ประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์เบียร์แห่งกรุงปราก ห้องจัดแสดงอยู่ทางด้านขวามือ
รถบัสของบริษัท Flixbus ออกจากอู่จอดรถใกล้สถานีรถไฟกลางของนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เวลา 12.15 น. ถึงสถานี Florenc กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ประมาณ 2 ทุ่ม ตั๋วที่ซื้อทางอินเตอร์เน็ตราคา 25 ยูโรเท่านั้น ถือเป็นทางเลือกในการเดินทางที่ดีมาก หากนั่งรถไฟจะต้องจ่ายประมาณ 100 ยูโรเลยทีเดียว และไม่ได้ถึงจุดหมายเร็วกว่ากัน
ผมลากกระเป๋าไปยัง All Seasons Hostel ที่จองไว้ขณะอยู่บนรถซึ่งอยู่ไม่ห่างจากสถานี Florenc เพราะขี้เกียจลากกระเป๋าที่มีผู้ฝากมาจากแฟรงก์เฟิร์ตไปไกลๆ เพื่อพักในทำเลดีๆ
รีเซ็พชั่นหนุ่มเดินลงมารับและช่วยยกกระเป๋าลากใบนั้นขึ้นบันได้ไป 3 ชั้น ค่าที่พักสุดถูกแค่คืนละ 8 ยูโร (คืนต่อมา 13 ยูโร) เพราะพวกเขากำลังรีโนเวทกันอยู่ มีช่างกำลังทำงาน และหลายๆ อย่างยังไม่เรียบร้อย อีกทั้งเตียงที่มีผู้เช็กเอาต์ออกไปแล้วก็ยังไม่ได้เก็บกวาด
ผู้เข้าพักส่วนมากมาจากอิตาลี คงเพราะเจ้าของเป็นอิตาเลียนหนุ่ม เกิดที่เกาะซิซิลี แต่มีภรรยาเป็นชาวเช็ก ตอนที่ผมกลับมาจากมื้อค่ำและหยิบแจ็คแดเนียลส์มาเปิดดื่มในห้องครัว เขาเข้ามาคุยด้วย ผมจึงรินแจ็คให้ 1 แก้ว เขาตอบแทนด้วยการหยิบขนมของโฮสเทลที่มีไว้ขายใส่มือผม 3 ถุง และจะหยิบให้อีก ผมต้องบอกว่าพอแล้ว
เวนซ์สลาส์สแควร์ ภาพจากเนินใกล้รูปปั้นเซนต์เวนซ์สลาส์แห่งอาณาจักรโบฮีเมีย
สายๆ วันต่อมาจำเป็นต้องแลกเงินเพื่อจ่ายค่าที่พักและค่าอาหารเพราะเงินโครูนาที่เหลือจากการมาเยือนเมื่อสัปดาห์ก่อนหมดลงแล้ว ผมจึงเดินไปแลกแถวๆ จัตุรัส Republik มีร้านรับแลกอยู่หลายร้าน เลือกเดินเข้าไปในร้านที่เขียนว่า “ไม่มีค่าธรรมเนียม” แต่เมื่อนับเงินและคำนวณกับอัตราแลกเปลี่ยนแล้วพบว่าโดนหักไปประมาณ 3 ยูโร
“ไหนว่าไม่มีค่าธรรมเนียม” ผมถาม
“เฉพาะที่เอาโครูนามาแลกเป็นยูโรจึงจะไม่คิดค่าธรรมเนียม” พนักงานหนุ่มตอบ
นี่คือการหลอกลวงกันชัดๆ เพราะไม่ได้เขียนระบุไว้ และส่วนมากแล้วมีแต่คนเอายูโรมาแลกเป็นโครูนาแทบทั้งสิ้น เนื่องจากร้านไม่ได้ตั้งอยู่ในสนามบินหรือสถานีรถไฟที่มีความเป็นไปได้ว่าผู้ใช้บริการกำลังจะเดินทางออกนอกประเทศจึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินสกุลท้องถิ่นอีกแล้ว แต่ก็ทำอะไรได้มากไปกว่าบอกกับชายหลังเคาน์เตอร์ที่มีลูกกรงกั้นว่า “ไม่แฟร์” ก่อนเดินจากมา
ตอนบ่ายผมลงรถไฟใต้ดินไปยังสถานีรถไฟกลางของกรุงปรากเพื่อซื้อตั๋วรถไฟไปกรุงบูดาเปสต์ในวันถัดไป ราคาตั๋วซึ่งเป็นตู้นั่งชั้น 2 ราคา 783 โครูนา มีค่าจองซึ่งเป็นการการันตีที่นั่งอีก 81 โครูนา (ผู้ที่ซื้อตั๋วแล้วเดินทางเลยไม่ต้องจ่าย แต่ต้องขึ้นไปหาที่นั่งว่างเอาเอง) เซอร์วิสชาร์จอีก 50 โครูนา รวมแล้วคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,400 บาท ถือว่าราคาไม่แพงเพราะไม่ใช่พวกรถไฟเยอรมัน, ออสเตรีย, ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศทางยุโรปตะวันตก
พราหมณ์ฮินดูชาวฝรั่งเคลื่อนขบวนร้องรำทำเพลงมุ่งหน้าเขตเมืองเก่า
จากนั้นเดินไปยังถนนเวนซ์สลาส์สแควร์ เจอคณะพราหมณ์ฮินดูฝรั่ง ส่วนมากโกนศีรษะให้เหลือจุกตรงกลางกระหม่อม แต่งชุดสีขาวบ้างส้มบ้าง คนหนุ่มสาวเหล่านี้กำลังร้องเพลงในภาษาใดภาษาหนึ่งของอินเดียและเต้นรำกันเป็นขบวนเคลื่อนไปยังเขตเมืองเก่า คนในคณะที่ไม่ได้อยู่ในแถวคอยชักชวนให้นักท่องเที่ยวรับเอกสารและบริจาคเงิน
ผมเดินแยกออกไปยังถนน Husova เพื่อเข้าชม “พิพิธภัณฑ์เบียร์แห่งกรุงปราก” (Czech Beer Museum, Prague) ทั้งนี้ต้องไม่สับสนกับ “Prague Beer Museum” ที่เป็นบาร์เบียร์สดจากถังหลายสิบยี่ห้อ ตั้งอยู่ริมถนนเลียบแม่น้ำวอลตาวา ใกล้ๆ เชิงสะพาร์ลชาร์ลส์ฝั่งเมืองเก่า
พิพิธภัณฑ์เบียร์แห่งกรุงปรากบริหารจัดการโดยคณะคนหนุ่มสาวของเช็ก เพิ่งเปิดเมื่อปี ค.ศ. 2014 ในอาคารเก่าที่เริ่มสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 -13บูรณะครั้งสุดท้ายในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงออกมาเป็นสไตล์บาโร้กตามยุคสมัย ราคาค่าเข้าชมคนละ 280 โครูนา หรือประมาณ 400 บาท แถมเบียร์ 4 แก้ว 4 ตัวต่างกัน ขนาดแก้วละประมาณ 330 มิลลิลิตร ซึ่งจะแจกให้หลังเดินชมเสร็จ
ตัวอย่างของฮ็อปส์ สิ่งที่ทำให้เบียร์มีรสขมและกลิ่นหอม
ผมถามว่า “ขอเบิกมา 1 แก้วก่อนได้ไหม ตัวที่อ่อนที่สุด” พนักงานหนุ่มก็ไปถามคนที่น่าจะเป็นเจ้านาย ปรากฏว่าไม่มีปัญหา
ชั้น 1 ของอาคารแบ่งเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซนนิทรรศการประวัติเบียร์ของโลกที่ระบุว่าก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุเมเรียนและอียิปต์โบราณหรือก่อนคริสตกาลราว 3 พันปี และถูกนำเข้าสู่ยุโรปประมาณ 6 ร้อยปีก่อนคริสตกาลโดยชาวกรีกโบราณ แล้วชาติอื่นๆ ก็ได้รับการถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์นี้ต่อๆ กันมา
เบียร์ช่วงแรกๆ ในยุโรปผลิตกันในอารามโดยบรรดาบาทหลวง กระทั่งยุคกลางมีการผลิตกันอย่างแพร่หลายมาก ทั้งโดยพระ ขุนนาง และชาวบ้าน จนวัตถุดิบที่ใช้มีความหลากหลายเกินไป ดยุค Albrech ที่ 4 แห่งบาวาเรีย ได้ออกกฎหมายควบคุมเมื่อปี ค.ศ. 1516 กำหนดให้เบียร์ในบาวาเรียทำจากมอลต์, ฮ็อปส์ และน้ำเปล่า (และยีสต์) เท่านั้น ซึ่งกลายเป็นวัตถุดิบมาตรฐานของเบียร์ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
ในโซนของเบียร์เช็กและดินแดนใกล้เคียง มีบอร์ดนิทรรศการระบุว่ามีหลักฐานบันทึกเป็นเรื่องเป็นราวในปี ค.ศ. 993 ว่าคณะบาทหลวงแห่งอารามBrevnov ใกล้ๆ ปราสาทกรุงปรากได้ปรุงเครื่องดื่มชนิดนี้ขึ้นซึ่งถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกในดินแดนละแวกนี้ นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1088 กษัตริย์ Vratislav ที่ 2 ได้ออกมาตรการเก็บภาษีดอกฮ็อปส์ส์ที่ใช้ในการทำเบียร์ มาตรฐานและความทันสมัยในการผลิตเบียร์ในเช็กก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน จะด้วยคุณภาพที่สูงและราคามิตรภาพหรืออะไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ประชาชนชาวเช็กครองแชมป์เป็นนักดื่มเบียร์อันดับ 1 ของโลก มากที่สุดเมื่อเฉลี่ยเป็นรายหัวต่อคนต่อปี
ถังเบียร์สดในอดีตที่ต้องใช้คันโยกเพื่อให้เบียร์ไหลออกจากหัวจ่าย
ข้อมูลเมื่อปี ค.ศ. 2011 ราคาเบียร์โดยเฉลี่ยจากร้านสะดวกซื้ออยู่ที่ขวดละประมาณ 10.10 โครูนา หรือประมาณ 15 บาท ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของชาวเช็กในเวลานั้นอยู่ที่ 23,144 โครูนา หรือประมาณ 35,000 บาท
ในปี ค.ศ. 2016 พวกเขามีโรงงานผลิตเบียร์หรือบรูเวอร์รีขนาดใหญ่ 45 แห่ง และบรูเวอร์รีขนาดเล็ก หรือไมโครบรูเวอร์รี 327 แห่งทั่วประเทศ แค่ในกรุงปรากก็มีถึง 31 แห่ง รวมแล้วมีเบียร์ 372 เจ้า ยังไม่นับรวมที่ผลิตขายภายในผับบาร์หรือที่เรียกว่า “เฮาส์บรูเวอร์รี” อีกทั้งที่ต้มบริโภคภายในครัวเรือน โดยที่สาธารณรัฐเช็กมีประชากรแค่ประมาณ 10 ล้านคนเท่านั้น และแนวโน้มที่น่าสนใจมากก็คือบรูเวอร์รีขนาดใหญ่ได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ แต่ไมโครบรูเวอร์รีกลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปีหลัง
ทราบข้อมูลนี้แล้วก็นึกถึงบางประเทศที่กฎหมายเหมือนจะสงวนความร่ำรวยให้อยู่กับผู้ผลิตเพียง 2 เจ้าเท่านั้น หากทุนจดทะเบียนไม่ถึงเกณฑ์และผลิตในปริมาณไม่มากพอก็ต้องไปตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศแล้วค่อยซื้อของตัวเองกลับเข้ามาขายในประเทศในราคาที่สูงกว่าเพราะมีต้นทุนที่สูงกว่า
ภาชนะใส่เบียร์ในสมัยโบราณ บางยุคหาไม่ได้แล้วจึงต้องทำจำลองขึ้นมา
ยังมีบอร์ดนิทรรศการแสดงประเภทต่างๆ ของเบียร์ โดยแยกเป็นประเภทหลักๆ ได้ 2 ประเภทคือแบบหมักยีสต์ลอยผิวที่เรียกทั่วไปว่าเบียร์เอล และประเภทหมักยีสต์นอนก้น เรียกว่าเบียร์ลาเกอร์, เครื่องมือและสิ่งแสดงในการผลิตเบียร์และการบรรจุภัณฑ์ในสมัยโบราณ, มีห้องแสดงตัวอย่างของเบียร์ยี่ห้อต่างๆ จากทั่วทั้งสาธารณรัฐเช็ก และห้องแสดงเบียร์บางยี่ห้อจากทุกมุมโลก หนึ่งในนั้นมีเบียร์ไทยขวดเขียวอยู่ด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีสิ่งสะสมอย่างที่วางแก้ว, โมเดลรถขนส่งเบียร์, เข็มกลัด, แก้วเบียร์แปลกๆ และของที่ระลึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เบียร์เป็นจำนวนมาก
อีกห้องที่มีความสำคัญมากคือห้องที่นำเสนอวัตถุดิบและขั้นตอนการผลิตเบียร์ มีวิดีโอสาธิตการเตรียมมอลต์จากข้าวบาร์เลย์ การเก็บและรักษาดอกฮ็อปส์ บอร์ดแสดงชนิดของมอลต์, ฮ็อปส์ และยีสต์ สิ่งแสดงจำลองอุปกรณ์เครื่องมือที่เชื่อมโยงกันในบรูเวอร์รี บอร์ดแสดงการต้มเบียร์, การหมักเบียร์และเก็บเบียร์ นอกจากนี้ก็ยังมีตัวอย่างของมอลต์และฮ็อปส์ให้ชมและจับดมได้ด้วย
Cooper ทำงานซ่อม Barrel ในห้อง Cellar
จากนั้นผมลงไปยังชั้นใต้ดิน หรือที่เรียกว่า Cellar สำหรับการเก็บเบียร์ที่หมักเรียกร้อยแล้ว มีหุ่นช่างไม้ที่นั่งอยู่ท่ามกลางถังไม้ (Barrel) ชายคนนี้เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Cooper มีหน้าที่ซ่อมถังหมัก, ถังไม้บรรจุเบียร์ รวมถึงหัวจ่ายเบียร์ในสมัยก่อน (สมัยนี้ใช้ถังสเตนเลส) ใกล้ๆ กันยังมีเครื่องตัดน้ำแข็งที่ใช้แรงงานคน ส่วนมากจะตัดน้ำแข็งมาจากบ่อหรือแม่น้ำที่อยู่ใกล้ๆ บรูเวอร์รี น้ำแข็งมีความสำคัญมากเช่นกันในการเก็บเบียร์ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องทำความเย็นในปัจจุบัน
อีกฝั่งหนึ่งของชั้นใต้ดินคือบาร์เบียร์ มีบาร์ให้เลือก 2 ห้อง คือห้องที่จำลองบาร์ในสมัยที่เช็กเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในนามเช็กโกสโลวาเกีย และบาร์ในสมัยก่อนหน้านั้น
ผมขอเบิกเบียร์ที่เหลือ เจ้าหน้าที่สาวก็กดมาให้ 4 แก้วใส่ลงในตะแกรงเหล็กมีหูหิ้ว คล้ายพวงเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา เบียร์ทั้งหมดเป็นแบบลาเกอร์แต่มีสีสัน กลิ่น รส และความเข้มข้นต่างกัน ผมแจ้งเธอว่าผมรับมาแล้วหนึ่ง เหลืออีกสามเท่านั้น เธอว่า “ใครสนล่ะ เอาไปเถอะ”
บาร์ชั้นใต้ดินดูอุดอู้ไปหน่อย ผมจึงถือพวงเบียร์ออกไปดื่มนอกอาคารในส่วนที่เป็นลานกลางบ้าน (Courtyard) มีโต๊ะไม้กระดานยาวๆ พาดอยู่บนถังเบียร์เก่าสี่ห้าตัว เก้าอี้เป็นลังเบียร์นำมาซ้อนกัน 3 ชั้นแล้ววางหมอนใบบางๆ ไว้บนสุด มีแขกนั่งอยู่ไม่มาก บริเวณนี้จะไม่เปิดในช่วงที่อากาศดีเท่านั้น
บรรยากาศบาร์เบียร์ในอดีตของชาวเช็ก
นอกจากโปรแกรม Museum + Tasting ราคา 280 โครูนานี้แล้ว ตอนหลังผมอ่านในโบรชัวร์ระบุว่ามีโปรแกรม Beer Experience ราคา 480 โครูนาด้วย ผู้เข้าชมสามารถทำเบียร์ บรรจุขวด และออกแบบฉลากข้างขวดด้วยตัวเอง หากออกมารสชาติดีผ่านมาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญก็ยังจะได้รับเกียรติบัตรไปเชยชมอีกด้วย แต่วันนี้ผมไม่เห็นการทัวร์แบบที่ว่านี้ คงต้องหาเรื่องกลับไปพิสูจน์อีกรอบ
มีชายหนุ่มนั่งอยู่ด้านหลัง คาดว่าเป็นผู้บริหารซึ่งนั่งเปิดตำราและจดอะไรบางอย่างอยู่ เขาดื่มเบียร์จากแก้วไพนต์ไปด้วย ผมหันไปถามว่า “ถ้าเข้ามาซื้อเบียร์ดื่มในนี้โดยไม่ซื้อตั๋วเข้าชมจะได้ไหม ?” เขาตอบว่า “ไม่ได้” ผมถามอีกว่า “ถ้าหมด 4 แก้วแล้วอยากดื่มต่อต้องทำอย่างไร” เขาว่า “ต้องซื้อแบบขวดเท่านั้น”
เย็นและค่ำนั้นผมเดินไปไหนต่อไหนอีกหลายกิโลเมตรจนร่างกายเมื่อยล้า ช่วงหนึ่งต้องฝ่าสายฝนโปรยปราย เลยแวะดื่มใกล้ๆ จัตุรัสเมืองเก่าอีก 3 ไพนต์แล้วเดินกลับที่พัก ก่อนนอนมีอาการท้องเสียอย่างฉับพลันต้องเข้าห้องน้ำหลายครั้ง ตื่นเช้าขึ้นมาเกิดตุ่มคันที่ซีกซ้ายของลำตัว รวมทั้งแขน ขา และคอ
จึงพยายามนึกย้อนว่าอะไรคือสาเหตุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |