ยังลุ้นเหนื่อย "ศก.ไทย62"


เพิ่มเพื่อน    


    ดูเหมือนภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2562 ยังถูกกดดันจากปัจจัยต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ที่ 3% แม้ว่าช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ผ่าน “มาตรการชิมช้อปใช้” และการบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย ไปจนถึงชุดมาตรการในการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็อาจจะไม่แรงพอที่จะขับเคลื่อนให้ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมาย
    โดยล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีไทยในปีนี้ ลดลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.3% พร้อมทั้งยังปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2563 ลงเหลือ 3.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.7% โดย กนง.ให้เหตุผลว่า สาเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ชะลอตัวลง มาจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ ตามเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง จากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ
    ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง  รวมถึงการจ้างงานด้วย ซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาวะการกีดกันทางการค้าในช่วงที่ผ่านมา และเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2562 จะขยายตัวติดลบ 1.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 0% และยังประเมินว่าในปี 2563 การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.7% เท่านั้น ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.3% ขณะที่การนำเข้าในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 3.6% จากคาดการณ์เดิมติดลบ 0.3% และในปี 2563 คาดว่านำเข้าจะขยายตัว 3.5% จากคาดการณ์เดิม 4.8%
    “การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลดลง กนง.ได้รวมปัจจัยเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ไปแล้ว ซึ่งหากไม่มีการออกมาตรการดังกล่าว จีดีพีก็มีแนวโน้มจะลดลงกว่านี้อีก รวมทั้งได้รวมปัจจัยการจัดทำงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า ที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ต้นปีหน้าเข้าไปแล้วด้วย”
    ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics)” โดย นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics มองว่า ได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้แรงส่งต่อไปยังเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือยังมีข้อจำกัด อีกทั้งมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐนั้นจะช่วยพยุงการบริโภคในประเทศ ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าที่ถึงทางตัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะเห็นการส่งออกของไทยในปีนี้กลับมาเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ
    ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ยังมีแรงกดดันจากการบริโภคที่ชะลอตัวลงตามภาพรวมเศรษฐกิจ สถานการณ์ภัยธรรมชาติ ทั้งปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมในหลายจังหวัด ปัญหาหนี้ครัวเรือน และข้อจำกัดของการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยจากแนวโน้มการนำมาตรการควบคุมภาระหนี้สินต่อราย (DSR) มาใช้
    อย่างไรก็ดี “อุตตม สาวนายน” รมว.การคลัง ระบุถึงกรณีที่ กนง.มีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลง ว่าวัตถุประสงค์หลักของการออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ เพื่อช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยภายในประเทศเกิดการหมุนเวียน จากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนผลของมาตรการยังต้องใช้เวลาในการประเมินอีกระยะ ขณะที่ตัวเลขจีดีพีในปีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบรวมกัน ไม่ใช่แค่จากชุดมาตรการดังกล่าวเท่านั้น โดยทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน เป้าหมายจีดีพีที่ 3% เป็นตัวเลขที่ตั้งไว้ เพื่อให้ทุกส่วนทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าหมาย ตรงนี้เป็นการประคองเศรษฐกิจไทยให้ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเชื่อว่าเมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดดีขึ้น ปีหน้าเศรษฐกิจไทยก็จะอยู่ในภาวะที่พร้อมเดินต่อได้ทันที.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"