กำหนดนัดพิจารณาคดีของ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” (ศาลฎีกา อม.) ประจำเดือนตุลาคม 2562 พบหนึ่งคดีที่น่าสนใจ คือการนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” อดีต รมว.การต่างประเทศ ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติต้นเดือน ก.พ.2560 ชี้มูลความผิดทางอาญาต่อ “สุรพงษ์” กรณีออกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้กับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกออกหมายจับในคดีร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย และคดีอื่นๆ ขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 (2) (3) (4) โดยกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 ต.ค.นี้ เวลา 11.00 น.
โดยก่อนหน้านี้ ศาลฎีกา อม. ได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยในฐานะรัฐมนตรี กระทำการสนับสนุนช่วยเหลือนายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และหลบหนีหมายจับในคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ สามารถเดินทางในต่างประเทศได้โดยสะดวก อยู่ในต่างประเทศโดยไม่ผิดกฎหมาย และรัฐบาลไทยไม่อาจขอให้รัฐบาลประเทศนั้นขับออกจากประเทศหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดน อันเนื่องจากเหตุที่ไม่มีหนังสือเดินทางได้
ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาของศาลยุติธรรมไทยอ่อนแอและไม่มีสภาพบังคับตามลำดับ นอกจากนี้ยังส่อให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทยในสายตาประชาคมโลก ซึ่งกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับนายทักษิณ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบและโดยทุจริต
องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยมีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลซึ่งหลบหนีให้สามารถเดินทางในต่างประเทศได้สะดวก และเป็นผลบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
สรุปคือ ครั้งนั้นศาลฎีกา อม. พิพากษาจำคุก “สุรพงษ์” เป็นเวลา 2 ปี ไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม เป็นการพิจารณาคดีภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งเพิ่มสิทธิให้โจทก์-จำเลย สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกา อม. ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้อีกครั้ง ต่างจากเดิมที่ศาลฎีกา อม.พิพากษาชั้นเดียวจบ ทำให้ “สุรพงษ์” สามารถยื่นประกันตัวสู้คดีชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อไปได้ในวันนั้น
คดีที่อยู่ในศาลฎีกา อม. มีระบบการพิจารณาคดีดังที่กล่าว คือ เดิมเข้าชั้นฎีกาทันที พิพากษาครั้งเดียวจบ แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันให้สิทธิโจทก์-จำเลย สามารถสู้คดีชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์เพื่อพิพากษาได้อีกครั้ง ซึ่งแตกต่างจากระบบศาลยุติธรรมทั่วไปที่แบ่งเป็นศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา เป็นเรื่องที่ต้องย้ำอยู่เสมอเพื่อความเข้าใจตรงกัน โดยที่ผ่านมามีคดีใหญ่ของศาลฎีกา อม. ที่ถึงที่สุดจากคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว อาทิ คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 7 ต.ค.2551 ที่ศาลฎีกา อม.พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด และชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง “พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว” อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 4 ซึ่งถูกโจทก์อุทธรณ์เพียงคนเดียว กับคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ที่ศาลฎีกา อม. พิพากษาจำคุกกลุ่มจำเลย โดยมี “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ หนึ่งในจำเลย ถูกจำคุก 42 ปี และชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มโทษจำคุกเป็น 48 ปี
วันที่ 10 ต.ค.นี้ คือการนัดอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีของ “สุรพงษ์” ที่จะถึงที่สุดแล้ว ว่าจะพิพากษายืนให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามศาลฎีกา อม.หรือไม่ ซึ่งหากพิพากษายืนหมายความว่าต้องเข้าเรือนจำทันที หรือจะพิพากษาแก้ไขอย่างไร และที่สำคัญคือตัว “สุรพงษ์” จะเดินทางมาศาลหรือไม่ หลังจากระยะเวลาที่ผ่านมา เจ้าตัวดูท่าทางสุขภาพร่างกายไม่สู้ดีนัก และหายหน้าไปจากแวดวงการเมืองยาวนานตั้งแต่ถูกพิพากษาครั้งแรกในคดีนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |