ภาพถ่ายจากโดรน ชื่อผลงาน"ยกยอ" คว้ารางวัลชนะเลิศ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท ชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จัดประกวดโครงการภาพถ่ายนวัตกรรม “Innovation Thailand Photo Contest 2019” ภายใต้หัวข้อ นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation " ที่สะท้อนถึงนวัตกรรม ที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในชุมชนจังหวัดต่างๆในประเทศไทย ที่ใช้ในการดำรงชีวิตตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 2ประเภท คือ ประเภทการถ่ายภาพโดยใช้โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) และประเภทการถ่ายภาพโดยใช้กล้อง DSLR กล้อง Digital กล้องบรรจุฟิล์ม หรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมืออื่น ๆ ซึ่งมีภาพถ่ายส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 1,300 ภาพ
แม้จะมีผลงานมากมาย แต่ในที่สุดคณะกรรมการ ได้คัดเลือกผลงานที่ได้รับรางวัล และนำมาจัดนิทรรศการ Photo Gallery ในงานมหกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศของประเทศไทย ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยประเภทการถ่ายภาพโดยใช้โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) รางวัลชนะเลิศ เป็นของนายธนพร ดิษยบุตร ในชื่อผลงาน ยกยอ ซึ่งเป็นภาพที่สื่อถึงการนำนวัตกรรมการจับสัตว์น้ำแบบชาวบ้านหรือที่เรียกกันว่า "ยอ "มาใช้ในการประกอบอาชีพ รางวัลอันดับ 2 ได้แก่ นายสุรเชษฐ อินอัญชัญ ผลงาน "ก่อกองทรายบางแสน" ซึ่งสะท้อนถึงนวัตกรรมของศิลปะสถาปัตยกรรมไทย ที่เกิดจากการการใช้วัสดุ อุปกรณ์จากธรรมชาติหรือวัสดุย่อยสลายง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และรางวัลอันดับ 3 ได้แก่ นายชาญวิทย์ อิสราสุวิภากร ผลงาน "บูรณะพุทธศิลป์" ที่สื่อถึงการนำนวัตกรรมในการก่อสร้างมาใช้ในการบูรณะ ซ่อมแซม สิ่งก่อสร้างทางท่องเที่ยว
ภาพสปาหิมะดำ แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนบ้านดงเย็น จ.สุพรรณบุรี
ส่วนประเภทการถ่ายภาพโดยใช้กล้อง DSLR กล้อง Digital กล้องบรรจุฟิล์มหรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมืออื่น ๆ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายพิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ ในผลงาน "สปาหิมะดำ " ซึ่งเป็นภาพที่สื่อถึงนวัตกรรมการรักษาสุขภาพโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีการนำเศษซากอ้อยและดินมาใช้ในการรักษาอาการปวดเมื่อย และก่อให้เกิดกิจกรรมใหม่ในการท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อันดับ 2 ได้แก่ นายวีรพงษ์ ธนวงศ์อุดม ผลงาน "จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว" ที่สะท้อนถึงการใช้นวัตกรรมยานพาหนะที่ลดการปล่อยของเสียและลดใช้พลังงาน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และอันดับ 3 ได้แก่ นายสุริยา ผลาหาญ ในผลงาน "ท่องเที่ยวชุมชนโอทอป "ซึ่งภาพนี้สื่อถึง การนำเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ขวดพลาสติก ถังน้ำมัน มาประยุกต์เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อใช้อำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวชุมชน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จุดประสงค์การประกวดภาพถ่าย ที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชน มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยว สำหรับ การประกวดการถ่ายภาพด้วยโดรนระดับประเทศ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการประกวดภาพถ่ายประเภทนี้ ส่วนคำว่า"นวัตกรรม"ในชุมชน อาจไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ทั้งหมด แต่หากไปสัมผัสตามชุมชนต่างๆ ก็จะพบว่าแต่ละท้องถิ่นมีนวัตกรรมและภูมิปัญญาของตนเอง แต่การจะไปบอกว่าพื้นที่นั้นมีนวัตกรรมอะไร ก็อาจจะไม่เห็นภาพชัดเจน ดังนั้น การดึงการถ่ายภาพเข้ามาช่วยก็จะทำใได้เห็นภาพทั้งพื้นที่และนวัตกรรมในชุมชน ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งคนที่ได้เห็นภาพก็จะเกืดเความเข้าใจในนวัตกรรมนั้นๆ อย่างภาพ "ยกยอ "ที่ได้รับรางวัล จะเห็นได้ว่าเป็นการสะท้อนภูมิปัญญาในอดีต เพราะยอ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจับปลา และในวิถีชีวิตของชาวบ้านปัจจุบันก็ยังใช้เครื่องมือประเภทนี้อยู่
" การประกวดภาพถ่ายจากโดรนครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับวงการการถ่ายภาพ และการใช้โดรน ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติ การพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับวิชาชีพและความสนใจในสถานศึกษา ตลอดจนช่วยยกระดับสตาร์ทอัพกลุ่มมาร์เทค (ดนตรี ศิลปะ ความบันเทิง) ให้เกิดขึ้นทั้งในระดับปริมาณและคุณภาพในประเทศไทย นอกจากนี้ ผลงานที่เกิดจากกิจกรรมนี้ ยังจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มีความสนใจในการถ่ายภาพเพื่อนำผลงานไปใช้ในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ การประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี" รอง ผอ.เอ็นไอเอ กล่าว
ด้าน นายอดุล ตัณฑโกศัย กรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาพที่ได้ร่วมประกวดเหล่านี้ จะสร้างการรับรู้ของผู้เข้าชมให้อยากไปเที่ยวและสัมผัสในพื้นที่จริงๆ ดังนั้นการตัดสินก็จะใช้เกณฑ์ จากความคิดสร้างสรรค์ การเล่าเรื่อง และเทคนิคการถ่ายภาพต่างๆ และนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะในปัจจุบันราคาโดรนก็มีราคาที่ย่อมเยามากขึ้น แต่ก็ต้องปฏิบัติให้อยู่ในกฎระเบียบ ข้อกำหนดทางกฎหมายที่ได้บัญญัติขึ้น เพราะในบางพื้นที่ก็ไม่สามารถบินขึ้นไปถ่ายภาพได้ ดังนั้นผู้ที่บังคับโดรนต้องมีใบอนุญาต โดรนที่ใช้ต้องได้รับการขึ้นทะเบียน ในบางพื้นที่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองภาพของช่างภาพแต่ละคนที่ถ่ายทอดอกมาด้วย
ปราณปริยา วงศ์ษา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับแบบครบวงจรให้แพร่กระจายและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย ในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมดังกล่าวในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การป้องกันประเทศ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การบรรเทาภัยพิบัติ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางสำหรับผู้ที่มีความสนใจและมีความสามารถสู่เส้นทางสายอาชีพด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เกิดขึ้น
ในส่วนผลงานจากโดรน นายสุริยา ผลาหาญ เจ้าของภาพ ล่องแพชมธรรมชาติ บอกว่า นวัตกรรมเชิงท่องเที่ยวเกิดขึ้นโดยการบริหารจัดการของชุมชน ที่เป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ ซึ่งการถ่ายภาพนิ่งในหนึ่งภาพต้องสื่อสารทุกอย่างมาให้ครบและให้คนดูเข้าใจสิ่งที่เราต้องจะบอก อย่างภาพที่ใช้โดรนถ่ายที่เป็นขนาดมาตรฐานทั่วไป ในชุมชนจังหวัดจันทบุรี ที่มีการทำท่องเที่ยวล่องแพเพื่อไปศึกษาธรรมชาติ ชมเหยี่ยวแดง ซึ่งในการถ่ายด้วยโดรนอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของระเบียบกฎหมาย และราคาบางตัวค่อนข้างที่จะแพง แต่สำหรับมุมมองของภาพมีทั้งมุมสูง หรือในมุมภาพที่เราไม่สามารถเข้าไปถ่ายได้ ทำให้ได้ภาพที่แตกต่างด้วย
พิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ เจ้าของภาพ สปาหิมะดำ บอกว่า นวัตกรรมตามที่เราเข้าใจมีความหลากหลายในชุมชน แต่ที่ทำให้สนใจคือ แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนบ้านดงเย็น จ.สุพรรณบุรี ที่บริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของโรงน้ำตาล และมีกากอ้อยจากการเผา ซึ่งชาวบ้านค้นพบว่ากากเหล่านี้ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย จึงได้เกิดการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างภาพที่ได้ถ่ายมาก็จะสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการการทำสปา และถือว่าเป็นความแปลกใหม่ที่หลายๆคนอาจจะยังไม่เคยเห็น
พิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ เจ้าของภาพ สปาหิมะดำ