กฎหมายลูกฉลุย "การเมือง" เร่งเร้า "จัดเลือกตั้ง"


เพิ่มเพื่อน    

        ความคาดหวังที่จะมีการเลือกตั้ง เริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงไปอีกก้าว พลันที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยคะแนน 211 งดออกเสียง 7 ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นไม่ต่างกัน เห็นชอบ 202 ต่อ 1 งดออกเสียง 13

            ก่อนหน้า พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ได้ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ล่วงหน้ารอเอาไว้แล้ว ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ จากทั้งหมด 10 ฉบับ ผ่านการพิจารณาจาก สนช. มีผลบังคับใช้แล้วในวันใด ถือว่าเริ่มนับ 1 เดินไปสู่วันเลือกตั้ง

            พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกมายืนยันว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

            บรรดาพรรคการเมือง นักการเมือง โดยเฉพาะจากขั้วอำนาจเก่า อย่างพรรคเพื่อไทย ดูจะออกอาการเป็นพิเศษ นับวันรอการเลือกตั้ง ไล่จี้ตามบี้ให้รัฐบาลทหารคืนอำนาจอยู่ทุกวัน

          สมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ออกมาเร่งเร้าทันที 'รัฐบาลต้องเร่งรัดจัดการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ หากประกาศวันได้ต้องประกาศออกมาเลยว่าจะเกิดในช่วงวันที่เท่าไหร่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ส่วนของความพร้อมพรรคเพื่อไทยและนักการเมืองในพรรคนั้น เราเป็นเหมือนนักมวย พร้อมเสมอในทุกกติกา'

            ไม่เพียงคนในขั้วอำนาจเก่าเริ่มออกอาการลิงโลด หันไปดูบรรดาพรรคการเมืองน้องใหม่ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดให้ผู้ที่ประสงค์จะยื่นจดจัดตั้งพรรคการเมืองได้มายื่นจดทะเบียนตั้งแต่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น จนถึงวันนี้มีพรรคที่เดินทางมายื่นแล้วกว่า 50 พรรค

            ยิ่งเงื่อนไขใหม่ในรัฐธรรมนูญ ให้ทุกคะแนนเสียงมีค่า หากได้คะแนนเสียงตามเกณฑ์ที่กำหนด โอกาสที่จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อในนามพรรคใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นโอกาสอันดีให้พรรคการเมืองน้องใหม่พาเหรดขอยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคเป็นจำนวนมาก พรรคที่เกิดใหม่มีทั้งพรรคที่คนการเมืองเดิมจากค่ายใหญ่หันออกมาทำการเมืองเอง มีทั้งฝ่ายคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจ นักวิชาการ อดีตข้าราชการทหาร ตำรวจ ผู้อยู่ในแวดวงการเมือง ต่างตบเท้าขันอาสามารับใช้ประชาชน ขอเป็นตัวเลือก

            แต่ผลสุดท้ายจะฝ่าด่านผ่านตามเกณฑ์ในรายละเอียดเรื่องธุรการ ขั้นตอนตามกฎหมาย เป็นพรรคสมบูรณ์ตามกฎหมายได้จะมีมากน้อยเพียงใด ยังต้องรอลุ้นกันต่อไป แต่ก็ถือได้ว่าการเลือกตั้งรอบหน้ามีตัวเลือกมากกว่าครั้งก่อนๆ

            พรรคการเมืองใหญ่ที่ครองตลาดการเมืองมายาวนาน พรรคเพื่อไทย อยู่ในภาวะเตรียมพร้อมเช่นกัน ไม่เพียงบรรดาแกนนำคนใกล้ชิด นายใหญ่-ทักษิณ ชินวัตร ล้อมวงวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองแทบทุกวัน บรรดาฝ่ายวิชาการ ขุนพลด้านเศรษฐกิจ เร่งคิดนโยบายให้โดนใจรากหญ้า อันเป็นฐานเสียงหลัก

            ขุนพลการเมืองวางยุทธศาสตร์ เตรียมรับมือรัฐธรรมนูญใหม่ กฎหมายการเลือกตั้งใหม่ ไม่เท่านั้น บรรดาอดีต ส.ส.ต่างเร่งขยับทำพื้นที่ พบปะชาวบ้านไม่ขาดสาย ขอการันตีพื้นที่เดิมเพื่อความแน่นอน ในการจะได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

            ยิ่งหลังวันที่ 1 เม.ย. ที่จะมีการผ่อนคลายให้พรรคการเมืองเดิมสำรวจสมาชิก พร้อมกับเคลียร์งานธุรการ เอกสาร เปิดช่องให้พรรคการเมืองได้เริ่มหายใจ ทำกิจกรรม โดยก้าวต่อไปเพื่อไทยเตรียมขออนุญาต คสช.เพื่อขอประชุมพรรค จัดการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ดีไม่ดีในเวลานั้นอาจจะเห็นหัวหน้าคนใหม่เตรียมพร้อมในการถือธงนำพรรคก็เป็นไปได้        

            ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ นาทีนี้ยังมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ไม่มีการเปลี่ยนมือ ก็อยู่ในโหมดเตรียมความพร้อมเช่นกัน บรรดาแกนนำพรรควนเวียนเข้าพรรค พูดคุยสถานการณ์บ้านเมือง ประเมินสถานการณ์วันข้างหน้า ไม่ต่างจากเพื่อไทย แม้การเลือกตั้งรอบหน้าจะไร้เงากำนันคนดัง สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกจากพรรค ไปเดินทางในเส้นทางการเมืองของตัวเองก็ตาม

            แม่เหล็กประจำพรรคอย่าง นายหัว-ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ยังเป็นแกนหลัก กำลังสำคัญขับเคลื่อนพรรคต่อไป และระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. เตรียมพร้อมสำหรับสมาชิกพรรค ที่ให้มายืนยันความเป็นสมาชิกพรรค พร้อมกับถือโอกาสเช็กยอดลิสต์ คนที่ยังยืนยันร่วมกับประชาธิปัตย์ไปในตัวด้วย 

            ส่วนพรรคการเมืองที่อยู่ในตลาดการเมือง พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล อยู่ในภาวะขยับตัวเตรียมพร้อมสู่โหมดเลือกตั้งในกติกาใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะชาติไทยพัฒนา ในยุคลูกท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา กับพรรคพลังชล ภายใต้การนำของเสี่ยแป๊ะ-สนธยา คุณปลื้ม ที่มีข่าวแพร่สะพัดหนาหู ได้จับมือเป็นพันธมิตรการเมือง ขยายฐานอำนาจภูมิใจไทย ยี่ห้อ อนุทิน ชาญวีรกูล ประกอบกับผู้มากบารมีจากวงนอกทั้งสายทุน สายคนการเมืองเดิม มากด้วยคอนเน็กชั่นทุกฝ่าย ดีดลูกคิดเตรียมพร้อมจับตาทั้งขั้วอำนาจเก่า-ใหม่อย่างใกล้ชิด

            นักการเมือง พรรคการเมือง ขยับเตรียมพร้อมการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนปีหน้า แต่หากมีเซอร์ไพรส์ อาจขยับเข้ามาเร็วกว่านั้น ดังนั้น พรรคใหม่ พรรคเก่า จึงต้องเตรียมให้พร้อมอยู่เสมอ

            แม้นักการเมือง พรรคการเมือง อยู่ในโหมดเตรียมพร้อม แต่สำหรับปัจจัยผู้คุมกลไกลการเมืองอย่าง คสช. จะวางเกมต่อสู้กับนักเลือกตั้งอาชีพอย่างไร โดยที่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ต้องไม่ขาลอยทางอำนาจ

            แต่ก็อย่างที่รู้กัน หนทางเลือกตั้งยังอีกยาวไกล เงื่อนไขการเมืองไทยไม่มีอะไรตายตัว ไม่มีอะไรแน่นอน อะไรที่ว่าแน่ๆ อาจไม่เป็นไปตามดั่งที่คาดก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แม้กฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับ จะผ่านความเห็นชอบไปแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรคการเมือง รวมถึงส่วนที่เกี่ยวกับ ส.ส. และ ส.ว. ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. แต่ก็เพียงแค่บันไดขั้นแรก ระหว่างนี้หากมีคนเห็นว่า เนื้อหาบางส่วนที่ผ่านความเห็นจาก สนช.อาจมีเนื้อหาขัดหรือแย้งตามรัฐธรรมนูญ สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ โดยเฉพาะประเด็นการพิจารณา 

            แต่ยังไม่ทันข้ามคืนดี เริ่มมีกระแสข่าวหนาหู มีความพยายามจากบางฝ่าย เตรียมยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ที่มีเนื้อหาบางส่วนน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการมองว่าในการพิจารณาที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ผู้สมัคร ส.ว.ที่สามารถสมัครในนามองค์กรได้ ซึ่งผิดจากเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญที่ระบุให้มีการคัดเลือกไขว้กัน ตามที่แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ จนได้รายชื่อไปถึงส่วนกลาง

            แม้คนในองคาพยพ สนช.จะออกมาปฏิเสธ โดย นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาระบุว่า ‘ที่อภิปรายท้วงติงไปนั้นไม่ใช่ไม่เห็นด้วย เพียงแต่เป็นการให้ข้อสังเกตว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เมื่อมติออกมาเห็นชอบ ก็ยอมรับในมตินั้น และไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็อาจจะกระทบโรดแมปเลือกตั้งได้’   

            ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กลับออกอาการกังวล ‘หากมี การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปหรือไม่ เชื่อว่าจะไม่เป็นการดึงเวลา เพราะประเด็นการสมัคร ส.ว.ที่เป็นห่วงอยู่นั้น เป็นประเด็นข้อกฎหมายคงใช้เวลาไม่นาน และได้มีการเผื่อเวลาไว้แล้ว แต่หากยื่นไปแล้ว ศาลตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญก็อาจจะกระทบ แต่อย่าไปสมมติเช่นนั้น’

            เป็นเพียงเงื่อนไขทางข้อกฎหมาย ที่มีความกังวล หวั่นใจกันอยู่ลึกๆ ที่บางคนก็มองกันไปไกล หากมีการยื่นตีความ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องมีการส่งกลับมาดำเนินการกันใหม่ ที่คงจะใช้เวลาพอสมควร ท้ายที่สุดโรดแมปเลือกตั้งย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

            ยังไม่นับรวมปัจจัยไม่คาดฝันเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่ทุกวันนี้กลุ่มก้อนการเคลื่อนไหวเริ่มขยับออกตัวแรง ท้าทายอำนาจรัฐบาลทหารมากขึ้นเรื่อยๆ

            ไม่เท่านั้น รัฐนาวาประยุทธ์ยังกุมอำนาจมาตรา 44 อยู่ในมือ เตรียมงัดออกมาใช้ เมื่อใดก็ได้ หากพวกเคลื่อนไหวทางการเมืองผสมโรงนักกระสันเลือกตั้งไหลมาเข้าทาง จนปั่นป่วน ไม่สงบ ก็มีความชอบธรรมในการทดเวลาบาดเจ็บการเลือกตั้งให้ยืดยาวออกไปอีก...ก็เป็นได้.

                                                                                                            ทีมข่าวการเมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"