มุมมองนักการทูตกับ สัมพันธ์ไทย-จีน


เพิ่มเพื่อน    

 วันนี้ตรงกับวันชาติจีน และปีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะครบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

                วันก่อน คุณวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำจีน ได้นำเสนอแง่คิดในการสัมมนาพิเศษว่าด้วยความสัมพันธ์ไทยกับจีน ที่มีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานที่โรงเรียนนายร้อย จปร.อย่างน่าสนใจยิ่ง

                ผมจึงขออนุญาตท่านได้นำเอา "แง่คิดความสัมพันธ์ไทย-จีน จากยุคเริ่มการปฏิรูปถึงปัจจุบัน: มุมมองจากประสบการณ์ของนักการทูตคนหนึ่ง" มาเล่าให้ผู้อ่านคอลัมน์นี้ได้รับทราบ เพราะมีรายละเอียดเบื้องหน้าเบื้องหลังที่น่าสนใจยิ่ง

                1.มองย้อนหลัง-ยุคเริ่มการปฏิรูป

                มองย้อนหลัง ผู้เขียนนับว่าโชคดีและจังหวะชีวิตลงตัวที่ได้ไปทำงานอยู่จีนถึง 5 รอบ เริ่มตั้งแต่ระดับเลขานุการสถานเอกอัครราชทูต หลังช่วงจีนเริ่มเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจได้ไม่นาน  "โคจร" ไปรอบใหญ่ ไปประจำการในหลายแห่ง จนได้กลับมาเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง

                ในช่วงกลางระหว่างนั้นยังมีโอกาสไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกงสุลใหญ่ในจีนอีก 2 แห่ง คือที่คุนหมิง และเซี่ยงไฮ้ และอีกครั้งในฐานะผู้อำนวยการใหญ่ที่ไทเป ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน

                ดังนั้น "แง่คิด" ต่างๆ ในความสัมพันธ์ไทยจีนที่จะนำเสนอ จึงมุ่งยุคหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนเป็นหลักถึงปัจจุบัน เพราะมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ของผู้เขียนโดยตรง ซึ่งอาจมีมุมมองหรือแง่คิดจากประสบการณ์หลากหลายแตกต่างกันออกไป

                ผู้เขียนมีความเชื่อตลอดมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า สิ่งที่จะผูกพันความสัมพันธ์ไทยจีนให้ยั่งยืนสืบไป นอกจากปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่นความสัมพันธ์ใกล้ชิดฉันญาติมิตร หรือขนบธรรมเนียมทางวัฒนธรรมอันคล้ายคลึงที่มักมีการกล่าวถึงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผลประโยชน์ที่จะต้องมีร่วมกันในด้านใดด้านหนึ่ง

                ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ไทยจีนในยุคใหม่ที่เริ่มตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2518 เรื่อยมาจนถึงยุคเริ่มการปฏิรูปของจีน ก็ล้วนเป็นผลพวงสืบเนื่องจากความเกื้อกูลกันของความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ ต่อเนื่องตั้งแต่ยุคเปิดความสัมพันธ์ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์สามเส้าเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน โซเวียต และสหรัฐฯ

                โดยเฉพาะการที่จีนเห็นว่าโซเวียตเป็นภัยคุกคามโดยตรง จนทำให้เกิดการปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในจังหวะที่สหรัฐฯ ก็ต้องการยุติสงครามเวียดนาม เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยคอมมิวนิสต์ชนะในประเทศอินโดจีน และสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากภูมิภาคตาม  "ลัทธินิกสัน" รวมทั้งปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์ภายในของแต่ละประเทศ ทำให้หลายประเทศในภูมิภาครวมทั้งไทยจำเป็นต้องปรับความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งก็เป็นความต้องการทางยุทธศาสตร์หลักของจีนที่จำเป็นต้องปรับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของโซเวียตเช่นกัน

                จากข้างต้นทั้งหมด จะเห็นว่าไทยและจีนมีความสอดคล้องต้องกันของผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่เป็นไปอย่างลงตัวของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการบุกยึดครองกัมพูชาของเวียดนามในปี 2521-2522 ซึ่งไทยเองช่วงนั้นก็ต้องการอาศัยจีนคานอำนาจเวียดนามที่โซเวียตสนับสนุนการขยายอิทธิพลอย่างมากในกลุ่มประเทศอินโดจีนและเป็นภัยคุกคามชัดเจนต่อความมั่นคงของไทย

                ในความรู้สึกถึงภัยคุกคามข้างต้น ผู้เขียนจำได้ดีถึงบรรยากาศช่วงนั้นที่เป็นไปอย่างเคร่งเครียดจริงจัง สังเกตและรู้สึกได้จากการสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการสอบสัมภาษณ์เข้ากระทรวงการต่างประเทศช่วงนั้น ล้วนถูกตั้งคำถามเดียวกันว่าแล้วประเทศไทยจะเป็น  "โดมิโน" ตัวถัดไปหรือไม่ หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ยึดครองทั้งสามประเทศคือ เวียดนาม ลาว และกัมพูชาในอินโดจีน

                คำถามยังเจาะลึกตรงไปตรงมาถึงขั้นว่า แล้วเวียดนามจะบุกไทยหรือไม่หลังจากยึดครองกัมพูชา

 เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความวิตกกังวลอย่างยิ่งของทุกภาคส่วนต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทยในช่วงนั้น ทำให้ไทยจีนเกิดผลประโยชน์ร่วมทางยุทธศาสตร์ที่ "ลงตัว" และเป็น "รูปธรรม" ในการร่วมผลักดันแก้ไขปัญหากัมพูชาทางการเมืองทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีอาเซียน จนมีการถอนทหารเวียดนามออกจากกัมพูชาในที่สุดในปี 2532

                ประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ไทยจีนที่เกี่ยวโยงควรกล่าวถึงในส่วนนี้ คือ นโยบายและหลักการสำคัญของไทยที่มีต่อสถานะคนจีนโพ้นทะเลในไทยตอนนั้น ได้กลายเป็นต้นแบบหลักปฏิบัติส่วนนี้ของจีนในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับกลุ่มประเทศอาเซียนเดิม 5 ประเทศ จึงเป็นยุคที่ประเทศไทยมีความสำคัญและอยู่บน "จอเรดาร์" ในสายตาจีนอย่างมาก

                นอกจากด้านการเมืองและความมั่นคง ในด้านเศรษฐกิจ เพื่อนชาวจีนที่ภายหลังได้มาเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำไทย เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังช่วงประจำการรอบแรกในจีนหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนไม่นานว่า ประเทศไทยเคยถูกมองจากผู้นำจีนในยุคกำลังตัดสินใจเปิดประเทศในเชิงเปรียบเทียบความสำเร็จและปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยบางประเทศที่ตอนนั้นยังล้าหลังมาก เพราะยังคงนโยบายปิดอย่างเหนียวแน่น และที่สุดผู้นำจีนให้น้ำหนักรูปแบบของไทยแม้จะมีส่วนของผลพวงปัญหาที่ต้องขบคิด

                นับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะที่เราได้รับฟังหรืออ่านเจอเสมอ ส่วนมากก็มักจะเกี่ยวกับรูปแบบความสำเร็จการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่ผู้นำอย่างเติ้ง เสี่ยวผิงต้องการนำมาประยุกต์ใช้กับจีน ซึ่งข้อเท็จจริงที่อาจจะโยงได้ในส่วนนี้คือ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เคยมาเยือนไทยในจังหวะที่จีนกำลังจะประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 2521 และยังได้เข้าร่วมพระราชพิธีอุปสมบทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในขณะนั้น แน่นอนว่าใน พ.ศ.นั้น ประเทศไทยหรือกรุงเทพฯ นับว่ามีความเจริญและทันสมัยพอควรเทียบกับจีนยุคนั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องโดยสิ้นเชิงกับจีนยุคปัจจุบัน.

                (พรุ่งนี้: เรียนรู้จากหลักคิดของเติ้ง เสี่ยวผิง)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"