ถ้าไทยเชิญทรัมป์และคิมมา ร่วมประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ?


เพิ่มเพื่อน    

    ผมเห็นข่าวคิม จองอึนแห่งเกาหลีเหนือแอบส่งจดหมายถึงโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ให้มาเยือนเปียงยางแล้วก็มีความมั่นใจมากขึ้นว่า ถ้าทั้งสองจะพบกันอีกครั้งหนึ่ง...น่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ
    เพราะการที่ทรัมป์จะไปเยือนเมืองหลวงเกาหลีเหนือก่อนที่จะมีการตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์และการคว่ำบาตรระหว่างกันนั้นเป็นเรื่องยากมากๆ
    แต่หากประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ จะเชิญทั้งทรัมป์และคิมมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนกับคู่เจรจาในปลายปีนี้ย่อมจะดู "เนียน" กว่าทางด้านการทูตระหว่างประเทศ
    ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ คุณธานี ทองภักดี ท่านเอกอัครราชทูตไทยคนใหม่ประจำวอชิงตัน โดยวีโอเอภาคภาษาไทยวันก่อนแล้ว ก็ยิ่งเห็นว่าไทยเราน่าจะผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะได้
    เพราะท่านทูตธานีบอกนักข่าววีโอเอว่า ไทยเราได้เชิญโดนัลด์ ทรัมป์มาร่วมประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ สิ้นปีนี้แล้ว และกำลัง "ลุ้น" ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไปประชุมด้วยตนเองหรือไม่
    ผมจึงเห็นว่าหากไทยเราประกาศว่าจะเชิญทั้งทรัมป์และคิมมาร่วมประชุมสุดยอดในประเทศไทยสิ้นปีนี้ด้วย ก็น่าจะสร้างกระแสทางด้านบวกไปทั่วโลกได้
    ตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์ของท่านทูตธานีเกี่ยวกับประเด็นนี้ ท่านบอกว่า
    "โอกาสในวาระการกลับมาเป็นประธานอาเซียนของไทยอีกครั้ง ทำให้ในการจัดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Summit ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้ (พ.ศ.2562) จะเป็นโอกาสดีที่จะได้ต้อนรับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างรอการยืนยันเพื่อเดินทางมาร่วมประชุมและเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในฐานะผู้นำสหรัฐฯ
    "...คือประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน เราจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียน+35 ช่วงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน คือในวันที่ 4 พ.ย. เราจะเป็นผู้นำจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Summit ในหลักการเราก็จะเชิญประธานาธิบดี (โดนัลด์) ทรัมป์เข้าร่วมด้วย ซึ่งเราก็รอฟังอยู่ ประธานาธิบดีทรัมป์จะไปเองหรือไม่.."
    เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตันบอกวีโอเอไทยว่า "...ถ้าเผื่อท่าน (ปธน.ทรัมป์) ไปเองก็ดี เพราะจะถือโอกาสในการตอกย้ำเรื่องของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนเราก็จะมีโอกาสหารือในแบบทวิภาคีด้วย ว่าเราจะร่วมมือกันต่อไปอย่างไร เพื่อกระชับความร่วมมือในมิติการเมือง การค้า การลงทุน...โดยปกติแล้วเวลามีการประชุมลักษณะนี้ก็จะมีการประชุมหารือนอกรอบ ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการพบปะกับผู้นำต่างๆ ที่มาร่วมประชุม และใช้โอกาสจากการประชุมติดตามประเด็นต่างๆ ที่เคยคุยกันไว้หรือคั่งค้างไว้..."
    ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่ผ่านๆ มา ประธานาธิบดีทรัมป์เคยเดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ.2559 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่ในปี พ.ศ.2561 ที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ ผู้นำสหรัฐฯ มอบหมายให้นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีเดินทางเข้าร่วมแทน
    คุณธานียืนยันถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ที่ทั้ง 2 ประเทศยังคงเตรียมสานต่อแนวทางความร่วมมือในหลายมิติ ทั้งด้านความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ
    "คือถ้ามองในมิติการเมือง ความมั่นคง การทหารนั้น ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมาโดยตลอด ผมคิดว่าในระยะที่ผ่านมา เราก็มีความหลากหลายซึ่งก็ดำเนินไปด้วยดี ในขณะเดียวกันในมิติเศรษฐกิจ  สหรัฐฯ ก็ยังคงค้าขายกับประเทศไทย ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยไม่อันดับ 1 ก็อันดับ 2 มาตลอด สำหรับปีนี้ (พ.ศ.2562) ในช่วง 7 เดือนแรกก็เป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ก็คือจีน..."
    ต้องไม่ลืมว่าสหรัฐฯ นั้นเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับต้นๆ ของเรา
    "...ผมคิดว่าในมิติเศรษฐกิจ ถ้าหากมองถึงศักยภาพ โอกาส และลู่ทาง ยังมีอีกหลายๆ อย่างที่เราสามารถร่วมมือกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทย หรือการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ  เอง ตอนนี้ก็มีหลายบริษัทไทยที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมาลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งก็จะสามารถสร้างงานและนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นเพื่อประโยชน์ร่วมกัน..." 
    เอกอัครราชทูตไทยย้ำว่า กลไกในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่สหรัฐฯ ยังคงมีส่วนในกรอบความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยสามารถเป็นจุดเชื่อมไปสู่โอกาสที่กว้างมากขึ้น 
    "...ความร่วมมือทางเศรษฐกิจมันไม่ใช่ว่าเขาได้ เราไม่ได้ หรือเราได้ เขาไม่ได้ มันเป็นความร่วมมือกันที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์เช่นเดียว หรือไม่ใช่เป็นแบบ Zero sum game ดังนั้นจึงมีหลายๆ ด้านที่เราสามารถร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้ อย่างที่ผมได้เรียนไว้ เรื่องของไทยแลนด์ 4.0 ดิจิทัล อีโคโนมี เรื่องของพลังงานที่ยั่งยืน" 
    ท่านทูตย้ำว่า "สิ่งเหล่านี้เราสามารถร่วมมือแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ หรือร่วมมือกับสหรัฐฯ ไปประเทศที่ 3 ในลักษณะคล้ายๆ ไตรภาคีก็ได้ 
    ซึ่งจะมีลักษณะสมมุติเหมือนก้อนเค้ก คือในที่สุดแล้วก้อนเค้กในที่สุดจะขยายตัวด้วย ใหญ่ขึ้นด้วย  ดังนั้นสัดส่วนของเรา เค้กก็จะใหญ่ขึ้น สัดส่วนหรือสิ่งที่เราจะได้มาก็จะใหญ่ขึ้นตามนั้น แต่เราก็ต้องดูว่า โอกาสของเราอยู่ที่ไหน โอกาสของเราจะมีด้านใดบ้าง ที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย..."
    หากการทูตเชิงรุกของไทยเราสามารถทำให้ทรัมป์กับคิมมาเจอกันที่กรุงเทพฯ...สถานภาพของไทยในเวทีระหว่างประเทศจะสูงขึ้นด้วยความโดดเด่นทันที!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"