอยู่หลังฉาก behind the  scene ทางการเมืองมานาน แต่วันนี้เข้ามาเล่นการเมืองเต็มตัว จนมีชื่อผงาดรับตำแหน่งใหญ่กันหลายคน

          ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ พิพัฒน์ รัชกิจประการ-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา-แกนนำพรรคภูมิใจไทย กับบุคลิกสไตล์ใจถึงพึ่งได้ ที่คนในแวดวงการเมือง-นักธุรกิจเรียกขานกันว่า โกเกี๊ยะแห่งอาณาจักรปั๊มน้ำมันพีทีและรัชกิจ โฮลดิ้งฯ ที่มีมูลค่าทางธุรกิจระดับแสนล้านบาท ที่วันนี้เข้ามากุมบังเหียนกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แทนภรรยา เจ๊เปี๊ยะ-นาที รัชกิจประการ เหรัญญิกพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่สามารถรับตำแหน่งได้จากปัญหาเรื่องบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. หลังสองสามี-ภรรยา เจ๊เปี๊ยะ-โกเกี๊ยะ ที่รับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ ทำให้พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.เขตในภาคใต้ 8 ที่นั่ง รวมกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์โควตาภาคใต้อีก 3 คน รวมเป็น 11 เสียง

       พิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ และแกนนำพรรคภูมิใจไทย เล่าถึงการเข้าสู่ถนนการเมืองไทย ตั้งแต่การตั้งรกรากของครอบครัว การทำธุรกิจ ที่เริ่มเรียนรู้การทำการค้า ด้วยการเป็นเด็กขายของในตลาดกิมหยง-หาดใหญ่ จากนั้นก็ทำอีกหลายอาชีพ เช่น ทำประมง จนมาถึงการทำธุรกิจปั๊มน้ำมัน ที่ต่อมาเติบโตจนเป็นกลุ่ม ภาคใต้เชื้อเพลิง ที่ทำธุรกิจคลังนํ้ามัน-ค้าน้ำมัน และเมื่อกิจการขยายใหญ่ ก็จดทะเบียนเป็น บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกนํ้ามันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป ภายใต้ปั๊มนํ้ามัน PT ในปัจจุบัน รวมถึงการเล่าถึงการเข้าสู่การเมือง ผ่านความสัมพันธ์ทางการเมือง-ธุรกิจกับบุคคลบางกลุ่ม เช่น วัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย และ เนวิน ชิดชอบ นักการเมืองคนดังแห่งบุรีรัมย์ ผู้มีบารมีตัวจริงของพรรคภูมิใจไทย

        พิพัฒน์ เล่าว่า เป็นคนต่างจังหวัด มาจากจังหวัดสงขลา ซึ่งปู่ ย่า ตา ยาย ก็เป็นชาวสวน ที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยแบบเสื่อผืนหมอนใบ มาเช่าที่ปลูกผักในอดีต ที่อำเภอหาดใหญ่ หลังจากนั้นพ่อแต่งงานกับแม่ ก็มาค้าขายในตลาด ผมก็โตขึ้นมา แล้วก็ไปเรียนหนังสือ มีเวลาเราก็ไปช่วยแม่ขายของในตลาด ที่ก็คือ ตลาดกิมหยง ที่หาดใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนตลาดกิมหยงเป็นตลาดคนจีน ที่จะแตกต่างจากปัจจุบันไปมาก ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ความเป็นพ่อค้า แม่ค้า มาตั้งแต่เด็กๆ

         ชีวิตผมก็ทำมาหลายอาชีพ เช่น ทำสวน ทำประมง ด้วยความที่ผมทำประมง ก็ทำให้ผมเป็นคนมีพรรคพวก มีเพื่อนทำประมงเยอะ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอันดามันหรืออ่าวไทย ซึ่งในอดีตฝั่งอันดามันก็จะไปลากปลา ที่ส่วนมากไม่ได้ลากในประเทศไทย เพราะมันหมดไปแล้ว หมดไปนานแล้ว ส่วนมากก็จะลากปลาข้ามประเทศไปถึงบังกลาเทศ ไปถึงพม่า เข้ามาเลเซีย จนไปถึงอินโดนีเซีย แต่ถ้าฝั่งทางนี้คือฝั่งทางตะวันออก ก็ไปถึงออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งต้องบอกว่า กองเรือประมงไทยอันดับ 1 ของโลกในเรื่องการทำประมง

        ด้วยการมีที่มาตรงนั้น ก็เลยเป็นที่มาที่ทำให้ผมได้ก้าวเข้าไปสู่การทำธุรกิจน้ำมัน ใหม่ๆ ตอนเริ่มทำ ผมก็ซื้อมาแล้วก็ขายไป แล้วพอซื้อมา ผมก็ไปสร้างคลังน้ำมัน ซึ่งสร้างครั้งแรกที่จังหวัดชุมพร เพราะชุมพรเป็นจังหวัดที่อยู่ระหว่างสองฝั่งทะเล คืออ่าวไทยและอันดามัน สมัยก่อนเราจะรู้เลยว่า ถ้าเรือประมงต้องมหาชัย แม่กลอง ชุมพร สงขลา แต่ถ้าเป็นอันดามัน ก็คือ ระนอง เข้าไปพม่า เข้าไปบังกลาเทศ แล้วการที่เรือประมงมาเติมน้ำมันครั้งละ 15,000 ลิตร ผมก็ซื้อมาแล้วก็ขายไป โดยซื้อจากบริษัทในกรุงเทพมหานคร แล้วก็ไปสร้างแทงก์ แล้วก็นำไปขายต่อ ซึ่งเวลานั้นการคมนาคมก็ยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ก็เป็นที่มาของการที่ค่อยๆ โตขึ้น โตขึ้น โตขึ้น

        พิพัฒน์-แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อไปว่า สำหรับความสัมพันธ์กับนายวัฒนา อัศวเหม มีมายาวนาน เพราะท่านวัฒนากับผมเคยมีความสัมพันธ์ที่พูดง่ายๆ ก็คือว่า ท่านวัฒนากับพ่อผมเป็นคนบ้านเดียวกัน คือพ่อผม ปู่ของผม เป็นคนสมุทรปราการ ก็เลยคล้ายๆ กึ่งญาติกัน ก็เลยมีความสัมพันธ์กับท่านวัฒนา ที่ตอนหลังครอบครัวผมก็ย้ายมาตั้งรกรากที่หาดใหญ่ พ่อผมก็ไปทำสวน ทำไร่ ที่สตูล ผมเลยมีรกรากอยู่ 2 แห่งคือที่หาดใหญ่กับสตูล ซึ่งปัจจุบันนี้ผมก็มีทั้งสวนปาล์ม สวนยาง เลี้ยงกุ้ง ทำประมงที่สตูล ค่อนข้างเยอะ ต้องบอกว่าธุรกิจส่วนใหญ่ก็อยู่ที่หาดใหญ่กับสตูล

        ...ที่ผมไปสัมพันธ์กับท่านวัฒนา ก็เพราะหลังจากที่คุยกันแล้ว อะไรกันแล้ว ก็มีความสนิทชิดเชื้อ จนต่อมาวันหนึ่งคุณวัฒนาก็ไปตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อพรรคราษฎร ท่านก็บอกผมว่า พี่ก็ไม่มีใครในพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ ท่านก็บอกผมว่า ซ้ง ซึ่งเป็นชื่อที่ท่านเรียกผมคือซ้ง ว่าให้ผมไปรับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคใต้ แต่ผมก็บอกท่านวัฒนาไปว่าผมไม่มีความรู้การเมือง แต่สุดท้ายก็เป็นที่มาที่ทำให้ผมต้องลงมาเล่นการเมืองในการเลือกตั้งปี 2544 แต่ผมก็ไม่เคยอยู่ข้างหน้า ผมก็อยู่ข้างหลังตลอด แต่พรรคเราก็ไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย เพราะตอนนั้นยังไม่มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาเป็นตัวช่วย คือใครชนะเขตก็ได้เป็น ส.ส. แม้ตอนนั้นในภาคใต้ เราจะส่งแค่ 22 เขต แต่ผู้สมัครของพรรคราษฎร คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ถึง 15 เขตเลือกตั้ง แต่ ส.ส.เขตที่ชนะเป็นประชาธิปัตย์ทั้งหมด

        หลังจากนั้น ตอนเลือกตั้งปี 2548 ผมก็เข้าไปช่วยพรรคไทยรักไทย เพราะตอนนั้น คุณวัฒนาไม่ได้ทำพรรคราษฎรต่อ เพราะไปทำพรรคมหาชน กับพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เมื่อผมเห็นว่าท่านวัฒนาไม่ได้ดูแลพรรค ผมก็ลาออกมา แล้วก็ไปช่วยงานการเมืองกับคุณเนวิน ชิดชอบ เพื่อรับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้ง สตูลกับพัทลุง ให้กับพรรคไทยรักไทย จนเมื่อการเลือกตั้งปี 2548 จบลง ผมก็หยุดการเมืองยาวเลย

        ...เพราะไปทำมา 2 สมัย พูดตรงๆ มันบอบช้ำมาเยอะ ผมก็เลยขอหยุด เพราะตอนนั้นสู้ยังไงก็สู้ประชาธิปัตย์ไม่ได้ ก็หยุดยาวเลย แต่ก็ธรรมดา คนมีพวก ใครลงเราก็สนับสนุนคนละเล็กคนละน้อย ก็ช่วยไป แต่ผมก็มีทีมงาน สิ่งที่เราสนับสนุนโดยทั่วไป ก็เป็นโจทย์ที่ตอบกลับมาว่า วันหนึ่งที่เราจะลงมาสู้จริงๆ เรามีทีมอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ทีมเราแข็งแรงขึ้นเท่านั้น จึงเป็นที่มาที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.เขต 8 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 2 คน และรวมศุภชัย ใจสมุทร อีกคนก็เป็น 11 คน ทางภาคใต้ ก็เป็นที่มาที่ทำให้ผมได้มานั่งอยู่ตรงนี้

สัมพันธ์แบบร่วมเป็นร่วมตายกับ 'เนวิน'

        พิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ ซึ่งแวดวงการเมืองและคนภาคใต้บอกว่าก่อนที่เขาจะทำให้พรรคภูมิใจไทยประสบความสำเร็จในภาคใต้ แต่จริงๆ คนในพื้นที่ด้ามขวานอ่าวไทยจรดอันดามัน รู้จักชื่อ โกเกี๊ยะแห่งปั๊มน้ำมันพีที มานานแล้ว บอกว่า ที่ได้มานั่งเป็น รมว.การท่องเที่ยวฯ ก็บอกตรงไปตรงมา ผมไม่ใช่ตัววางหรอกครับ เพราะผมทำงานเบื้องหลังตลอด ผมให้ภรรยาผมเดินหน้าตลอด แต่เขาจะลงในลักษณะสัมผัสพื้นที่ แต่ของผมจะลงในลักษณะเป็นแบ็กหลัง คอยตีโอบ เช่น ผู้นำชุมชน ผมก็จะไปดูแล ไปประสาน ขอความช่วยเหลือเขา ถึงเวลาไม่มีเลือกตั้ง แล้วเขาจะเลือก เขามาขอความช่วยเหลือจากเรา เราก็โอเค เพราะในฐานะพรรคพวกเพื่อนฝูง

         สำหรับความสัมพันธ์ทางการเมืองและธุรกิจระหว่างพิพัฒน์กับ เนวิน ชิดชอบ ผู้ก่อตั้งพรรคภูมิใจไทยและพี่ชาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เขาเล่าเกร็ดการเมืองให้ฟังว่า ผูกพันกับเนวินมานานแล้ว ส่วนคุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ผมมารู้จักสนิทตอนหลังจากที่มีการตั้งพรรคภูมิใจไทย

        ...สาเหตุที่สนิทผูกพันกับคุณเนวิน เพราะตอนเลือกตั้งปี 2548 ตอนนั้นคุณทักษิณ ชินวัตร มอบหมายให้เนวินลงไปดูแลพื้นที่เลือกตั้งทางใต้ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เดินประกบคู่กับเนวิน ชิดชอบ ในการหาเสียงในภาคใต้ช่วงนั้นก็เดินคู่มาตลอด ก็เดินมาด้วยกัน แล้วต่อมาสมัยหลังเลือกตั้งปี 2550 มีการตั้งกลุ่มเพื่อนเนวิน (พรรคพลังประชาชน) ผมก็ส่งภรรยาผมไปเป็นเลขานุการประธานรัฐสภา คุณชัย ชิดชอบ

        "ลึกๆ ที่ผมกับคุณเนวิน เราทิ้งกันไม่ได้ สาเหตุเกิดขึ้นจากตอนปี 2549 คือขณะที่มีการรัฐประหารโดย คมช. ผมบอกได้เลย ผมอยู่กับคุณเนวินตลอด ยุคที่ทหารเข้าไปไล่จับ ปิดล้อม ผมอยู่กับเนวินตลอด เราอยู่ด้วยกัน เราไม่เคยหันหลังเดินหนีออกจากกัน เราอยู่ด้วยกันสองคน มันก็เลยเป็นความซึ้งใจและกินใจ ว่าเราคบกันด้วยใจ ไม่ใช่เพราะเรื่องผลประโยชน์ ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากใจ นี่คือที่มาว่าทำไมผมต้องอยู่ภูมิใจไทย และหากผมต้องออกจากภูมิใจไทย ผมก็คงจะยุติบทบาททางการเมืองทันที เพราะผมหักหลังเนวินไม่ได้ เพราะเราเดินร่วมกันมาขนาดนี้แล้ว มันไม่มีใครสามารถมาแยกเราออกจากกันได้ เพราะมันเหมือนกับ เวลานั้น หากเราจะตาย เราก็ตายด้วยกัน ก็น่าจะคิดกันเองได้ว่า ที่ผมบอกเราอยู่ด้วยกันสองคน แล้วทำไมผมกับคุณเนวินถึงอยู่ด้วยกันสองคน เกิดอะไรขึ้นถึงอยู่กันสองคน ในขณะที่เนวิน ตอนนั้นเขาหายไปอยู่ช่วงหนึ่ง"

      ทั้งนี้ จากการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของ ส.ส.เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ส.ส.ที่รวยที่สุดคือ นางนาที รัชกิจประการ ที่มีทรัพย์สิน 4,674,631,83 บาท และแจ้งว่า นายพิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ สามีมีทรัพย์สิน 4,603,035,225 บาท

       เมื่อเราถามว่า จากทรัพย์สินที่มีการเปิดเผยดังกล่าว ทำให้คนก็มองว่าเขาคือกลุ่มทุนการเมือง แล้วจะทำให้ต่อจากนี้จะถูกจับตามองมากขึ้นหรือไม่ พิพัฒน์-แกนนำพรรคภูมิใจไทย พูดเรื่องนี้ไว้ว่า 

        ตั้งแต่ผมยังไม่ได้มาเล่นการเมืองขนาดนี้ ผมก็จ่ายอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็ต้องเรียนตรงไปตรงมา ผมเป็นคนมีเพื่อนเยอะ เมื่อเพื่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง เราในฐานะที่ต้องบอกว่าเรามีตังค์ ต้องพูดอย่างนี้ อดีตผมพูด คนอาจเชื่อว่าผมไม่มีตังค์ แต่วันนี้ผมไปพูด ก็ไม่มีใครเชื่อว่าผมไม่มีเงิน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกเปิดเผยไปแล้วว่าเรามีตังค์ แต่ในอดีต ใครมาขอ ผมก็ให้หมด นักการเมืองท้องถิ่น ไม่ว่าจะระดับ อบต. เทศบาล หรือ อบจ. ใครขอ ผมก็ให้หมด แล้วผมก็ดูแลพรรคพวก ก็เป็นที่รู้กันในทางใต้ว่า ถ้ากล้าขอผม ผมก็กล้าให้ เพราะฉะนั้นการที่ผมเป็นนายทุนทางการเมือง ไม่ได้เพิ่งเป็นครับ แต่เป็นมานานแล้ว เป็นมาหลายสิบปีแล้ว เป็นมายี่สิบปีแล้ว ซึ่งมันก็ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย

       -เพราะเหตุใดภูมิใจไทยจึงประสบความสำเร็จในพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ ผลที่ออกมาหลายคนคาดไม่ถึงว่าพรรคจะได้ ส.ส.ในภาคใต้ถึงระดับนี้?

        ผมเชื่อว่าคนทั้งประเทศคาดไม่ถึง แต่คนภาคใต้เขารู้ เพราะคนภาคใต้เขาพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า ต้องเปลี่ยน แต่เขาก็พูดกันว่า แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปไหน ก็จะดูว่าพรรคไหนมีความจริงใจ เขาก็เปลี่ยนไปทางพรรคนั้น แต่ว่าช่วงจังหวะตอนนั้น เราไม่ได้เป็นรัฐบาล ตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราก็เป็นพรรคฝ่ายค้าน และที่สำคัญในอดีต ผมไม่มีลูกพรรค มีแต่แม่ทัพ คือภรรยาผม ส่วนผมก็อยู่เบื้องหลังแม่ทัพ ภรรยาผมก็จะบุกไปเรื่อย ผมก็คอยตามซัพพอร์ต เปรียบเสมือนเขาเป็นแนวหน้าหัวหมู่ทะลวงฟัน ผมก็พยายามเก็บ และตบให้เข้ารูป

        ซึ่งเราทำไม่ทัน หากเราทำอะไรได้ทัน ผมเชื่อว่าพรรคจะได้ ส.ส.เขตภาคใต้มากกว่านี้ เป้าหมายที่ผมตั้งไว้มันมากกว่านี้ แต่ได้เท่านี้ เราก็พอใจแล้ว เพราะพรรค หัวหน้าพรรคบอกว่า หากเราได้ ส.ส.เขต 2 คน ก็ถือว่าเก่งแล้ว ทางบุรีรัมย์ (เนวิน) บอกว่า หากพี่ได้ ส.ส.มา 4 คน ผมก็ว่าพี่สุดยอดแล้ว แต่วันนี้ผมทำมาได้ ส.ส.เขต 8 คน รวมปาร์ตี้ลิสต์อีก 3 คน ก็เป็น 11 คน แต่ความตั้งใจผม ผมตั้งเป้าไว้ถึง 16 คนด้วยซ้ำ แต่เราผิดพลาดทางเทคนิคนิดหน่อย ต้องบอกว่าผมวิ่งคนเดียว ผมทำไม่ทันหรอก แล้วถึงเวลา พลังประชารัฐ ก็ลงมาจนเราทำอะไรไม่ได้ ต้องถอย ถอย หลายจังหวัด ผมสู้ สู้ สู้ แต่ถึงเวลาผมต้องถอยหลังเลย จนผมต้องโทรศัพท์หาพรรคเก่า ว่าไม่ต้องระวังผม ให้ระวังพลังประชารัฐ แล้วก็เป็นจริง พลังประชารัฐได้ ส.ส.เขตไป 13 ที่นั่ง มาจากศูนย์เลย บางจังหวัดเรารู้ว่าไม่ได้ ผมถอยเลย อย่างจังหวัดใหญ่ๆ ถอยไปหนึ่งจังหวัด

........................................................

ท่องเที่ยวชุมชน เสริม ศก.ฐานราก  กับแนวคิดลดภาษีนำเข้าแบรนด์เนม

       หลังทำงานในเก้าอี้ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาฯ มาได้ 2 เดือนกว่า พิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ แสดงความเชื่อมั่นว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เหลืออีกไม่ถึง 3 เดือนก็จะสิ้นปี 2562 ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงรายได้ที่ได้จากการท่องเที่ยวที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ จะสามารถทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และหลังจากนี้สิ่งที่จะผลักดันเป็นพิเศษ ก็คือการท่องเที่ยวชุมชน-การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ฐานราก สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

        ...โจทย์ของรัฐบาลชุดปัจจุบันต้องการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งการกระจายรายได้สู่ชุมชน เราก็ต้องบอกว่า รายได้การท่องเที่ยวปัจจุบันจะกระจุกอยู่ในเมืองท่องเที่ยวที่เป็นเมืองหลัก

        เมื่อเราตั้งโจทย์ให้การท่องเที่ยวต้องกระจายรายได้สู่ชุมชน เราก็ต้องไปดูลู่ทางในเรื่องของชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับและได้เรียนรู้มา ก็พบว่าแต่ละชุมชน แต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัด-อำเภอทั่วประเทศไทย แต่ละพื้นที่ก็จะมีขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีความแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ก็จะมีวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย

        ตรงนี้ผมก็พยายามที่จะหาอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละชุมชน หยิบขึ้นมาเพื่อที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะได้ทำการสร้างขึ้นมาให้เป็นภาพรวมที่ดูดีและสร้างอัตลักษณ์ใหม่ สร้างอีเวนต์ลงไปเพื่อจะได้เป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับคนในประเทศ ผมจะเน้นคนในประเทศก่อน คือวันนี้เราต้องการเน้นว่าให้คนไทยเที่ยวในเมืองไทย ซึ่งผมเท่าที่ดูมาพบว่าคนไทยเรามีกำลังซื้อ โดยดูได้จากในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวของไทย จะพบว่ามีคนไทยออกเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเยอะมาก สังเกตได้จากในช่วงวันหยุดยาวของคนไทย เช่น วันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ หรือวันหยุดยาวที่รัฐบาลประกาศให้เป็นช่วงวันหยุดยาว รวมกันแล้วประมาณ 4-5 วัน หากไปที่สนามบิน ก็จะมีคนไทยแออัดที่สนามบิน เพราะเขาจะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ 

        ตรงนี้ก็คือว่าแล้วเราจะทำอย่างไรที่จะให้คนในกลุ่มนี้เขาเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยผมกำลังจะบอกว่า คนไทยรู้จักสถานที่ แหล่งท่องเที่ยวน้อยกว่าคนต่างชาติเสียด้วยซ้ำ อย่างสถานที่ แหล่งท่องเที่ยว จุดที่น่าสนใจใหม่ๆ หลายแห่ง คนต่างประเทศเขารู้จัก แต่คนไทยไม่รู้ โดยคนไทยเราจะมารู้ก็ต่อเมื่อคนต่างชาติเขามาเที่ยว และเริ่มดัง เราถึงจะเดินทางไปเที่ยวตามคนต่างชาติเขา อย่างกรณีชาวตะวันตก พวก Backpacker เขาจะเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ ในจุดที่ยังใหม่ เปิดใหม่ สถานที่ทางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ยังมีธรรมชาติที่สวยงาม แต่ยังไม่มีใครรู้จัก คนต่างชาติเขารู้จักสถานที่ต่างๆ เหล่านี้มากกว่าเรา แล้วเขาก็เดินทางไปท่องเที่ยว และเมื่อไปเที่ยวแล้ว เป็นที่รู้จัก มีการพัฒนาขึ้นมา จากนั้นคนไทยก็จะเริ่มไปท่องเที่ยวตาม

     พิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ ย้ำว่าต่อจากนี้เราจะไม่ทำแบบนั้น เราจะพยายามค้นหาใน 77 จังหวัด ว่าตรงไหนมีขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างไร ในพื้นที่นั้นๆ มีวัฒนธรรมอย่างไร มีประวัติศาสตร์อย่างไร มีภูมิศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างไร เราก็จะพยายามลงไปดูตรงนั้นแล้วก็สร้างเป็นอีเวนต์ขึ้นมา โดยเฉพาะในปีหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีการคุยกันภายในกระทรวง ว่าจะต้องมีการหารือกันภายในหน่วยงานต่างๆ ของการท่องเที่ยวและกีฬา เช่น กรมการท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศ ว่าได้มีการสำรวจอะไรมาบ้าง และที่สำคัญจะมีการไปเชิญผู้รู้ในด้านวัฒนธรรม  ด้านประวัติศาสตร์มาเป็นที่ปรึกษา แล้วเราก็จะเดินตามรอยตรงนั้นไป เพื่อเราจะได้มาสร้างอีเวนต์แล้วเชิญชวนให้คนไปท่องเที่ยว

                ยกตัวอย่างที่ได้มีการจัดงานไปเมื่อเร็วๆ นี้ที่จังหวัดพัทลุง ในงาน 390 ปีแห่งเมืองชัยบุรี ซึ่งตรงนั้น ผมในฐานะเป็นคนภาคใต้ ยังไม่เคยรู้เลยว่าเมืองเก่าชัยบุรีเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเป็นพันปี แต่ที่เราจัดงาน 390 ปีเพราะมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา เราก็หยิบธีมตรงนั้นมา โดยมีการสร้าง story เท้าความไปว่าตั้งแต่เมื่อพันปีที่แล้ว ประวัติศาสตร์เมืองพัทลุงมีอะไรบ้าง ผมก็จะนำโมเดลดังกล่าวไปจัดในจังหวัดอื่นๆ ต่อไปทั้ง 77 จังหวัด ตรงนี้เมืองท่องเที่ยวหลักเขามีอยู่แล้ว แต่ผมก็เชื่อว่าในเมืองหลักบางจังหวัด ในบางอำเภอ บางหมู่บ้าน เขาก็มีประวัติศาสตร์ มีอัตลักษณ์ของเขา เราก็ต้องไปค้นหามาแล้วสร้างจัดงานให้เขา เพื่อให้คนเดินทางไปท่องเที่ยว

                ที่สำคัญบางแหล่งบางพื้นที่มีเรื่องของอาหารที่อร่อย เราก็ต้องให้เขาค้นหาว่าในแต่ละแหล่งชุมชน มีอาหารพื้นบ้านอะไรที่อร่อย แล้วเราก็ยกฐานะขึ้นมา มีการจัดงานให้เขา แล้วให้คนที่มีความรู้ด้านนี้ที่กำลังอาจจะสูญหายให้มีการต่อยอด แล้วสร้างรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อให้คงไว้ อย่างกรณี "สาคู" ที่เรียกกัน  "ขนมเปียกสาคู" แต่ถามจริงๆ ว่าใครรู้บ้างว่า สาคู ทำมาจากอะไรต้นตำรับ คนก็รู้ว่าสาคูทำมาจาก แป้งมันอันเล็กๆ แต่จริงๆ สาคูมีจุดเริ่มต้นมาจาก ต้นสาคู ที่เป็นพืชชุ่มน้ำ ลักษณะคล้ายต้นปาล์ม จนเกิดเป็นเม็ดสาคู แล้วทำเป็นขนมสาคู ซึ่งรสชาติจริงๆ จะไม่เหมือนแป้งมัน ซึ่งหากเราจะรณรงค์เรื่องเหล่านี้เราก็ต้องส่งเสริมให้มีการปลูกต้นสาคู ไม่เช่นนั้นต้นสาคูตัดไม่กี่ครั้งก็คงหมดไป เราก็ต้องรณรงค์ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเขาทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ปลูกปาล์มก็ไม่ขึ้น แต่หากเราส่งเสริมให้เขาปลูกสาคูก็จะเป็นการสร้างอาชีพ ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลายอย่างในเรื่องของอาหารพื้นบ้านที่ทำมาจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ เราก็ต้องสร้างให้เกิดอาชีพ พอมีอาชีพขึ้นมาแม่ค้าก็ได้ขายขนม แต่ชาวบ้านได้ปลูกต้นสาคูมาขาย สิ่งนี้คือการสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้าน

     พิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ผมอยากจะฟื้นขึ้นมาและอยากประชาสัมพันธ์ออกไปก็คือ วันนี้วิถีชุมชนหรือเกษตรกรตามท้องไร่ท้องนาจะใช้แต่สารเคมี ซึ่งหากลองเข้าไปเดินในทุ่งนา ไปเที่ยวเชิงนิเวศน์หรือเชิงเกษตร เราจะไม่เห็นปลาในนาเลย แต่หากเป็นสมัยก่อนในอดีต โดยเฉพาะฤดูน้ำหลากช่วงชาวนาปลูกข้าว ก็จะเห็นชาวบ้านไปยืนตกปลาอยู่ข้างคันนา ซึ่งปลาที่ตกได้ก็ไม่ใช่ปลาใหญ่ ก็เป็นปลาหมอตัวเล็กๆ ลูกปลาสวาย ปลาเนื้ออ่อน รวมถึงกบที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อันหมายถึงพื้นที่นั้นยังบริสุทธิ์ไม่มีสารเคมี ก็เริ่มมีการคุยกันว่าการท่องเที่ยวเชิงชุมชนอย่างโฮมสเตย์ ซึ่งคนที่มาพักคือคนต่างชาติ แล้วพอตกกลางคืนพวกชาวนาชาวสวนก็จะออกไปหาปลาหากบโดยคาดไฟไว้ที่หัว เพื่อนำมาเป็นอาหารหรือนำไปขายในตลาด ซึ่งหากเราไปดูตลาดสดในต่างจังหวัด เราก็จะเห็นพวกลูกกบลูกเขียดที่เขาขายในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ก็ยังมีอยู่ สิ่งเหล่านี้คือการย้อนยุคสู่วิถีธรรมชาติ

     ตรงนี้เรานำมาทำเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวได้ ที่เป็นสิ่งใหม่ ที่นักท่องเที่ยวอย่างชาวตะวันตก คนยุโรปไม่เคยเจอ ไม่เคยสัมผัส แล้วพอเขามาเจอในบ้านเรา เมื่อเขามาพักในโฮมสเตย์ต่างจังหวัด แล้วมาเจอ มันก็เป็นสิ่งใหม่ที่เขาอยากจะรู้ เพราะพอมาอยู่แล้วเขาเห็นชาวบ้านในชุมชน ตอนกลางคืนออกไปทำอะไรกัน เขาก็ออกมาตามไปเที่ยวดูด้วย พอมีคนอยากตามดูกันเยอะๆ แล้วจะขอไปดูกัน ก็เลยเกิดมีค่าจ้างในการพาไปเที่ยวชม แล้วพอไปแล้วก็นำสิ่งที่จับได้มาทำเป็นอาหารให้กับนักท่องเที่ยวที่พักในโฮมสเตย์ ก็เลยยิ่งเกิดมีรายได้เสริมขึ้นมา ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ

      ...วันนี้พฤติกรรมของคนที่ท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งแน่นอนว่าการท่องเที่ยวหลักก็ยังคงเป็นเช่น การเที่ยวทะเล เพราะเรามีชายหาดที่สวย แต่เมื่อมาบ่อยๆ เขาก็อยากเปลี่ยนบรรยากาศ จากเมื่อมาเที่ยวทะเลเช่น พัทยา เกาะช้าง หัวหิน ไปจนถึงทะเลแถบอันดามัน มากันที 14 วันหรือบางทีเป็นเดือน  บางทีเขาก็อยากเปลี่ยนบรรยากาศ ก็อาจมีสัก 1-2 คืนก็อยากไปเที่ยวรอบนอกที่เป็นธรรมชาติอีกแบบ

     พิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ ยืนยันว่า นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพราะไม่ได้ไปทำลาย แต่ทำให้เกิดการฟื้นฟูเสียด้วยซ้ำ ถ้าเราอยากให้สิ่งเหล่านี้ที่มันหายไปในท้องนา อยากให้มันฟื้นกลับมาได้ พวกเราก็ต้องลดการใช้สารเคมี แล้ววิ่งเข้าหาออร์แกนิก เมื่อมีพืชผลการเกษตรออร์แกนิกเกิดขึ้น มูลค่าก็จะเพิ่มสูงขึ้นไป 2-3 เท่าตัว โดยเฉพาะข้าว พืชผัก ผลไม้

     .......ในยุโรปที่เกิดกรณีเกรตตา ธันเบิร์ก นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปีชาวสวีเดน ที่ออกมารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มีการรณรงค์ว่าไม่ให้คนในแถบประเทศสแกนดิเนเวียขึ้นเครื่องบิน เพราะการขึ้นเครื่องบินเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะทำให้ธารน้ำแข็งละลาย คือพยายามรณรงค์ให้เที่ยวในประเทศข้างเคียงที่สามารถเดินทางได้ด้วยรถไฟ หากเป็นแบบนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลยที่คนในประเทศแถบดังกล่าวจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ก็จะหมดโอกาส เราก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าแม้จะเกิด pollution เพราะเดินทางด้วยการนั่งขึ้นเครื่องบินมา แต่เรากำลังลดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เรากำลังวิ่งเข้าหาธรรมชาติ ด้วยการทำสิ่งอื่นขึ้นมาเป็นการทดแทน

      -ตัวเลขนักท่องเที่ยวและรายได้ จนถึงตอนนี้จะถึงตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่?

     จากสถิติตัวเลขที่เก็บมาจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม เราก็ยังมีความมั่นใจว่าตัวเลขเข้าเป้าคือ 40 ล้านคน  และรายได้ก็คงไม่ห่างจากเป้าที่วางไว้คือ 3.3 ล้านล้านบาท ก็น่าจะได้ตามเป้าตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้ แต่สำหรับปีหน้า 2563 กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เราก็พยายามที่จะไปหาแนวร่วม และเราพยายามที่จะสร้างอีเวนต์ให้ได้ 77 จังหวัด โดยการดึงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประเพณี แล้วนำมาจัดเป็น "กลุ่มจังหวัด" คือหากเราจัดทุกจังหวัดคงทำไม่ทัน แต่เราจะทำแบบหนึ่งจังหวัดใหญ่ หรือหนึ่งเมืองหลัก สองเมืองรอง หรือสามเมืองรอง ที่อยู่รอบข้างเมืองหลัก โดยจัดงานที่เมืองหลักแล้วพ่วงจัดงานที่เมืองรองด้วย แล้วสร้าง story ขึ้นมาในจังหวัดนั้นๆ ที่เขาเคยมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ หรืออ้างอิงประวัติศาสตร์ขึ้นมาได้ แล้วสร้างเป็นงานขึ้นมาเพื่อให้คนไปท่องเที่ยว

     ...อย่าง ไทยเที่ยวไทย ตัวเลขรายได้การท่องเที่ยวที่เราจัดเก็บมาได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะมีรายได้ประมาณหนึ่งในสามจากรายได้ของการท่องเที่ยวทั้งหมด อย่างประมาณการรายได้จากการท่องเที่ยวที่ตั้งไว้ 3.3 ล้านล้านบาท จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเองประมาณหนึ่งในสาม  ก็คือประมาณ  1.1 ล้านล้านบาท เราก็ต้องตีโจทย์กันว่าแล้วปีหน้าเราจะทำอย่างไร ให้ 33 เปอร์เซ็นต์ของการท่องเที่ยวในประเทศขยับขึ้นไปเป็น 40-45 เปอร์เซ็นต์

     วันนี้ถามว่าคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศกันเยอะไหม ก็เห็นกันอยู่แล้ว ตอนวันหยุดยาวเราก็อยากให้เป็นว่าสนามบินแน่น แต่ให้แน่นที่สายการบินภายในประเทศ ไม่ใช่แน่นที่สนามบินที่บินไปต่างประเทศ ตรงนี้ตอบโจทย์ได้ง่ายนิดเดียว ค่าตั๋วเครื่องบินบ้านเราแพง อย่างผมอยากจะบินไปกลับกรุงเทพฯ-เกาะสมุย ค่าตั๋วเครื่องบินก็ประมาณหมื่นเศษๆ หรือถูกสุดก็ประมาณแปดพันกว่าบาท หรือจะบินไปภูเก็ตก็ราคาใกล้เคียงกัน แต่หากเราจะบินไปฮ่องกง สิงคโปร์ ราคาก็ขยับมาประมาณเท่ากัน   แต่วันนี้ที่เราได้เปรียบคือค่าเงินบาทเราแข็ง พอออกไปใช้ในต่างประเทศก็ทำให้เราซื้อของได้ในราคาถูก

     พิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ ยังได้พูดถึงแนวทางการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ชอบช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม ผ่านแนวทางการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งเขาให้รายละเอียดแนวคิดดังกล่าวไว้ดังนี้

     ...ที่สำคัญสินค้าแบรนด์เนม คนไทยชอบไปซื้อของแบรนด์เนมจากต่างประเทศ เพราะเราไม่สามารถซื้อของแบรนด์เนมจากต่างประเทศได้ เพราะเจอภาษีนำเข้าที่สูงก็เลยไม่มีคนซื้อ ก็อยากจะถาม และสะท้อนกลับไปยังรัฐบาลว่าในเมื่อไม่มีคนซื้อ หน่วยงานของรัฐน่าจะหาโจทย์ ไปสุ่มแล้วก็คิดดูกันว่า ถ้าเราเก็บภาษี ณ วันนี้ พวกของแบรนด์เนมทั้งหมดเราเก็บภาษีได้ แล้วเราได้ภาษีจากสินค้าแบรนด์เนมสักเท่าไหร่ต่อปี

     ...แล้วสมมุติเปรียบว่า เช่นลดให้เหลือสัก 5 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่รัฐบาลในอดีตก่อนหน้านี้ เคยตั้งโจทย์กันว่าหากลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมให้เหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ บวกกับ vat อีก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อว่าคนไทยที่ไปช็อปปิ้งในต่างประเทศ ที่ช็อปไปแล้วนำเข้ามาก็ยังไม่รู้จะโดนตรวจหรือไม่โดนตรวจ ซึ่งค่าเงินบาทก็เป็นตัวแปรตัวหนึ่ง แต่หากเราทำให้มันลงมาตรงนี้ โดยให้เขาทำการพิสูจน์ก่อน แล้วสุดท้ายหากมีการปรับลดภาษีลงมาจากที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน โดยปรับลงมาเหลือทั้งหมดคือ 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ compare แทนที่คนไทยจะไปซื้อแบรนด์เนมกลับมาจากเมืองนอก แล้วสุดท้ายได้ภาษี อันไหนจะได้มากกว่ากัน ผมก็อยากให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเก็บภาษีให้มาทำสุ่มตัวอย่างอันนี้

     พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก แต่ไม่มีใครซื้อสินค้าแบรนด์เนมออกไปข้างนอก สาเหตุเพราะโดนกำแพงภาษี เขาลดได้อย่างเดียวคือ vat 7 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถลดภาษีได้

         “แต่หากมีการปรับลดภาษีนำเข้าลง เช่นเหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้ขณะที่ซื้อไม่ต้องโดน vat 7 เปอร์เซ็นต์ เพราะนำออกไปนอกประเทศ เงินนี้มันจะหมุนภายในประเทศไทย มันจะสะพัดตั้งเท่าไหร่ ทำให้พวกนักช็อปปิ้งที่ไม่เคยคิดจะมาเที่ยว จะมาช็อปปิ้งเมืองไทย เขาก็จะหันมาสนใจเมืองไทย เพราะเขาสามารถดูข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้หมดว่าสินค้าแบรนด์เนม เช่น  Louis Vuitton, Channel ในเมืองไทยก็ขายในราคามาตรฐาน แล้วประเทศนี้น่าเที่ยวกว่า มีอาหารน่ากินมากกว่า มาเที่ยวแล้วมีความสุขกว่า ผมก็เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะแห่เข้ามาเอง

     ....โดยมีการไปประชาสัมพันธ์ผ่านสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศที่มีหลายแห่ง ผมก็เชื่อว่าเงินจะไหลเข้ามาในประเทศไทยขั้นมหาศาล ก็ไม่รู้นะผมชอบคิดแบบนี้ คิดอะไรที่มันหลุดออกไป แต่ในเชิงของคณิตศาสตร์เราสามารถมาพิสูจน์ได้ว่า สุดท้ายแล้วดูจาก Demand-Supply อันไหนได้ประโยชน์มากกว่า ก็เหมือนกับกรณีการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival (VOA) ซึ่งก่อนที่จะ free จะเก็บค่าธรรมเนียมได้หมื่นกว่าล้านบาท แต่เมื่อปล่อย free VOA แล้วมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมา ทำรายได้คิดแล้วกว่าสองแสนกว่าล้านบาท ซึ่งเมื่อนำมา compare กันแล้ว ค่าธรรมเนียมมันน้อยมาก คิดเป็น 1 ใน 10 เพราะเมื่อเขาเข้ามาในประเทศไทย จะไปทำอะไรก็ตาม จะไปซื้อของกินอะไรที่ไหน อย่างน้อยเราได้แล้วค่าแวต 7 เปอร์เซ็นต์

      พิพัฒน์-รมว.การท่องเที่ยวฯ ย้ำว่า แนวทางดังกล่าวเชื่อว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลมองออกหมดแล้ว แต่จะนำมาพูดหรือไม่ กล้าที่จะสวนทางหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้การกระทำสิ่งเหล่านี้อาจจะกระทบกับบริษัทใหญ่ๆ บางแห่ง แต่สำหรับผมบอกได้เลยว่าผมกล้าพูด แต่จะทำหรือไม่ทำไม่เป็นไร เพียงแต่ก็ถามเพื่อให้ลองนำไปคิดในทางคณิตศาสตร์ว่าตัวเลขไหนจะดีกว่า เราจะได้รายได้จากการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้ผมก็จะให้ ททท.ไปคิดคำนวณตัวเลขเหล่านี้ออกมา แต่เรื่องภาษีเป็นเรื่องของกระทรวงการคลังที่ต้องไปดู แต่ตรงนี้สิ่งสำคัญคือจะได้จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเพื่อช็อปปิ้งในเมืองไทยเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ตรงนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เราก็ต้องไปทำการบ้าน

     -จากที่มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจ ทำธุรกิจระดับแสนล้านบาท เมื่อมาทำงานในฝ่ายบริหาร จะนำประสบการณ์ในภาคธุรกิจมาใช้กับการทำงานในฐานะ รมว.การท่องเที่ยวฯ ได้อย่างไร?

     ผมก็ต้องบอกตรงไปตรงมาว่า การทำธุรกิจคือการที่เราต้องทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจได้กำไรในภาคธุรกิจ โดยต้องทำเพื่อตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น แต่วันนี้เมื่อมาทำงานที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ผมต้องตอบโจทย์คนทั้งประเทศและต้องตอบโจทย์ให้กับประเทศไทย อันนี้สำคัญที่สุด วันนี้สิ่งที่ผมเสนอไป รัฐอาจจะเสียประโยชน์ ต้องบอกว่ารัฐจะเสียประโยชน์เลย เพราะรัฐจะต้องจ่ายเงิน รัฐจะเสียประโยชน์ตรงโน้น ตรงนี้ตรงนั้น แต่เมื่อภาพรวมเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวของคนต่างชาติ และการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศที่ออกมาใช้จ่ายหมุนเวียนกัน สุดท้ายแล้วสิ่งที่ภาครัฐต้องลงทุนไป หรือเสียประโยชน์ไปจากเรื่องของภาษีบางอย่าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่เราเก็บภาษีกลับคืนมา จากยอดของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายมากขึ้น และคนในประเทศที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ตรงนี้เมื่อสภาพการณ์หมุนเวียนทางเศรษฐกิจมันดีขึ้น เร็วขึ้น เราต้องยอมรับว่าแม่ค้าในตลาด คนปลูกผัก คนเลี้ยงสัตว์ ต่างก็ได้ประโยชน์ คือเป็นการได้ทั้งระบบ ทำให้กระบวนการผลิตของระบบมันขับเคลื่อนไปได้ แทนที่เงินมันจะหมุนแค่รอบเดียว มันก็อาจหมุนไปในระบบได้สองรอบ สามรอบ สี่รอบ ซึ่งถ้าหมุนได้สักสิบรอบ ยี่สิบรอบ ยิ่งหมุนรอบได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของบ้านเราแข็งแรงยิ่งขึ้น

     พิพัฒน์ สรุปว่า ตรงนี้มันก็จะแตกต่างแล้ว เพราะผมทำธุรกิจผมก็จะเห็นแก่ตัว ผมต้องทำให้บริษัทกำไร แต่พอผมมาบริหารกระทรวง ผมจะคิดไม่เหมือนกันเพราะกระทรวงต้องลงทุน โดยต้องไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะรัฐบาลเป็นคนจ่ายเงินให้ผม เมื่อเราจัดสรรงบไปกับการโปรโมตประชาสัมพันธ์ การทำอีเวนต์ ทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้งบประมาณไปทำ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องประเมินว่า เมื่อเราใช้งบประมาณออกไปหนึ่งบาท เราต้องทำให้ได้อย่างน้อยยี่สิบบาท ห้าสิบบาท หรือหนึ่งร้อยบาท มันถึงจะคุ้ม อย่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ประมาณหมื่นกว่าล้านบาท แต่เราสามารถทำให้การท่องเที่ยวเกิดเงินหมุนเวียนสร้างรายได้ร่วม 3.3 ล้านล้านบาท  เทียบกับเงินหมื่นกว่าล้านบาทของงบประมาณที่กระทรวงได้รับ คุณคิดดูว่ามันมากกว่ากันกี่เท่า ซึ่งตรงนี้ทำให้เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ ทำให้เงินหมุนไปหลายรอบ ยิ่งหมุนรอบเยอะก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี ตรงนี้เมื่อถามผมมันก็ไม่เหมือนกันแล้ว

     “ธุรกิจต้องกำไรทุกเม็ด แต่เมื่อทำงานกระทรวงฯ ทำงานเพื่อประเทศชาติ อย่าไปหวังผลกำไรเฉพาะกระทรวงของเรา คือต้องลงทุน ซึ่งบอกเลยไม่มีกำไรสักบาท แต่ผลกำไรเกิดกับคนทั้งประเทศ เพราะเงินจากการท่องเที่ยวมันไม่ได้เข้ามาที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เรา แต่มันกระจัดกระจายไปสู่คนทั้งประเทศเลย นี่คือสิ่งที่มันแตกต่างกัน”

                                                                                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

...........................................................

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"