เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ 'เจ้าพระยา' คนสุดท้าย


เพิ่มเพื่อน    

วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2477 เป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 4  คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศขึ้นมาแทนนายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ที่ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ.2476
    เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ผู้นี้ท่านเป็นเจ้าพระยาคนสุดท้ายของเมืองไทย ท่านได้รับบรรดาศักด์เจ้าพระยาใน พ.ศ.2474 เพราะหลังจากท่านแล้วก็ไม่ได้ตั้งผู้ใดและต่อมาได้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2428 ท่านเป็นผู้ที่เรียนหนังสือเก่ง เรียนจบทั้งกฎหมายไทย และกฎหมายอังกฤษไปเรียนต่อที่สำนักเกรย์อิน ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ไปที่อังกฤษในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง เมื่อศึกษาจบกลับมาทำงานก็ได้รับความเจริญก้าวหน้า เคยเป็นตุลาการที่มีบทบาทสำคัญ และเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินฯ ท่านได้มาร่วมรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2476
    ท่านได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนฯ ในครั้งนี้แล้วเป็นอยู่ไม่ทันถึงปีก็พ้นตำแหน่งและได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนฯ ซ้ำอีกในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2477 เพราะ "ตามข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ปี 2477 ประธานและรองประธานต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อเปิดสมัยประชุมสามัญทุกปี"


    ในช่วงปลายสมัยแรกที่เจ้าพระยาศรีฯ เป็นประธานสภาผู้แทนฯ ต่อด้วยต้นสมัยที่สองนั้น เจ้าพระยาศรีฯ ได้รับหน้าที่สำคัญไปเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประเทศอังกฤษกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายดิเรก ชัยนาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ทางรัฐบาลพิจารณาว่าท่านเป็น
    "ผู้ที่ควรจะไปเฝ้าฯ ก็ควรเลือกผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักดีและไว้วางพระราชหฤทัย  ทั้งควรจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการและหลักราชการ"
    เจ้าพระยาศรีฯ จึงได้เป็นผู้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลถวายเรื่องราวในการติดต่อกับทางรัฐบาลอยู่เป็นเวลาประมาณ 5 เดือน และเป็นผู้ที่รับพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสละราชสมบัติ ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477
    หลังจากเป็นประธานสภาผู้แทนฯ ที่ต้องไปปฏิบัติภารกิจนอกประเทศจนกลับมาแล้ว เจ้าพระยาศรีฯ ก็ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2478 คราวนี้ท่านได้น้องชายของท่าน คือ พระยามานวราชเสวีมาเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งอีกด้วย
    ระหว่างที่เจ้าพระยาศรีฯ เป็นประธานสภาผู้แทนฯ ในสมัยที่ 3 นี้ก็มีเรื่องการเมืองที่สำคัญอยู่บ้างก็คือ "กรณีกบฏนายสิบ" ที่มีนายทหารชั้นประทวนหลายคนวางแผนสังหารผู้นำสำคัญทางการเมืองและล้มรัฐบาล ทางรัฐบาลรู้เรื่องก่อนและได้เข้าจัดการจับกุมดำเนินคดีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากทางรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาพิพากษาคดีกบฏนายสิบนี้ ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรก็ได้พิจารณาผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ และในการดำเนินคดีก็มีผู้ต้องหาถูกตัดสินประหารชีวิตหนึ่งราย กับที่เหลืออีกหลายรายได้ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลานาน
    การดำรงตำแหน่งประมุขของอำนาจนิติบัญญัติของท่านได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2479 หลังจากนั้นอีก 3 วันสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติเลือกน้องชายของท่านที่เคยเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคือพระยามานวราชเสวี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 5 ของประเทศ


    เจ้าพระยาศรีฯ เองนั้นพ้นจากตำแหน่งประธานสภาฯ มาได้ประมาณ 1 ปี ก็ได้กลับเข้ามาร่วมรัฐบาลของพระยาพหลฯ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อมาในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481  ในรัฐบาลใหม่ที่มีนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา เจ้าพระยาศรีฯ ก็ยังได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนถึง พ.ศ.2482 จึงได้ขอลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี
    ครั้นเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาเป็นนายควง อภัยวงศ์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2487 เจ้าพระยาศรีฯ ก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลใหม่อีกครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นอยู่จนนายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ.2488 และเมื่อนายควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2489 ท่านได้เข้าร่วมรัฐบาลโดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนั่นเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายของท่าน ต่อมาเมื่อมีวุฒิสภาท่านก็ได้เป็นประธานวุฒิสภา และได้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญสภาแรกเมื่อ พ.ศ.2491 นับว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องทางการเมืองอยู่หลายตำแหน่ง
    เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศมีชีวิตอยู่จนอายุเกือบจะ 92 ปี โดยถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 25 กันยายน  พ.ศ.2519.
---------------------
ข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า, ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"