ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในสังคม ทำให้ข่าวสารต่างๆ ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วแค่เพียงปลายนิ้ว ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในการคัดกรองข้อเท็จจริง ก่อนจะกดไลด์ กดแชร์ ส่งต่อกันไป เหมือนกับที่รัฐบาลต้องมานั่งแก้ข่าวที่ไม่เป็นความจริง หรือข่าวที่มีการนำไปบิดเบือนอยู่ทุกวัน ผ่านช่องทางต่างๆ
เช่น กรณีที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปพูดเรื่องการใช้ Google ของคนไทย ระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกา ซึ่งโลกโซเชียลนำไปวิจารณ์ในทางที่เข้าใจผิด จนบิ๊กตู่ต้องออกมาแก้ข่าวด้วยตัวเอง เป็นต้น
ด้วยความที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุครัฐบาลปัจจุบัน ที่สื่อโซเชียลกลายเป็นสื่อกระแสหลักของทุกกลุ่มเป้าหมายไปแล้ว ทำให้รัฐบาลต้องตื่นตัว ปรับตัว และปรับกลยุทธ์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ซึ่งที่ผ่านมาบิ๊กตู่ได้กำชับทุกหน่วยงานของรัฐให้ตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว
โดยในส่วนของรัฐบาลเองก็มีการปรับตัว เปิดเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม มีการไลฟ์สดติดตามภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงลงพื้นที่หรือการแถลงข่าว และล่าสุดยังผุดรายการ Government Weekly ที่เชิญแขกพิเศษมาออกรายการ รวมถึงมีการตั้งศูนย์ต้านข่าวปลอมอีกด้วย
ขณะที่ทีมโฆษกรัฐบาล ทีมงานของ พล.อ.ประยุทธ์ และคนใกล้ชิด ต่างก็ปรับตัวให้ทันโลกโซเชียล มีการสื่อสาร แจ้งข่าวสารกับประชาชนอย่างฉับไวเช่นกัน รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์เอง ที่ก่อนหน้านี้ใช้เพียงช่องทางสื่อสารกับประชาชนผ่านรายการทุกวันศุกร์ ในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ที่ต่อมาปรับตามสถานการณ์เป็นรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"
ก่อนจะเพิ่มช่องทางสื่อสารกับประชาชนด้วยการเปิดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมส่วนตัวขึ้น รวมถึงเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย
และหลังจากได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาธิปไตย พล.อ.ประยุทธ์ลาจอรายการวันศุกร์แบบถาวรไปแล้ว เพราะดู 5 ปีที่ผ่านมาจะไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเท่าที่ควร แต่กำลังหาช่องทางอื่นในการสื่อสารกับประชาชนในบางครั้งบางโอกาสที่เหมาะสม
โดยล่าสุดทีมงาน “นายเทวัญ ลิปตพัลลภ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ได้วางรูปแบบรายการพบประชาชน เพื่อนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ใน 5 รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย ทันยุคโซเชียลครองเมือง
โดยเน้นรายการที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารรัฐบาลให้มากที่สุด มีทั้งรายการประจำและรายการในช่วงที่นายกฯ ลงพื้นที่ ได้แก่ 1.การให้ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์แบบทั่วไป 2.การจัดพิธีกรที่มีชื่อเสียงมาสัมภาษณ์ 3.การทำรายการเรียลลิตี้ลงพื้นที่ไปคุยไป 4.การไลฟ์สดพูดคุยกับประชาชน และ 5.ให้สื่อมวลชนเข้าสัมภาษณ์แบบเป็นกลุ่ม
นอกจากนี้ยังเล็งๆ ว่าอาจมีนายกฯ พบสื่อ เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน เหมือนกับที่เคยทานข้าวกับสื่อทำเนียบฯ ในโอกาสสำคัญๆ และพูดคุยกันไปแบบเป็นกันเอง แต่ทั้ง 5 รูปแบบนี้ยังไม่เคาะว่าจะเป็นรูปแบบใด โดยต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ตัดสินใจ และต้องคำนึงถึงฟีดแบ็กที่จะได้รับกลับมาด้วย
ขณะที่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ประเดิมจ้อกับประชาชนแบบนั่งคุยสบายๆ หลังห่างหายหน้าจอในรูปแบบดังกล่าวมานาน โดยเป็นแขกรับเชิญพิเศษ ในรายการ Government Weekly ซึ่งเป็นรายการของรัฐบาลเอง เป็นการบันทึกเทประหว่างไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 74 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
มีการพูดคุยในหลากหลายประเด็น และเป็นการพูดคุยในบางโอกาสสำคัญ เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยระบุไว้
แต่การเผยแพร่เทปดังกล่าว ก็โดนกระแสโซเชียลตอบกลับเช่นกัน แต่ไม่ใช่กระแสเกี่ยวกับรายการ กลับเป็นกระแสจากตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง ด้วยคนที่เข้ามาแสดงความเห็นส่วนใหญ่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล มีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย นั่นจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่คนคิดรูปแบบรายการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องคิดอย่างรอบคอบและเหมาะสม เพื่อเซฟในเรื่องเหล่านี้ด้วย
ทั้งนี้ ไม่ว่าการพูดคุยกับประชาชนของ "บิ๊กตู่" จะออกมาในรูปแบบใด ผลสำเร็จคงต้องวัดกันที่กระแสตอบรับจากประชาชน แต่ก็เชื่อว่าจากประสบการณ์ทำงาน 5 ปีของ “บิ๊กตู่” จะสามารถรับมือได้ในทุกๆ สถานการณ์ เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |