รัฐบาลนี้ อะไรที่ยากๆ.......
บางทีก็ฟลุกๆ ยิ่งกว่าขอทานถูกหวย!
อย่างการเปลี่ยนถ่ายสังคมยุค Manual สู่ยุค Digital คือยุคเศรษฐกิจใหม่
ที่โลกทั้งใบถูกรัฐบาลสหรัฐฯ โดย CFR ไล่ต้อนเข้าไปอยู่ในระบบฐานข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗
มันเป็นปัญหายากและใหญ่มากของประเทศ
การนำหน่วยงานเข้าระบบสื่อสารข้อมูลคอมพิวเตอร์และระบบไอที
"ไม่ยาก"
แต่การจะให้ประชาชนเข้าไปอยู่ในระบบนั้น ชนิด "ใช้-ชิน และชอบ"
มันยากยิ่งกว่าให้ทอนถือศีลข้อมุสา!
แต่ไม่น่าเชื่อ........
รัฐบาลนี้ทำได้ ทั้งเร็วและมีประสิทธิภาพ ใครเป็นคนคิดรูปแบบ "บัตรประชารัฐ" ต้องยกให้เป็น "แจ็กผู้ฆ่ายักษ์"!
อย่างแรก.......
ฆ่าประชานิยม "กองทุนหมู่บ้าน" ตายสนิท
ยิ่งกว่าพาราควอตฆ่าหญ้าและฆ่าคนผ่านพืชผักผลไม้ซะอีก!
ที่อย่าง (ยิ่ง) ใหญ่......
ทำให้เสาเข็มประเทศคือเกษตรกร หรือกลุ่มคนที่เรียกว่าประชาชนฐานราก ชาวไร่-ชาวนา คนยาก-คนจน
สามารถอภิวัฒน์ตัวเองสู่ยุคดิจิทัลได้เร็ว เหนือคาดหมาย
"บัตรประชารัฐ" เปลี่ยนชาวบ้านเป็นผู้ชำนาญไอที ก็ว่ายากพอๆ กับจูงช้างลอดรูเข็ม
แต่เหลือเชื่อ ชนิดรัฐบาลเองก็คิดไม่ถึง..........
ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ "ชิม ช้อป ใช้" ที่เหมือนรัฐบาลจ้าง ๑,๐๐๐ บาท ให้แต่ละคนเดินรดน้ำต้นไม้ที่แห้งเหี่ยวทั่วประเทศ
ผลที่ได้ กลับเหนือกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ คือ สามารถดึงคนเข้าสู่ระบบ E-Business สำเร็จเกินจินตนาการถึง แถมใช้คล่อง-ใช้เป็น พร้อมๆ กันทีเดียว ๑๐ กว่าล้านคน!
เป็น "กลุ่มเป้าหมาย" ที่รัฐบาลหนักใจ ในการนำเข้าสู่ฐานข้อมูลเพื่อบริหาร "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ทั้งนั้น
สรุป คือ แนวคิด-แนวทำ จากรัฐบาล เพื่อประชาชนฐานราก โดยพลังประชารัฐ
ทั้งบัตรประชารัฐ ทั้งแอปเป๋าตุง........
แนวทาง "จ่ายตรง" จากรัฐ "ถึงตรง" กระเป๋าชาวบ้าน ผ่านบัตรสมาร์ตการ์ด ผ่านแอป สู่ฐานข้อมูล
ยิ่งกว่ายิงด้วยดาวกระจาย นอกจากตัดคนกลางคอยชักหัวคิว และการกินเบี้ยบ้ายรายทาง อย่างโครงการเก่าๆ แล้ว
เงินถึงตัว-ถึงเต็ม "คนยาก-คนจน" ตามเป้าหมาย และที่เหนือเป้าหมาย ก็อย่างที่บอก จูงคนส่วนใหญ่เข้าระบบ "ฐานข้อมูล" ประเทศ
ทั้งยังฝึกวิทยายุทธ์ ให้กลุ่มคนฐานราก ใช้และชิน กับระบบอิเล็กทรอนิกส์!
นายกฯ ประยุทธ์เปรยวานซืน (๑ ต.ค.๖๒)
"ผมได้สังเกตดู เห็นว่าอะไรที่รัฐบาลทำแล้วดูจะได้ผล ก็มักถูกโจมตีพอสมควร..............
.....ที่บอกว่าการใช้เงินยุ่งยาก แต่วันนี้ เราเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดมาระยะหนึ่งแล้ว อย่างการใช้เงินจากบัตรประชารัฐ ไม่ใช่เรื่องไปแจกเงินสดในมือ
แต่เป็นการโอนเข้าบัญชี ที่เขาเรียกว่า 'กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์' (อีวอลเลต) เราต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ด้วย
รัฐบาลมีมาตรการเหล่านี้ เพื่อควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ เพื่อวันหน้าทำได้อีก
ก็เป็นธรรมดา อะไรก็ตามที่เราไม่เคยใช้ ก็ต้องเรียนรู้และคุ้นเคยกับมันเอง
อย่างบัตรประชารัฐ ตอนแรกก็ยุ่งยากพอสมควร แต่วันนี้ ก็เข้าใจกันหมดแล้ว...."
ถูกต้องแล้วครับ........
ตอนผุดโครงการ ชิม ช้อป ใช้ ใหม่ๆ หมาไม่หอนด้วยซ้ำ พวกองุ่นเปรี้ยวนึกว่า "ไม่เปรี้ยง"
แต่พอเปรี้ยง หอนยกคอกเลย หอนแบบบิดตะกูดงับหางตัวเอง ตอนนี้ ทั้งตัวผู้-ตัวเมีย นัวเนียแน่นเฟซ
เมื่อวาน (๒ ต.ค.) มีคนว่า โครงการ ชิม ช้อป ใช้ ถ้าคะแนนเต็มร้อย เขาให้สองคะแนน
ผมว่า "ควาย ๕ ตัวรวมกัน ยังไม่โง่เท่าชะนีน้ำเดินตัวเดียวเลย"
ไม่อยากพูด เจ็บ ค.
ลองอ่านนี่ดูซิ.........
Pat Hemasuk
ถ้าคน 10 ล้านคนโหลดแอพ "เป๋าตัง" และมีค้างในสมาร์ทโฟน นี่คือการคิกออฟฟินเทคอะไรก็ได้เลยนะครับ ถ้ารัฐฉลาดพอที่จะต่อยอดสิ่งนี้
ถ้าบอกว่าคนจีนส่วนมากมี Alipay ที่ต้องใช้เวลาผลักดันมาหลายปีจนติดตลาด
แต่ "เป๋าตัง" ของเราใช้เวลาไม่ถึงเดือน ก็ได้มา 10 ล้านคนแล้ว นั่นคืออะไรที่คนทำธุรกิจเป็น จะเห็นถึงศักยภาพในการทำธุรกิจต่อยอดกับ 10 ล้านคนนี้
อย่างบัตรร้าน 7-11 หรือบัตรแรบบิต ต้องใช้เวลาเท่าไร กี่ปี ถึงจะได้ยอดคนถือบัตรในหลักแสนหรือหลักล้าน
แต่เป๋าตังนั้น เพียง 10 วัน ได้คนมา 10 ล้าน นี่คืออะไรที่รัฐบาลได้มา เหมือนส้มหล่น ที่เอามาสร้าง National e-Payment
หรือ "อีเพย์เมนท์แห่งชาติ" ที่มีตลาดคนถือแอพใช้งานใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้เลย
ผมบอกได้เลยนะว่า ถ้าส้มหล่นที่ ธ.กรุงไทย ของรัฐบาล ธนาคารทุกแห่งพร้อมที่จะคุกเข่าเอาหัวโขกพื้นอยากได้กระเป๋าเงิน 10 ล้านคน ที่ตรวจสอบประวัติแล้วกลุ่มนี้ทั้งนั้น
ผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ไม่โง่หรอกครับ....
น่าจะมีคนคิดได้ถึงผลประโยชน์ต่อยอดที่มีมูลค่าหลายพันล้าน
ย้ำอีกที "หลายพันล้าน" อย่างแอพเป๋าตังที่มีฐานคนใช้ 10 ล้านคน แบบสายฟ้าแลบ ในเวลาไม่ถึงเดือนแบบนี้
ผมเห็นความรวยระดับหมื่นล้าน แสนล้าน กับธุรกิจต่อยอดของแอพ "เป๋าตัง" ตัวนี้ อย่างชัดเจน
จ้างผมไปนั่งเป็นบอร์ดซิ ผมจะสร้างเงินที่ก้อนใหญ่ที่สุดของประเทศให้ดู
----------------------------
พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า
จากโครงการ ชิมช้อปใช้ ก็รู้สึกตื่นเต้นกับ การที่ภาครัฐกำลังใช้เทคนิคสารพัดในการเก็บข้อมูลประชาชน ซึ่งถ้าเป็นประโยชน์ ต่อประชาชน ก็คงไม่ว่าอะไรกันอยู่แล้วแหละ
รอบนี้ โครงการนี้ ให้เงินก้นถุงรายหัวคนละ 1,000 บาท และถ้าประชาชนเอาเงินใส่ ก็จะคืนเงินจากการใช้ผ่านระบบนี้ให้ถึง 15% แต่ไม่เกินคนละ 4,500 บาท
จากตารางจะเห็นว่า.....
ถ้าโครงการนี้สำเร็จ สุดขีดคือ ผู้รับสิทธิ 10 ล้านคน หวังได้เงินคืน 4,500 บาท ทั้งหมด
รัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 3.1 แสนล้านบาท โดยรัฐลงทุนเพียง 10.74%
แต่ถ้าคิดแบบแฟร์หน่อย..........
คนไปเที่ยวจริงๆ แบบข้ามจังหวัด ทั้งกิน ทั้งใช้ ต่อหัว เฉลี่ยที่ 6,000 บาท ก็น่าจะพอได้นะ
สำหรับยุคนี้ (อาหารสามมื้อ สองวัน+โรงแรม+ค่ารถ+ค่าช้อป แถมอยากได้ cash back)
รัฐจะกระตุ้นได้ราว 7 หมื่นล้านบาท โดยลงทุนเพียง 20.14%
เดี๋ยวนี้เขาหมดยุคเอาเงินหว่านแล้ว เขาหว่านน้อยๆ แล้วประชาชนจ่าย 555
แต่ที่สำคัญ โดนไปแล้ว คือ เขาเก็บประวัติ พฤติกรรมการใช้เงินในการท่องเที่ยว บีบทางอ้อมให้ร้านค้ามาลงทะเบียน เผื่อเรียกเก็บภาษีได้ในอนาคต
หรือจะทำแอปอื่นเพิ่มเติม เพื่อจัดการสวัสดิการใหม่ในอนาคต
เรื่องเก็บเบอร์โทร เบอร์บัญชี ใบหน้า ไม่ต้องไปใส่ใจหรอกครับ เขาก็มีแล้วในบัตรประชาชน
เขาเอาจริงก็ได้ แต่ยากหน่อย การขอข้อมูลข้ามกรมกองภาครัฐมันเรื่องเยอะ ไม่ให้กันง่ายๆ คนทำแอปคงรำคาญเลยเก็บใหม่ซะเองเลย ง่ายกว่าครับ
ลักษณะการเก็บข้อมูลแบบนี้ จะมีอีกเยอะครับ บัตรเครดิต เฟซบุ๊ก แอปจ่ายเงินในร้านสะดวกซื้อ เขาก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น
สำหรับร้านค้าที่กลัวว่าวันหนึ่งจะโดนเล่นเรื่องภาษี ก็กลัวได้เลยครับ วันหนึ่งโดนแน่ ไม่เกินสิบปี
เงินส่วนใหญ่จะวิ่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หมด ถ้าคิดว่าเขาไม่รู้ บอกเลยว่า เขายังไม่ว่าง แค่ดูพฤติกรรมการโอนเงินเข้าบัญชีเขาก็รู้แล้วว่าค้าขายอยู่หรือไม่
จะแยกฝากกี่แบงก์ก็ทำได้นะ เพียงแต่เขายังไม่ว่างทำน่ะครับ
การเป็นพลเมืองดิจิทัล (digital citizenship) และการบริหารการใช้ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญครับ จำเป็นที่จะต้องสอนกันตั้งแต่เด็กๆ
เรื่องแบบนี้ ก็มีอยู่ในหลักสูตรวิทยาการคำนวณถึงความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่ในโลกออนไลน์ครับ แต่ก็ไม่ได้สอนกันตรงๆ แบบนี้หรอกครับ
มุกใหม่มาทุกวัน สอนไปก็ตามไม่ทัน ต้องสอนให้เด็กคิดตาม และหัดขวนขวายหาความรู้ครับ อินเทอร์เน็ตมีเยอะแยะ เราต้องสอนให้ใช้ให้เป็นมากกว่า ถามแล้วตอบครับ
อย่างเคสนี้ ไม่มีหรอกครับที่ถาม google ว่า รัฐได้อะไรจากโครงการนี้ รัฐจะบอกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว
สำหรับผม ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วครับ ใช่ว่าผมจะไม่กลัวสูญเสียความเป็นส่วนตัว
ผมไม่เห็นว่า ผมให้ข้อมูลอะไรมากกว่าที่รัฐเคยมีแล้ว (หรือที่เคยให้พวกบัตรเครดิต หรือให้ social network) แล้วจะไม่คุ้ม 1,000 บาท พร้อม cash back ครับ
จากนั้น ไม่พอใจ ก็เลิกใช้ จบ
Happy Digital Citizenship ครับ
#ชิมช้อปใช้ #วิทยาการคำนวณ #digital_citizensh
ครับ....เป็นไง
คนมี "วิสัยทัศน์" เขามองปร๊าดเดียว ปัญญาทะลุ
แต่คน "สันดานทัศน์" ไม่ว่าจะมองกี่ปร๊าด
..........ริษยาตาทะลุ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |