เวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นปีที่สอง 3-5 ต.ค. ผู้ร่วมงาน 4,000 คน ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมใจกันประกาศปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ วาระสร้างสุขภาพ 13 กลุ่ม ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนัก 3 สสส. แจงเบื้องหลังขั้นตอนคัดสรรสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น 250 คน ต้อง “อาสาทำดี” โปร่งใส เอื้อประโยชน์ส่วนรวมแท้จริง, สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ แจกใบประกาศนียบัตร กระตุ้นเพื่อยกระดับสุดยอดผู้นำชุมชนระดับท้องถิ่น หรือ ครม.ประจำตำบล ด้วยยุทธศาสตร์สร้างสะพานเชื่อมโยงให้เอื้อประโยชน์ อดีตผู้นำชุมชนท้องถิ่น 140 คน บุคคลต้นแบบปีก่อนโชว์วิสัยทัศน์และผลงานปฏิบัติเห็นผล
ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระสร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากร (Community Key Actors Summit: Enhancing Population Health) ระหว่างวันที่ 3-5 ต.ค.2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผู้ร่วมงาน 4,000 คน จำนวน 3,700 คนมาจาก 4 องค์กรหลัก ผู้นำท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรชุมชนภาคปกครองท้องที่ ทั้งนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจัดการเรียนรู้จากภาคราชการ 500 คน ได้ประกาศปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เพื่อใช้เป็นทิศทางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตำบล ร่วมกับภาคีหลักในพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิต (สุขภาวะ) ของประชาชนแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
เวทีสุดยอดผู้นำครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เป็นการกระตุ้นเพื่อยกระดับสุดยอดผู้นำชุมชนระดับท้องถิ่น หรือ ครม.ประจำตำบล ด้วยยุทธศาสตร์สร้างสะพานเชื่อมโยงให้เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้นำชุมชนมีศักยภาพจัดการได้ทุกเรื่อง เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ ปัญหาโรคซึมเศร้าจะได้หาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า ความบกพร่องทางการเรียนรู้ เพราะไม่ได้ถูกฝึกฝนให้เรียนรู้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเติมความรู้ เพราะเด็กมีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต เพื่อสร้างบรรยากาศสร้างเสริมสุขภาพให้มีความยั่งยืน คนในชุมชนซึมซับเศรษฐกิจที่มีการบริโภคเกินความจำเป็นมากกว่าการออมเพื่ออนาคต ถ้าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้คุกคามต่อไป ความรุนแรงของปัญหาจะมากยิ่งขึ้นกลายเป็นปัญหาการฆ่าตัวตายจากภาวะซึมเศร้า
“ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงรณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง ในขณะนั้นทรัพยากรธรรมชาติยังมีความสมบูรณ์อยู่บ้าง แต่ในวันนี้ทรัพยากรเริ่มลดลง ขาดแคลน ไม่ทั่วถึง พื้นที่อยู่อาศัยน้อยลง การทำเกษตรก็ลดพื้นที่ลงจากเดิม ผู้นำท้องถิ่นต้องมีกระบวนการคิดในการจัดการปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”
การคัดเลือกสุดยอดผู้นำชุมชนระดับท้องถิ่นปีนี้จำนวน 250 คน ในวันเสาร์ที่ 5 ต.ค.นี้ สุดยอดผู้นำจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยมีเงื่อนไขว่ามีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในตำบลด้วยผลงานที่ปรากฏเป็นจริงที่จะนำมานำเสนอในปีต่อไป ทั้งนี้ ก่อนจะมีการคัดเลือกสุดยอดผู้นำชุมชนระดับท้องถิ่นต้องผ่านการอบรมเป็นเวลา 5 วัน เมื่อปีก่อนวาระ: ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ (Community Key Actors Summit: Reducing Health Risk Factors, Enhancing Health Reinforcing Factors) ได้สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นจำนวน 140 คน เป็นบุคคลต้นแบบที่มีคุณลักษณะครบ 10 ประการ ในที่ประชุมได้ประกาศสัตยาบันร่วมกันที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นกำลังสำคัญของชุมชนท้องถิ่น คนที่ได้รับรางวัลปีที่แล้วจะมาแสดงวิสัยทัศน์
“เวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นมาเรียนรู้ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกันในวิธีที่พัฒนาศักยภาพ อย่างที่เรียกว่าพลิกฝ่ามือในการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ปัญหาไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นทุกปี ปัญหาสารเคมีในผลผลิตการเกษตร เราต้องให้ความสำคัญกับผู้นำ เพราะโลกใบนี้ต้องการผู้นำ การอยู่ร่วมกันต้องมีผู้นำ ผู้ตาม ผู้จัดการ มีให้ครบ มิฉะนั้นชุมชนจะเข้มแข็งไม่ได้ การที่ผู้นำมีจิตวิญญาณ แต่ไม่มีผู้จัดการก็จบ เรามีเจ้าของบริษัท แต่ไม่มี CEO บริษัทก็ไปไม่รอด ถ้าเปรียบเทียบชุมชนท้องถิ่นกับองค์กรเป็นบริษัทใหญ่ๆ มีแฟรนไชส์เยอะมาก ธุรกิจหลากหลาย ชุมชนหวังให้คนอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวมีความยั่งยืน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่มีความรุนแรง พออยู่พอกิน มีธุรกิจที่เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งเหล่านี้มีส่วนแตกต่างจากเป้าหมายของภาคเอกชน”
การคัดสรรสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นให้ผู้นำที่ถูกเสนอชื่อประเมินตัวเอง ชุมชนเป็นผู้ประเมินผู้นำ ตัวแทนกรรมการบริหารแผนประเมิน ข้อมูลจะต้องสอดคล้องกับศูนย์สนับสนุนวิชาการ จากนั้นจะมีการสัมภาษณ์ผู้นำที่ถูกเสนอชื่อเป็นขั้นตอนสุดท้าย การคัดเลือกผู้นำแต่ละปีจะไม่ซ้ำกับคนเดิม
กระบวนการคัดเลือกสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น เรามีเครือข่ายสุดยอดผู้นำจำนวนหมื่นคนจาก 2,000 ตำบล เป็นนักรณรงค์ให้กับเรา ส่งต่อเพื่อคัดเลือกคนต้นแบบ ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า ไม่มีอุบัติเหตุ เป็นผู้รอบรู้ทางด้านสุขภาพ ผู้นำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนเข้าสู่วงการซ่อมสุขภาพก่อนเวลาอันควร คนที่จะเลิกบุหรี่ เหล้าได้นั้นต้องได้กำลังใจสำคัญจากคนในครอบครัว ด้วยคำพูดที่ว่า “ขอให้มีชีวิตยืนยาว จะได้ดูแลหลาน ถ้าไม่มีผู้ใหญ่เป็นหลัก ใครจะดูแล คนในครอบครัวช่วยกันพูดให้กำลังใจได้”
ที่ผ่านมานั้นเราไม่เปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชนท้องถิ่นเรียนรู้ข้ามพื้นที่ ทำให้ผู้นำชุมชนท้องถิ่น 90% ไม่ค่อยได้ไปไหน เก่งอยู่ในชุมชน ทำงานซ้ำซาก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในงานใหม่ๆ กลายเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องเปิดเวทีชุมชนผู้นำท้องถิ่น เปิดวิสัยทัศน์ให้ก้าวไกล นำไปสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงการรับรู้อย่างเดียว ต้องเข้าใจและลงมือปฏิบัติ ถ้า สสส.รณรงค์งดเหล้า บุหรี่ โดยไม่มีคนปฏิบัติ การโฆษณาให้เหล้าเท่ากับแช่ง พักตับเข้าพรรษา บางคนคิดว่าเราไม่เกี่ยวเพราะเราไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่ได้กินเหล้า คนที่จะเป็นสุดยอดผู้นำได้นั้นต้องหยิบเรื่องพักตับเข้ามาอยู่ในกลยุทธ์ ใครในชุมชนที่ต้องการพักตับบ้าง ขอคนในชุมชนจำนวน 100 คนที่จะเป็นจิตอาสาพักตับให้เป็นตัวอย่างในการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่
ด้วยเป้าหมายชวนคนทำดี เน้นการปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน การเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน ทำเรื่องยากให้คลี่คลายได้ มีการตั้งหัวข้อเรื่อง วันนี้พูดเรื่องเหล้า อีกวันหนึ่งพูดเรื่องศาสนสถาน นำกลุ่มผู้นำชุมชนมารวมตัวกัน สร้างศาสนสถานปลอดเหล้า บุหรี่ มีการจัดเปลี่ยนกลุ่มทุกๆ 45 นาที
“การทำงานของสำนัก 3 และเครือข่าย เราเห็นโอกาสเสมอเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ เราไม่มองให้เป็นปัญหา เรากระตุ้นชุมชนเสาะหาโอกาสทำงานให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เท่าที่สำนัก 3 และเครือข่ายสำรวจชุมชน ส่วนใหญ่เขาไม่มีสตางค์ซื้อบุหรี่ไฟฟ้า แต่เขาจะหันไปสูบยาเส้น สมัยก่อนเมื่อ 40 ปีก่อนใช้ใบจากมวนยาเส้น เพราะหนังสือพิมพ์ยังเข้าไม่ถึงชุมชน แต่วันนี้หนังสือพิมพ์เข้าถึงชุมชน ทุกหมู่บ้าน ใช้กระดาษ นสพ.ห่อยาเส้น หรือบางครั้งใช้กระดาษจดหมาย ทั้งๆ ที่หมึกพิมพ์ค่อนข้างอันตรายยิ่งกว่าใบจาก เพราะสูดกลิ่นหมึกเข้าปอดโอกาสเสี่ยงสูงมาก
ในช่วงปี 2562 แผนสุขภาวะชุมชน โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ทบทวนงานและกิจกรรมต่อเนื่องจากปี 2561 ภายใต้ 2 หลักการ คือ การพัฒนาโดยเอาพื้นที่เป็นฐาน และทุกนโยบายคำนึงถึงสุขภาวะ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจกว่า 2,000 ตำบล และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกับทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ถอดบทเรียนจากพื้นที่ต้นแบบ และทบทวนองค์ความรู้จากงานวิชาการ จึงได้เลือก 13 กลุ่มประชากรที่ครอบคลุมการดำเนินงานในพื้นที่ สอดคล้องกับภารกิจของ สสส. และวาระของประเทศ ประกอบด้วย (1) เด็ก 0-2 ปี (2) เด็ก 3-5 ปี (3) เด็ก 6-12 ปี (4) เด็กและเยาวชน (5) หญิงตั้งครรภ์ (6) กลุ่มวัยทำงาน (7) ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) (8) ผู้ป่วยเอดส์ (9) ผู้ป่วยจิตเวช (10) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (11) ผู้ด้อยโอกาส (12) คนพิการ และ (13) ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ร่วมกันสรุปบทเรียนและประสบการณ์จากการดำเนินงานทั้ง 13 กลุ่มประชากร ประมวลผลร่วมกับข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง พัฒนาเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการงานที่สามารถปรับใช้ได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ของสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |