บันทึกทูตไทยว่าด้วยเรื่องจีน : ปัญหาและข้อเสนอทางออก


เพิ่มเพื่อน    

              วันนี้ผมนำเสนอตอนต่อของบันทึกของคุณวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำจีนที่ได้นำเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าด้วยแง่คิดความสัมพันธ์ไทยกับจีนที่มีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานสัมมนาที่โรงเรียนนายร้อย จปร.อย่างลึกซึ้ง

                ท่านทูตวิบูลย์สรุปด้วยข้อสังเกต, ปัญหา, ข้อเท็จจริงและข้อเสนออย่างน่าสนใจครับ

                ๔.ข้อสังเกต ปัญหา ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะ

                ประเทศไทยและประเทศจีนนับว่าโชคดีที่ไม่มีปัญหาพื้นฐานสำคัญที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกัน ถึงกระนั้นจากหลากหลายปัจจัย หากติดตามจากปฏิกิริยาข่าวสารต่างๆ ทั้งในสื่อและภาคประชาสังคม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์สองฝ่ายหลังจากพัฒนามาถึงปัจจุบัน สถานะและบทบาทของจีนในเวทีโลกและภูมิภาคก็ต้องยอมรับว่าได้เปลี่ยนแปลงไปตามฐานะของประเทศ ซึ่งต่างจากเดิมมาก จึงเริ่มมีคำถามเกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเกี่ยวกับผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย กลายเป็นประเด็นได้เปรียบเสียเปรียบกันในโครงการต่างๆ ที่มีระหว่างกัน

                เช่น ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนก็เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก ซึ่งอันที่จริง ผู้เขียนเห็นว่าหากจีนสามารถนำเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่ล้ำหน้าที่สุดมาปรับใช้ และลดข้อพิจารณาผลประโยชน์เชิงธุรกิจในโครงการนี้ลง ก็น่าจะเอื้อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นความร่วมมือลักษณะ “Win-Win” ที่สำคัญระหว่างไทย-จีน เพราะความสำเร็จในโครงการนี้ หากได้รับการยอมรับจากประชาชนก็ย่อมจะเป็นรูปแบบความร่วมมือให้กับจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่อง "การทูตรถไฟความเร็วสูง" ที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญในส่วนนี้ นโยบาย “Go Global” หรือ “走出去 ของจีนในปัจจุบัน

                หากจะทำให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น จีนเองก็อาจจำเป็นต้องหา "รูปแบบการพัฒนาร่วม" อันเป็นที่ยอมรับของประเทศอาเซียนอื่นด้วย โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่อ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ เช่น กรณีกับประเทศฟิลิปปินส์ภายใต้บรรยากาศผู้นำฟิลิปปินส์ที่ยืดหยุ่นมากขึ้นในปัจจุบัน

                ซึ่งหากเร่งดำเนินการแก้ไขอุปสรรคที่มีอย่างเหมาะสมและมีความสอดคล้องลงตัวของผลประโยชน์ระหว่างกันได้ ก็ย่อมจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ดำเนินการตามเพื่อแก้ไขอุปสรรคที่มีอย่างมีความมั่นใจ ซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันนี้ย่อมส่งผลดีกับนโยบายด้านอื่น โดยเฉพาะโครงการ BRI ของจีนที่จะมีต่อไทยและอาเซียนโดยรวมอีกด้วย เรื่องลักษณะนี้ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์ความสำเร็จที่แก้ไขปัญหาความไม่ลงตัวของผลประโยชน์ที่มีกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กับมาเลเซียในกรณีปัญหาการทับซ้อนของไหล่ทวีปทางทะเล ซึ่งในที่สุดภายใต้หลักการพัฒนาร่วมกันก็ทำให้ทั้งสองประเทศสามารถลุล่วงปัญหาได้แบบ Win-Win คือได้ผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นปัญหาหรืออุปสรรคของความสัมพันธ์

                ในส่วนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกับประเทศไทย การริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมทางทะเล ศตวรรษที่ 21 (BRI) ของจีนนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามีขอบเขตพาดผ่านมาถึงไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะหากพิจารณาถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยที่เป็นศูนย์กลาง AEC สู่ภาคพื้นอาเซียน นโยบาย “Go Global” หรือเดินออกสู่ภายนอกของจีนสู่ประเทศอาเซียนกลุ่มคาบสมุทรและหมู่เกาะก็ต้องผ่านไทย เพราะฉะนั้น โจทย์ใหญ่ของไทยคือ เมื่อจีนมี BRI และโดยความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยแล้ว เราจะวางตัวหรือกำหนดท่าทีอย่างไรให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มระหว่างกันได้ คนไทยบางส่วนกล่าวว่า ถ้าไปดูในยุทธศาสตร์ BRI ของจีนแล้วไม่มีส่วนใดเกี่ยวกับไทย แต่ในความเป็นจริง BRI นั้น เป็นทั้งความริเริ่มที่เป็นแผนรวมโครงการและ “กรอบความคิด” ที่ยืดหยุ่นพอ อยู่ที่ว่าเราจะสร้างมูลค่าเพิ่มของตัวเราเพื่อกำหนดนโยบายให้เกิดการเชื่อมโยงที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระหว่างกันได้อย่างไร

                เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศยุทธศาสตร์ BRI ออกมาแล้ว หลายประเทศบอกว่าลมจีนกำลังพัดมาแรง เช่นเดียวกับกระแสในไทยเวลานี้ ก็พูดกันว่าอิทธิพลจีนกำลังเข้ามาแรง ต้องระวัง ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนจริง แต่ยามที่ลมพัดมานั้นมีสองแนวทางที่เราทำได้ คือสร้างกำแพงกั้นหรือจะสร้างกังหันกางใบรับลม แน่นอนไทยควรต้องดำเนินการอย่างหลัง จึงอยู่ที่ว่าด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่เรามี ไทยจะวางตัวหรือกำหนดท่าทีอย่างไรเพื่อใช้ BRI มาเสริมสนับสนุนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของเราด้วยเพื่อประโยชน์ร่วมกันในส่วนนี้ต่อไป

                ในส่วนของจีน โครงการใดๆ ก็ตามที่มีมาภายใต้ BRI การตกลงร่วมกับรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเห็นประโยชน์และยอมรับจากภาคประชาชนบนพื้นฐานการเห็นความจำเป็นและศักยภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ก็มีความสำคัญและพิสูจน์มาหลายกรณีแล้วว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาอย่างครอบคลุมและจริงจัง

                ในความเป็นจริง การยอมรับของภาคประชาสังคมก็เกิดจากการที่ภาคส่วนต่างๆ เห็นถึงความจำเป็นและศักยภาพทางเศรษฐกิจว่าสามารถพัฒนาเป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริงได้อย่างไร

                โดยสรุป โครงการต่างๆ ของจีนที่นำเสนอจะต้องตอบโจทย์ประโยชน์ของประเทศเจ้าบ้านให้ชัดเจนด้วย ความร่วมมือที่ราบรื่นจึงจะเกิดขึ้นได้

                ที่ผ่านมา ปัญหาลักษณะดังกล่าวเริ่มสะท้อนออกมามากขึ้นในโครงการร่วมมือของจีนกับบางประเทศ ผู้เขียนจึงหวังว่าข้อริเริ่ม BRI กับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกภายใต้ EEC หรือยุทธศาสตร์นาประเทศไทยสู่ยุค 4.0 จะหาจุดประสานประโยชน์ไทย-จีนในส่วนนี้ให้ลงตัวได้

                เริ่มมีบางโครงการนำร่องเป็นตัวอย่าง เช่น เมื่อปลายปีก่อน โรงงานผลิตรถยนต์ยี่ห้อ MG จากเซี่ยงไฮ้ร่วมกับภาคเอกชนไทยลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกของไทย เพื่อขายและเป็นศูนย์ผลิตส่งออกไปประเทศที่สาม หรือกรณีการจัด Consortium ความร่วมมือที่ไทยจีนร่วมกับประเทศที่สาม เช่น ญี่ปุ่น เพื่อบุกเบิกโครงการร่วมทุนกันใน EEC

                อันที่จริงเป็นที่คาดหวังกันว่า รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งของ BRI ที่ขณะนี้เริ่มก่อสร้างช่วงจากนครราชสีมามากรุงเทพฯ แล้วนั้น เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุดอย่างแท้จริงในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม ทั้งตามข้อริเริ่ม BRI หรือการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงในส่วนของ EEC ที่จะเชื่อมไร้รอยต่อ 3 สนามบินหลักของไทย คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา ด้วยระดับความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง และรางมาตรฐานขนาดกว้าง 1.435 เมตรเท่ากันนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลประการใด ก็ย่อมต้องเป็นที่คาดหวังว่าจะต้องมีการเชื่อมต่อหรือเผื่อการเชื่อมต่อระหว่างกันในส่วนนี้ จึงจะนับเป็นมูลค่าเพิ่มและประโยชน์ร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-จีน และสอดรับกับยุทธศาสตร์ ASEAN Connectivity ใน AEC ที่ไทยเป็นศูนย์กลางอีกด้วย

         (พรุ่งนี้ตอนจบ : มองไปข้างหน้า)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"