(บรรยากาศย่านการค้าเก่าแก่ภูเก็ต)
นอกจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ที่ชาวต่างชาตินิยมเข้ามาท่องเที่ยวแล้ว ภูเก็ตก็เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวโด่งดัง ระดับความนิยมไม่เคยตกอันดับ ทะเลสวย ฟ้าใส แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสะกดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมานักต่อนักแล้ว อีกทั้งสถาปัตยกรรมบ้านเมือง อาหารการกิน และวัฒนธรรมที่มีเรื่องราวอดีตการผสมผสานทางวัฒนธรรมไทย จีน ตะวันตก อิสลาม ภูเก็ตจึงไม่เหมือนเมืองไหนในโลก ทำให้เมื่อประมาณสองปีก่อนได้รับการยอมรับให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโกอีกด้วย และปีที่แล้วก็ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาชมงานใหญ่ระดับนานาชาติอย่างเทศกาลหุ่นโลกมาแล้ว ทำให้ภูเก็ตอยู่แถวหน้าเมืองท่องเที่ยวระดับโลกได้อย่างแท้จริง
จึงไม่แปลกที่สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ "ทีเส็ป" จะปั้นให้ภูเก็ตเป็นเมือง “ไมซ์” (MICE) ซึ่งย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions และ E หมายถึง Events) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเชิญชวนให้คนมาเที่ยวภูเก็ตอย่างเดียว แต่หมายถึงการทำให้เกาะสวรรค์แห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการที่คนจากทุกมุมโลกมาประชุมสัมมนา ซึ่งมีทั้งระดับองค์กร หรือระดับนานาชาติ รวมทั้งการจัดงานแสดงสินค้าหรือนิทรรศการนานาชาติอีกด้วย
(ชิมสับปะรดสดๆ จากไร่ ส่วนหนึ่งในการท่องเที่ยวเกษตรบ้านบางโรง)
จิรุถต์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็ป บอกเล่ายุทธศาสตร์นี้ว่า ตั้งเป้าว่าจะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางไมซ์ซิตี้ของอันดามัน และไมซ์ซิตี้ทางทะเลของภูมิภาคเอเชีย เหตุผลก็เพราะเป็นจังหวัดที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ ครบครันทั้งกิจกรรมกีฬา การแสดง ศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมที่เกี่ยวกับการพักผ่อน ผ่อนคลาย เช่น สปา การผจญภัย หรือการเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งโรงแรมและสถานที่จัดประชุมที่มีความพร้อม บุคลากรที่มีศักยภาพ
โดยเฉพาะสถานที่จัดประชุมสัมมนา มีจำนวนถึง 220 แห่ง จำนวนห้องประชุมกว่า 615 ห้อง จำนวนโรงแรมที่พักกว่า 600 แห่ง ด้วยจำนวนห้องพักมากกว่า 40,000 ห้อง ท่าเทียบเรือโดยสารและเรือสำราญ 14 แห่ง ท่าจอดเรือของเอกชน (Marina) อีก 4 แห่ง และกำลังก่อสร้างรถไฟรางเบาเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมือง
(ตีเหล็ก วิถีดั้งเดิมที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตที่ยังคงหลงเหลือ)
ทีเส็ปได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจสถานที่เที่ยวสำคัญของภูเก็ตเมื่อราวๆ ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยสถานที่แรกคือ “ย่านเมืองเก่าภูเก็ต” เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมภูเก็ตได้อย่างดี ตั้งแต่ตึกรามบ้านช่อง อาคารร้านค้าต่างๆ มีความผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมทั้งแบบไทย จีน และตะวันตก ทุกคนจะเรียกย่านนี้ว่าย่านชิโน-โปรตุกีส หรือชิโน-ยูโรเปียน
(ชมการแสดงเชิดหุ่น มหรสพจีน)
ต้องบอกว่าย่านนี้เราเคยมาแล้ว ตอนที่มาคราวก่อนเป็นยามค่ำ ถนนและตึกต่างๆ อยู่ภายใต้แสงไฟยามค่ำคืน ซึ่งให้ความรู้สึกต่างจากครั้งนี้ที่มาตอนกลางวัน เพราะมองเห็นถนนหนทางและอาคารต่างๆ ได้ชัด สิ่งที่ดึงดูดสายตาผู้คนคงจะหนีไม่พ้นภาพกราฟฟิตี้ ที่ทำให้ถนนแห่งนี้กลายเป็นสตรีทอาร์ต มองเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่กำลังหมกมุ่นกับการถ่ายภาพกราฟฟิตี้อย่างสนุกสนาน คณะของเราได้รับการต้อนรับด้วยการแสดงมหรสพชาวจีน ก็คือ การเชิดหุ่น “กาเหล้” เดิมทีมักจะเห็นในการประกอบพิธีไหว้เทวดาของศาลเจ้าเท่านั้น ซึ่งแสดงเป็นภาษาจีน และกล่าวคำอวยพรให้มีความเจริญรุ่งเรือง แล้วก็ได้ลิ้มรสอาหารหลากหลาย ทั้งหมี่ซั่ว ขนมจีนน้ำยาใต้ ห่อหมกปลา รสชาติจัดจ้านอร่อยเด็ด
(ห้องนอนสมัยก่อน ที่หวู แกลลอรี)
และได้ไปชม “Woo Gallery” (หวู แกลลอรี) เป็นพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าที่เต็มไปด้วยเครื่องใช้โบราณที่เจ้าของพิพิธภัณฑ์สะสมมาเป็นร้อยๆ ปีนับตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ตอนนี้คนดูแลพิพิธภัณฑ์เป็นทายาทรุ่นที่ 3 แล้ว เครื่องใช้ที่เห็นในอาคารแห่งนี้มีทั้งพัดลม ภาพถ่าย จักรเย็บผ้า โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน ผสมผสานวัฒนธรรมของความเป็นจีนและความทันสมัยของยุโรปอย่างลงตัว มุมหนึ่งของห้องตรงฝั่งถนนใกล้ๆ หน้าต่างจะเห็นส่วนของผนังสีฟ้าตีกรอบเอาไว้ ตัดกับสีอ่อนๆ ของอาคาร ซึ่งทายาทเล่าให้ฟังว่าเป็นส่วนที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง สีฟ้าที่เห็นก็คือสีเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษสร้าง ไม่ได้ทาสีทับ เลยอยากเก็บเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม
(พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ที่ย่านการค้าภูเก็ต)
จากพิพิธภัณฑ์ ถ้าจำไม่ผิด ห่างไปอีกราวๆ 1-3 กม. เป็น “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” ที่เดิมทีเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกในจังหวัด แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เชิงวัฒนธรรม เพื่อรวบรวมความเป็นมาของภูเก็ตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายในมีการจัดแสดงภาพถ่ายเก่าๆ ของโรงเรียน แสดงสิ่งของ หนังสือ ภาพถ่ายและเรื่องราวต่างๆ แล้วก็แสดงความเป็นมาของชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ภูเก็ต บุคคลสำคัญของภูเก็ต ชุดแต่งกายประจำถิ่น อาหารพื้นเมือง เทศกาลงานประเพณี ฯลฯ
(บริเวณหน้าหนุมานเวิลด์)
เดินสำรวจย่านเมืองเก่าแล้วก็มาเปิดหูเปิดตากับแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ “หนุมานเวิลด์” (Hanuman World) จริงๆ ก็เปิดมาแล้ว 2 ปี ให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมสนุกๆ แบบแอดเวนเจอร์ ท่ามกลางธรรมชาติป่าไม้บนพื้นที่ราวๆ 50 ไร่ ซึ่งเข้ามาก็จะสัมผัสกับธรรมชาติจนให้ความรู้สึกเหมือนเข้ามาในป่าดงดิบ ด้านหน้าเป็นจุดเช็กอินที่ดูเวอร์วังอลังการหน่อยๆ โครงสร้างทำด้วยไม้ไผ่ยักษ์ กลางโถงเป็นช่องขนาดใหญ่ มีต้นไม้ที่ดูท่าจะอายุหลายสิบปีลอดผ่านทะลุช่องพอดี ใกล้ๆ ก็มีร้านทรีมังกี้ เป็นร้านอาหาร-คาเฟ่สไตล์บาหลี มีทั้งอาหารพื้นบ้านและโซนยุโรป และเครื่องดื่มต่างๆ ไว้คอยบริการ ส่วนกิจกรรมแอดเวนเจอร์มันๆ ก็มี โรลเลอร์ (Roller) ซิปไลน์ (zipline) แล้วก็สกายวอล์ก (Skywalk) แต่ละอันหวาดเสียวทั้งนั้น เช่น โหนสลิงจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่ง โรยตัวจากต้นไม้สูงลงฐานข้างล่าง แล้วก็โหนสลิงไปตามสายโค้งไปมา เหวี่ยงไปมา แต่ที่หวาดเสียวน้อยกว่าหน่อยก็คงจะเป็นสกายวอล์ก ที่แค่เดินชมธรรมชาติบนสะพาน ระยะทาง 300-400 เมตร
(สกายวอล์กชมธรรมชาติที่หนุมานเวิลด์)
ไม่ใช่แค่ความสนุก แต่ละกิจกรรมก็จะซ่อนเรื่องราววรรณคดีไทยเรื่องหนุมานเอาไว้ด้วย เช่น สกายวอล์กที่เราเดินมาแล้วจะอยู่ในความดูแลของ อสุรผัด บุตรของหนุมานกับนางเบญกาย มีหน้าเป็นลิงแต่มีหัวและตัวเป็นยักษ์ มีสีเหลืองเลื่อม ลิงครึ่งยักษ์ผู้ดูแลผืนป่าแห่งนี้ อสุรผัดรู้จักต้นไม้ทุกต้นในป่าแห่งนี้เป็นอย่างดี จึงเหมือนพาคนที่มาสกายวอล์กทัวร์ชมพันธุ์พืชที่เป็นของล้ำค่าในป่าใหญ่ ทั้งต้นตะเคียนที่มีอายุกว่าร้อยปี ต้นทุเรียน ต้นพญาสัตบรรณ ต้นเงาะ ต้นสะตอ และต้นไม้อื่นๆ อีกมากมาย ใครจะมาที่นี่มีราคาหลากหลายให้เลือก เจ้าหน้าที่บอกว่าหน้าฝนคนจะนิยมมากันเยอะเป็นช่วงไฮซีซั่นเลยก็ว่าได้
(ทำกิจกรรมเพนต์กระเป๋า กับการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่ชุมชนบ้านบางโรง)
เปลี่ยนประสบการณ์มาที่การเที่ยววิถีชุมชน เกษตรเชิงอนุรักษ์ที่ชุมชนบ้านบางโรง ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในภูเก็ต ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้าน ทำสวน และรับจ้างทั่วไป ที่บ้านบางโรงค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เพราะอยู่ใกล้กับภูเขา มีป่าไม้ แล้วก็ยังมีทะเลอีก ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าตอนสึนามิมา รอบหมู่บ้านเละเทะหมด แต่ภายในหมู่บ้านกลับปลอดภัย เพราะมีธรรมชาติปกป้อง คนที่มาที่นี่จะได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งเรียนรู้การทำอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสวนยาง เลี้ยงแพะ ดูลิง ชิมสับปะรดสดๆ จากไร่ กิจกรรมเพนต์ผ้า ปลูกหญ้าทะเล ปลูกป่าโกงกาง หรือจะพายเรือแคนูเพื่อล่องเรือดูกระชังปลา เรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ใครได้มาจะเห็นว่าชาวบ้านมีการดูแลแต่ละกิจกรรมอย่างเป็นระบบ และมีความพร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ การันตีด้วยรางวัลจาก ททท. รางวัลชุมชนดีเด่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือรางวัลกินรี ประจำปี 2553
(ผ่อนคลายจากความเครียดที่สุโขสปา)
หากทำกิจกรรมหรือเดินเที่ยวมาจนเหนื่อย แนะนำ “สุโขสปา” เป็นกิจกรรมสุดท้าย เป็นสปาที่นำภูมิปัญญาโบราณของการแพทย์แผนไทยมาประยุกต์ ผ่านการบริการตั้งแต่การนวดร่างกาย การดูแลสุขภาพตามธาตุของแต่ละบุคคล ดิน น้ำ ลม ไฟ พร้อมกับเรียนรู้วิธีการบำบัดรักษาโรคโดยแพทย์แผนไทย สุโขสปาเป็นสถานที่แรกที่นำภูมิปัญญา สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม มาผสมผสานกัน โดยนำภูมิปัญญาเข้ามาสอดแทรกผ่านการบริการของสปาทั้ง body mind spirit เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับถึงความมีอารยธรรมของคนไทย ก่อนที่จะเริ่มทำสปาพนักงานจะใช้เวลาในการพิจารณาสุขภาพร่างกายของลูกค้า ตลอดจนสภาพผิวและความต้องการส่วนบุคคล และจะนำเสนอคอร์ส การทำสปาที่เหมาะสมกับลูกค้า นอกเหนือจากการทำสปาแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีชั้นเรียนโยคะ และการนวด การเรียนทำอาหาร ฯลฯ และมีแม้กระทั่งหลักสูตรเกี่ยวกับวิธีแกะสลักผักผลไม้ หรือการสร้างสรรค์งานศิลปะการสักยันต์ด้วยรูปแบบที่ศักดิ์สิทธิ์จากพระสงฆ์ที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |