หากเราจะบอกว่าเราเป็นคนยุค 4.0 เราคงต้องเข้าใจพลังของสื่อสังคมออนไลน์ หรือที่เราเรียกว่าโซเชียลมีเดีย คนยุค 4.0 ไม่ควรจะบอกว่าคนในสื่อสังคมออนไลน์ไร้ค่า ไร้ราคา แม้ว่าบางเรื่องที่ปรากฏอยู่บนพื้นที่สื่อสังคมดังกล่าวอาจจะมีเรื่องไร้สาระบ้าง แต่หากเมื่อใดก็ตามถ้าหากมีคนบางคน หรือกลุ่มบางกลุ่ม หยิบยกประเด็นบางประเด็นขึ้นมาถกอภิปราย หรือออกมาประณามคนบางคน เรื่องบางเรื่อง แล้วมีคนที่เห็นพ้องต้องกันออกมาเขียนข้อความ ออกมาช่วยกันแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ส่งผลเชิงลบกับคนที่ถูกกล่าวถึง บุคคลผู้นั้นจะต้องตระหนักว่าการที่ผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์ออกมาประณามใคร ถกเรื่องราวอันเลวร้ายของใครไม่ใช่เรื่องเล็ก และอย่าได้มองว่าการพูดคุยกัน ร่วมกันประณามใครจะเป็นเรื่องไร้ราคา ถ้าหากใครติดตามเรื่องราวข่าวสารต่างๆ ที่เคยปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ เขาก็จะพบว่ามีทั้งตัวบุคคล องค์กร โครงการ นโยบาย การดำเนินธุรกิจ หลายๆ เรื่องที่พังเพราะสมาชิกของสื่อสังคมออนไลน์รุมกันกระหน่ำประณามเรื่องราวเหล่านั้น ดังนั้นอยากจะเตือนใครก็ตามที่ไม่ให้ราคากับบทสนทนาออนไลน์ของสาธารณชน ให้คิดใหม่ อย่าได้ดูถูกพลังของการถกอภิปรายในสื่อสังคมออนไลน์ แม้ว่าจะมีข้อความหรือภาพบางส่วนที่ไร้สาระ ไม่เป็นความจริง เป็นการมโนของคนที่เขียน แต่ที่มีสาระมีมากมาย
สื่อสังคมออนไลน์เกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนเชื่อมต่อกันได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เมื่อใครคนใดคนหนึ่งเปิดเพจของเขาก็จะมีคนเข้ามาขอเป็นเพื่อน เข้ามาติดตาม เมื่อมีคนใดคนหนึ่งเขียนข้อความอะไรที่พวกเขาสนใจหรือเห็นด้วย พวกเขาก็จะมีการเขียนข้อความพูดคุยกัน มีการพูดจาเพิ่มเติมเสริมมิติต่างๆ ที่จะทำให้เรื่องราวในการตำหนิใครสักคนหนึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับคนที่ไม่ได้เขียนข้อความอะไรเลย พวกเขาก็จะกด “Share” เป็นการแบ่งปันข้อมูลที่พวกเขาได้พบให้แก่เพื่อนๆ ของเขา ทั้งเพื่อนจริงและเพื่อนเสมือนได้รับรู้ด้วย และก็จะมีการแบ่งปันไปเรื่อยๆ หลายห้องในเครือข่ายสังคมออนไลน์ของพวกเขา เรื่องบางเรื่องจะมีคนติดตามเป็นล้านๆ ในเวลาเพียงไม่กี่วัน และเรื่องพวกนี้แม้จะไม่ชี้นำความคิดของคนที่ติดตามได้เสมอไป อย่างน้อยก็สามารถทำให้คนในสังคมสนใจและติดตามเรื่องนั้น รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้น จนในที่สุดก็สามารถกำหนดทัศนคติและพฤติกรรมของตนเองได้จากข้อมูลที่รวบรวมได้จากสื่อออนไลน์
สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ให้เสรีภาพแก่ผู้คนในการที่จะพูดจะเขียนอะไรก็ได้ เป็นเสรีภาพที่เหนือกว่าการพูดการเขียนในสื่อสารมวลชน เพราะสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อเปิดที่ไม่มีบรรณาธิการเป็นผู้กำหนดว่าเรื่องราวอะไรสามารถที่จะปรากฏในสื่อได้ นอกจากนั้น การจะพูดจะเขียนอะไรในสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายราคาแพงเหมือนกับการซื้อพื้นที่หรือซื้อเวลาของสื่อสารมวลชนที่จะเผยแพร่เรื่องอะไรบางอย่าง นอกจากนั้นภาพและคำพูดที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่มีการเซ็นเซอร์แต่อย่างใด ใครจะใช้รูปอะไร ใช้คำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ แม้จะมีการให้รายงานเจ้าของเพจผู้ให้บริการได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ผู้ให้บริการยอมลบให้ เพราะผู้ให้บริการเหล่านี้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “เสรีภาพของการพูด” ดังนั้นสิ่งที่คนในข่าวเห็นว่าเป็นเรื่องละเมิด ทางผู้ให้บริการอาจจะมองต่างกัน เขาจะไม่มองว่าเป็นการละเมิด เขาจะมองว่าเป็นเสรีภาพของคนที่ต้องการแสดงความคิดเห็น หรือบางครั้งแม้ว่าเขาจะยอมลบให้ ก็ลบได้แต่เพจที่เป็นผู้เขียนเป็นคนแรกเท่านั้น คงไม่สามารถไปตามลบที่คนอื่นได้แบ่งปันไปแล้ว กว่าจะทำให้ผู้ให้บริการลบให้ก็จะมีคนได้รับรู้เรื่องราวนั้นแล้วเป็นล้านๆ คน
สื่อสังคมออนไลน์มีให้คนเลือกที่จะใช้มากมาย ไม่ว่า Blog, Twitter, Facebook, Fan page, Instagram, Web board, Linkedin, Pinterest และสิ่งที่ปรากฏบนพื้นที่หนึ่งอาจจะถูกนำไปเผยแพร่ต่อในอีกพื้นที่หนึ่งได้ ทำให้การกระจายข่าวสารที่ปรากฏบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์นั้น สามารถกระจายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
นอกจากนั้นแล้ว บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ยังมีชุมชนเสมือน (Virtual Community) ของคนที่ชอบเรื่องเดียวกัน สนใจเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายอะไรบางอย่างที่เหมือนกัน จะมารวมตัวกันเป็นชุมชนเสมือนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทำการรณรงค์ทางสังคมและการเมืองร่วมกัน การรวมตัวของกลุ่มคนในชุมชนเสมือนนี้น่ากลัวนัก เพราะพวกเขานั้นเรียกได้ว่าเป็น “คนคอเดียวกัน” เพราะเขาสนใจเรื่องเดียวกัน ทำงานร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ดังนั้นชุมชนเสมือนดังกล่าวนี้สามารถมีสมาชิกได้กว้างไกลในระดับโลกาภิวัตน์ และเมื่อพวกเขาชิงชัง ไม่พอใจอะไรใคร พวกเขาจะพร้อมใจกันร่วมกระหน่ำคนคนนั้น จะมีทั้งพวกที่ใช้อารมณ์ในการด่าทอต่อว่าเพราะไม่ชอบคนคนนั้น และจะมีทั้งคนที่เราเรียกว่า “นักสืบไซเบอร์” ที่จะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสืบค้นหาข้อเท็จจริงมานำเสนอให้เพื่อนสมาชิกในชุมชนเสมือนออนไลน์ได้รับรู้ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจได้ว่าควรมีความคิดเห็นอย่างไร ควรมีทัศนคติอย่างไร ควรปฏิบัติตนอย่างไร อยากจะบอกคนที่ “ไม่ทันสมัย” ว่า การชุมนุมบนพื้นที่จริงอาจจะจุดไม่ติด แต่การชุมนุมเสมือนบนพื้นที่ออนไลน์นั้นจุดติดได้อย่างง่ายดายไม่ยากเลย ไม่ว่าการด่าทอต่อว่าทั้งหลายนั้นจะจริงหรือเท็จ อย่างน้อยก็ทำให้คนที่ถูกประณามโดยสมาชิกของชุมชนเสมือนนี้อยู่ลำบาก อาจจะโซซัดโซเซเพราะเมาข้อความออนไลน์ก็ได้
การสื่อสารบนพื้นที่ออนไลน์กลายเป็นวัฒนธรรมของคนในยุค 4.0 ที่ผู้คนต้องการเป็นคนที่มีตัวตนบนพื้นที่ออนไลน์ ต้องการเล่าประสบการณ์ของตนเอง ต้องการแบ่งปันข้อมูลที่ตนมี ต้องการมีส่วนร่วมในการสนทนาออนไลน์ ต้องการแสดงความคิดเห็น ต้องการแสดงตนว่าเป็นผู้นำทางความคิดในบางเรื่อง ต้องการทดสอบความเป็นคนมีอิทธิพลของตนเอง วัฒนธรรมดังกล่าวนี้ทำให้คนยุค 4.0 ชอบที่จะเขียน ชอบที่จะพูดคุยตอบโต้กันบนพื้นที่ออนไลน์ ดังนั้นเมื่อมีใครยกประเด็นอะไรที่น่าสนใจ (โดยเฉพาะการด่าใครบางคน) มานำเสนอ ก็จะเป็นการจุดประกายให้สมาชิกบนเพจนั้นออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อการมีตัวตนบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ประเด็นที่จุดติดออนไลน์มักจะถูกนำมาขยายความในสื่อสารมวลชนแบบออฟไลน์อีกด้วย เช่นนี้แล้วใครยังจะกล้าบอกว่าเรื่องราวที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ไร้ราคาอีกเหรอคะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |