เมื่อวานผมได้นำเอาบันทึกของคุณวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำจีนที่ได้นำเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าด้วยแง่คิดความสัมพันธ์ไทยกับจีนที่มีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธานในการสัมมนาพิเศษที่โรงเรียนนายร้อย จปร.อย่างน่าสนใจยิ่ง
วันนี้เป็นตอนต่อจากเมื่อวาน...ช่วงจังหวะที่นักการทูตไทยคนนี้ได้เรียนรู้และศึกษาจากวิธีคิดและแผนการเปิดประเทศของ "เติ้ง เสี่ยวผิง" อย่างน่าสนใจยิ่ง
ท่านทูตวิบูลย์เล่าไว้อย่างนี้ครับ
ช่วงอยู่จีน 4 ปีแรก 2526 ถึง 2530 ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามผู้ใหญ่ฝ่ายไทยเข้าพบเติ้ง เสี่ยวผิงถึง 4 ครั้ง นายกรัฐมนตรีจีนอีก 8 ครั้ง จึงนับเป็นโอกาสที่หายาก ได้ฟังได้เรียนรู้อะไรมากมาย โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ วิธีคิด วิธีมองปัญหา และแยกแยะวิเคราะห์ปัญหาที่ซับซ้อนเพื่อนำสู่การปฏิบัติ ผู้นำจีนโดยเฉพาะเติ้ง เสี่ยวผิง "ตกผลึก" และมองว่าถ้าจีนไม่เปิดประเทศ ไม่ปฏิรูป ก็ไปไม่รอดแน่ โดยเฉพาะหลังจากเดินทางตระเวนเยือนทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐฯ ยุโรป (และไทย) ผู้นำจีนน่าจะรู้สึกตกใจพอควรที่เทียบแล้วเห็นจีนล้าหลังกว่าประเทศเหล่านั้นมาก และเห็นว่าแนวคิดปฏิบัติแบบเดิมๆ คง "ไม่เวิร์ก"
เพราะเอาเข้าจริง บ่อยครั้งอุดมการณ์ก็ไม่สามารถไปกระตุ้นพลังการผลิตได้มากตามทฤษฎีอย่างที่คิด จึงต้องหันมาใช้มาตรการทางเศรษฐกิจบางอย่างของทุนนิยม เกิดเป็นคำกล่าวเข้าใจง่ายๆ ที่มีการพูดถึงบ่อยที่สุดว่า "แมวขาวแมวดำไม่สำคัญขอให้จับหนูได้เป็นพอ"
สะท้อนชัดเจนถึงวิสัยทัศน์ผู้นำที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดผลเป็นรูปธรรมเมื่อเจอทางตัน โดยไม่ยึดติดกับกรอบอุดมการณ์ทางการเมืองมากเกินไป เติ้ง เสี่ยวผิงเป็นผู้นำที่ "มองปัญหาขาด" ตระหนักดีที่สุดว่า ถ้าจีนไม่ปฏิรูปไม่เปิดประเทศก็จะอยู่ไม่ได้ คือไปไม่ถึงไหน ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในระบบทุนนิยมที่จีนโจมตีมากช่วงสงครามเย็นมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยประสบการณ์ก่อนหน้านั้นของจีนตั้งแต่ช่วง "ก้าวกระโดดไกล" ในทศวรรษ 1950 ถึงช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมต้องเรียกว่าจีน "ถอยหลัง" การปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศสู่ภายนอก จุดใหญ่คือใช้มาตรการบางส่วนที่เรียกว่า "กลไกตลาด" ของทุนนิยมเข้าช่วยกระตุ้นให้เกิดพลังการผลิตอย่างแท้จริง เป็นการปลดปล่อย "จิตวิญญาณ" ทุนนิยมในธรรมชาติของมนุษย์ให้ทำงานก็ว่าได้ และสำหรับคนจีนก็เป็นที่รู้กัน ยิ่งเก่งในเรื่องค้าขายอยู่แล้ว
น่าสนใจว่าช่วงเริ่มปฏิรูปจนถึงช่วงที่ผู้เขียนไปประจำการรอบแรก จะเห็นป้าย 2 ข้างทางถนนฉางอันในกรุงปักกิ่ง ข้างหนึ่งกล่าวถึงสิ่งที่เติ้ง เสี่ยวผิงกำลังดำเนินการปฏิรูปว่า เป็น "การเดินตามแนวทางสังคมนิยมที่เป็นลักษณะเฉพาะของจีน" ในขณะที่ป้ายฝั่งตรงข้าม ก็ยังเป็นการเชิดชูลัทธิมาร์ซเลนินและความคิคเหมา เจ๋อตง แสดงให้เห็นชัดเจนถึงวิธีพยายามประนีประนอมในการผลักดันนโยบาย ซึ่งตอนนั้นก็มีผู้นำจีนต่อต้านไม่น้อย นอกจากประเด็น "แมวขาวแมวดำ" เติ้ง เสี่ยวผิงยังออกมาพูดความจริงหลายอย่างที่ยุคนั้นไม่มีใครกล้าพูด
เช่น สังคมนิยมไม่ได้หมายถึงต้องจนเท่ากัน แต่ต้องยอมให้คนส่วนหนึ่งมั่งมีขึ้นมาก่อน เพื่อในที่สุดจะสามารถช่วยดึงคนส่วนที่ด้อยโอกาสกว่าขึ้นมาได้ พอพูดไป ท่านก็ถูกต่อต้านมากว่า "เดินตามทางทุนนิยม" ซึ่งจะนำสู่ความล้มเหลว เพราะจะมี "มลภาวะทางจิตใจและวัฒนธรรม" เข้ามาทำให้สังคมจีนเสื่อมถอยเหมือนก่อนการปฏิวัติ ซึ่งเติ้ง เสี่ยวผิงตอบแก้ในประเด็นนี้อย่างน่าคิดว่า จีน (ตอนนั้น) เหมือนคนไข้ใกล้ตาย จำเป็นต้องเปิดหน้าต่างเอาอากาศบริสุทธิ์เข้ามา
อากาศบริสุทธิ์ในที่นี้หมายถึงต้องปฏิรูปเปิดประเทศเอาเทคโนโลยี เอาเงินทุนเข้ามา หากจะมีสิ่งแปลกปลอมก็ต้องจัดการแก้ไข แต่ไม่ใช่ไปพาลปิดประตูจนคนไข้ต้องตายลง
เหล่านี้เป็นวิสัยทัศน์ยุคเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศที่น่าสนใจ
ผู้นำจีนตกผลึกจากบทเรียนในประวัติศาสตร์ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่จีนเปิดประเทศ จีนก็จะเจริญรุ่งเรืองโดยเฉพาะ เช่น ในสมัยราชวงศ์ถังที่ Silk Road ติดต่อสัมพันธ์กับนานาประเทศสมัยนั้น พาจีนสู่ความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ ตรงข้ามกับช่วงปิดประเทศหลังสงครามฝิ่นปี 2383 ที่นำพาจีนสู่ความตกต่ำ ถูกเย้ยหยัน และเป็น "กึ่งเมืองขึ้น" ของตะวันตกและญี่ปุ่น แต่ก็นั่นแหละ จีนโชคดีที่เติ้ง เสี่ยวผิง เป็น "แมวเก้าชีวิต" เพราะถูกเล่นงานทางการเมืองไปแล้ว 2-3 ครั้งก็ยังสามารถกลับขึ้นมานำพาประเทศได้อีก เป็นเรื่องที่น่าคิด
ผลประโยชน์ไทยจีนด้านการค้าในยุคดังกล่าวยังเป็นไปอย่างจำกัดจากนโยบายจีนที่ยังไม่เปิดเสรีการค้ามาก การค้าส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะรัฐบาลต่อรัฐบาล และเอกชนไทยกับวิสาหกิจของจีน ระหว่างเอกชนด้วยกันมีน้อยมาก เพราะธุรกิจเอกชนเพิ่งอยู่ในยุคเริ่มก่อตัว
อย่างไรก็ตาม จีนกลายเป็นตลาดสำคัญที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตร เช่น น้าตาลดิบ ยางพารา ข้าว หรือข้าวโพด สินค้านำเข้าสำคัญจากจีนคือสินค้าประเภทนำมันเชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์และเครื่องจักรอุปกรณ์เกษตร แม้มูลค่าและปริมาณการค้าจะน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่ตลาดจีนก็กลายเป็นความหวังของสินค้าเกษตรไทยที่ผู้นำไทยมักนึกถึงเมื่อต้องการหาตลาด ในยุคนั้นไทยยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำมันดิบ ซึ่งหลายครั้งผู้นำการเมืองไทยก็ต้องอาศัยจีนช่วยในส่วนนี้
ผู้เขียนจำได้ว่ายุคนั้นในความสัมพันธ์การค้าไทยจีน มีประเด็นของคำว่า "ราคามิตรภาพ" ที่สองฝ่ายหลังจากผู้นำเจรจากันเสร็จ ผู้ปฏิบัติก็มักต้องมีการขบคิดหารือตีความกันในประเด็นนี้ กล่าวคือ ถ้าไทยขอให้ฝ่ายจีนรับซื้อสินค้าเกษตรในราคามิตรภาพ เรามักคาดหวังให้จีนช่วยซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เพราะส่วนใหญ่เกิดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตก จึงหวังจีนช่วยซื้อเพื่อพยุงราคา
ในทางตรงข้าม ถ้าเราซื้อจากจีนในราคามิตรภาพ เช่นน้ำมันดิบ เราคาดหวังให้จีนขายให้ในราคาพิเศษที่ถูกกว่าตลาดโลก เป็นสิ่งที่มีความพิเศษมากในความสัมพันธ์ไทยจีนที่สองฝ่ายมีผลประโยชน์จำเป็นด้านอื่นคือ ด้านยุทธศาสตร์ร่วมกันที่สำคัญกว่ามาก จึงทำให้ "สมการซื้อขาย" ที่ซับซ้อนเหล่านี้สามารถแก้ไขลงตัวได้ในยุคนั้น
2.ยุคถัดมา
ในยุคถัดมาที่ผู้เขียนไปประจำการในจีนคือช่วง 2543-2546 ได้เห็นความสัมพันธ์ไทยจีนพัฒนาคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน เป็นจังหวะที่จีนเข้าองค์การการค้าโลก หรือ WTO ในปี 2544 ทำให้อุปสรรคการค้าด้านภาษีของจีนกับประเทศต่างๆ ลดลงมาก
ไทยสามารถขายสินค้าผลิตผลเกษตรให้จีนมากขึ้น ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า Early Harvest คือ "การลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที" เริ่มใช้กับไทยปี 2546 (ภายใต้กรอบใหญ่การค้าเสรีอาเซียนกับจีน) ส่งผลให้การค้าไทยจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง มูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มสูงขึ้นมาก จาก 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต 2518 เพิ่มเป็น 57,782 ล้านเหรียญฯ ในปี 2554 ไทยส่งออก 27,130 ล้านเหรียญฯ นำเข้าจากจีน 30,652 ล้านเหรียญฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 14 ของจีนตอนนั้น มีกรอบความร่วมมือต่างๆ ตามมา เช่น ความร่วมมือในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง โครงการลงทุนต่างๆ ของจีนมีเอกชนไปลงทุนเพิ่มมาก โดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์
ที่น่าสนใจควรกล่าวถึงในส่วนนี้คือ ผลพวงของ Early Harvest ข้างต้น ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศเดียวที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนและทำได้เรื่อยมาจนถึงเมื่อไม่นานมานี้ จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงของเอกอัครราชทูตประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งไทยในการส่งออกทุเรียนช่วงที่ผู้เขียนเป็นทูตที่ปักกิ่ง ในหลายเวที ผู้เขียนย้ำเสมอว่าตลาดทุเรียนไทยซึ่งเป็นผลพวงของ Early Harvest ที่ไทยมีมากับจีนนี้ เราต้องรักษาไว้ให้ดีไม่เห็นเป็น "ของตาย" โดยควรจัดระเบียบการส่งออกสินค้าที่เน้นคุณภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าเชิงปริมาณที่ก่อให้เกิดปัญหาตลอด
ควรเล่าให้ฟังในส่วนนี้ด้วยว่า ครั้งหนึ่งในการ "เปิดบ้านทูตไทย" เพื่อโปรโมตทุเรียนไทย ผู้ดำเนินรายการที่เชิญมาทำการบ้านมาดี ถามผู้เขียนกึ่งให้คำตอบเองว่า
ทุเรียนแท้จริงมีแหล่งกำเนิดจากทางมลายูมิใช่หรือ ซึ่งผู้เขียนตอบว่าก็อาจจะใช่ แต่กระนั้นทุเรียนก็ได้รับการพัฒนาพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นต่อเนื่องในประเทศไทยมากว่าร้อยปี จนกลายเป็นพันธุ์ทุเรียนไทยที่คุณภาพปัจจุบันเหนือกว่าทุเรียนแหล่งอื่นใด ดังคำพูดจีนที่ว่า 青出于蓝而胜于蓝 ซึ่งเขาชอบใจเพราะมีคำกล่าวจีนโบราณที่ว่า
"สีฟ้าครามที่มาจากสีฟ้านั้น ท้ายสุดแล้วก็เด่นสง่ายิ่งกว่าสีฟ้าเดิม"
(สู่ยุคความสัมพันธ์ Win-Win).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |