5 ต.ค. 62 - ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรณรณงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 โดยมีการเสวนาหัวข้อ “พรรคการเมืองกับการแก้รัฐธรรมนูญ”
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหา ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ศักดิ์สิทธิ์ที่แม้แต่รัฐบาลยังไม่คิดจะทำตาม อย่างเช่น 1.การถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่มีการถวายไม่ครบ 2.การแถลงนโยบาย ข้อ 12 เรื่องเร่งด่วนคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ทำ บอกว่ายังไม่ถึงเวลา นี่คือแถลงนโยบายแล้วไม่ทำตาม แต่ไม่มีใครทำอะไรได้
"ดังนั้นนับว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาที่ผู้มีอำนาจไม่ใส่ใจ อะไรที่ช่วยในการมีอำนาจก็ปฏิบัติตาม อะไรที่ไม่ช่วยให้มีอำนาจก็ไม่ปฏิบัติตาม หรือเรียกว่ารัฐธรรมนูญเป็นคู่มืออำนาจของรัฐบาล ดังนั้นต้องมีการแก้ไข โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน เพราะลำพัง 7 พรรคการเมืองไม่สามารถเดินเดี่ยวได้ วิธีการคือต้องมีการตั้ง สสร. ซึ่งมีที่มาจากประชาชน และนำมาสู่การจะได้รับความเห็นชอบจากส.ส. และสว.ที่ต้องการ 84 เสียง ว่านี่คือความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น"นายสุทิน กล่าว
ขณะที่ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนพยายามมาร่วมรับฟังและมีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเหตุที่พรรคการเมืองถึงต้องช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะวันนี้ประชาชนของประเทศไทยยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด เรายังไม่ได้ร่าง ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ดีที่สุดก็ยังไม่ได้เกิด การที่จะต้องทำให้ประชาชน มีอำนาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตยสากล ทำประชาชนให้มีความสุขได้ เราต้องช่วยกันระดมสติปัญญาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ เพื่อเป็นการกำหนดชะตาชีวิต และสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง
พ.ต.ท.ทวี กล่าวว่าเหตุที่ทำให้สังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะคนทั้งประเทศยังไม่ได้มีส่วนกับการกำหนดเรื่องความมั่นคงของตนเองเลย ที่ผ่านมามีแต่ความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชน จึงเกิดความเหลื่อมล้ำมากมาย จนเป็นมะเร็งร้ายที่สำคัญ คือ การพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาที่เกิดจากคนที่มีอำนาจไปแย่งชิงทรัพยากร
"ถามว่าเราจะนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดได้อย่างไร คิดว่าเราต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาบังคับใช้ในยุคหลังๆ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย ปกติสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือ พรรคการเมือง แต่สังคมไทยก็มี กองทัพ กับระบบราชการ เป็นสถาบันทางการเมืองด้วย โดยมีเป้าหมายคือ อำนาจ ตำแหน่ง และผลประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับ พรรคการเมือง เพียงแต่มีเข้าสู่อำนาจโดยวิธีการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งต่างจากกองทัพที่ต้องการอำนาจ และผลประโยชน์ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจมา โดยเราจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาประชาธิปไตยของไทยนับจากเหตุการณ์ 2475 กองทัพจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่อยู่ได้นานกว่าพรรคการเมือง และ 2 สถาบันนี้จะเดินไปแบบคู่อริกันเสมอ"พ.ต.ท.ทวี กล่าว
พ.ต.ท.ทวี กล่าวต่อว่าเพราะเมื่อมีการรัฐประหาร กองทัพก็จะใช้บริการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ระบบราชการ ตอนหลังๆมาใช้ตุลาการมาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นตัวอย่าง นี่จึงทำให้สถาบันที่มาจากประชาชนจึงมีอำนาจน้อยมาก แต่คนที่มีอำนาจนอกระบบที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการของประชาชนจะมีอำนาจเยอะมาก โดยเฉพาะองค์การอิสระ หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
"ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเรายังไม่ได้ร่าง รัฐบาลที่ดีที่สุดจึงยังไม่เกิด ซึ่งอำนาจของประชาชนจะมากได้ เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด โดยที่คนไทยทั้งประเทศได้มีโอกาสเข้ามาสู่โครงสร้างอำนาจ มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ใช่เพียงแค่เสียงส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ยังต้องมีกลุ่มวัฒนธรรม ชนกลุ่มน้อยเข้ามามีส่วนด้วยฎเลขาธิการพรรคประชาชาติ ย้ำ
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่พูดถึงการออกแบบการเมืองการปกครองของรัฐๆหนึ่ง อำนาจหน้าที่สถาบันการเมืองต่างๆ ดังนั้นจะเขียนว่าปกครองโดยรูปแบบใด และพูดถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ว่าจะไม่ถูกรัฐล่วงละเมิดสิทธิ ดังนั้นจึงต้องทำให้เป็นกฎหมายสูงสุด
"ดังนั้นควรเป็นกฎหมายที่คนทั้งประเทศร่วมคิด ร่วมเขียน ร่วมตัดสินใจ ซึ่งเมื่อคนเห็นพ้องต้องกัน รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะเป็นฉบับที่ยืนยาว"
นายปิยบุตร กล่าวว่าปัญหาของประเทศไทย คือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อย และวิธีการที่ใช้เป็นแบบอนารยะชนทั้งสิ้นคือการฉีกโดยคณะนายทหาร เราเปลี่ยนด้วยวิธีอารยะเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือ 2475,2489 และ 2540 โดยองค์กรที่ฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยที่สุดคือกองทัพ ฉะนั้นเวลาที่ผู้บัญชาการทหารบก หรือนายกฯที่มาจากการรัฐประหารเที่ยวไปบอกคนอื่นให้เคารพรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องตลกร้ายที่สุดในประเทศนี้ เพราะคนที่มาเรียกร้องให้คนอื่นเคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นเป็นคนละเมิดรัฐธรรมนูญเป็นคนแรก เป็นคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นคนแรก และยังมีความผิดฐานกบฏ แต่เลือกนิรโทษกรรมให้ตัวเอง แล้วลอยหน้าลอยตาเป็นนายกฯถึงทุกวันนี้
"ขณะเดียวกัน นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน จะเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่พวกเขาออกแบบ ไม่มีปืนหรือรถถัง แต่กลับถูกแจ้งความข้อหาความมั่นคง มันเหลือเชื่อที่สุด ไม่มีอะไรกลับตาลปัตรได้ขนาดนี้อีกแล้ว" นายปิยบุตรกล่าว
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวต่อว่ารัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลังของไทยมี 2 ลักษณะใหญ่ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการรัฐประหาร โดยคนยึดอำนาจ และออกแบบตั้งองค์กรต่างๆ ผลัดกันเกาหลังอยู่อย่างนั้น อำนาจอยู่ที่คณะรัฐประหาร ไม่ใช่อยู่ในมือประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้แค้น จัดการกลุ่มทางการเมืองที่ไม่ชอบ เพื่อลดทอนอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจคนที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่มีทางสร้างฉันทามติในชาติ สร้างความปรองดองได้ เพราะคนที่ไม่พอใจก็ยังมีความไม่พอใจอยู่
นอกจากนี้คนเขียนปี 2560 ยังกล้าหาญที่จะเขียนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญยาก แม้คนเขียนจะจากไปตามกลไกธรรมชาติ ก็ยังแก้ไม่ได้ ดังนั้นต้องเริ่มต้นกันใหม่ ถึงเวลาต้องมาคุยกันว่าเราต้องการรูปแบบการปกครอง รูปแบบการเมือง การประกันสิทธิเสรีภาพอย่างไรให้ทุกฝ่ายพอจะรับกันได้ อยู่กันได้อย่างสันติสุข ซึ่งต้องทำคู่ขนานกันไปทั้งในระบบสภา และการผลักดันของภาคประชาชน เชื่อว่าหากประชาชนเอาด้วย สว.ต้องเงี่ยหูฟังบ้าง และถ้าเริ่มวันนี้ไม่น่าใช้เวลานานเหมือนปี 2540 และจากที่ดำเนินการมา 4-5 เดือน ถือว่าไปได้สวย พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นด้วยมากขึ้น ภาคประชาชนสารพัดสีก็เห็นด้วย เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการเขียนรัฐธรรมนูญสร้างกติกากันใหม่ เพื่อให้คนเห็นต่างกัน แต่ไม่ขัดแย้ง และรัฐธรรมนูญที่ดีก็จะนำมาสู่การแก้ปัญหาปากท้องได้อีกด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |