คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร บัณฑิต นิจถาวร
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล
ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม ที่แถลงโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ตอกย้ำเศรษฐกิจขณะนี้กำลังชะลอต่อเนื่อง การใช้จ่ายของครัวเรือน การลงทุนของภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐชะลอ การส่งออกกลับมาหดตัว ที่ดูดีหน่อยคือ ภาวะท่องเที่ยว และการลงทุนของภาครัฐ แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจกำลังชะลอลง และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปรับประมาณเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ ร้อยละ 2.8 ซึ่งอาจต่ำสุดในภูมิภาค
รัฐบาลตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี และได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเลือกที่จะใช้วิธีให้เงินประชาชนไปใช้จ่ายตั้งแต่ ช่วงปลายเดือนกันยายนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ในรูปของโครงการชิมช้อปใช้ในวงเงิน 10,000 ล้านบาทให้แก่คน 10 ล้านคน ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากว่าเป็นการแจกเงิน ที่อาจไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ
ในแง่นโยบายสาธารณะมีคำถามที่ต้องตอบอยู่สองคำถาม หนึ่ง ถ้ารัฐบาลต้องการใช้เงิน 10,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้เงินแบบโครงการชิมช้อปใช้เป็นวิธีที่มีเหตุมีผลหรือไม่ สอง รัฐบาล มีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่จะใช้เงิน ที่จะให้ประโยชน์ หรือมีประสิทธิภาพกว่า พิจารณาในแง่ค่าเสียโอกาสของเงินหมื่นล้านบาท ที่สามารถเอาไปใช้สร้างประโยชน์ในทางอื่นได้ ที่อาจให้ผลต่อเศรษฐกิจได้ดีกว่าทั้งผลระยะสั้นและระยะยาว
ต่อคำถามแรก การศึกษาวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ชี้ว่าผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐต่อเศรษฐกิจ ในแง่การขยายตัวของรายได้ของประเทศจะมีค่าตัวทวีคูณระหว่าง 1.2 – 2.2 หมายความว่า ถ้ารัฐใช้เงินอย่างเดียว 10,000 ล้านบาท ผลต่อเศรษฐกิจจะเป็นเม็ดเงินระหว่าง 12,000 - 22,000 ล้านบาท ความแตกต่างของค่าตัวทวีคูณระหว่าง 1.2 – 2.2 ขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างไร
ถ้าการใช้จ่ายเป็นการลงทุน ผลต่อเศรษฐกิจจะมีมากกว่าเพราะการลงทุนที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การขยายตัวของรายได้ในปีต่อ ๆ ไป แต่ถ้าการใช้จ่ายเป็นการกระตุ้นการบริโภคอย่างที่กำลังทำ ผลต่อเศรษฐกิจจะต่ำ เพราะการบริโภคจะไม่มีผลสร้างรายได้ในอนาคต หมดแล้วหมดไป นอกจากนี้ การให้เงินเปล่าแทนการลดหรือให้เครดิตภาษีก็มีข้อจำกัดด้านการกระจาย เพราะประชาชนจะได้ประโยชน์ไม่ทั่วถึง เช่น ในกรณีที่กำลังทำอยู่จะมีเพียงคน 10 ล้านคนที่ได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตามถ้ารัฐบาลเลือกที่ใช้วิธีให้เงินเปล่าแบบจำกัดผู้รับประโยชน์ หรือ targeted subsidies เช่น ที่จำกัดผู้รับประโยชน์ไว้ที่ 10 ล้านคน ในแง่นโยบายสาธารณะ หลักที่ควรใช้พิจารณาในการทำมาตราการแบบนี้ คือ หนึ่ง กลุ่มผู้ที่ได้ประโยชน์จะต้องเป็นผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ดังนั้นการให้ควรเป็นการให้ตามความจำเป็นจะดีที่สุด สอง คนในกลุ่มผู้ได้ประโยชน์จะต้องสามารถได้รับเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ซึ่งในกรณีโครงการรัฐบาลขณะนี้ผู้ได้ประโยชน์จะต้องลงทะเบียนและมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทำให้คนไม่มีโทรศัพท์จะเสียโอกาส สาม การให้เปล่าต้องเป็นเรื่องชั่วคราวเพื่อบรรเทาปัญหา ที่เกิดขึ้น เช่น คนตกงานก็ได้รับเงินช่วยเหลือช่วงกำลังตกงาน เพื่อให้มีรายได้พอประทังชีวิตในช่วงกำลังหางานไม่ใช่รับเงินเฉยๆ โดยไม่คิดจะทำงาน นี่คือ หลักสามข้อที่ควรต้องมีในการออกแบบโครงการ
ในกรณีโครงการภาครัฐที่กำลังดำเนินการสามารถตั้งคำถามได้ในทั้งสามข้อ คือ ผู้ได้ประโยชน์ มีความจำเป็นหรือไม่ ได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ และการได้เงินเปล่า ๆ โดยไม่ทำอะไรตอบแทนจะสร้างแรงจูงใจให้คนไทยรอแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือไม่ แทนที่จะช่วยตัวเอง เช่น พยายามหางานทำเพื่อให้ มีรายได้ นี่คือคำถามที่ต้องตอบ
ในประเด็นที่สองว่ามีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่จะใช้เงินที่อาจสร้างประโยชน์ได้มากกว่า คำตอบ คือมี
ปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาหนักของสังคมขณะนี้ คือ การไม่มีรายได้เพราะไม่มีงานทำ ล่าสุดตัวเลขการว่างงานพุ่งไปที่ 4.4 แสนคน ในแง่นี้ โจทย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจตั้งใหม่เป็น ทำอย่างไรจะใช้เงิน 10,000 ล้านบาท ให้สามารถลดจำนวนคนว่างงานในประเทศลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง คือ พยายามออกแบบมาตราการให้ ใช้เงิน 10,000 ล้านบาท ที่จะทำให้คน 200,000 คนที่ตกงานมีงานทำ แทนที่จะให้เงิน 10 ล้านคนไปเที่ยว หรือบริโภค
วิธีหนึ่งที่ทำได้ คือ ใช้ 10,000 ล้านบาท อุดหนุนให้บริษัทเอกชนจ้างคนที่ตกงานเข้าทำงาน โดยรัฐจะออกเงินเดือนที่บริษัทเอกชนต้องจ่ายให้พนักงานส่วนหนึ่ง ที่เหลือออกโดยบริษัทเอกชน ตัวอย่างเช่น เงินเดือนพนักงานอยู่ที่ 24,000 บาทต่อเดือน รัฐออกให้ 17 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4,000 ต่อเดือน หรือ 48,000 บาทต่อปี ซึ่งในวงเงิน 10,000 ล้านบาท จะทำให้คนที่ตกงานกว่า 200,000 คน มีงานทำทั้งปี บริษัทเอกชนก็จะออกค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงาน 200,000 คน ส่วนที่เหลืออีกปีละ 48,000 ล้านบาท รวมแล้วจะมีเม็ดเงินใหม่อัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจทั้งหมด 58,000 บาท เงินเหล่านี้ ถ้ารวมผลค่าตัวทวีคูณประมาณสอง ก็จะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ในประเทศมหาศาล
ที่สำคัญ ผลที่เกิดขึ้นจะมาจากการมีบทบาทร่วมกันของภาครัฐที่ลงเงิน 10,000 ล้านบาท บริษัทเอกชนที่ได้พนักงาน 200,000 คนมาเป็นพนักงาน ในอัตราค่าจ้างที่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และคนไทย 200,000 คน ที่ว่างงานจะมีงานทำ มีรายได้ให้ตัวเองที่จะนำไปใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัวได้ทั้งปี เป็นการทำงานแลกความช่วยเหลือไม่ใช่รอให้รัฐบาลมาให้เงิน
นี่คือ ตัวอย่างของการใช้เงินที่มาจากภาษีของประชาชนอย่างมีเหตุมีผล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |