บริหารกาย-จิตคิดเรื่องดีๆ เคล็ดลับจาก'ศ.นพ.ประเวศ วะสี'


เพิ่มเพื่อน    

      เป็นตัวอย่างของคนวัยเก๋าที่มีพลัง โดยเฉพาะในแง่ของการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ที่ปัจจุบันจะเข้าสู่วัย 88 ปี สำหรับ .นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการด้านสาธารณสุข และนักวิชาการเกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะงานด้านส่งเสริมให้คำแนะนำประชาชน ผ่านทั้งงานเขียนหนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่หลายคนรู้จักกันอย่าง หนังสือ สุขภาพบูรณาการ ความสุข สุขภาพดี อายุยืน สำหรับทุกคน และเป็นผู้บรรยายปาฐกถาพิเศษในโอกาสต่างๆ ที่มุ่งให้ความรู้ประชาชนดูแลสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจให้ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ทว่าการดูแลสุขอนามัยของ ราษฎรอาวุโส ในวัยหลัก 8 ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากเป็นหลักของการมีคุณภาพที่ดีโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ หรือไปหมอให้น้อยที่สุด หากว่าทำตามหลักปฏิบัตินี้

      ศ.นพ.ประเวศ วะสี บอกว่า เคล็ดลับของการเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีและอายุยืน อันดับแรกต้องออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อก่อนนี้ผมวิ่ง แต่ตอนหลังอายุมากขึ้น ไม่ได้วิ่งแล้ว แต่เน้นวิดพื้นโดยออกกำลังเช้าและเย็นครั้งละ 20-30 นาที โดยออกกำลังกายด้วยการทำ 2 อย่างคือ ตอนเช้า วิดพื้น และตอนเย็น โหนชิงช้า

      "สำหรับการวิดพื้นผมจะเอาถุงทรายน้ำหนัก 2 กิโลกรัมพาดตรงข้อเท้า (ร้านยาทางการแพทย์มีจำหน่าย) และยกขึ้นลงทีละข้าง ข้างละ 20 ครั้ง และทำหลายเซต จากนั้นก็พักไปเขียนหนังสือ และก็กลับมาทำอีกครั้งหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าออกกำลังด้วยวิธีนี้ให้มากที่สุด เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหน้าขาแข็งแรง เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวจะไปประกอบที่หัวเข่า ซึ่งจะทำให้ลดอาการปวดเข่าได้ค่อนข้างดีมากๆ ถ้าคนรู้การออกกำลังกายด้วยวิธีนี้ ก็จะไม่ต้องไปผ่าตัดเปลี่ยนเข่าราคาเป็นหลักแสน นอกจากนี้ในตอนเย็นผมก็จะออกกำลังกายด้วยการโหนชิงช้าที่ผูกไว้บริเวณต้นไม้หน้าบ้าน เพื่อให้เท้าพ้นดิน ทำให้น้ำหนักทิ้งลงพื้น มันจะช่วยดึงกระดูกหลังของเราให้ตรง เพราะไม่อย่างนั้นผู้ที่มีอายุจะหลังโก่ง

      นอกจากนี้ อัตโนกายภาพบำบัด คือหลักการดูแลสุขภาพที่เราสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาอาการปวดเมื่อย ปวดไหล่ ไม่ต้องไปหาหมอ หรือหากปวดคอ ก็ใช้วิธีนำหมอนเล็กๆ มารองหนุนที่บริเวณคอ คนสูงอายุมักปวดคอและร้าวมาที่ไหล่ เพราะกระดูกที่คอไปกดทับบริเวณเส้นประสาท เพราะการนอนของคนทั่วไปไม่ค่อยถูกต้อง เนื่องจากไปนอนหนุนหมอนบริเวณศีรษะ ทำให้ลำคองอจนเกิดอาการปวด จึงต้องหนุนหมอนที่คอ

      ส่วนการเลือกอาหารการกินนั้น ศ.นพ.ประเวศ บอกให้ทราบว่า เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า อาหารไทย ถือเป็นเมนูสุขภาพที่หากบริโภคเป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้

        เรื่องอาหารการกิน ผมคิดว่าอาหารไทยของเรานั้นเป็นอาหารสุขภาพ ถ้าเทียบกับอาหารฝรั่ง เนื่องจากมีไขมันต่ำและเส้นใยในอาหารค่อนข้างสูง เช่น แกงส้ม แกงเลียง น้ำพริก ปลาทูผักต้ม เป็นอาหารสุขภาพ และยังมีหอม กระเทียม ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเกล็ดเลือด และการกินเผ็ดก็ช่วยละลายลิ่มเลือด ส่วนอาหารอื่นๆ กินได้บ้างเล็กน้อย แต่อย่ากินเป็นประจำ เพราะอาหารฝรั่งนั้นไขมันสูงและเส้นใยอาหารต่ำ อาหารไทยควรส่งเสริม ที่สำคัญการกินเนื้อสัตว์มากๆ โดยเฉพาะเนื้อแดง จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ แต่ให้เน้นเมนูปลา ทั้งผู้ชายที่ชอบกินอาหารสไตล์ฝรั่งหรืออาหารตะวันตกนั้น จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ถ้ากินอาหารแบบไทยก็จะลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้

      ขณะที่การดูแลจิตใจเพื่อป้องกันความเครียดนั้น ศ.นพ.ประเวศ บอกว่า ไปเรียน ฝึกกรรมฐาน มาตั้งแต่หนุ่มๆ แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือเป็นการฝึกการเจริญสติ จะทำให้สุขภาพดี ทำให้หัวใจทำงานดี และที่สำคัญภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราก็จะดี เพราะมีการวิจัยมาแล้ว สมองและสติปัญญาก็ดีไปด้วยจากการที่เราฝึกสมาธิ ปฏิบัติกรรมฐาน เพราะถ้าภูมิคุ้มกันดีจะช่วยป้องกันทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ ดังนั้นถ้าจิตใจดี จิตใจสงบและสบาย มันก็จะมีความสุขไปด้วย ที่สำคัญทำให้อายุยืนเช่นกัน

      สำหรับการเจริญสติสามารถทำได้ 1.ใช้กำหนดลมหายใจ หรือที่เรียกว่า อานาปานัสสติ แปลว่าสติอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก หรือการที่เรารู้อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก สังเกตง่ายว่าเวลาที่เราหายใจเข้า เราก็จะรู้ว่ากำลังหายใจเข้า และหายใจออกก็รู้ว่ากำลังหายใจออก ปกติเราจะไม่รู้ เราต้องฝึกหัดให้รู้ เพราะใจเรามักจะไปอยู่ที่ความคิด หรือการที่เรามักจะคิดในสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่เราสามารถเริ่มจากการฝึกน้อยๆ ก่อน คือทำให้ได้ประมาณ 5 นาที 2.บริกรรมพุทโธ โดยการออกเสียงทั้งการที่อยู่คนเดียวหรืออยู่ในชุมชน ไม่งั้นเราจะคิดมาก ทำให้เครียดและมีความทุกข์ แต่เมื่อเราบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ ใจของเราก็จะสงบ ตรงนี้ผู้ฝึกจะต้องทดลองดูว่าชอบแบบไหน

        3.เจริญสติในการทำงาน เช่น การทำงานบ้านอย่างการกวาดพื้น ปกติเราจะคิดทำไมต้องมาทำความสะอาดบ้าน แต่ถ้าทำงานด้วยการเจริญสตินั้น งานทุกอย่างที่เราทำก็จะมีความสุขมาก เช่น ขณะที่กวาดบ้านอยู่ก็รู้ว่ากำลังกวาดบ้าน หรือล้างส้วมอยู่ก็รู้ว่าล้างส้วม ถ้าเรารู้ตัวในสิ่งที่ทำจะก่อให้เกิดความสุข ไม่ฟุ้งซ่าน

      เมื่อเข้าสู่หลัก 6 นั่นเท่ากับว่าเป็นวัยสั่งสมความรู้และประสบการณ์ชีวิต เพื่อถ่ายทอดสิ่งดีๆ ไปสู่ลูกหลานและคนในสังคม จึงทำให้วัย 88 ปีของ ศ.นพ.ประเวศ ไม่หยุดนิ่งในการทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะในบทบาทที่คุ้นเคยกันดีอย่างการเป็นนักเขียน และเป็นผู้บรรยายปาฐกถาเรื่องสังคม เศรษฐกิจและการศึกษา สุขภาพอนามัย ให้กับคนในสังคมและกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ท่ามกลางสังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึง อย่างน้อยๆ ใน 1 สัปดาห์จะต้องมีงานบรรยายให้กับผู้สนใจได้รับฟัง เพราะการที่คนวัยเกษียณยังทำงาน และได้กระตุ้นร่างกายให้ทำงานได้อย่างปกติ พูดง่ายๆ ว่าจะป้องกันโรคสมองเสื่อมและโรคมะเร็งในวัยชราได้นั่นเอง

      "ผมมองว่าแม้เราจะเข้าสู่วัยเกษียณมานานหลายปีแล้ว ยิ่งต้องไม่ควรอยู่เฉยๆ โดยเฉพาะการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ อันที่จริงแล้วการเกษียณอายุเป็นเพียงสิ่งสมมติ ซึ่งไม่มีใครเกษียณอายุจากการรับใช้มนุษยชาติได้ ดังนั้นการที่เรากระตือรือร้นก็จะทำให้ระบบร่างกายมีเมล็ดเล็กๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยซ่อมร่างกาย โดยเฉพาะคนที่ตื่นตัวตลอด เมล็ดเล็กๆ ดังกล่าวก็จะไปทั่วร่างกาย ไปซ่อมสมองไม่ให้เกิดมะเร็ง

      ความตื่นตัวมี 3 ชนิด คือ 1.ทางกาย 2.ทางสังคม 3.ทางปัญญา เราสามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ช่วยส่งเสริมสุขภาพได้ หรือจะทำทั้ง 3 ด้านก็ได้เช่นกัน ดังนั้นคนเราไม่ควรอยู่ว่างเฉยๆ เพราะถ้าใครที่เกษียณแล้วอยู่บ้านนิ่งๆ ก็จะทำให้เสียชีวิตเร็ว เพราะธรรมชาติร่างกายบอกไว้ว่า ถ้าไม่ทำอะไรก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ แต่ถ้าอยู่แล้วทำอะไรเพื่อผู้อื่นก็จะอยู่ไปเรื่อย ยิ่งถ้าเราพยายามทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ เมื่อนั้นจิตใจของเราก็จะยิ่งดี ดังนั้นสูตรการใช้ชีวิตที่ง่ายของผมคือ การบริหารกาย บริหารจิต คิดเรื่องดีๆ

        ไล่มาถึงบรรทัดนี้ ราษฎรอาวุโส ในนาม ศ.นพ.ประเวศ ได้ฝากข้อคิดไปยังลูกหลานคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติได้น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ตลอดจนครอบครัว เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้ลูกหลานไทยถูกทิ้งไว้ด้านหลังเพียงลำพัง

        สิ่งที่อยากบอกลูกหลาน คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ ที่เขาจะต้องอยู่ไปนานๆ เราต้องสนใจคุณภาพของเด็กและครอบครัว เพราะการที่เด็กเยาวชนและครอบครัวจะมีคุณภาพและมีความสุข เราทุกคนต้องสนใจและส่งเสริมเรื่องนี้ พูดง่ายๆ ว่าทั้งในครอบครัว โรงเรียน ต้องมีความรู้ หมายความว่าถ้าเด็กที่อยู่ในครอบครัว แต่ว่าครอบครัวนั้นไม่มีความสงบ พ่อแม่ทะเลาะกัน แสดงความโหดร้ายต่อกัน จะกระทบกระเทือนต่อเด็ก มันจะกระทบภูมิคุ้มกันของเขา และทำให้สมองเสีย ทำให้เป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจมะเร็ง เบาหวาน เป็นโรคทางภูมิคุ้มกัน ฉะนั้นครอบครัวต้องอบอุ่น    

      เมื่อครอบครัวอบอุ่น แต่มีฐานะที่จนมากเกินไป ก็จะทำให้ผู้ปกครองเกิดความเครียด ตรงนี้เราจึงควรเข้าไปดูแลเรื่องเศรษฐกิจภายในครอบครัว อย่าให้ปล่อยให้เขายากจนเกินไป ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษาและประชาธิปไตย มันเชื่อมโยงกัน จะช่วยพัฒนาคุณภาพเด็กเยาวชนและครอบครัว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"